[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 26
๕. เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง [๑๘๖]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 26
๕. เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง [๑๘๖]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มลิตฺถิยา ทุจฺจริตํ" เป็นต้น.
สามีละอายเพราะภริยาประพฤตินอกใจ
ดังได้สดับมา มารดาและบิดานำกุลสตรีผู้มีชาติเสมอกันมาเพื่อกุลบุตรนั้น. นางได้เป็นหญิงมักประพฤตินอกใจ (๑) (สามี) จำเดิมแต่วันที่นำมาแล้ว. กุลบุตรนั้นละอาย เพราะการประพฤตินอกใจของนาง ไม่อาจเข้าถึงความเป็นผู้เผชิญหน้าของใครได้ เลิกกุศลกรรมทั้งหลาย มีการบำรุงพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "อุบาสก เพราะเหตุไร เราจึงไม่ (ใคร่) เห็นท่าน" จึงกราบทูลความนั้นแล้ว.
สตรีเปรียบเหมือนของ ๕ อย่าง
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะกุลบุตรนั้นว่า "อุบาสก แม้ในกาลก่อน เราก็ได้กล่าวแล้วว่า ขึ้นชื่อว่าสตรีทั้งหลาย เป็นเช่นกับแม่น้ำ เป็นต้น. บัณฑิตไม่ควรทำความโกรธในสตรีเหล่านั้น แต่ท่านจำไม่ได้ เพราะความเป็นผู้อันภพปกปิดไว้" อันกุลบุตรนั้นทูลอาราธนาแล้ว ตรัสชาดก (๒) ให้พิสดารว่า
(๑) อติจารินี ผู้มักประพฤติล่วง.
(๒) ขุ. ชุ. ๒๗/๒๑ อรรถกถา. ๓/๙๘.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 27
"ธรรมดาสตรีในโลก เป็นเหมือนแม่น้ำ หนทาง โรงดื่ม (สุรา) ที่พัก และบ่อน้ำ, เวลา (๑) ย่อมไม่มีแก่สตรี เหล่านั้น."
ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ก็อุบาสก ความเป็นผู้มักประพฤตินอกใจ เป็นมลทินของสตรี, ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้ทาน, อกุศลกรรม เป็นมลทินของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้และโลกหน้า เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องยังสัตว์ให้ฉิบหาย, แต่อวิชชา เป็นมลทินอย่างยอดยิ่ง กว่ามลทินทั้งปวง" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
๕. มลิตฺถิยา ทุจฺจริตํ มจฺเฉรํ ททโต มลํ มลา เว ปาปกา ธมฺมา อสฺมิํ โลเก ปรมฺหิ จ ตโต มลา มลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ เอตํ มลํ ปหนฺตฺวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว.
"ความประพฤติชั่ว เป็นมลทินของสตรี, ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้, ธรรมอันลามกทั้งหลาย เป็นมลทินแล ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า เราจะบอกมลทินอันยิ่งกว่ามลทินนั้น, อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละมลทินนั่นได้แล้ว ย่อมเป็นผู้หมดมลทิน."
แก้อรรถ
ความประพฤตินอกใจ ชื่อว่า ความประพฤติชั่วในพระคาถานั้น.
(๑) ได้แก่ กำหนด, เขตแดน, ความจำกัด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 28
ก็แม้สามี ย่อมขับไล่สตรีผู้มักประพฤตินอกใจออกไปเสียจากเรือน, สตรีนั้นไปสู่สำนักของมารดาบิดา (ก็ถูก) มารดาบิดาขับไล่ด้วยคำว่า "เอ็งไม่มีความเคารพตระกูล เราไม่อยากเห็นแม้ด้วยนัยน์ตาทั้งสอง" สตรีนั้นหมดที่พึ่งเที่ยวไป ย่อมถึงความลำบากมาก. เพราะเหตุนั้น พระศาสดา จึงตรัสความประพฤติชั่วของสตรีนั้นว่า "เป็นมลทิน."
บทว่า ททโต แปลว่า ของผู้ให้. ก็เมื่อบุคคลใดในเวลาไถนา คิดอยู่ว่า "เมื่อนานี้สมบูรณ์แล้ว เราจักถวายภัตทั้งหลาย มีสลากภัต เป็นต้น" เมื่อข้าวกล้าเผล็ดผลแล้ว, ความตระหนี่เกิดขึ้น ห้ามจิตอันสัมปยุตด้วยจาคะ, บุคคลนั้น เมื่อจิตสัมปยุตด้วยจาคะ ไม่งอกงามขึ้นได้ ด้วยอำนาจความตระหนี่ ย่อมไม่ได้สมบัติสามอย่าง คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ (และ) นิพพานสมบัติ เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้." แม้ในบทอื่นๆ ซึ่งมีรูปอย่างนี้ ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
สองบทว่า ปาปกา ธมฺมา ความว่า ก็อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นมลทินทั้งนั้น ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า.
บทว่า ตโต ความว่า กว่ามลทินที่ตรัสแล้ว ในหนหลัง.
บทว่า มลตรํ ความว่า เราจะบอกมลทิน อันยิ่งแก่ท่านทั้งหลาย.
บทว่า อวิชฺชา ความว่า ความไม่รู้ อันมีวัตถุ (๑) ๘ นั่นแล เป็นมลทินอย่างยิ่ง.
(๑) พึงดู อวิชชา ๘ ในธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ หมวด ๘..
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 29
บทว่า ปหนฺตฺวาน ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละมลทินนั่นได้แล้ว ย่อมเป็นผู้หามลทินมิได้.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง จบ.