ภวังคจิต
โดย วิริยะ  8 ก.พ. 2558
หัวข้อหมายเลข 26158

เรียนถาม

สำหรับภวังคจิต นอกจากจากสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้ว ยังมีกุศลเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่คะ ภวังคจิตเป็นจิตที่เรียกว่า ปัณฑร หรือไม่คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมากถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย

ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ดังนั้น ภวังคจิต ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิตที่เกิดขึ้น ดำรงภพชาติ ก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ทั้งหลายๆ ปัจจัย เช่น สหชาตปัจจัย อาศัย จิต และเจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น และ วิปากปัจจัย และ ปกตูปนิสสยปัจจัย และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ครับ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้น และเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ

-คำว่า ปัณฑระ หมายถึง ขาว, บริสุทธิ์ เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต เป็นไวพจน์ของจิต เพราะมีคำหลายคำที่หมายถึงจิต ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ถ้ากล่าวถึงจิต โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้น จิตทุกประเภท เป็นปัณฑระ คือ ขาว แม้แต่อกุศลจิต ก็เป็นปัณฑระ ตามข้อความที่ว่า "เพราะจิตมีลักษณะรู้อารมณ์ จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมอง โดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยอุปกิเลส จิตจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้น จึงควรเพื่อกล่าวว่า ปัณฑระ (ขาว) " เพราะฉะนั้น ภวังคจิต แม้จะมีอารมณ์อย่างไรก็ตาม ก็ชื่อ เป็น ปัณฑระ เพราะเหตุว่า ขาว บริสุทธิ์ ที่มุ่งหมายถึง ที่สภาพธรรมที่เป็นจิตเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่เป็น เจตสิก ครับ และ จิตอื่นๆ ทั้งหมด ก็ชื่อเป็น ปัณฑระ ด้วย เพราะแม้อกุศลจิต เมื่อมุ่งหมายถึง จิตเท่านั้น จิตนั้น ขาว บริสุทธิ์ เพราะ ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ

คำว่า ประภัสสร หมายถึง ผ่องใส จิตจะผ่องใสได้ก็ต่อเมื่อเป็นกุศลจิต เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก (เจตสิกฝ่ายดี) มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย จึงผ่องใส และอีกประการหนึ่ง ขณะที่เป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้อยู่ อารมณ์ของโลกนี้ไม่ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงชั่วขณะที่จิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่มีกิเลสประการต่างๆ เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ ดังนั้น ขณะที่เป็นภวังคจิต จึงกล่าวว่า เป็นจิตประภัสสร ด้วย

-อกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรม (ที่ไม่ดี) ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นชาติกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิตแล้ว จิตจึงเศร้าหมองเพราะอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ดังนั้น อกุศลเจตสิก ไม่บริสุทธิ์ แต่ตัวจิต เป็นปัณฑระ (ขาว) ครับ

คำว่า “ปภัสสร” หรือ “ปภัสสรํ” หรือ “ปภัสสระ” หมายถึงภวังคจิตและกุศลจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิตของคน ของเทพ ของสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิตเลย แต่ภวังคจิตทุกประเภท ทุกภูมิ เป็นประภัสสรทั้งหมด เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 9 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 9 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ภวังคจิต คือ อะไร? ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวันมีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย) เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่ขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ ส่วนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นที่ไหน เวลาใด

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ยังมีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เมื่อจุติจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในภพต่อไป ก็จะเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น แต่จะเกิดเป็นใคร ในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมเป็นสำคัญ ว่า กรรมใด จะให้ผลนำเกิด กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ หรือ เกิดเป็นเทวดา ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลของรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ในรูปพรหมภูมิ และถ้าเป็นผลของอรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตที่กระทำปฏิสนธิ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ มหาวิบาก ๘, อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑, อุเบกขาสันตรีณอกุศวิบาก ๑, รูปาวจรวิบาก ๕ และ อรูปาวจรวิบาก ๔ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทใดที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพนั้น เมื่อวิบากจิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ วิบากจิตนั้นก็ทำกิจภวังค์และทำกิจจุติในภพนั้นๆ ด้วย ความจริงเป็นอย่างนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย

สำคัญที่ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมที่มีจริง ภวังคจิตก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ ไม่ใช่เราเลย และจิตที่ทำกิจภวังค์นั้น ก็มีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ แต่จะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย นี้คือความเป็นจริง ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

