ขอเรียนถามท่านผู้รู้
อิทธิบาท ๔ นั้น เป็นองค์ธรรมในโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นไปเพื่อการตรัสรู้แล้ว "ความสำเร็จในทางโลก" ทั้งที่เป็นสัมมาชีพ และ มิจฉาชีพทำสำเร็จได้ ด้วยองค์ธรรมอะไรคะ.?
สาเหตุที่ถาม...เพราะมีเหตุปัจจัยให้ได้ฟังธรรมบรรยายจากเวปไซด๋หนึ่งท่านที่แสดง เป็นพระภิกษุซึ่งท่านก็ศึกษาพระไตรปิฎกท่านแปลคำภาษาบาลี เป็นภาษาไทย เพื่อประกอบการศึกษาซึ่งก็ได้อ่านแล้ว แม้ไม่ละเอียดนัก แต่ก็ตรงกับที่นี่ แต่ ท่านอธิบายคำว่า "อิทธิบาท ๔" ไว้ ฟังแล้วก็มีเหตุ มีผลดีแต่เพื่อความแน่ใจ จึงกลับมาอ่านเรื่องอิทธิบาท ๔ ที่นี่ปรากฏว่า ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อิทธิบาทที่เป็นทางแห่งความสำเร็จที่ไม่ได้คิดเองแต่เป็นไปตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าเทรงแสดงเป็นอย่างไร เมื่อเราเข้าใจอิทธิบาทได้ถูกต้องจริงๆ แล้วก็จะไม่สงสัยและไม่ปนกับทางโลกที่เข้าใจกันครับ
อิทธิบาท คือทางหรือที่ตั้งให้สำเร็จ ก็ต้องเข้าใจว่าสำเร็จอะไร สำเร็จการงานทางโลกหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทางแห่งความสำเร็จในสมถภาวนาที่เป็นฌานและสำเร็จซึ่งวิปัสสนาภาวนาที่เป็นวิปัสสนาและมรรค
ดังนั้น อิทธิบาทจึงหมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จซึ่งเป็นสมถภาวนาที่เป็นฌานและวิปัสสนา รวมถึงมรรคจิตด้วย แสดงให้เห็นว่าจะเป็นอกุศลไมได้เลย จะต้องเป็นกุศลเท่านั้น ฌาน เป็นกุศล วิปัสสนาเป็นกุศล มรรคจิตเป็นกุศล อิทธิบาทจึงหมายถึงความสำเร็จที่เป็นไปในฝ่ายกุศลที่เป็นฌานและวิปัสสนา มรรคจิต เราจำกัดความหมายตรงนี้ เมื่อจะเทียบกับสิ่งใดก็จะรู้ว่าใช่อิทธิบาทหรือไม่ ครับ
อิทธิบาทประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (ปัญญา)
ฉันทะ คือความพอใจที่เกิดได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต แต่เมื่อเป็นอิทธิบาทแล้ว จะต้องเป็นฉันทะที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น และต้องเป็นไปในสมถภาวนาและวิปัสสนาเท่านั้นเพราะเป็นอิทธิบาท วิริยะเกิดกับจิตที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้ แต่เมื่อเป็นอิทธิบาทแล้ว วิริยะ ความเพียรนั้นจะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น ในระดับขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาหรือมรรคจิต จิตตะ คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นกุศลเท่านั้นระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ส่วนวิมังสาคือตัวปัญญา ที่เป็นปัญญาระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาหรือระดับมรรคจิต
ประเด็นคือการทำการงานสำเร็จเป็นอิทธิบาทหรือไม่
ตามที่อธิบายมาแล้วข้างต้นว่าอิทธิบาทคืออะไร อิทธิบาท คือ ทางแห่งความสำเร็จที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมเท่านั้น อันเป็นไปในการอบรมปัญญาที่แป็นระดับฌาน วิปัสสนาและมรรคจิต
คำถามคือการทำการงานที่ทำกันอยู่จนสำเร็จ ขณะที่ต้องการกำลังหมกมุ่น ให้งานสำเร็จจิตเป็นอะไร เป็นอกุศลหรือกุศลครับ หรือว่ามีความต้องการที่เป็นโลภะให้สำเร็จ และขณะนั้นก็มีโทสะประกอบด้วย ขณะที่ไม่พอใจเพียงเล็กน้อย ขณะที่ทำและขณะที่เป็นอกุศล มีโมหะด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นอกุศล จะเป็นอิทธิบาทไมได้ รวมทั้งขณะทำงานเป็นการอบรมสมถภาวนาหรือไม่ ได้ฌานหรือเปล่าขณะนั้น ไม่ใช่เลยจึงไม่ใช่อิทธิบาทครับ ขณะทำงานกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรมหรือเปล่า กำลังแทงตลอดสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมหรือเปล่า อันเป็นการอบรมวิปัสสนา เพราะอิทธิบาทหมายถึงทางแห่งความสำเร็จทีเป็นไปในการอบรมวิปัสสนาด้วย แต่ขณะทำงานแล้วสำเร็จไมใช่การหนทางในการอบรมวิปัสสนาเลย จึงไม่ใช่อิทธิบาทครับ
