ขอเรียนถามต่อในหัวข้อ
โดย papon  7 ต.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23801

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

กระผมได้อ่านคำถามหัวข้อ 023787 ของคุณใหญ่ ราชบุรีและความอนุเคราะห์ในการตอบ

ของอาจารย์ทั้งสองท่านแล้ว ขออนุโมทนาครับ กระผมมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีจิตมากขึ้น

ซึ่งกระผมสนใจเกี่ยวกับวิถีจิตมาก และ ขอเรียนถามต่อว่า

1 สัพพจิตสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตมีทั้งหมดเท่าไร และอะไรบ้างครับ

2 ปุถุชนทั่วไปที่มีปัญญารู้สภาพธรรมได้สักกี่ประเภทครับ หรือได้แค่เวทนา สัญญา

มนสิการ เท่านั้น

3 เจตสิกไหนครับที่เกิดทางมโนทวาร และ การทำหน้าที่ของสัญญาเจตสิกเกี่ยวกับการ

ระลึกถึงสัณฐานของอารมณ์นั้นเกิดที่มโนทวารหรือไม่อย่างไรครับ ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1 สัพพจิตสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตมีทั้งหมดเท่าไร และอะไรบ้างครับ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตสิกที่ทั่วไปแก่จิตทั้งปวง หมายถึง เจตสิก ๗ ดวง

ที่เป็นสาธารณะ คือ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ได้แก่

ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ก็ต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ คือ

๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ ๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์

--------------------------------------------------------------------

๑. ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่กระทบในขณะนั้น เช่น ขณะที่เห็น ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่

กระทบอารมณ์ในขณะที่เห็นในขณะนั้นครับ ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม ที่กระทบ

อารมณ์ ผัสสเจตสิก ไม่ใช่ จักขุปสาทรูป ที่กระทบกับ รูปารมณ์ จักขุปสาทรูป เป็น

รูปธรรม รูปารมณ์เป็นรูปธรรม แต่ต้องเป็นผัสสเจตสิกที่กระทบรูปารมณ์ โดยอาศัย

จักขุปสาทรูป เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมปรากฏเช่น ขณะนี้ มีการเห็น และ มี

สิ่งที่ปรากฏทางตา ผัสสเจตสิก....ไม่ได้ปรากฏ แต่ หมายความว่า สภาพธรรมเหล่า

นี้ จะปรากฏได้ ก็ต้องมี ผัสสเจตสิก เมื่อสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏได้ ก็

แสดงว่า ขณะนี้ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดขึ้นด้วย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...ผัสสเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งแบ่งเป็นความรู้สึก สุขกาย

สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และ ความรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่เห็น จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้น

ยังไม่สุข หรือ ทุกข์เลย เพียงเห็นขณะนั้น มีอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ทำหน้าที่รู้สึก

เฉยๆ ในขณะนั้น ครับ เพราะยังไม่ยินดี ยินร้าย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...เวทนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์

ขณะที่เห็น มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จำหมายในอารมณ์นั้น เช่น จำในสี ที่กำลัง

ปรากฎในขณะที่เห็น นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...สัญญาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ

เจตนาที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเห็น เป็นจิตชาติวิบาก เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิด

ร่วมกับจิตชาติวิบาก ไม่ได้ทำหน้าที่ที่เป็นกรรมที่เป็น กุศลกรรม อกุศลกรรม แต่เป็น

เพียงเจตนา ที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบากนั้น เป็น เจตนาที่จงใจตั้งใจ ที่เกิดพร้อมกับ

จิตเห็นเท่านั้นครับ อันมีกรรมในอดีต เป็นปัจจัย เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จึงไม่ให้

ผล ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...เจตนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์

เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ แม้ขณะที่เห็น จิตเห็น

เกิดขึ้น ก็ต้องมี เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่ ตั้งมั่น

ในอารมณ์นั้น คือ เป็นสมาธิ ในขณะนั้น แต่เป็นชั่วขณะจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น

เกิดขึ้น เอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่จดจ่อตั้งมั่นในอารมณ์นั้นในขณะที่เห็น เป็นสมาธิ

ชั่วขณะที่เรียกว่า ขณิกะสมาธิ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่..เอกัคคตาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้

ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดำรงรักษาสัมปยุตตธรรม ให้ดำรงชีวิตอยู่ก่อนที่จะ

ดับไป แม้แต่นามธรรมที่เกิดขึ้น มีจิตเห็น กำลังเห็น จิตเห็นจะดำรงอยู่ได้ เพียง

ชั่วขณะ ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ ชีวิตินทริยเจตสิก ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น รักษาไว้

จึงดำรงอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิก จึงเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน โดยเป็น

อินทริยปัจจัย คือ เป็นใหญ่ในการรักษาสัมปยุตตธรรม ที่เกิดร่วมด้วย ให้ดำรงอยู่

ชั่วขณะ ก่อนที่จะดับไป

เชิญคลิกอ่านที่นี่...ชีวิตินทริยเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์

