[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 257
๘. เชตวนสูตร
ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์
กรรม ๑
วิชชา ๑
ธรรม ๑
ศีล ๑
ชีวิตอันอุดม ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคายเพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 258-259
อรรถกถาเชตวนสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในเชตวนสูตรที่ ๘ ต่อไป ในบทว่า อิทํ หิ ตํ เชตวนํ ความว่าอนาถบิณฑิกเทวบุตรมากล่าวอย่างนี้ เพื่อชมเชยพระเชตวันและพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
บทว่า อิสิสํฆนิเสวิตํ ได้แก่ อันหมู่แห่งภิกษุอยู่อาศัยแล้วอนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น ครั้นกล่าวชมเชยพระเชตวันด้วยคาถาที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวถึงอริยมรรค จึงกล่าวคำว่า กมฺมํ วิชฺชา เป็นต้นแปลความว่า กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่
เหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตนควรเลือกเฟ้นธรรม โดยอุบายอันแยบคาย เลือกเฟ้นเช่นนี้ย่อมหมดจดในธรรมเหล่านั้น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ ได้แก่ มรรคเจตนา
บทว่า วิชฺชา ได้แก่ มรรคปัญญา
บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันเป็นฝ่ายสมาธิ
บทว่า สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ อธิบายว่า เทวดานั้น ย่อมแสดงชีวิตอันสูงสุดของบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในศีล
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ
บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้ เป็นชีวิตสูงสุด
บทว่า เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดนี้
บทว่า ตสฺมา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยมรรค เหตุใด เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่บริสุทธิ์ได้ด้วยโคตร และด้วบทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ อธิบายว่า พึงวินิจฉัยธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิโดยอุบาย
บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ เลือกธรรมนั้นอย่างนี้ ย่อมหมดจดได้ ด้วยอริยมรรค อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ได้แก่ พึงวินิจฉัยธรรม ๕ กองโดยอุบาย
บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ ย่อมบริสุทธิ์ในสัจจะ ๔ เหล่านั้นได้อย่างไร
บัดนี้ อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น เมื่อจะกล่าวชมเชยพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำว่า สาริปุตฺโตว เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า สาริปุตฺโตว นี้เป็นคำกล่าวถึงตำแหน่ง อธิบายว่าอนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้นย่อมกล่าวว่า พระสารีบุตรเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยธรรมเหล่านี้มีปัญญาเป็นต้น
บทว่า อุปสเมน ได้แก่ ความสงบจากกิเลส
บทว่า ปารคโต แปลว่า ผู้ถึง พระนิพพาน อธิบายว่า เทวดานั้นย่อมกล่าวว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง บรรลุพระนิพพาน ภิกษุนั้นเป็นเยี่ยมคือว่า ชื่อว่า เยี่ยมกว่าพระสารีบุตรเถระย่อมไม่มี ดังนี้ คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล
จบอรรถกถาเชตวนสูตรที่ ๘
ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ
บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ
บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้ เป็นชีวิตสูงสุด
เรียนท่านวิทยากร
"สัมมาอาชีวะ" อยู่ในหมวดของ สีลํ ใช่ไหมคะ
[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 327
วิ. พระแม่เจ้า ขันธ์ทั้ง ๓ (ศีล สมาธิ ปัญญา) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์แล้ว ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่นเข้าถือเอาด้วยขันธ์ทั้ง ๓.
ธ. คุณวิสาขะ ขันธ์ทั้ง ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หามิได้ ก็แลอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ทั้ง ๓ ต่างหาก คุณวิสาขะ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ ธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองศีล สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ ธรรมเหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองสมาธิ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ ธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองปัญญา
สาธุ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอร่วมเรียนถามเพิ่มเติม
จากคำกล่าวสัตว์บริสุทธิด้วยธรรม ๕ ประการ
รวมแล้วก็มีธรรมฝ่ายมรรค แม้ในองค์มรรค ๘ ไม่มีเจตนาเจตสิก แต่นัยนี้ท่านก็ยังกล่าวว่าเจตนาคือกรรม ซึ่งมีอยู่ในทุกขณะจิตแม้ในขณะมรรคจิตผลจิตเกิดก็ไม่ปราศจากเจตนาเจตสิก (กรรม) ด้วย ผมเข้าใจถูกไหมครับ?
และประเด็นที่สอง ชีวิตอันอุดม หมายถึงก็บุคคลนั้นแหละที่ตั้งอยู่ในศีลและธรรมอันบริสุทธิ์นั้นคือ มีความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย อย่างนั้นหรือเปล่าคครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนา
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
กรรม ที่เป็น มรรคเจตนา ในที่นี้ มุ่งหมายถึง สัมมาอาชีวะ ขณะองค์มรรค ๘ ประชุมพร้อมกัน มีเจตนางดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ โดยเด็ดขาด ด้วยองค์มรรค ครับ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๖
ครั้น กล่าวชมพระเชตวันด้วยคาถาแรกอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะกล่าวชมอริยมรรค จึงได้กล่าวคำว่า การงานและความรู้ เป็นต้น. ในคำเหล่านั้นคำว่า การงาน หมายถึงมรรคเจตนา. คำว่า ความรู้ หมายถึงมรรคปัญญา คำว่า ธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งสมาธิ. ท่านแสดงว่า ชีวิตของผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลว่าเป็นชีวิตที่สูงสุด ด้วยคำว่า ศีล ชีวิตที่สูงสุด.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๖๒
คำว่า ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ ด้วยอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ คำว่า สำเร็จชีวิต คือดำเนินการเลี้ยงชีพ ที่ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ ต่างกันในเบื้องต้น เพราะสัญญาในการงดเว้นจากทุจริตมีมุสาวาทเป็นต้น ต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรคเจตนางดเว้นฝ่ายกุศลอันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์แห่งมรรคบริบูรณ์โดยให้สำเร็จความไม่เกิดแห่งเจตนาเครื่องทุศีล อันเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เกิดแล้วในฐานะเจ็ด (กายทุจริต๓ วจีทุจริต ๔) เหล่านี้แหละ เพราะตัดทางได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมาอาชีวะ
ส่วนประเด็น ชีวิตอันอุดม คือ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีล ศีลในที่นี้ คือ ศีลที่เป็นขณะมรรคจิต อันเป็นศีลอันสูงสุด และเป็นศีลที่เกิดพร้อมปัญญา สามารถละกิเลสได้แท้จริง จึงชื่อว่า ศีลที่ประเสริฐสูงสุดและเป็นชีวิตที่อุดม ครับ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจากกิเลส ถูกต้องครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับอาจารย์เผดิม
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