เพราะฉะนั้นเราจะเอาคำว่าอิทธิบาทมาใช้ว่าทางแห่งความสำเร็จในเรื่องอื่นไมได้ เพราะอิทธิบาทมุ่งหมายถึงการอบรมปัญญา ที่เป็นไปในฝ่ายกุศลขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาและอิทธิบาทยังเป็นองค์ธรรมเครื่องตรัสรู้ การทำการงานจึงไม่ใช่อิทธิบาทเพราะไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่มรรคจิตและไม่ใช่องค์ธรรมการตรัสรู้
แล้ว "ความสำเร็จในทางโลก" ทั้งที่เป็นสัมมาชีพ และ มิจฉาชีพ ทำสำเร็จได้ด้วยองค์ธรรมอะไรคะ.?
ถามว่าขณะนั้นมี ฉันทะได้ไหมในการทำงาน มีครับ แต่อย่าลืมว่าฉันทะเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ ขณะนั้นมีความต้องการที่จะให้สำเร็จจึงเป็นโลภะที่ประกอบด้วยฉันทะเจตสิกครับ มีวิริยะได้ไหม ได้ครับ แต่วิริยะเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นความเพียรที่เกิดกับโลภมูลจิตที่เป็นอกุศลครับ มีจิตด้วยเพราะจะทำการงานไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิต แต่จิตเป็นอกุศล มีวิมังสาไหม ถ้าเป็นวิมังสาแล้วต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เป็นไปในระดับสมถภาวนาและวิปัสนาภาวนา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวิมังสาครับ
การทำการงานจึงสำเร็จได้แม้อกุศลจิตครับ มีให้เห็นทั่วไปสำหรับคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมแต่ทำการงานสำเร็จเรื่องต่างๆ มากมาย ไมได้หมายความว่าจะต้องเป็นอิทธิบาทเมื่อทำการงานสำเร็จครับ เพราะฉะนั้นการแปลความหมายของคำว่าอิทธิบาทจะมาใช้โดยคิดเองในเรื่องอื่นไม่ได้ ต้องพิจารณาคำอธิบายเพิ่มเติมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่ามุ่งหมายถึงอะไรในเรื่องของอิทธิบาทครับ เชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎกที่แสดงคำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องอิทธิบาท
ขออนุโมทนาครับ
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 226
บทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอิทธิบาท ๔ ซึ่งรวมอยู่หมวดเดียวกัน โดยอรรถว่า เป็นเครื่องสำเร็จ มีสภาวะต่างกันด้วยอำนาจสภาพมีความพอใจ เป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะ วิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ซึ่งประกอบด้วยความพอใจ ความตั้งใจมั่น ความเพียรและการปรุงแต่ง ดังนี้.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ถ้าจะไม่ให้เคลาดเคลื่อน...คำบาลี "อิทธิบาท ๔"ก็คงต้อง"ยืนยัน"ด้วยอรรกถาธิบาย-คำบาลี ที่เรียกว่า "วี-มัง-สา"จากกระทู้เก่าๆ "วิมังสา"
คำว่า วิมังสา องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก แยกศัพท์ดังนี้ วิ + มาน + ส + อ สำเร็จรูปเป็น วิมังสา วิเคราะห์ศัพท์ วิเส เสนา มานิยเตตี วีมํสา วีมํสนํ วีมํสา
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 532
บทว่า วีมํสา ความว่า ปัญญาเครื่องค้นคว้าสัจจธรรม ๔ นั่นแล ท่านอธิบายว่า วิมังสา คือ การคิดธรรม
เชิญคลิกอ่าน...
