เพียงสละวัตถุสิ่งของให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นนั้น ก็ยังขัดเกลากิเลสไม่พอเพราะกิเลสมีมากมายเหลือเกิน และกิเลสแต่ละประเภทก็เกิดบ่อยพอกพูนหนาแน่นมาก คนที่มีกิเลสพอกพูนมากจึงได้ชื่อว่า ปุถุชน (ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส)
จะดับกิเลสได้ต้องเป็นผู้ที่อดทนและมีปัญญา
ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้ที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเป็นผู้ที่อดทนและมีปัญญารู้ว่าการดับกิเลสนั้น คือ ดับกิเลสในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระ-ทบสัมผัสกาย และคิดนึก เพราะว่าวันหนึ่งๆ ที่จะไม่คิดนึกนั้นเป็นไปไม่ได้ เห็นสิ่งใดก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น จากโทรทัศน์บ้าง จากหนังสือบ้าง จากที่ได้ยินได้ฟังบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตา เงียบ ไม่มีเสียงก็ยังไม่พอ ต้องฟังทางหูประกอบกับสิ่งที่ได้เห็นทางตา ให้รู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้นไปอีก นี่ก็เห็นได้แล้วว่า กิเลสทั้งหลายกลุ้มรุมเหมือนโจรที่ล้อมไว้อย่างหนาแน่นเพียงไร อย่างนักประวัติศาสตร์ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เห็นวัตถุโบราณต่างๆ เพียงเห็นเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสิ่งนั้นได้ ต้อง อาศัยการฟังเรื่องราวของสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น ทั้งที่เห็นทางตาและที่ได้ยินทางหูก็ประกอบกันเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้จิตใจหมกมุ่นครุ่นคิดในแต่ละเรื่องด้วยโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แล้วเมื่อไรจะดับได้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงว่า “ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ ”
ขออนุโมทนาครับ