ขณะที่เห็น มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย กำลังใส่ใจ มุ่งตรงต่ออารมณ์ คือ สิ่งที่

ปรากฏทางตา คือ สี ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่....มนสิการเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

2 ปุถุชนทั่วไปที่มีปัญญารู้สภาพธรรมได้สักกี่ประเภทครับหรือได้แค่ เวทนา สัญญา

มนสิการ เท่านั้น

@ ตามระดับ กำลังของปัญญาแต่ละคนที่สะสมมา ที่สำคัญ โดยทั่วไปของผู้ที่เริ่ม

อบรม ย่อมรู้สภาพธรรม ที่เป็น สภาพธรรมที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน ที่เป็นโคจรรูป

คือ สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น ครับ

และ สภาพธรรมที่ปรากฎ ในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น เหล่านี้ ที่เป็น

ส่วนหยาบ ที่พอจะรู้ได้ เมื่อสติปัฏฐานเบื้องต้นเกิดขึ้น แต่การรู้เจตสิก แต่ละประเภท

แต่ละอย่าง ว่าเป็นแต่เพียงธรรมใช่เรา ก็ต้องอาศัยกำลังของปัญญา ที่มีกำลังมากขึ้น

ซึ่งก็แล้วแต่ว่า แต่ละคน สะสมปัญญามามากน้อย แตกต่างกัน ทำให้การรู้ความ

ละเอียด แต่ละเจตสิก ก็มากน้อย แตกต่างกันไป ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

3 เจตสิกไหนครับ ที่เกิดทางมโนทวาร และ การทำหน้าที่ของสัญญาเจตสิก

เกี่ยวกับการระลึกถึงสัณฐานของอารมณ์นั้น เกิดที่มโนทวารหรือไม่อย่างไรครับ

@ เจตสิกมากมาย ที่เกิดทางมโนทวาร เพราะเหตุว่า จิตที่เกิดทางมโนทวาร ก็มี

มาก ทำให้เจตสิกจำนวนมาก เกิดทางมโนทวาร ทั้ง สัพพจิตสาธารณะเจตสิก ปกิณ-

ณกเจตสิก โสภณเจตสิก อกุศลเจตสิก เป็นต้น ครับ

ส่วนการทำหน้าที่ของสัญญาเจตสิก คือ จำเท่านั้น จำในอารมณ์ที่กำลังมีอยู่ ทาง

มโนทวาร ยกตัวอย่างเช่น จำในรูปร่างสัณฐานที่นึกคิดแล้วทางมโนทวาร ที่เป็นสัตว์

บุคคล ทำหน้าที่จำในขณะนั้น ในอารมณ์นั้นเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ระลึกได้ แต่

เมื่อใด ที่เห็นอารมณ์นั้นอีก ก็ทำให้นึกได้ว่า รูปร่าง สัณฐานอย่างนี้ เป็นคนนี้ อัน

อาศัย สัญญาในอดีต ที่เคยจำในอารมณ์นั้น ทำให้นึกได้ว่าเป็นสิ่งใด ตามสัญญา ที่

เคยจำไว้ ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ดวงทิพย์  วันที่ 8 ต.ค. 2556

-ขอบคุณคะและขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วยเสมอ

ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เจตสิกที่ไม่เคยขาดเลยไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เลย

ก็คือ เจตสิก ๗ ประเภท ที่ทั่วไปแก่จิตทั้งหมด เกิดกับจิตทุกประเภทเลย ได้แก่

ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริยะ และ มนสิการะ ยกตัวอย่าง

ในขณะที่เห็น คือ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นรู้สีหรือรูปารมณ์ จักขุวิญญาณ มีเจตสิก

เกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก)

สัญญา (ความจำ) เจตนา (จงใจขวนขวายให้ธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจของตนๆ )

เอกัคคตา (ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมเป็นใหญ่ในการรักษาธรรมที่

เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพธรรมที่ใส่ใจใน

อารมณ์) เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ รู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุวิญญาณ อาศัยที่เกิด

ที่เดียวกันกับจักขุวิญญาณและดับพร้อมกับจักขุิวิญญาณ

และแม้จะเป็นจิตขณะอื่นๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบาก บ้าง เป็นกิริยา

บ้าง ก็จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทนี้เลย นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม

ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ พระธรรมทั้งหมดที่

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เรา

-ปัญญา เป็นปัญญา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดกิจของปัญญา ก็คือ รู้ถูกเห็นถูกตาม

ความเป็นจริง สำหรับปุถุชน คือ ผู้ที่ยังมากไปด้วยกิเลสอยู่นั้น สำหรับผู้ที่สะสมเหตุ

ที่ดีมา มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็ย่อมจะมีความ

เข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขั้นของการฟัง ที่เป็นปริยัติ มีความเข้าใจในความเป็น

เหตุเป็นผลของธรรม เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เมื่อสะสมความเข้าใจใน

ขั้นของปริยัติจนมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ก็เป็นเหตุให้ปัญญาที่เป็นไปกับการ

ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถดับ

กิเลสได้ เพราะเหตุว่าปัญญาในระดับที่เป็นโลกุตตระ คือ ปัญญาที่เกิดร่วมกับ

มรรคจิตและผลจิต ไม่เกิดกับผู้ที่เป็นปุถุชน

-ในขณะที่มีการคิดถึงรูปร่างสันฐานของสิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั้น

ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไป

ทางทางมโนทวาร ขณะนั้น ก็มีสัญญาที่เกิดกับจิตด้วย สัญญาจะไม่ทำกิจอื่นเลย

นอกจากจำหมายในอารมณ์เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 8 ต.ค. 2556

ปุถุชนรู้เจตสิกยาก ส่วนมากรู้แต่ชื่อ เพราะไม่รู้ตัวจริงของ

สภาพธรรมแต่ละชนิด เช่น ศรัทธา หิริ ความโกรธ ความโลภ

ความหลง ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 8 ต.ค. 2556

เรียน อาจารย์ ทั้งสองท่าน

ตามที่กระผมได้เรียนถามกระทู้ต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับวิถีจิตและเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วยกับ

จิต กระผม คิด ว่า จิตที่เกิดขึ้นจากวิบากและเจตสิกต่างๆ ตามวิถีจิตแล้ว เมื่อถึงชวนจิต ก็

สะสมกุศลและอกุศล ซึ่งโดยมาก ชีวิตวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นอุกศลวิบาก ทั้งนั้น แล้วมี

ช่วงไหนเล่าครับที่จะมีโอกาสได้สะสมกุศลในชวนจิต แล้ววงจรอย่างนี้ชีวิตประจำวันเกิด

นับไม่ถ้วน แล้วอีกกี่แสนโกฏิกัปป์ ถึงชลออกุศลและเพิ่มกุศลได้ หรือ นอกจากการอบรม

ปัญญาอย่างเดียว กระผมกลัวแต่ว่าอกุศลที่สะสมจะมีกำลังจนล่วงอกุศลกรรมบถอีกไม่รู้

จบ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขออนุญาตสนทนากับคุณ papon ครับ ในเรื่องนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริงทีเดียว พระพุทธองค์จึงทรงมีพระปัจฉิมวาจา ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความ

เสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด."

ความไม่ประมาทสำหรับผู้เริ่มศึกษาพระธรรม คงเริ่มตั้งแต่ไม่ประมาทต่ออกุศลธรรม ทั้ง

หลาย แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นไปตามกำลังของปัญญาที่เริ่มค่อยๆ เจริญขึ้น จาก

การศึกษา จากการฟัง และพิจารณาพระธรรม ไปทีละเล็กทีละน้อย

ส่วนที่คุณ papon กล่าวว่า ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มีแต่อกุศล จะชลออกุศลและเพิ่ม

กุศลได้อย่างไร กลัวว่าอกุศลจะสะสมจนมีกำลังล่วงอกุศลกรรมบถ ไม่รู้จบ

นี้เป็นความคิดที่ไม่ต่างไปจากผู้ศึกษาธรรมะอื่นๆ รวมทั้งผมด้วยนะครับ ก็คิดอย่างนี้

เช่นกัน

แต่หากได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ในหลายๆ ตอน จะพบคำตอบที่ชัดเจน

ครับว่า

เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุและปัจจัย เมื่อมีเหตุมีปัจจัย

กุศลธรรม และ อกุศลธรรมก็เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัยการกระทำที่เป็นไปในกุศล หรือ

อกุศลก็เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะบังคับ จะเลือก หรือ จะหลีกเลี่ยงให้เป็นไปอย่างใดอย่าง

หนึ่ง ทางใด ทางหนึ่ง ได้เลย

เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้ ย่อมไม่ไปเสียเวลาคิดเป็นเรื่องราวว่า ทำไมอกุศลมากมายเช่นนี้

ทำอย่างไร จึงจะเพิ่มกุศลมาก เพราะ เข้าใจแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

แต่จะกลับมาพิจารณา ในขณะนี้ ในขณะปัจจุบัน ว่า เข้าใจธรรมะ คือ ความเป็นจริง ที่

ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพียงใด เริ่มศึกษา เริ่มฟัง พระธรรมเพื่อที่จะละ

ความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฎขณะนี้เพียงใด ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสะสมความเข้าใจ อันเป็นพื้น

ฐาน เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ของความไม่ประมาทในการเจริญกุศล ไม่ประมาทต่อ อกุศล-

ธรรมทั้งหลาย ที่แท้จริง ดังที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านได้ย้ำเตือนผู้ศึกษาพระธรรม อยู่

เสมอๆ ครับ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 7    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน

ที่ร่วมสนทนา เพื่อความเข้าใจธรรม ความเห็นของทุกท่าน เป็นประโยชน์มากครับ


ความคิดเห็น 8    โดย สิริพรรณ  วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย guy  วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