วีมังสาสมาธิปธานสังขาร [วิภังค์]
สมัยนี้ เวลาดูทีวีรายการต่างๆ มีการใช้คำภาษาบาลีกันมากแต่ถ้าตีความผิด ก็เข้าใจผิดไปเลย.
อนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยครับ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมากต้องอาศัยการฟังการศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ไม่คิดเอง ถ้าคิดเอาเองก็ย่อมจะไม่ตรงตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แม้แต่ในเรื่องของอิทธิบาท ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นบาทหรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ (แปลได้ แต่ความเข้าใจมีหรือไม่ ต้องพิจารณาจริงๆ) อิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นธรรมขั้นสูงเป็นฝักฝ่ายในการตรัสรู้อริยสัจจธรรม
ขอยกตัวอย่างประกอบ ในเรื่องของการคิดธรรมเอง ในสมัยที่กระผมเป็นเด็กนักเรียน เวลาเข้าห้องเรียน คุณครูก็จะให้ร้องเพลงอิทธิบาท ๔ เพราะคุณครูบอกว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนให้ประสบความสำเร็จ มีความสำเร็จในการเล่าเรียน เป็นต้น มีว่า "ฉันทะ คือ ความพอใจ วิริยะนั้นไซร้ คือ ความขยัน จิตตะ ตั้งใจไว้มั่น วิมังสา นั้นหมั่นนึกตรึกตรอง" ซึ่งก็ไม่ถูกตั้งแต่ต้น เพราะอิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ สำเร็จในที่นี้ คือ สำเร็จเป็นฌานขั้นต่างๆ หรือ สำเร็จด้วยการแจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ไม่ใช่ความสำเร็จในการเล่าเรียน หรือ สำเร็จในการประกอบอาชีพการงาน
แต่เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จในทางโลก เช่น สำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน สำเร็จในการประกอบอาชีพ ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง ไม่พ้นไปจากความพอใจในการทำงานไม่พ้นไปจากความขยันหมั่นเพียร เพราะเหตุว่าผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการประกอบอาชีพการงาน ย่อมถึงสำเร็จในทางโลก ตามที่เข้าใจได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นไปในอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต และ ในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด (ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิต) ถึงจะมีฉันทะ มีวิริยะ แต่ก็ไม่ใช่อิทธิบาท ดังนั้น ในการศึกษาพระธรรม จึงจะต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความมั่นคงในความเป็นจริงแล้ว ใครจะกล่าวอย่างไร ก็ยังคงมีความมั่นคงในความถูกต้องตามพระธรรมได้ เพราะสิ่งใดผิด คือ ผิด สิ่งใดถูก คือ ถูก ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อยากขอเรียนถามว่า หากมีวิริยะในฝ่ายอกุศลบ่อยๆ และหนัก จะเป็นเหตุให้วิริยะในฝ่ายกุศลเกิดยาก จริงหรือเปล่าคะ ที่ถามเพราะมีท่านนึงเตือนว่า ขยันทำงานทางโลกจนเกินไป ทำให้เสื่อมจากความขยันทางพระธรรม
เรียนความเห็นที่ 9
ความเพียรหรือวิริยเจตสิกเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นกุศลจิตก็ต้องมีวิริยะ มีความเพียรโดยไม่มีตัวเราไปทำความเพียร ขณะที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นก็มีความเพียร ไม่ต้องมีตัวตนที่จะเพียร
