ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ. ยังไม่ค่อยเข้าใจ สมมติง่ายๆ ว่า ในตอนนี้เห็นปากกา ท่านอาจารย์บอกว่า เมื่อเห็นเป็นปากกาแล้วก็แสดงว่าผ่านทางปัญจทวารไปสู่มโนทวารแล้ว ทีนี้ไม่ทราบว่ามีการศึกษาหรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ให้ข้ามทางปัญจทวารก่อน
สุ. ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าขณะไหนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ และจิตรู้บัญญัติอารมณ์ทางทวารไหน ขณะที่จิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์นั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุใดๆ เลย ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วจนทำให้เห็นเหมือนกับพัดลมกำลังหมุน การที่รูปใดจะปรากฏเป็นอาการเคลื่อนไหวนั้น ต้องมีรูปเกิดดับสืบต่อกันมากมายหลายรูปจึงจะทำให้เห็นเป็นการเคลื่อนไหวได้ ฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ จึงมากมายหลายวาระจนปิดกั้นลักษณะของปรมัตถธรรม ทำให้ไม่รู้เฉพาะลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงเลย
ถ. ถ้าอย่างนั้นจะให้เอาคำว่าบัญญัติไปทิ้งไว้ที่ไหน
สุ. ไม่ใช่ให้ทิ้ง แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตกำลังรู้บัญญัติ
ถ. เป็นสภาพนึกคิดคำ
สุ. ขณะที่ไม่ได้คิดคำแต่รู้รูปสัณฐาน หรือรู้ความหมายอาการปรากฏก็เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ จะต้องรู้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมได้ ท่านที่บอกว่าไม่เห็นเก้าอี้ดับเลย เมื่อยังไม่ได้แยกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างที่รวมกันออกก็เห็นเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติแล้วจะดับได้อย่างไร ตัวอย่างที่ว่า ภาพเขียนองุ่นกับผลองุ่นนั้นเมื่อกระทบสัมผัสทางกายทวารต่างกันไหม แข็งไม่เหมือนกัน หรือ ธาตุแข็งเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ กัน ทำให้แข็งมาก แข็งน้อย อ่อนมาก อ่อนน้อยก็จริง แต่แข็งก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ทั้งภาพองุ่นและผลองุ่น แต่องุ่นที่เป็นภาพเขียนไม่มีรสของผลองุ่น รูปที่เกิดรวมกันทำให้รู้ว่าเป็นผลองุ่นนั้น ความจริงแล้วรสก็เป็นรูป ๑ กลิ่นก็เป็นรูป ๑ เย็นหรือร้อนก็เป็นรูป ๑ อ่อนหรือแข็งก็เป็นรูป ๑ ตึงหรือไหวก็เป็นรูป ๑ เมื่อรวมกันและเกิดดับอย่างรวดเร็วก็ทำให้บัญญัติรู้โดยอาการนั้นๆ ว่านี่คือ สิ่งนี้ที่ดูเสมือนไม่ดับ แต่ตามความเป็นจริงนั้นปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว รูปที่ผลองุ่น ไม่ว่าจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ดับ รสก็ดับ สภาวรูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างไร เสียง กลิ่น รสอะไรก็ตาม ปัญญาต้องพิจารณาแยกย่อยฆนสัญญาออกจนรู้ความจริงว่า ที่บัญญัติเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับรวมกัน เมื่อรวมกันเป็นอาการสัณฐานแล้ว มโนทวารวิถีจิตจึงหมายรู้โดยประการนั้นๆ ขณะใด ขณะนั้นก็มีบัญญัติ คือ อาการสัณฐานนั้นๆ เป็นอารมณ์
ถ. แต่ถ้าทางมโนทวารทราบว่าเป็นปากกา ผิดหรือถูก
สุ. ไม่ผิด เพราะว่าขณะนั้นมีธัมมารมณ์ คือบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ปัญญาต้องรู้ถูกต้องว่า ชั่วขณะที่เป็นมโนทวารวิถีต่างกับขณะที่เป็นจักขุทวารวิถี ซึ่งผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ย่อมรู้รวมกันทั้งทางจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถีว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ในวันหนึ่งๆ นั้นทุกคนชอบอะไร โลภะชอบอะไร ชอบทุกอย่าง รวมทั้งอะไร
ถ. สิ่งที่พึงพอใจทุกประเภท
สุ. โลภะชอบทุกอย่าง รวมทั้งบัญญัติด้วย โลกเต็มไปด้วยบัญญัติ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าชอบทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติด้วย เมื่อชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นชอบบัญญัติด้วย ไม่ใช่ชอบแต่เฉพาะปรมัตถ์เท่านั้น ถ้าชอบเข็มขัด ๑ เส้น ก็ชอบสีที่ปรากฏทางตา
ถ. ชอบยี่ห้อด้วย
สุ. ชอบทั้งหมดเลย ถ้าบอกว่าชอบสี สีอะไร สีที่เป็นคิ้ว เป็นตา เป็นจมูก เป็นปาก ถ้าไม่มีสีปรากฏ จะมีคิ้ว ตา จมูก ปากได้ไหม ไม่ได้ แต่เวลาเห็นสี สีก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะแดง เขียว ฟ้า นํ้าเงิน ขาว แต่แม้กระนั้นก็ยังชอบสีที่เป็นคิ้ว สีที่เป็นตา สีที่เป็นจมูก สีที่เป็นปาก นั่นคือชอบบัญญัติ
ปรมัตถธรรมมีจริง แต่เมื่อชอบสิ่งใด ขณะนั้นก็ชอบทั้งปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ และชอบบัญญัติของปรมัตถธรรมนั้นด้วย
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