หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๕๘]
โลภะไม่ใช่เมตตา
เรื่องของจิตใจระวังยากเพราะเคยชินกับการที่จะเป็นอกุศล ไม่โลภะ ก็โทสะ หรือโมหะ เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศลซึ่งจะอบรมเจริญให้มีมากขึ้นได้ ก็จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีความประพฤติเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความพอใจหรือว่าด้วยความเป็นพวกพ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของเมตตา มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือเป็นมิตร เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติมีการเกิดความสิเนหาเป็นวิบัติ
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถที่จะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ และรู้ลักษณะของเมตตาที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏได้ เช่น ในขณะที่เห็นคนหนึ่งคนใด อาจจะเป็นคนแปลกหน้า อาจจะเป็นต่างชาติต่างภาษา ท่านรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตรเหมือนเห็นเพื่อน หรือว่าเหมือนเห็นศัตรู? ถ้าในขณะใดที่มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตรหรือเห็นเพื่อน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครขณะนั้น เป็นอาการปรากฏของเมตตา เพราะเหตุว่ามีการบำบัดความอาฆาตความขุ่นเคืองใจ หรือความไม่พอใจ เป็นอาการปรากฏ
ถ้าคนโกรธกันแล้วท่านเห็นทั้ง ๒ คน ที่กำลังโกรธกันทะเลาะกัน ท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใดหรือเปล่า? ถ้าขณะนั้นท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใดไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะมีความเสน่หาเป็นวิบัติ แต่ถ้าสามารถจะมีความเป็นมิตรกับทั้ง ๒ คนที่กำลังโกรธกันได้ไหม ไม่ว่าใครจะประพฤติดีหรือใครจะประพฤติชั่ว เวลาที่ท่านเห็นบุคคลที่ประพฤติชั่ว มีความรู้สึกเอ็นดูเมตตาสงเคราะห์ สามารถที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้นได้ไหม นั่นคือลักษณะของผู้ที่มีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่มีการเห็นว่าเป็นโทษแล้วก็ขุ่นเคืองแล้วก็ซ้ำเติม ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา
เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีความรู้สึกสนิทสนมด้วยความจริงใจ ก็ย่อมจะเป็นผู้มีกรุณา เวลาที่บุคคลทั้งหลายประสบความทุกข์เดือดร้อน แล้วย่อมเป็นผู้มีมุทิตา เวลาที่บุคคลอื่นประสบกับความสุขความเจริญ และความสำเร็จ และถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ หรือว่าแม้ว่าจะได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแล้วก็ไม่สำเร็จ บุคคลนั้นก็ยังเป็นผู้ไม่ขุ่นเคือง เพราะรู้ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย หรือกรรมของบุคคลนั้นก็สามารถที่จะอบรมเจริญอุเบกขา (เป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยอกุศล)
เพราะฉะนั้นสำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งปวง เป็นคุณธรรมที่ทำให้ความดีทั้งหลายบริบูรณ์ได้ แม้แต่ในเรื่องของการให้ ก็ไม่แบ่งแยกการให้เฉพาะบางพวก แล้วก็ยังเป็นผู้ยังศีลให้บริบูรณ์ด้วยเมตตา สามารถที่จะอภัยให้ทุกคนได้ ทำกุศลและไม่หวังตอบแทนใดๆ เพราะเห็นกรรมทั้งหลาย ด้วยการเจริญอุเบกขาภาวนา
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย
ขออนุโมทนาครับ