ชีวิตของคฤหัสถ์ย่อมมีการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพด้วยสุจริต อันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก ขณะทำงานก็มีวิริยเจตสิก เพราะขณะทำงานก็มีจิต จิตใดที่ไม่ใช่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส จิตนั้นมีวิริยเจตสิก ขณะที่ทำงาน โดยมากก็เป็นไปกับอกุศลจิต ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นส่วนมาก สำหรับผู้ไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมหมกมุ่นไปในการทำงาน มุ่งแสวงหากามคือรูป เสียง กลิ่น รส..เป็นต้น ไม่ได้แบ่งเวลาให้กับความเข้าใจพระธรรม ย่อมเป็นผู้มีชีวิตที่เปล่า เปล่าจากสาระที่ควรได้ อันเป็นประโยชน์สูงสุดคือการเข้าใจพระธรรม
ส่วนผู้ที่ศึกษาธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ย่อมเข้าใจในการอบรมปัญญาว่า การเจริญสติปัฏฐาน อันเป็นหนทางในการดับกิเลสนั้น คือการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็ฯธรรมไม่ใช่เรา ถามว่าธรรมอยู่ที่ไหน อยู่ทุกที่ ดังนั้นการอบรมปัญญาจึงสามารถเกิดได้ทุกที่เพราะทุกที่มีธรรม ที่ทำงานมีธรรมไหม มีครับ เช่น เห็น ได้ยิน เสียง คิดนึก เป็นธรรม แม้ขณะทำงานก็มีธรรม การอบรมปัญญาจึงสามารถอบรม ได้ในขณะทำงาน นี่คือสำหรับผู้ที่เข้าใจหนทางแล้ว
แต่ไม่ใช่เป็นผู้หมกมุ่นในการงานมากเกินไป ไม่แบ่งเวลาให่้พระธรรมให้พอเหมาะ เพราะการขาดการฟังพระธรรม ก็เท่ากับปล่อยมือจากเชือกให้ตกไปในเหว คือ ความไม่รู้ เหว คือสังสารวัฏฏ์ครับ
ดังนั้น ควรเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพะรธรรม แบ่งเวลาให้เหมาะสมครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงเหตุแห่งความเสื่อมประการหนึ่งคือ ความเป็นผู้ยินดีทำงานมากเกินไปครับ คือทำงานแต่ไม่แบ่งเวลาให้กับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สนทนาธรรม ส่วนธรรมที่ไม่เสื่อมคือไม่เป็นผู้ยินดีในการงาน หมายถึง เมื่อถึงเวลางานก็ทำงานแต่เมื่อถึงเวลาที่ควรจะฟังธรรมคือแบ่งเวลาให้พระธรรม เวลานั้นก็ศึกษาพระธรรมครับ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ไม่ให้ทำงานแต่เมื่อทำงานก็ไม่ใช่หมกมุ่นยินดีกับการทำงานมากเกินไป ไม่แบ่งเวลาให้พระธรรมย่อมเสื่อมจากคุณธรรมและเสื่อมปัญญา ครับ
เชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎกและคลิกกระทู้เพื่อความเข้าใจถูกครับ
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 660
๑๖. ปริหานสูตร
[๑๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
ความเป็นผู้ยินดีการงาน ๑
ความเป็นผู้ยินดีในการคุย ๑
ความเป็นผู้ยินดีในความหลับ ๑
ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
ความเป็นไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ๑
ความเป็นผู้ยินดีในธรรมเครื่องข้อง ๑
ความเป็นผู้ยินดีในธรรมเครื่องให้เนิ่นช้า ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ
ความเป็นผู้ไม่ยินดีในการงานคือเมื่อถึงเวลางานก็ทำ และแบ่งเวลาให้พระธรรม คือเวลาที่ควรศึกษาธรรมก็ควรศึกษาครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 72
ส่วนภิกษุใด ในเวลากระทำกิจกรรมเหล่านั้น (ทำการงาน) กระทำกิจกรรมเหล่านี้ ในเวลาเรียนอุเทศ (ศึกษาธรรม) ก็เรียนอุเทศ เวลากระทำวัตรที่ลานเจดีย์ ก็กระทำวัตรที่ลานเจดีย์ เวลาทำมนสิการ ก็ทำมนสิการ ภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่ยินดีในการงาน.
