จิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์กับพระอรหันต์ ขณะทำกุศลกรรมต่างกันอย่างไร
โดย Thanapolb  23 พ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21159

ขอเรียนถาม

เคยได้ยินการทำกุศล หรือทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยทั่วไป ขณะนั้นบุคคลนั้นก็มีจิตเป็นฝ่ายกุศล เช่นช่วยเหลือผู้อื่น แต่ถ้าพระอรหันต์ เช่นเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานเย็บผ้าช่วยพระที่ท่านป่วยหนัก จิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต

แต่ถ้าดูเฉพาะที่การกระทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น อยากทราบว่าสภาวธรรม หรือสภาพจิตของพระอรหันต์ขณะนั้นต่างจากบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์อย่างไร โดยเฉพาะกรณีบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าขณะนั้นกระทำไปด้วยเพราะเห็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น มิได้หวังผลตอบแทน

ที่ถามเพราะอยากจะโยงคำที่ว่า จิตพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต ไม่มีกุศล อกุศล (ไม่พูดถึงส่วนวิบากจิตนะครับ) จะใช้คำว่าท่านทำกุศล ได้ไหม เมื่อกำลังช่วยเหลือบุคคลอื่นดังคำที่มักจะได้ยินว่า ผู้มีปัญญาจะรู้ว่ากุศลควรเจริญทุกเมื่อ

ขออนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 23 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอรหันต์ เป็นบุคคลผู้ห่างไกลจากกิเลส เป็นผู้ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อีกเลย พระอรหันต์ ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต แต่ยังมีจิตชาติอื่นๆ คือ ยังมีจิตชาติวิบาก ท่านยังต้องเห็น ยังได้ยิน ยังได้กลิ่น ยังลิ้มรส ยังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย (จนกว่าท่านจะดับขันธปรินิพพาน) แต่ไม่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้นอีก เพราะท่านดับกิเลสได้หมดแล้ว และอีกประการหนึ่ง พระอรหันต์มีจิตชาติกิริยา โดยปกติผู้ที่มิใช่พระอรหันต์ จะมีจิตชาติกิริยาเพียง ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับ มโนทวาราวัชชนจิต เท่านั้น แต่สำหรับพระอรหันต์มีมากกว่านั้น อย่างเช่นตัวอย่างได้กล่าวมา เช่นการที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยาบาลพระภิกษุที่อาพาธ เป็นต้น เป็นมหากิริยาจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทั้งหมดก็เป็นชาติกิริยา ด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว กับ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ สำหรับพระอรหันต์ ท่านดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีอวิชชา ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย จึงไม่มีเหตุที่จะให้ทำกุศลกับอกุศล อีกเลย เป็นผู้ละได้ทั้งบุญ ละได้ทั้งบาป การกระทำของท่านเป็นไปด้วยอำนาจมหากิริยาจิต ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการกระทำดี เป็นความดี เพราะจิตในขณะนั้น เป็นมหากิริยาจิต เป็นจิตที่ดีงาม มีโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่กุศลจิต เพราะถ้ากล่าวว่าเป็นกุศลแล้ว ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า ซึ่งพระอรหันต์ไม่มีภพใหม่แล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ มีจิต ครบทั้ง ๔ ชาติ ยังมีการกระทำที่เป็นบุญ (กุศล) บ้าง เป็นบาป (อกุศล) บ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และ การกระทำที่เป็นบุญ เป็นบาป นี้ก็จะเป็นเครื่องปรุงแต่งอย่างยิ่ง ให้มีการเกิดต่อไป ยังเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า สภาพจิตของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ในขณะที่กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นด้วยมหากิริยาจิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นด้วยกุศลจิต

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ได้ตรัสรู้ตามพระองค์ ได้ละกิเลสทั้งปวงอย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก รองลงมา คือบรรลุเป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน หรือ ถ้าไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็จะได้สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ได้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรเจริญ อะไรเป็นสิ่งที่ควรเว้น จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ และสูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 23 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 500

พระขีณาสพ (พระอรหันต์) ไม่มีบุญและบาป

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุญย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา, บาปก็มิได้มี; บุญบาปทั้งสอง เธอละเสียแล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-

"ผู้ใดล่วงบุญและบาปทั้งสอง และกิเลสเครื่องข้องเสียได้ในโลกนี้, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความโศก มีธุลีไปปราศแล้ว ผู้บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์."


พระอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้น เท่ากับว่า ไม่มีอวิชชาอีกแล้ว เมื่อไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีสังขาร ดัง ปฏิจจสมุปบาทที่ว่า อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร สังขารในที่นี้ คืออภิสังขาร ที่เป็น เจตนาเจตสิก ที่เป็นในกุศกรรม อกุศลกรรม สรุปได้ว่า เพราะ มีความไม่รู้ จึงมีการทำบุญ และ บาป แต่เมื่อไม่มี ความไม่รู้ คือ อวิชชา แล้ว ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นกุศลจิต และ อกุศลจิต ที่เป็นบุญ และ บาปอีกเลย ครับ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ท่านดับ อวิชชาแล้ว จึงไม่ทำให้ท่านเกิดจิตที่เป็นกุศล อกุศล แต่เป็นกิริยาจิต และ วิบากจิต ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

