เวลานั่งรถเมล์มักสังเกตเห็นป้ายริมถนน หรือ หน้าวัด เชิญชวนให้ทำมหากุศล จึงขอเรียนถามว่า มหากุศล กับ กุศลทั่วๆ ไป ต่างกันอย่างไร อะไรบ้างเป็นมหากุศล
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งอกุศลธรรม กุศลเป็นนามธรรม หมายถึง สภาพจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้ ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข, จิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุ ทำให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงามโดยที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นเป็นกุศล รวมความว่า ขณะใดที่จิตประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น และ ไม่ประกอบด้วย เจตสิกที่ไม่ดี คือ ไม่มีกิเลส คือ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งอกุศลธรรม กุศล เป็นนามธรรม หมายถึง สภาพจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้ ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข จิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุทำให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม โดยที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มีกิเลสอะไรๆ เกิดขึ้นในขณะนั้นก็เป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น ก็เป็นกุศลอย่างอื่นได้
เพราะเหตุว่า กุศล ไม่ได้มีเฉพาะการให้ทานเท่านั้น การอ่อนน้อมถ่อมตน การคอยช่วยเหลือบุคคลอื่น การมีเมตตาไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น การให้ข้อคิดธรรมเตือนใจดีๆ แก่ผู้อื่น การฟังธรรม การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ เป็นต้น ก็เป็นกุศลเช่นเดียวกัน
เมื่อเราได้ยินคำอะไร ก็ต้องส่องไปถึงสภาพธรรม และเข้าใจอรรถความหมายอย่างถูกต้อง แม้แต่คำว่า มหากุศล โดยทั่วไป เมื่อได้ยิน ก็มักคิดว่า เป็นกุศลใหญ่ แท้ที่จริง คำว่า มหากุศล หมายถึง กุศลที่มาก หลากหลาย ทางกาย วาจา ใจ และหลากหลายมาก ที่เป็นไปในกุศลประการต่างๆ ที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ทั้งเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และ ไม่ประกอบด้วยปัญญา รวมเป็นมหากุศล 8 ประเภท ครับ
เพราะฉะนั้น คำว่า กุศล และ มหากุศล จึงต่างกันตรงที่ กุศลมีควาหมายกว้างกว่า คือ รวมกุศสที่เป็นขั้นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศล ซึ่งสูงกว่ามหากุศล ครับ
สิ่งที่น่าพิจารณา คือ การชวนทำมหากุศลนั้น แท้ที่จริง กุศล คือ ขณะจิตที่ดีงามเกิดขึ้น แม้ในขณะนี้ ขณะใดที่คิดดี มีเมตตา เป็นต้น ขณะที่คิดพิจารณาธรรมถูกต้อง ขณะนั้นเป็นมหากุศลแล้ว ไม่ต้องไปหาสถานที่ หาเวลาเพื่อกระทำมหากุศล เพราะมหากุศล คือ ขณะจิตที่ดีงาม เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ในชีวิตประจำวัน การไปทำกุศล จึงไม่ใช่เรื่องของการหวังที่จะได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อละขัดเกลากิเลส
การเจริญกุศลเพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับแล้ว การเจริญกุศลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนึ่) ขั้นของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม) ขั้นของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ ที่สำคัญ กุศลเท่าไหร่ก็ไม่พอ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจถูกตามความป็นจริงในสภาพธรรมอันเป็นกุศลที่ประเสริฐ และเป็นไปเพื่อดับกิเลส
การที่ได้มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นปัญญาของตนเอง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นการมีชีวิตอยู่ที่เป็นประโยชน์ เพราะ ขณะที่จะได้ฟังพระสัทธรรม หาได้ยากเป็นอย่างยิ่ง และการที่จะเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ก็ยาก ดังนั้น เมื่อมีโอกาสแล้วก็ไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดลอยไป ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สั่งสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และที่สำคัญทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรที่จะประมาท ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ พร้อมทั้งเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันด้วย มีพระพุทธพจน์บทหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ซึ่งเป็นเครื่องเตือนพุทธบริษัทได้เป็นอย่างดี ความว่า
"กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติ (พระนิพพาน) เถิด" (จาก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ อัจเจนติสูตร)
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของกุศลก่อนว่าหมายถึงอะไร กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลในขณะนั้น เป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและกับบุคคลอื่น, ขณะที่กุศลเกิดขึ้น กิเลสย่อมเกิดไม่ได้ เป็นคนละส่วนเป็นคนละขณะกัน เพราะกุศลเป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งบาปธรรมทั้งหลายว่า โดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น และที่สำคัญ กุศลมีสุขเป็นวิบาก ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อยนี่คือทุกๆ ขณะที่เป็นกุศลและก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
กุศล มีหลายระดับ ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึง ขั้นสูงสุด คือ โลกุตตรกุศล คือมรรคจิต เกิดขึ้นทำกิจดับกิเลสตามลำดับขั้น
แต่ถ้ากล่าวถึงเฉพาะมหากุศลแล้ว มุ่งหมายถึงมหากุศลจิต ๘ ดวง เมื่อกล่าวถึงมหากุศลจิต ๘ แล้ว เป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน มีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังมาก ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นต้น และที่กล่าวว่า มหากุศลจิตนั้น หมายถึง เป็นกุศลที่เกิดขึ้นได้หลายทาง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และที่สำคัญก็เป็นจิตเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั่นเอง ทั้งการให้ทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ การมีเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนต่อผู้อื่น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น คำว่า มหา ในที่นี้ แปลว่ามาก หรือ หลากหลาย
ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ในชีวิตไม่ได้หมายถึงการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ต้องเป็นกุศล เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกนี้ ประโยชน์สุขในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสได้ตามลำดับ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเป็นผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากกุศล เพราะ บุคคลผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากกุศล ก็ไม่ต่างอะไรกับซากศพ ที่มีแต่ความเน่าเหม็น น่ารังเกียจ แต่ควรอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคลจะสะสมกุศล ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ เวลาของแต่ละบุคคลเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด การได้สะสมกุศลไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์โดยแท้ ครับ
....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