เพราะเหตุว่า เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม คือ บางกลุ่มเกิดร่วมกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่มีเว้น ที่เรียกว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก มี ๗ ประเภท ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น, บางกลุ่ม ก็เกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ เกิดกับจิตประเภทใดก็มีความเสมอกันกับจิตประเภทนั้น เช่น ฉันทะ ความพอใจใคร่ที่จะกระทำ เกิดกับกุศลจิต ก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดร่วมกับกิริยาจิตก็ได้ เกิดร่วมกับวิบากจิตก็ได้ เป็นต้น เรียกว่า ปกิณณกเจตสิก, เจตสิกบางกลุ่ม เป็นเจตสิกที่ดีงาม จะเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น เรียกว่า โสภณเจตสิก เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น และ เจตสิกอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จะเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น เกิดกับจิตชาติอื่นไม่ได้

จิตทุกขณะขณะ ทุกประเภท เป็นปัณฑระ แปลว่า ขาว บริสุทธิ์ เพราะกล่าวถึงเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นจิต ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงปภัสสรแล้ว มุ่งหมายถึง ภวังคจิต กุศลจิต เป็นหลัก ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย วิริยะ  วันที่ 9 ก.พ. 2558

เรียนถาม

ถ้าเป็นจิตที่ดีเป็นกุศลจิต ปกิณณกเจตสิก 6 ที่เกิดร่วมกับจิตดีก็จะดีไปด้วย ในกรณีนี้เจตสิกทั้ง 6 นี้ จะเกิดร่วมอยู่ในภวังคจิตด้วยหรือไม่คะ หรือว่าเจตสิกของภวังคจิตซึ่งทำหน้าที่ดำรงภพชาติของบุคคลนั้นๆ จะมีเพียงสัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 เท่านั้นตลอดไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 9 ก.พ. 2558

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ความเข้าใจเบื้องต้น คือ จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด มีเพียง ๑๐ ดวง คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่เป็นผลของกุศล และเป็นผลของอกุศล (รวมเป็น ๑๐ ดวง) ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และ มนสิการะ แต่จิตอื่นๆ นอกจากนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มากกว่า ๗

ดังนั้น ภวังคจิต จึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ประเภท นี้ เพราะต้องเข้าใจว่าจิตอะไร ที่ทำกิจภวังค์ได้บ้าง (ตามที่ได้กล่าวแล้วในความคิดเห็นที่ ๓) เช่น ถ้าเป็นภวังคจิต ของผู้ที่เกิดในอบายภูมิ ที่เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ก็มีปกิณณกเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๓ ดวง คือ วิตักกะ วิจาระ และ อธิโมกข์ รวมกับเจตสิก ๗ ประเภท จึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง

ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ก็ต้องเป็นมหาวิบาก ๘ ดวง ดวงหนึ่งดวงใด ที่ทำกิจภวังค์ ยกตัวอย่างมหาวิบาก ดวงที่ ๑ นั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๓๓ ดวง (ไม่ใช่เพียงแค่ ๗ เท่านั้น) กล่าวคือ มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ มีปกิณณกเจตสิก เกิดร่วมด้วย ครบทั้ง ๖ เลย มีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ และมีปัญญาเจตสิก เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

แต่ขอให้ได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ภวังคจิต ไม่ใช่มีเฉพาะเจตสิก ๗ ดวงเท่านั้น แต่มีมากกว่านั้น ตามควรแก่ภวังคจิต นั้นๆ

อีกประการหนึ่ง ปกิณณกเจตสิก ไม่ใช่ว่าจะเกิดพร้อมกันทั้ง ๖ เสมอไป ก็ตามควรแก่จิตขณะนั้น อย่างที่ได้ยกตัวอย่างอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ก็มีปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๓ ดวง คือ วิตักกะ วิจาระ และ อธิโมกข์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย ธุลีพุทธบาท  วันที่ 9 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ.


ความคิดเห็น 7    โดย วิริยะ  วันที่ 9 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ดวงทิพย์  วันที่ 10 ก.พ. 2558

พระธรรมของพระผู้มีพระภาคละเอียดลึกซึ้งมากยาก แก่การเข้า.ใจคะ..

ต้องอดทนที่จะฟังพระธรรมต่อไปอย่างแน่วแน่มั่นคงจริงใจด้วยความเคารพยิ่งขึ้นๆ ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่าน..และขออนุโมทนาทุกท่านคะ


ความคิดเห็น 9    โดย palsawangpattanagul  วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ _/|\_


ความคิดเห็น 10    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 31 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย chatchai.k  วันที่ 31 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