พระอรหันต์ ก็ยังมีจิต เจตสิกและรูป ขณะที่ท่านมีเมตตา มีความคิดที่จะช่วยเหลือหรือ มีกรุณาก็ได้ ความต่างของ พระอรหันต์ กับ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ขณะที่ มีเมตตาคิดช่วยเหลือ คือ ต่างที่ชาติของจิตเท่านั้น คือ พระอรหันต์ เกิดจิตที่ดี (โสภณจิต) แต่เป็นกิริยาจิต ส่วน ปุถุชน ก็เป็นจิตที่ดี (โสภณจิต) แต่เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น หากจะเรียก ควรเรียกจิตของพระอรหันต์ ขณะที่เกิดจิตที่ดี เรียกว่า โสภณจิต ที่เป็นจิตที่ดี แต่ไม่ใช่กุศลจิต โสภณจิต คือ จิตที่ดี กินความกว้างขวางกว่า กุศลจิต คือ กุศลจิตเป็นส่วนย่อยของโสภณจิต ครับ โสภณจิต เป็น จิตที่ดีงาม เพราะ มีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย ชื่อว่า โสภณจิต เช่น มี ศรัทธาเจตสิก อโทสเจตสิก (เมตตา) กรุณาเจตสิก หิริเจตสิก สติเจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วยกับจิตใด จิตนั้นเป็นจิตที่ดีงาม ที่เป็นโสภณจิต แต่ ไม่ใช่เป็นกุศลจิต ครับ

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า สิ่งที่ต่างกันของพระอรหันต์ กับ ปุถุชน หรือ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ขณะที่ทำดีต่างกันที่ประเภทของจิต คือ พระอรหันต์ เป็นกิริยาจิต ปุถุชน เป็นกุศลจิต แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นโสภณจิตเหมือนกัน และ ที่เหมือนกัน อีกประการหนึ่ง คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น คือ มีเจตสิกที่เป็น โสภณสาธารณะเจตสิกที่เป็นเจตสิกที่ดีที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีทุกประเภท คือ มีสติเหมือนกัน มีหิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่ที่ต่างกัน ที่ลืมไม่ได้เลย คือ แม้จะเป็นจิตที่ดีงาม เป็นโสภณจิต ทำด้วยความหวังดีทั้งคู่ แต่ จิตที่เกิดขึ้นของพระอรหันต์ที่เป็นกิริยาจิตนั้น ตลอดวิถี ไม่มีอนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องเลย ส่วนผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมี อนุสัยกิเลสนอนเนื่อง แม้จิตนั้นจะเป็นกุศลจิตก็ตาม ครับ นี่คือ ความต่างกันของจิตที่เกิดขึ้น ในขณะที่จิตดีงามของพระอรหันต์ และผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์เกิดขึ้นครับ

โดยละเอียดก็ยังมีความแตกต่างกันอีกครับ จิตที่ดีงามของพระอรหันต์ ที่เป็นกิริยาจิต ปราศจากกิเลสนอนเนื่องแล้ว ย่อมมีกำลังมากกว่า จิตที่ดีงาม ที่เป็นกุศลจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ครับ เช่น หิริเจตสิก มีกำลังมากกว่า โอตตัปปะ มีกำลังมากกว่า รวมทั้งปัญญาก็มีกำลังมากกว่า ครับ นี่คือ ความละเอียดของพระธรรม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย Thanapolb  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณมากเลยครับ

กระจ่างขึ้น ครับ แสดงว่า เจตสิกที่ดีงาม เช่น เมตตา กรุณา ก็เกิดกับจิตที่เป็นชาติกิริยาได้ด้วยนี่เอง และดังนั้น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ที่ว่าเกิดกับจิตทุกดวง ก็รวมหมายถึงเกิดกับจิตที่เป็นชาติกิริยาด้วย ใช่ไหมครับ และขอบคุณและอนุโมทนากับคำดีๆ

สภาพจิตของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ในขณะที่กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นด้วยมหากิริยาจิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นด้วยกุศลจิต

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย nong  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ถูกต้องครับ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกๆ ประเภท รวมทั้ง มหากิริยาจิตด้วย

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ .... สัพพจิตตสาธารณเจตสิก


ความคิดเห็น 7    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 25 พ.ค. 2555

สภาวจิตของพระอรหันต์ (มหากิริยาจิต) เป็นจิตที่ดีงาม เช่นเดียวกับ มหากุศลจิต จะต่างกันก็ตรงที่ มหากุศลจิต เกิดขึ้นกับปุถุชน และพระเสกขบุคคล เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวิบากทำให้มีภพใหม่ชาติใหม่ต่อไป ....

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย pat_jesty  วันที่ 25 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย kinder  วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย สิริพรรณ  วันที่ 27 ม.ค. 2564

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

การได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม จึงรู้ว่า กิเลสมีความรุนแรงในระดับต่างๆ ทั้งอย่างหยาบ ทำให้ล่วงทุจริตทางกาย วาจา กิเลสอย่างกลาง กลุ้มรุมในจิตให้เดือดร้อนไม่สงบ และกิเลสอย่างละเอียด ที่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ แต่มีจริง เป็นพืชเชื้อของกิเลสทั้งหมด ซึ่งการจะดับกิเลส ต้องเป็นไปตามกำลังของปัญญา ความเข้าใจความจริงจากการฟังพระธรรม ที่ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กน้อย จะทำให้รู้หนทางดับกิเลสได้ ซึ่งกิเลสที่เป็นหัวหน้า คือความไม่รู้ ที่ทำให้เห็นผิดจากความเป็นจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาถ่ายทอด ก็ไม่รู้หนทางที่ละเอียด และถูกต้องได้เลย

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง และกราบขอบพระคุณคณะวิทยากรทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย lack  วันที่ 7 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณท่านผู้ตั้งคำถาม และ คณะวิทยากรทุกท่าน ผมผ่านเข้ามาอ่าน ได้ความรู้ในเรื่องพระอรหันต์ สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ดีขึ้น เป็นประโยชน์มากๆ เลยครับ

ขออนุโมทนา ในกุศลจิต ทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 5 เม.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