เชิญคลิกอ่านกระทู้เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ครับ
การอยู่ที่ทำให้เดือดร้อน [อนุตัปปิยสูตร]
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ความขยันในสัมมาชีพ ที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ควรจะเป็นธรรมที่ดีถ้าหากความขยันนั้น ประกอบด้วยความเข้าใจพระธรรม...คงดียิ่งกว่าเพราะถ้าคิดดี...กาย วาจา ก็ย่อมต้องดี.
ธรรมที่ดีที่เป็นโสภณธรรม โสภณเจตสิก มี 25 ดวง
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
โสภณเจตสิก
ส่วนความขยันองค์ธรรมคือวิริยเจตสิก วิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก ไม่ใช่โสภณเจตสิกที่เป็นธรรมฝ่ายดีครับ เพราะฉะนั้นความขยันที่เป็นความเพียรคือวิริยเจตสิก เกิดได้ทั้งกุศลหรืออกุศลก็ได้ครับ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า เราไม่ได้กล่าวว่าควรทำความเพียรทั้งหมด แต่สิ่งใดเพียรแล้วกุศลเกิด ปัญญาเกิดควรทำความเพียรนั้น ความขยันที่เป็นความเพียรจึงไม่ใช่ธรรมฝ่ายดีที่เป็นโสภณธรรม เพราะความเพียร ความขยันสามารถเป็นไปกับอกุศลได้ครับ เมื่อเป็นความเพียรที่เกิดกับอกุศล จะเป็นธรรมฝ่ายดีไมไ่ด้เลยครับเพราะสิ่งที่ดีคือ กุศลธรรม การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมละเอียดขึ้น
ขออนุโมทนาครับ
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 308
วัชชิยสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความ เพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้น ว่าควรเริ่มตั้งความเพียร .
ขอสนทนาต่ออีกนิดหน่อยนะคะ.คุณเผดิม
อธิบายโดยปรมัตถ์ อธิบายตามพระไตรปิฎก นั้น ชอบแล้ว.
แต่...ปุถุชนผู้ครองเรือน (ไม่ใช่พระภิกษุ) ผู้ที่สะสมมา ที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ เพื่อปัจจัย ๔ (ในที่นี้ไม่กล่าวถึงผู้สะสมบุญมาดี...ไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ) โดยมากก็มีอกุศลจิตเป็นพื้น แต่ขณะที่เข้าใจว่า ขณะนั้นๆ เป็น อกุศล เป็นต้นก็ยังดีกว่าไม่รู้เลย ใช่ไหมคะ
ในยุคสมัยนี้ ปฏิเสธยาก ว่า การทำมาหาเลี้ยงชีพนั้นเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องเลือกได้ตามใจชอบ ขอเล่าเรื่องส่วนตัวนะคะ ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยเรียนถามผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้างานถามท่านว่า ทำไมท่านจึงชอบนั่งสมาธิทำไมท่านจึงคิดว่า การนั่งสมาธิ จะทำให้ทำงานได้ดี ท่านตอบว่า..........
