๗. อาณีสูตร ว่าด้วยการตอกลิ่ม
โดย บ้านธัมมะ  5 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36736

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 737

๗. อาณีสูตร

ว่าด้วยการตอกลิ่ม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 737

๗. อาณีสูตร

ว่าด้วยการตอกลิ่ม

[๖๗๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี... พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า ทสารหะ ได้มีแล้ว เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมาโครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 738

ในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ว่าควรศึกษา แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา.

[๖๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธาน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม อยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

จบอาณีสูตรที่ ๗

อรรถกถาอาณีสูตรที่ ๗

ในอาณีสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทสารหานํ ได้แก่ เหล่ากษัตริย์ผู้มีชื่ออย่างนี้. ได้ยินว่า กษัตริย์เหล่านั้น ถือเอาสิบส่วนจากข้าวกล้า ฉะนั้นจึงปรากฏชื่อว่า ทสารหา.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 739

บทว่า อานโก ได้แก่ กลองมีชื่ออย่างนี้.

ได้ยินว่า ในป่าหิมวันต์ มีสระปูใหญ่. ปูใหญ่กินช้างที่ลงไปในสระนั้น. ครั้งนั้น พวกช้างถูกปูเบียดเบียน มีความเห็นร่วมกันว่า เพราะอาศัยลูกของนางช้างนี้ พวกเราจึงจักมีความสวัสดีได้ จึงได้พากันสักการะนางช้างเชือกหนึ่ง. แม้นางช้างนั้นก็ได้ตกลูกเป็นช้างมเหศักดิ์. ช้างทั้งหลายพากันสักการะแม้ลูกช้างนั้น. ลูกช้างเจริญวัยแล้วถามแม่ว่า เหตุไรช้างเหล่านี้จึงสักการะเรา. นางช้างจึงเล่าเรื่องให้ฟัง. ลูกช้างกล่าวว่า ก็ปูเป็นอะไรกะฉัน พวกเราไปที่นั่นกันเถิด แวดล้อมไปด้วยช้างเป็นอันมาก ไปที่นั้นแล้วลงสระก่อนทีเดียว. ปูมาหนีบลูกช้างไว้เพราะเสียงน้ำนั่นเอง. ปูมีก้ามใหญ่. ลูกช้างไม่อาจทำปูให้เคลื่อนไปข้างโน้นข้างนี้ได้ จึงสอดงวงเข้าปากร้องลั่น. ช้างทั้งหลายกล่าวว่า ลูกช้างที่พวกเราเข้าใจว่า ได้อาศัยแล้วจักมีความสวัสดีนั้น ถูกหนีบเสียก่อนเลย จึงพากันหนีกระจัดกระจายไป.

ลำดับนั้น แม่ของลูกช้างยืนอยู่ไม่ไกล กล่าวกะปูด้วยคำที่น่ารักว่า พวกเราชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐบนบก พวกท่านชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐในน้ำ ผู้ประเสริฐไม่ควรเบียดเบียนผู้ประเสริฐ ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ว่า

เย กุฬีรา สมุทฺทสฺมิํ คงฺคาย ยมุนาย จ เตสํ ตฺวํ วาริโช เสฏฺโ มุญฺจ โรทนฺติยา ปชํ

บรรดาปูทั้งหลาย ในทะเล ในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเหล่านั้น ท่านเป็นสัตว์น้ำที่ประเสริฐที่สุด ขอท่านจงปล่อยลูกของเราผู้ร้องไห้อยู่.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 740

ธรรมดาเสียงมาตุคาม ย่อมทำให้บุรุษปั่นป่วน ฉะนั้น ปูจึงได้คลายหนีบ ลูกช้างรีบยกเท้าทั้งสองขึ้นเหยียบหลังปู. พอถูกเหยียบ หลังปูแตกเหมือนภาชนะดิน. ลำดับนั้น ลูกช้างเอางาทั้งสองแทงปู ยกขึ้นทิ้งไปบนบก แล้วส่งเสียงร้องแสดงความยินดี ช้างทั้งหลายมาจากที่ต่างๆ เหยียบปูนั้น. ก้ามปูก้ามหนึ่งหักกระเด็น ท้าวสักกเทวราชทรงถือเอาก้ามปูนั้นไป.

