[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 12
แสดงสรณคมน์ขาด ไม่ขาด และผล
บัดนี้ จะแสดงสรณคมน์ขาดเป็นต้น ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จะแสดงสรณคมน์ขาดและไม่ขาดทั้งผล ทั้งสรณะที่ควรถึง ดังต่อไปนี้.
การขาดสรณคมน์ ของบุคคลผู้ถึงสรณคมน์อย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือมีโทษและไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่น และประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ. การขาดแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมมีแก่พวกปุถุชนเหล่านั้น สรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้น ในพระพุทธคุณทั้งหลาย ส่วนพระอริยบุคคลหามีสรณะที่ขาดไม่ และหามีสรณะเศร้าหมองไม่ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ [สัมมาทิฏฐิ] จะพึงนับถือศาสดาอื่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ส่วนพวกปุถุชน ยังไม่ถึงการขาดสรณะตราบใด ตราบนั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้มีสรณะไม่ขาด การขาดสรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมมีโทษ มีความเศร้าหมองและอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนา การขาดสรณะที่ไม่มีโทษ ก็ไม่มีผล เพราะหาวิบากมิได้. ส่วนการไม่ขาดสรณะว่าโดยผล ก็ย่อมอำนวยผลที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว ก็จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ ดังนี้
ก็ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายแห่งคาถาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใด ถึงสรณะด้วยการตัดอุปกิเลสได้ขาดด้วยสรณคมน์ ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบาย.ส่วนชนนอกนั้น จักไม่ไปอบาย ก็ด้วยการถึงสรณะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ยินดีในกุศลจิตค่ะ