"....ฉันไม่ต้องการนิพพาน ขอเพียงแค่นั่งสมาธิเพื่อพักสมอง เสมือนกับการชาร์ตแบตเตอรรี่ เพื่อจะได้กลับไปทำงานต่อได้เพราะ ฉันยังมีภาระทางโลกมาก และยังตัดไม่ได้ เพราะไม่อยากตัดยังชอบชีวิตแบบนี้ อาชีพแบบนี้ และถ้ารักจะทำแล้ว ก็ต้องทำให้ดี ให้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วย
เมื่อทำงานมาก เจอคนหลากหลายมาก เรื่องที่ไม่ได้อย่างใจมากเหลือเกินแต่เมื่อยังชอบที่จะทำงาน ก็ต้องแก้ปัญหาสารพัดคนไม่มีปัญหา"เรื่องงานที่ทำ"คือ คนที่ไม่มีกิเลส หรือไม่ก็ คนที่ไม่ได้ทำงานนั้นๆ เลย
แต่ ฉันยังมีกิเลส มีความเครียดมาก ดุมาก ใจร้อนมาก มีสารพัดที่ไม่ดีแต่เมื่อได้พักบ้าง อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาพิจารณาตัวเองมากขึ้นที่เคยโกรธมาก เครียดมาก...ก็ลดลงบ้าง แต่ก็ยังโกรธอยู่ โลภอยู่แต่ก็พอจะรู้ว่า เป็นสิ่งไม่ดี....เธอน่าจะลองนั่งสมาธิดูบ้างนะ จะได้รู้เอง."
ท่านว่าอย่างนั้น.!
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เราควรเข้าใจ"การสะสม" ของแต่ละคนด้วยบางท่านๆ ก็ทราบว่า พระธรรม ทรงสอนให้ถึง "นิพพาน" แต่จากการสนทนากัน ข้าพเจ้าคิดว่า...ท่าน รู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริงว่า ท่านยังชอบวิถีชีวิตของท่านอยู่และถ้าท่านจะไม่ทำงาน ท่านก็มีทรัพย์มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและบริวารได้โดยไม่เดือดร้อน....แต่ท่านบอกว่า ท่านยังอยากเป็นอย่างที่ท่านเป็น
ที่เล่าให้ฟัง เพราะว่า คนที่ไม่สะสมมาในการศึกษาพระอภิธรรม บางท่านท่านก็รู้ว่า ท่านสะสมมาอย่างนี้....ซึ่งก็เป็นเรื่องของท่าน
ฉะนั้น ความสำเร็จทางโลก ก็มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แม้เป็นไปด้วยอกุศลจิตถ้าเราไม่เข้าใจกัน ก็จะตัดสินเรื่องต่างๆ ตามความคิดเห็นของเราจนลืมไปว่า แต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน ตามเหตุปัจจัย.
