อรรถกถาสูตรที่ ๗ ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ
โดย บ้านธัมมะ  16 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38342

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 319

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 319

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้

บทว่า มญฺชุสฺสรานํ แปลว่า มีเสียงหวาน. บทว่า ลกุณฺฎกภทฺทิโย ความว่า ท่านว่าโดยส่วนสูง เป็นคนเตี้ย โดยชื่อ ชื่อว่า ภัททิยะ. ในปัญหากรรม แม้ของพระภัททิยะนั้น มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ต่อไปนี้.

กล่าวโดยพิสดาร ท่านพระเถระแม้นี้ บังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมาก ในกรุงหงสวดี ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ไปพระวิหารฟังธรรมตามนัยที่กล่าวแล้ว นั่นแล สมัยนั้น ท่านเห็นพระภิกษุ ผู้มีเสียงไพเราะรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เกิดจิตคิดว่า อัศจรรย์หนอต่อไปในอนาคต เราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุนี้ จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานนี้ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีเสียงไพเราะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคต ก็ทรงเห็นความสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า กรรมของท่านนี้จักสำเร็จในที่สุดแห่ง


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 320

แสนกัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ ในศาสนาของพระองค์ดังนี้แล้ว เสด็จกลับพระวิหาร แม้ท่านได้พยากรณ์นั้นแล้ว กระทำกรรมดีงามอยู่ตลอดชีวิต ทำกาละในอัตตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี บังเกิดเป็น นกดุเหว่า มีขนปีกอันสวยงาม อยู่ในเขมมฤคทายวัน. วันหนึ่งไปยังหิมวันตประเทศ เอาปากคาบผลมะม่วงหวานมา เห็นพระศาสดามีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ถวายบังคมแล้ว คิดว่าในวันอื่นๆ เรามีตัวเปล่าพบพระตถาคต แต่วันนี้เรานำมะม่วงสุกผลนี้ มาเพื่อฝากบุตรของเรา แต่สำหรับบุตรนั้น เราไปเอาผลอื่นมาให้ก็ได้ แต่ผลนี้เราควรถวายพระทศพลดังนี้ จึงคงบินอยู่ในอากาศ. พระศาสดาทรงทราบใจของนก จึงแลดูพระอุปัฏฐากนามว่า อโสกเถระ พระเถระจึงนำบาตรถวายพระศาสดา นกดุเหว่าจึงเอาผลมะม่วงสุก วางไว้ในบาตรของพระทศพล. พระศาสดาประทับนั่งเสวยในที่นั้น นั่นแหละ. นกดุเหว่ามีจิตเลื่อมใสนึกถึงพระคุณของพระทศพลเนืองๆ ถวายบังคมพระทศพลแล้ว ไปรังของตน ยับยั้งอยู่ด้วยสุขปีติ ๗ วัน. ในอัตตภาพนั้น เธอทำกัลยาณกรรมไว้มีประมาณเท่านี้ ด้วยกรรมนี้ เธอจึงมีเสียงไพเราะ.

แต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อชนทั้งหลายปรารภ เริ่มสร้างเจดีย์ ต่างพูดกันว่า เราจะสร้างขนาดเท่าไร เราสร้างขนาด ๗ โยชน์ก็จะใหญ่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็สร้างขนาด ๖ โยชน์ แม้ ๖ โยชน์นี้ก็ใหญ่เกินไป เราจะสร้าง ๕


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 321

โยชน์ เราจะสร้าง ๔ โยชน์ ... ๓ โยชน์ ... ๒ โยชน์ ดังนี้. ท่านภัททิยะนี้ ครั้งนั้น เป็นนายช่างใหญ่พูดว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การสร้างก็ควรนึกถึงการบำรุงได้ง่าย ในอนาคตกาลบ้าง แล้วกล่าวว่า มุขแต่ละมุขขนาดคาวุตหนึ่ง เจดีย์ส่วนกลมโยชน์หนึ่ง ส่วนสูงโยชน์หนึ่ง ดังนี้ ชนเหล่านั้นก็เชื่อ ท่านได้กระทำแต่พอประมาณ แด่พระพุทธเจ้าผู้หาประมาณมิได้ ด้วยกรรมนั้น ดังกล่าวมานี้ จึงเป็นผู้มีขนาดต่ำกว่าชนเหล่าอื่น ในที่ที่ตนเกิดแล้ว ด้วยประการดังนี้.

ครั้งพระศาสดาของเรา ท่านมาบังเกิด ในตระกูลที่มีโภคะสมบัติมาก ในกรุงสาวัตถี พวกญาติขนานนามของท่านว่า ภัททิยะ ท่านเจริญวัยแล้ว เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร จึงไปพระวิหาร ฟังพระธรรมเทศนา ได้ศรัทธาแล้ว รับกัมมัฎฐานในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาท่านไว้ ในตำแหน่งผู้ยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๗