ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เสรี”
คำว่า เสรี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า เส - รี แปลว่า อิสระ, พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงเสรี ไว้ ๒ อย่าง คือ บุคคลเสรี กับ ธรรมเสรี โดยที่ บุคคลเสรีนั้น หมายถึงบุคคลผู้เป็นอิสระจากกิเลส สูงสุด คือ พระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดขึ้นอีกเลย ถ้าเป็นพระอริยบุคคลในระดับรองๆ ลงมา ก็เป็นอิสระจากกิเลสที่ท่านดับได้แล้ว กิเลสใดๆ ที่ท่านดับได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ ส่วนธรรมเสรี นั้น หมายถึงธรรมที่ทำให้ถึงความเป็นบุคคลเสรี คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นไม่ได้เลย และบางนัยแสดงธรรมเสรี ได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙ ซึ่งเป็นธรรมที่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นธรรมที่เป็นไปในฝ่ายดับทุกข์ดับกิเลส ได้แก่ มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน ตามข้อความ ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖๗ - หน้าที่ ๕๓๕
ชื่อว่า เสรี ได้แก่ เสรี ๒ อย่าง คือ ธรรมเสรี ๑ บุคคลเสรี ๑
ธรรมเสรี เป็นไฉน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อว่า ธรรมเสรี
บุคคลเสรี เป็นไฉน บุคคลใดประกอบด้วยธรรมเสรีนี้ บุคคลนั้นท่านกล่าวว่า บุคคลเสรี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖๗ - หน้าที่ ๖๖๖
จริงอยู่ โลกุตตรธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า เสรี เพราะไม่ไปสู่อำนาจของกิเลส และบุคคลชื่อว่าเสรี เพราะประกอบด้วยโลกุตตรธรรมเหล่านั้น.
แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) และ รูป ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกิเลส อันเป็นกิเลสที่ละเอียด ที่จะต้องถูกดับด้วยอริยมรรค (โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค) ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสขั้นที่กลุ้มรุมจิต เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้ามีกำลังกล้า ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้ายต่อผู้อื่น เป็นต้น และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมกิเลสมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนาน เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อย ๆ เห็นว่าแต่ละขณะที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะ บ้าง หรือถ้าไม่เป็นโลภะหรือโทสะ ก็เป็นโมหะ ตลอดเวลาที่จิตไม่เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล และไม่มีการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง เป็นต้น จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่อกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะ โกรธมากๆ ก็ได้ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส นั่นเอง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ว่าธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
ตราบใดก็ตามที่ยังมีกิเลส ถูกกิเลสกลุ้มรุมครอบงำจิตใจอยู่ ย่อมไม่ใช่บุคคลผู้เป็นอิสระจากกิเลส เพราะยังเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และแน่นอนว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสใด ๆ ได้ ก็ยังไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะฉะนั้นแล้ว กิเลสที่มีมาก จะเป็นอิสระจากกิเลส ได้ ก็ต้องด้วยปัญญา อย่างเช่นพระภิกษุในสมัยครั้งพุทธกาล บางรูป ท่านเกิดความติดข้องเป็นอย่างมาก พอได้เข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบารมีที่ตนเองได้สะสมมาทำให้ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น หรือบางรูป โกรธง่ายมาก ใครทำอะไรให้หน่อยก็โกรธ ขัดเคือง ไม่พอใจ แต่พอได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธได้อย่างเด็ด ไม่มีความโกรธทุกระดับเกิดขึ้นอีกเลย และในที่สุดแล้ว ก็จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง นี้คือ ประโยชน์ที่เกิดจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ดังนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยจริง ๆ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อให้พระธรรมขัดเกลากิเลสในจิตใจของตนเองให้เบาบาง แล้วผลแห่งการเจริญปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองด้วยการเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น ตามความเจริญขึ้นของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถละคลายและดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ทำให้เป็นบุคคลเสรี คือ บุคคลผู้เป็นอิสระจากกิเลสได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลสใดๆ อีกเลย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในคำสอนที่ประเสริฐนี้ครับ