๕. ผาสุวิหารสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ
โดย บ้านธัมมะ  27 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39175

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 241

ตติยปัณณาสก์

ผาสุวิหารวรรคที่ ๑

๕. ผาสุวิหารสูตร

ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 241

๕. ผาสุวิหารสูตร

ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ มีศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่เกี่ยวเกาะ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ ทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออก เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ แห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล.

จบผาสุวิหารสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 242

อรรถกถาผาสุวิหารสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในผาสุวิหารสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่ กายกรรมที่ให้เป็นไปด้วยจิต ประกอบด้วยเมตตา. บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง. แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้แหละ.

บทว่า ยานิ ตานิ สีลานิ เป็นต้น ตรัสด้วยจตุปาริสุทธิศีล. บทว่า สมาธิสํวตฺตนิกานิ ได้แก่ อันทำให้มรรคสมาธิ และผลสมาธิบังเกิด. บทว่า สีลสามญฺคโต แปลว่า ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน อธิบายว่า เป็นผู้มีศีลเช่นเดียวกัน. บทว่า ตกฺกรสฺส ได้แก่ ผู้กระทำตามความเห็นนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความมีศีลเสมอกัน ตรัสทิฏฐิวิปัสสนา และสัมมาทิฏฐิ ในสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถา ผาสุวิหารสูตรที่ ๕