ส่วนก้ามปูอีกก้ามหนึ่งถูกลมและแดดเผาจนสุก มีสีเหมือนน้ำครั่งเคี่ยว. เมื่อฝนตก ก้ามปูนั้นถูกกระแสน้ำพัดลอยมาติดข่ายของพระราชาสิบพี่น้องผู้ขึงข่ายไว้เหนือน้ำ เล่นน้ำอยู่ที่แม่น้ำคงคา. เมื่อเล่นน้ำแล้ว ยกข่ายขึ้น พระราชาเหล่านั้นทรงเห็นก้ามปูนั้น ตรัสถามว่า นั่นอะไร. ก้ามปู พะย่ะค่ะ. พระราชาทั้งหลายตรัสว่า ก้ามปูนี้ ไม่อาจนำไปเป็นเครื่องประดับได้ พวกเราจักให้หุ้มก้ามปูนี้ทำกลอง รับสั่งให้หุ้มแล้ว ทรงตี. เสียง (กลอง) ดังไปทั่วพระนคร ๑๒ โยชน์. ต่อแต่นั้น พระราชาทั้งหลายตรัสว่า ไม่อาจประโคมกลองนี้ประจำวัน จงเป็นมงคลเภรีสำหรับวันมหรสพเถิด จึงให้ทำเป็นมงคลเภรี. เมื่อประโคมกลองนั้น ประชาชนไม่ทันอาบน้ำ ไม่ทันแต่งตัว รีบขึ้นยานช้างเป็นต้นไปประชุม. กลองนั้นได้ชื่อว่า อานกะ เพราะเหมือนเรียกประชาชนมา ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อญฺํ อาณิํ โอทหิํสุ ความว่า ตอกลิ่มอื่นที่สำเร็จด้วยทองและเงินเป็นต้น.

บทว่า อาณิสงฺฆาโตว อวสิสฺสติ ความว่า เพียงการตอกลิ่มที่สำเร็จด้วยทองเป็นต้นเท่านั้นได้เหลืออยู่. ลำดับนั้น เสียงของกลองนั้นดังไปประมาณ ๑๒ โยชน์ แม้อยู่ภายในม่านก็ยากที่จะ


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 741

ได้ยิน.

บทว่า คมฺภีรา ความว่า ว่าโดยบาลีพระสูตรทั้งหลายที่ลึก เช่น สัลลสูตร.

บทว่า คมฺภีรตฺถา ความว่า ว่าด้วยอรรถ พระสูตรทั้งหลายที่ลึก เช่น มหาเวทัลลสูตร.

บทว่า โลกุตฺตรา ได้แก่ แสดงอรรถอันเป็นโลกุตตระ.

บทว่า สุญฺตปฏิสญฺญุตฺตา ความว่า เหมือนประกอบข้อความที่ประกาศเพียงสุญญตธรรมเท่านั้น.

บทว่า อุคฺคเหตพฺพํ ปริยาปุณิตพฺพํ ความว่า ที่ควรเล่าเรียนและควรศึกษา.

บทว่า กวิกตา ความว่า อันกวี คือนักปราชญ์รจนาไว้.

นอกนั้นเป็นไวพจน์ของบทว่า กวิกตา นั่นเอง.

บทว่า จิตฺตกฺขรา ได้แก่ มีอักษรวิจิตร.

นอกนั้นเป็นไวพจน์ของบทว่า จิตฺตกฺขรา นั่นเอง.

บทว่า พาหิรกา ได้แก่ มีภายนอกพระศาสนา.

บทว่า สาวกภาสิตา ความว่า พระสูตรเหล่านั้นเป็นสาวกภาษิต.

บทว่า สุสฺสุสิสฺสนฺติ ความว่า สามเณร ภิกษุหนุ่ม มาตุคาม และมหาคหบดีเป็นต้น มีความพอใจ เพราะพระสูตรเหล่านั้นมีอักษรวิจิตรและสมบูรณ์ด้วยการฟัง จักเป็นผู้ปรารถนาประชุมฟังด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นธรรมกถึก.

บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุนั้น พระสูตรทั้งหลายที่เป็นตถาคตภาษิต เมื่อพวกเราไม่ศึกษา ย่อมอันตรธานไป.

จบอรรถกถาอาณีสูตรที่ ๗