ช่วยอธิบาย มิตรในวันนี้คบกันไม่หวังผลประโยชน์หาได้ยากค่ะ ในโลกนี้ จะหามิตรที่คบแล้วไม่หวังผลประโยชน์จะมีไหม ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รักตน ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ตน การเข้าไปคบหา ไม่ว่าจะเป็นการทำดีด้วย การไหว้ย่อมมีเหตุ เหตุในการคบคือ เพื่อประโยชน์ของตน เช่น ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เป็นต้น แม้คบเพื่อเป็นเพื่อนให้ทำกิจธุระเล็กๆ น้อยๆ ก็ชื่อว่าคบ เพราะมีประโยชน์เป็นเหตุ หากคนไหนไม่มีประโยชน์ เช่น ไม่ให้ลาภ ไม่ให้สักการะ แม้ไม่ให้ความสุขทางใจ ก็ไม่คบหาเพราะไม่เป็นประโยชน์กับตน ดังนั้น จึงเป็นธรรมดา เหลือเกินที่สัตว์โลกเป็นอย่างนี้ ครับ (มิตรเทียม) เพียงแต่ว่าเราเริ่มที่จะเป็นมิตรแท้ของคนอื่น โดยคบเพื่อช่วยเหลือและทำประโยชน์ มิใช่คบเพราะเหตุอื่น หรือเพื่อตัวเองครับ เพราะเหตุนี้แหละจึงปรากฏการเลือกคบเพราะประโยชน์เป็นสำคัญที่เป็นไปในการ ติดข้องเพิ่มกิเลส (เพื่อ ลาภ สักการะและความสุขทางใจ) ต่างจากการเลือกคบบุคคล ด้วยปัญญาที่เป็นประโยชน์ในการละคลายกิเลส และความเจริญขึ้นในความเห็นถูก ครับ (ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต) ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ หากเริ่มเห็นประโยชน์ด้วยปัญญา ครับ
ขออนุโมทนาครับ
ดังข้อความในพระไตรปิฎก
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่..
หากว่าเราคิดถึงคนอื่นมากกว่าตนเองเสียบ้าง
[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ ๒๔๓
ข้อความบางตอนจาก...
อรรถกถา ขัคควิสาณสูตร
มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ไม่สะอาด มีปัญญา มุ่งประโยชน์ตนผู้ไม่มีเหตุ ย่อมคบหาสมาคม มิตรผู้หาได้ยากในทุกวันนี้ เพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้
ในบทเหล่านั้น บทว่า ภชนฺติ ความว่า แอบเข้าไปนั่งใกล้ด้วยร่างกาย
บทว่า เสวนฺติ ความว่า ย่อมบำเรอด้วยอัญชลีกรรม เป็นต้น และด้วยความเป็น ผู้รับใช้ เหตุเป็นประโยชน์ของมนุษย์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงมีเหตุเป็นประโยชน์ อธิบายว่า เหตุอื่นในการคบและการเสพไม่มี เหตุของมนุษย์เหล่านั้นอย่างนี้ มีอธิบายว่า ย่อมเสพเพราะเหตุแห่งตน
บทว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา ความว่า ชื่อว่า ผู้ไม่มีเหตุเพราะเหตุแห่งการได้ประโยชน์อย่างนี้ว่า พวกเราจักได้ประโยชน์บางอย่างจากคนนี้มาเป็นมิตรผู้ประกอบพร้อมด้วยความเป็นมิตรอันประเสริฐ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า
มิตรมีอุปการะ ๑
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
มิตรบอกประโยชน์ ๑
มิตรอนุเคราะห์ ๑
ดังนี้อย่างเดียว ซึ่งหาได้ยากในทุกวันนี้ ปัญญาของมนุษย์เหล่านั้น ตั้งอยู่แล้วในตน มนุษย์เหล่านั้นเห็นแก่ ตนเท่านั้น ไม่เห็นแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงชื่อว่า มีปัญญามุ่ง ประโยชน์ตน
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขึ้นอยู่กับจิตแต่ละขณะ เพราะบางครั้งจิตเป็นอกุศล ก็คบด้วยโลภะ หรือหวังจะได้รับความช่วยเหลือจากเขา แต่จิตก็เกิดดับสลับกัน บางครั้งเป็นกุศล มีเมตตา เกื้อกูลช่วยเหลือ โดยไม่หวังอะไร เป็นธรรมดาปุถุชน เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล ไม่แน่นอนค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