ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒ ว่าด้วยโทษของกาม
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40226

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 897

สุตตนิบาต

ปารายนวรรคที่ ๕

ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒

ว่าด้วยโทษของกาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 897

ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒

ว่าด้วยโทษของกาม

[๔๒๖] ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร ใครรู้ส่วนสุดทั้งสอง แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัด ในโลกนี้ได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนเมตเตยยะ.

ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหาปราศจากไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนสุดทั้งสองแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วน ท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหา เครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้.

จบติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 898

อรรถกถาติสสเมตเตยยสูตร (๑) ที่ ๒

ติสสเมตเตยยสูตร มีคำเริ่มต้นว่า โกธ สนฺตุสฺสิโต ใครชื่อว่า ผู้ยินดีในโลกนี้ ดังนี้.

ติสสเมตเตยยสูตร มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

มีการเกิดขึ้นด้วยอำนาจของการถามของสูตรทั้งหมด. ก็พราหมณ์เหล่านั้นทูลถามความสงสัยของตนๆ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาไว้แล้วว่า ให้พวกเราถามได้ตามโอกาส ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าอันติสสเมตเตยยมาณพทูลถามแล้ว ทรงพยากรณ์แก่อันเตวาสิกเหล่านั้น. พึงทราบว่า สูตรเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการถาม ด้วยประการฉะนี้แล.

เมื่อจบปัญหาของอชิตะแล้ว โมฆราช เริ่มจะทูลถามปัญหาอย่างนี้ว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็นผู้เพ่งดูโลกอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า อินทรีย์ของโมฆราชนั้นยังไม่แก่กล้า จึงทรงห้ามว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงหยุดก่อน คนอื่นจงถามเถิด. ลำดับนั้น ติสสเมตเตยยะเมื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงกล่าวคาถาว่า โกธ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โกธ สนฺตุสฺสิโต คือใครชื่อว่าเป็นผู้ยินดีในโลกนี้. บทว่า อิญฺชิตา ความหวั่นไหว คือความดิ้นรนด้วยตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า อุภนฺตมภิญฺาย คือรู้ส่วนสุดทั้งสอง. บทว่า มนฺตา น ลิมฺปติ คือไม่ติดอยู่ ด้วยปัญญา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงพยากรณ์ความนั้นแก่ติสสเมตเตยยะจึง ตรัสสองคาถาว่า กาเมสุ ในกามทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.


๑. บาลีเป็น ติสสเมตเตยปัญหา.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 899

ในบทเหล่านั้น บทว่า กาเมสุ พฺรหฺมจริยวา ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ อธิบายว่า. ประพฤติพรหมจรรย์มีกามเป็นนิมิต เห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประกอบด้วยมรรคพรหมจรรย์. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความยินดี. ด้วยบทมีอาทิว่า วีตตณฺโห มีตัณหาไปปราศแล้ว ทรงแสดงถึงความไม่หวั่นไหว. ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาย นิพฺพุโต พิจารณาเห็นธรรมแล้วดับกิเลส คือ พิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วดับกิเลสด้วยการดับราคะเป็นต้น. บทที่เหลือชัดดีแล้วเพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในบทนั้นๆ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสูตรนี้ ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตนั่นแล.

เมื่อจบเทศนา พราหมณ์แม้นี้ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัต พร้อมด้วยอันเตวาสิก ๑,๐๐๐. ชนอื่นอีกหลายพันได้เกิดดวงตาเห็นธรรม. บทที่เหลือเช่นเดียวกับบทก่อนนั่นแล.

จบอรรถกถาติสสเมตเตยยสูตรที่ ๒ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา