ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 573
๑๐. จูฬปันถกสูตร
ว่าด้วยการควบคุมสติ
[๑๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระจูฬปันถกนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระจูฬปันถกนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า ในที่ไม่ไกล.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ภิกษุมีกายตั้งมั่นแล้ว มีใจตั้งมั่นแล้ว ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ควบคุมสตินี้ไว้อยู่ เธอพึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ครั้นได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว พึงถึงสถานที่เป็นที่ไม่เห็นแห่งมัจจุราช
จบจูฬปันถกสูตรที่๑๐
จบโสณเถรวรรคที่๕
อรรถกถาจูฬปันถกสูตร
จูฬปันถกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า จูฬปนฺถโก ความว่า แม้ในกาลภายหลัง ท่านผู้มีอายุนี้ ปรากฏชื่อว่า จูฬปันถก นั่นเอง โดยได้โวหารในเวลาที่ตนยังเป็นหนุ่ม เพราะเป็นน้องชายของพระมหาปันถกเถระ และเกิดในหนทางเปลี่ยว. แต่ว่าโดยคุณพิเศษ ท่านสำเร็จอภิญญา ๖ แตกฉานปฏิสัมภิทา จัดเข้าในภายในพระมหาสาวก ๘๐ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ๒ ตำแหน่ง ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา ผู้เนรมิตกายสำเร็จด้วยใจ ๑ ผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงทางใจ ๑ จูฬปันถกเป็นเอตทัคคะแล.
วันหนึ่งภายหลังภัต ท่านกลับจากบิณฑบาตนั่งพักผ่อนในที่พักกลางวันของตน ยับยั้งอยู่ด้วยสมาบัติต่างๆ ตลอดวัน พอในเวลาเย็นเมื่อพวกอุบาสก ยังไม่มาฟังธรรมเลย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังท่ามกลางวิหาร ประทับนั่งในพระคันธกุฎี ท่านคิดว่า ไม่ใช่กาลที่จะเข้าไปอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน จึงนั่งขัดสมาธิ ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง หน้ามุขพระคันธกุฎี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็ สมัยนั้นแลท่านพระจูฬปันถก นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ตรงหน้าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอยู่ ในเวลานั้น ท่านกำหนดเวลาแล้ว นั่งเข้าสมาบัติ.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบอรรถนี้ คือ ความที่ท่านจุฬปันถก ตั้งกายและจิตไว้โดยชอบ. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความปรากฏ ในการบรรลุคุณวิเศษ อันมีอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด ของภิกษุแม้อื่น ผู้มีกายสงบ ผู้มีสติปรากฏในอิริยาบถทั้งปวง ผู้มีจิตเป็นสมาธิ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ิเตน กาเยน ความว่า ผู้มีกายทุกส่วน ตั้งอยู่โดยความไม่หวั่นไหว กล่าวคือ ความเป็นผู้ไม่มีวิการ โดยสังเขปว่ามี โจปนกาย ที่ชื่อว่า ตั้งไว้ชอบ เพราะละ คือ ไม่กระทำอสังวรทางกายทวาร อนึ่ง มีกายอันเป็นไปในทวารทั้ง ๕ ที่ชื่อว่า ตั้งไว้ด้วยดี เพราะกระทำอินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้น ให้หมดพยศ หรือมีกรัชกาย ที่ชื่อว่า ตั้งอยู่โดยความไม่แปรผัน เพราะไม่มีการคะนองมือเป็นต้น เหตุสำรวมมือและเท้าได้แล้ว. ด้วยคำนั้น พระองค์ทรงแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลของเธอ.
ก็บทว่า กาเยน นี้ เป็นตติยาวิภัตติใช้ในลักษณะอิตถัมภูต.
ด้วยคำว่า ิเต เจตสา นี้ ทรงแสดงความถึงพร้อมแห่งสมาธิ โดยแสดงถึงความตั้งมั่นแห่งจิต. จริงอยู่ สมาธิ ท่านเรียกว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต. เพราะฉะนั้น เมื่อความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยอำนาจสมถะ หรือด้วยอำนาจวิปัสสนา จิตเป็นอันชื่อว่าตั้งอยู่ โดยเข้าถึงภาวะที่จิตเป็นเอกผุดขึ้นในอารมณ์ ไม่ใช่ตั้งอยู่โดยประการอื่น.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงว่า การตั้งอยู่ คือการตั้งมั่น ซึ่งกายและจิตตามที่กล่าวแล้วนี้ จำปรารถนาทุกๆ กาลและทุกๆ อิริยาบถ จึงตรัสว่า ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ดังนี้เป็นต้น.
วาศัพท์ในบาทพระคาถานั้น มีอรรถไม่แน่นอน. ด้วยวาศัพท์นั้น เป็นอันแสดงถึงอรรถนี้ว่า ยืนอยู่หรือ หรือว่านั่งอยู่ นอนอยู่หรือหรือว่าเป็นอิริยาบถอื่นจากนั้น เพราะฉะนั้น แม้การจงกรมก็พึงทราบว่า ท่านสงเคราะห์เอาในที่นี้. บทว่า เอตํ สตึ ภิกฺขุ อธิฏฺฐหาโน ความว่า ภิกษุตั้งไว้ คือดำรงไว้ ซึ่งจิตให้คล่องแคล่ว ให้นุ่มนวล ควรแก่การงานโดยชอบ ด้วยอำนาจการสงบกายและจิตด้วยการอธิษฐาน ถึงความสุขอันหาโทษมิได้ที่ได้มา เพราะกระทำกายและจิตไม่ให้กระสับกระส่าย โดยการสงบกายและจิตอย่างหยาบ ไม่ต้องกล่าวถึง ผู้มีสมาจารอันบริสุทธิ์ จึงเพิ่มพูนกัมมัฏฐานและให้กัมมัฏฐานถึงที่สุดด้วยสติใด ภิกษุควบคุมสตินั้นนั่นแล ที่มีอุปการะมาก ในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด แห่งการประกอบกัมมัฏฐาน ควบคุมไว้ในกิจนั้นๆ ตั้งต้นแต่ชำระศีลให้หมดจดจนถึงบรรลุคุณวิเศษ.
บทว่า ลเภถ ปุพฺพาปริยํ วิเสสํ ความว่า ท่านมีใจอันสติควบคุมแล้วอย่างนี้ เจริญ พอกพูน ทำให้เพิ่มขึ้น ซึ่งกัมมัฏฐานให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พึงได้คุณวิเศษต่างด้วยคุณวิเศษที่ยิ่งและยิ่งกว่า ทั้งที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย คือ อันเป็นไปโดยส่วยเบื้องต้นและเบื้องปลาย.
ในคำนั้น คุณวิเศษอันเป็นส่วนเบื้องต้นและเบื้องปลายมี ๒ อย่าง คือ สมถะอย่าง ๑ วิปัสสนาอย่าง ๑. ใน ๒ อย่างนั้น คุณวิเศษที่เป็นไปด้วยอำนาจสมถะได้แก่ความเป็นผู้ชำนาญ ตั้งแต่เกิดนิมิตขึ้น จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คุณวิเศษส่วนภาวนาที่เป็นไปอย่างนั้น ได้แก่ คุณวิเศษอันเป็นส่วนเบื้องต้นและเบื้องปลาย. แต่เมื่อว่าด้วยคุณวิเศษที่เป็นไปด้วยอำนาจวิปัสสนา ได้แก่ คุณวิเศษส่วนภาวนา ที่เป็นไปโดยกำหนดรูปธรรมของผู้ยึดมั่น โดยยกรูปขึ้นเป็นประธาน ฝ่ายของผู้ยึดมั่น นอกนี้เป็นไปตั้งแต่กำหนดธรรมนอกนี้ จนถึงบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าคุณวิเศษอันเป็นไปในส่วนเบื้องต้นและเบื้องปลาย. ก็คุณวิเศษนี้แหละท่านประสงค์เอาในที่นี้.
บทว่า ลทฺธาน ปุพฺพาปริยํ วเสสํ ความว่า ได้บรรลุบารมีอย่างสูงสุด คือ พระอรหัต ในคุณวิเศษอันเป็นส่วนเบื้องต้นและเบื้องปลาย.
บทว่า อทสฺสนํ มจฺจุราชสฺส คจฺเฉ ความว่า พึงถึงสถานที่อันมัจจุไม่เห็น คือสถานที่อันไม่เป็นอารมณ์ เพราะก้าวล่วงภพ ๓ อันเป็นอารมณ์ของมรณะ กล่าวคือมัจจุราช เพราะครอบงำสรรพสัตว์ ด้วยอำนาจการเข้าไปตัดเสียซึ่งชีวิต.
คำที่ข้าพเจ้า ไม่ได้กล่าวไว้ในวรรคนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
จบอรรถกถาจูฬปันถกสูตรที่๑๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การควบคุมสติ ความหมาย คือ สติและปัญญาเกิดในขณะนั้น จึงไม่มีตัวเราที่จะพยายามให้สติเกิด บังคับสติ หรือ ควบคุมสติให้เป็นไป เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หากแต่ว่า ผู้ที่สะสมอบรมปัญญามามาก มี ท่านพระจูฬปันถก ท่านก็สามารถเกิดสติและปัญญา ได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า ชำนาญในการเกิด สติและปัญญาควบคุมสติให้เป็นไปในอิริยาถต่างๆ คือ เกิด สติ และ ปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน ในชีวิตประจำวัน ครับ
ขออนุโมทนา คุณหมอ และ ทุกท่าน ครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผเดิม คุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกท่านครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