มรณานุสติกับสติปัฏฐาน ๔
โดย ผู้ร่วมเดินทาง  16 ส.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21573

คำบรรยายบางตอนของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในเทปเรื่อง เริ่มด้วยความเข้าใจ

จุดประสงค์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เรื่อง มรณานุสติ นั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้จิตสงบ แต่เพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม บางคนระลึกถึงความตาย แต่จะทราบไหมว่า ขณะนั้น ขณะที่ระลึกเป็นกุศลหรือว่าอกุศล ถ้าผู้ใดที่ระลึกแล้ว พิจารณาได้ว่า มีการละคลายการติดในรูป เสียง กลิ่น รส ในสมบัติ วงศาคณาญาติ หรือว่า มานะ การถือตน ขณะนั้นย่อมเป็นประโยชน์ของการระลึกถึงความตาย การระลึกถึงความตาย ทำให้ละมานะ ได้ไหม

ภพนี้ชาตินี้ อาจเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วย ชาติ สกุล โภคสมบัติ รูปสมบัติ วิชาความรู้ บริวารสมบัติ ทุกสิ่งทุกประการ แต่ว่าภพหน้าชาติหน้าจะเป็นใคร ยังจะมีรูปสวย รูปงาน มีทรัพย์สมบัติมาก เกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมด้วย ลาภ ยศ ข้าทาสบริวารหรือเปล่า อาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้

เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย เห็นความไม่เที่ยง ย่อมทำให้ละคลาย แม้ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส สมบัติ ซึ่งเคยถือว่าเป็นของเรา นอกจากนั้นยังทำให้เกิดละความมานะ การถือตน สำคัญตน หรือความผูกพันในสัตว์ ในบุคคลที่รัก ในสังขารที่รัก แต่ถ้าคิดถึงความตายแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ก็ไม่ได้ละอะไร ไม่ได้คลายอะไร จึงไม่กล่าวว่าเป็นมรณานุสติ ไม่เป็นกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลที่ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังจริงๆ ในการแสดงพระธรรม ก็คือ ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต และธรรม ทันที

กราบเท้าบูชาท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพยิ่ง

เป็นคำบรรยายที่ทำให้เข้าใจเรื่องของการเจริญมรณานุสติได้มากยิ่งขึ้นทีเดียวครับ และที่ทำให้ผมได้ทราบเพิ่มขึ้นด้วยว่า การเจริญมรณานุสติ เป็นไปเพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นหมวดของสติปัฏฐาน ๔

แต่ตรงนี้ยังสงสัยในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่าง มรณานุสติ กับ สติปัฏฐาน ๔

ต้องขอความกรุณาท่านอาจารย์วิทยากรช่วยอนุเคราะห์โดยการอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างชัดขึ้นอีกนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนามากครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมของพระพุทธเจ้า ละเอียดลึกซึ้ง และทรงแสดงหลากหลายนัย ตามโวหาร เพื่อประโยชน์กับสัตว์โลกที่สะสมปัญญา ต่างระดับกัน และ อัธยาศัยต่างๆ กัน ครับ แม้แต่ การเจริญ มรณสติ คือ สติที่ระลึกถึงความตาย ก็ต้องเป็นกุศลธรรม เพราะสติเป็นธรรมฝ่ายดี ดังนั้น กุศลก็ต้องมีหลายระดับ เพราะฉะนั้น มรณสติก็มีหลายระดับ ตามระดับของกุศลกรรมและตามระดับของปัญญา ครับ