ถ้าเราสนทนากันโดยใช้ "พระพุทธพจน์" ก็ต้องเทียบเคียงพระไตรปิฏก แต่ทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละคนแม้แต่ความสนใจในการศึกษาพระธรรมพระธรรมที่สอนคฤหัสถ์ ก็มีไม่ใช่หรือคะ
แต่ตามกระทู้นี้ มีการสอบถามขึ้นมาเพราะมีการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในระดับที่สูง (ภาวนา) มาสอนผู้อื่นในเรื่องการประกอบอาชีพของชาวบ้าน (ไม่ใช่เรื่องภาวนา) สอนอย่างนี้ ไม่สมเหตุสมผล ข้าพเจ้าจึงนำมาเรียนถาม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันค่ะ (ขออภัยนะคะ ถ้าออกนอกประเด็นไปบ้าง)
ประเด็นที่อธิบายไม่ไ้ด้หมายถึงไม่ให้ประกอบอาชีพครับ
เพราะทุกอย่างเป็นไปอย่างนั้นดังที่ได้กล่าวไว้ในความเห็นที่ 10 ที่ว่าชีวิตของคฤหัสถ์ย่อมมีการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพด้วยสุจริต อันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก ขณะทำงานก็มีวิริยเจตสิก เพราะขณะทำงานก็มีจิต
แต่ประเด็นที่กำลังอธิบายในความคิดเห็นที่ 15
เพื่อให้เข้าใจถูกต้องครับว่า ความขยันที่เป็นวิริยเจตสิกไม่ใช่ธรรมฝ่ายดีครับ เราจะเอาความคิดทางโลกมาตัดสินสิ่งที่เป็นสัจจะไม่ไ่ด้ครับ การศึกษาพระธรรมจึงทำให้เราเข้าใจถูกจากสิ่งที่เราเคยเข้าใจผิดครับ สำหรับวิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิกเพราะฉะนั้นจึงสามารถเกิดได้ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลครับ ประโยชน์คือเข้าใจความจริงว่าความเพียรเป็นไปได้ทั้งกุศลหรืออกุศล ส่วนในชีวิตประจำวันก็มีการทำงาน หรือจะไม่ทำงานตามที่เรียกทางโลก แต่ก็มีการทำงานของจิตอยู่แล้วและก็มีวิริยะที่เป็นความเพียรเกิดขึ้น ตัวความเพียรไม่ใช่ธรรมฝ่ายดี แต่เมื่อความเพียรเกิดขึ้นกับจิตประเภทใด ความเพียรก็เป็นจิตชาตินั้นประเภทนั้นครับ เพราะฉะนั้นประเด็นที่จะอธิบายก็คือ ความขยันไม่ใช่ธรรมฝ่ายดีที่เป็นโสภณเจตสิก 25 ดวง พระธรรมจึงต้องสอดคล้องทั้ง 3 ปิฎก ทั้งนัยพระสูตรก็ต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรม
การมีโอกาสศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงค่อยๆ ลอกความไม่รู้ ความไม่รู้ที่เคยเข้าใจเดิมๆ ที่ไม่ถูกต้อง กลับมาเข้าใจตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตามความเป็นจริงอย่างถูกต้องครับ
ดังนั้น ในการศึกษาพระธรรม จึงจะต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความมั่นคงในความเป็นจริงแล้ว ใครจะกล่าวอย่างไร ก็ยังคงมีความมั่นคงในความถูกต้องตามพระธรรมได้ เพราะสิ่งใดผิด คือ ผิด สิ่งใดถูก คือ ถูก
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาเพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกตามที่พระองค์ทรงแสดง
ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษาที่ร่วมสนทนากันครับ
ขอบอนุโมทนาครับ หนานชลติพันธ์
ดังนั้น ในการศึกษาพระธรรม จึงจะต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความมั่นคงในความเป็นจริงแล้ว ใครจะกล่าวอย่างไร ก็ยังคงมีความมั่นคงในความถูกต้องตามพระธรรมได้ เพราะสิ่งใดผิด คือ ผิด สิ่งใดถูก คือ ถูก ครับ
สัจจธรรม ไม่แปรผัน...เป็นอย่างนี้เอง"คำจริง" พูดกี่ครั้ง......ก็เหมือนเดิม.
อนุโมทนาค่ะ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...
"...ความเป็นผู้ไม่ยินดีในการงาน คือ เมื่อถึงเวลางานก็ทำ และแบ่งเวลาให้พระธรรม คือ เวลาที่ควรศึกษาธรรมก็ควรศึกษา..."
"ความเพียรเกิดขึ้นกับจิตประเภทใด ความเพียรก็เป็นจิตชาตินั้นประเภทนั้น"
ขอบพระคุณทุกท่านมากๆ ค่ะ และขออนุโมทนาในกุศลจิต
ขออนุโมทนาครับ