[คำที่ ๓๑o] สงฺขตธมฺม
โดย Sudhipong.U  3 ส.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32430

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สงฺขตธมฺม

คำว่า สงฺขตธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - ขะ - ตะ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า สงฺขต (เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น) กับ คำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริงๆ ,ธรรม) รวมกันเป็น สงฺขตธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า สังขตธรรม แปลว่า สิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นคำที่แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องมีความดับไป เป็นธรรมดา ไม่มีธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนแล้วต้องดับไปทั้งหมด ทั้งจิต เจตสิก และ รูป

ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความหมายของ สังขตธรรม ไว้ ว่า

"ธรรม ที่ชื่อว่า สังขตะ เพราะปัจจัยทั้งหลายประชุมกันปรุงแต่ง"


สิ่งที่มีจริง ย่อมเป็นสิ่งที่มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจิรงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้ ไม่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อประมวลแล้ว ก็คือ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด และรูป ทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสังขตธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเลยแม้แต่น้อย ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังมีความเข้าใจที่ถูกต้อง น้อมไปสู่ความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เราอย่างแท้จิรง

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิตแม้แต่ขณะเดียว เพราะเหตุว่าจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ (คือมีทั้งรูปและนาม) เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ตัวอย่างของเจตสิก เช่น ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความไม่รู้) สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เป็นต้น

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นามธรรม, รูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

จิต เจตสิก และรูป ทั้งหมดนี้ เป็นสังขตธรรม เช่น เห็นในขณะนี้ เกิดแล้วเพราะปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีอารมณ์ของจิตเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตเห็น มีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเห็น คือ จักขุวัตถุ มีกรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมนั้นเลยแม้แต่น้อย

จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปอย่างเดียวที่เป็นสังขตธรรม สังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าเข้าใจคำนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะรู้ได้เลยว่า ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง มิฉะนั้นเกิดไม่ได้ และสิ่งใดก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย ซึ่งตลอด ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้ คือ สังขตธรรม ไม่เปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่น เพราะหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ถ้าหากได้ยินคำว่า “สังขตธรรม” ขณะใด ก็หมายความถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไปนั่นเอง เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จิตก็เป็นสังขตธรรม เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เจตสิกก็เป็นสังขตธรรม เช่น ความชอบใจ ความต้องการ เป็นโลภเจตสิก ความขุ่นเคืองใจ ความหยาบกระด้างของจิต เป็นโทสเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ว่าเจตสิกมีหลายชนิด และบางชนิดก็เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง อีกบางชนิดก็เกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น จิตประเภทหนึ่งก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นแต่ละประเภทด้วย เช่น ขณะที่ชอบ สนุกสนานเบิกบานใจ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังโกรธขุ่นเคืองใจ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย และรูปแต่ละรูปก็เกิดดับ เพราะฉะนั้น ทั้งจิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่ขณะเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนแล้วย่อมดับไปทั้งนั้น

โดยการศึกษาพระธรรม จะเห็นได้ว่า สังขตธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เพราะทันทีที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรู้ว่า สภาพธรรมเหล่านี้เกิดจริงๆ และดับจริงๆ แต่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงแล้วจากการทรงตรัสรู้ ก็เป็นหนทางให้พุทธบริษัทศึกษาพระธรรมและพิจารณาพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาได้ เพราะแต่ละคำๆ ที่พระองค์ตรัส ย่อมน้อมมาสู่ความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา จริงๆ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาพิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริงของธรรม และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการศึกษาในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่น้อยคนจะได้ศึกษา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