มรณสติที่เป็นสติที่ปรารภถึงความตาย ต้องเป็นกุศลจิตที่ระลึกถึงความตาย ตามความเป็นจริง ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจครับว่า ความตาย มีหลายหลากนัย ทำให้สามารถพิจารณาความตายที่เป็น มรณสติได้หลากหลายนัย ความตายที่เป็น โดยสมมติเรื่องราว เช่น บุคคลนั้นตาย เรามีความตายเป็นธรรมดา อันมุ่งหมายถึง จุติจิตที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นี่คือ ความตายโดยสมมติ ซึ่ง ก็สามารถเกิดสติ ที่ระลึกถึงความตายระดับนี้ คือ พิจารณาโดยขั้นพิจารณา พิจารณาโดยขั้นเรื่องราว ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ควรที่จะไม่ประมาทในการใช้ชีวิตที่เกิดเป็นมนุษย์ ควรเจริญกุศล และอบรมปัญญา เพราะ เราจะต้องจากไป มีความตาย พรากจากบุคคลนี้ไป นี่คือเกิดสติแล้วที่ปรารภ ในความตาย แต่เป็นความตาย โดยนัย สมมติมรณะ แต่ก็เป็น มรณานุสติ แต่ก็เป็นขั้นเรื่องราว แต่ ปัญญา ในการพิจารณา มรณานุสติ ก็มีอีกระดับหนึ่ง เพราะ ความตาย ยังแบ่งเป็น ขณิกมรณะ ที่เป็นความตายเพียงชั่วขณะ นั่นคือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะจิต นั่นเอง ที่เป็นความตายที่เป็นขณิกมรณะ

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอถึงความตายที่จะจากโลกนี้ไป ขณะนี้ก็กำลังตายอยู่ทุกๆ ขณะจิตที่เกิดขึ้นและดับไป และปัญญาระดับใด ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นความตาย ที่เป็นมรณะในขณะนี้ ครับ ก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน จนถึง ระดับปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๓ และ ๔ ที่เห็นประจักษ์ ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ แต่ละขณะที่เป็นความตายจริงๆ ครับ ขณะที่รู้ความเกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นความตายชั่วขณะ ก็เป็นการพิจารณาความตาย คือ ขณะที่สภาพธรรมดับไปที่เป็นมรณานุสติด้วยปัญญา ระดับสูง ระดับวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับมรณานุสติ การพิจารณาความตาย ด้วยเพราะว่าอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้แต่ละขณะ จนปัญญาคมกล้า ถึง วิปัสสนาญาณ ๓ และ ๔ ที่ประจักษ์ตัวจริง ในขณะที่สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นการดับไปของสภาพธรรมที่เป็น ขณิกมรณะ ความตายเพียงชั่วขณะ นั่นก็เป็นการพิจารณาด้วยมรณานุสติด้วยปัญญา ที่จะเกิดได้โดยการเจริญสติปัฏฐาน ครับ และ เมื่อถึงการดับกิเลสหมดสิ้นของพระอรหันต์และท่านปรินิพพาน ก็เป็นความตายอย่างสิ้นเชิง เพราะจะไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไรอีกเลย นั่นคือ สมุจเฉทมรณะ ครับ

สรุปได้ว่า เพราะอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมถึงปัญญาที่ประจักษ์ ความดับไปของสภาพธรรมที่เป็นความตายชั่วขณะ ที่เป็นขณิกมรณะ ด้วยมรณานุสติระดับปัญญาขั้นสูงได้ ที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และ ๔ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ความตาย (การเกิดดับ) มีจริง

สิ่งใดที่มีจริง สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ทั้งหมด


ความคิดเห็น 3    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

ผมเพิ่งทราบว่า มรณานุสติ มีการพิจารณาในลักษณะต่างๆ กัน พิจารณาได้ทั้งสมมติมรณะและขณิกมรณะ ซึ่งอาจารย์ก็อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มีความละเอียดต่างกัน การพิจารณาสมมติมรณะ เป็นการระลึกไปในเรื่องราวของความพรากจากบุคคลหนึ่งไปเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะบังเกิดเป็นภพใด ภูมิใด

การพิจารณาเป็นไปอย่างกว้างๆ ว่า เมื่อเปลี่ยนภพภูมิไป สิ่งต่างๆ ในภพภูมินี้ย่อมหมดไป ไม่ย้อนกลับมาอีก แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาสมมติมรณะ ก็เป็นแต่เพียงการระลึกและตรึกไปในเรื่องความตาย ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ไม่ปรากฏจริง แก่ผู้พิจารณาในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ มรณนุสติ ที่เป็นไปกับ สมมติมรณะ จึงยังไม่ได้เข้าสู่เรื่องของสติปัฏฐาน แต่การพิจารณาขณิกมรณะ เป็นความละเอียดอีกขั้นหนึ่ง อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า เกิดแก่ผู้มีปัญญาในระดับวิปัสสนาญาณขั้น ๓ และ ๔

ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาขั้นฟัง ขั้นปริยัติ เมื่อพิจารณาเรื่องขณิกมรณะ ก็ยังไม่อาจเจริญมรณานุสติในระดับนี้ได้ เพียงแต่ทำความเข้าใจสะสมไปเรื่อยๆ จนกว่ากำลังของปัญญาจะทำหน้าที่พิจารณาให้เห็นความละเอียดได้เพิ่มมากขึ้น มากขึ้น เป็นลำดับ ไม่ทราบว่าจะเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนาในความเห็นถูก


ความคิดเห็น 5    โดย daris  วันที่ 19 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครที่จะรอดพ้นไปจากความตายได้เลยแม้แต่คนเดียว สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ประเสริฐที่สุด (ก่อนที่ความตายจะมาถึง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด) คือ การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องเริ่มจากความเป็นผู้ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ถ้าเป็นผู้ประมาทมัวเมา ไม่เคยคิดเลยว่าในที่สุดแล้วตนเองก็จะต้องตาย ย่อมไม่สะสมที่พึ่ง ซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เลยเพราะเกิดมาด้วยความไม่รู้ แล้วก็ตายไป พร้อมกับความไม่รู้และอกุศลธรรมที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 8    โดย mild  วันที่ 21 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไกลจากกิเลส

การเจริญมรณานุสติ คือการละความไม่รู้ในขณะที่รู้ ไม่ไช่เรารู้ แต่เป็นปัญญารู้ ว่ากายไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุมารวมกันตามปัจจัยและดับไปตามแต่เหตุ เวทนาไม่ไช่เรา เกิดตามปัจจัยและดับไปตามแต่เหตุ จิตไม่ไช่เรา เกิดตามปัจจัยย่อมดับไปตามแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายเกิดตามปัจจัย แล้วดับไปตามแต่เหตุ ไม่มีเหลือเลยที่จะให้เป็นเรา ปัญญาที่เจริญได้ไม่ไช่เราที่เจริญมณานุสติ และเข้าใจว่า ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสอดรับกันตลอด อีกทั้งมีความงามในเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด

กราบอนุโมทนาและขอบคุณท่านอาจารย์ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย boonpoj  วันที่ 24 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย สิริพรรณ  วันที่ 9 ม.ค. 2559

จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

โลกวรรคที่ ๑๓

เรื่องธิดานายช่างหูก

พระศาสดา ตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย จงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า 'ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง ความตายเที่ยง’ ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ ทำกาละ เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น. ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้นย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ."

นางกุมาริกาแม้นั้น ก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน. สิ้น ๓ ปีทีเดียว. วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นนางกุมาริกานั้น เข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า "เหตุอะไรหนอ จักมี" ทรงทราบว่า "นางกุมาริกานี้เจริญมรณสติแล้วสิ้น ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ฟังธรรมเทศนาของเรา บัดนี้ เราไปในที่นั้นแล้ว ถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานี้ เมื่อนางแก้ปัญหาอยู่ จักให้สาธุการในฐานะ ๔ แล้ว ภาษิตคาถานี้ ในเวลาจบคาถา นางกุมาริกานั้นจักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เพราะอาศัยนางกุมาริกานั้น เทศนาจักมีประโยชน์แม้แก่มหาชน"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ สำหรับคำถาม และคำตอบ เป็นประโยชน์มากค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย ่jurairat91  วันที่ 27 ม.ค. 2563

ยินดีในความดีที่เข้าใจพระธรรมและกราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 30 พ.ค. 2563

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมเรื่องเต็ม ..

เรื่องธิดานายช่างหูก [คาถาธรรมบท]

ขออนุโมทนาครับ