[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 353
๖. เตลปัตตชาดก
ว่าด้วยการรักษาจิต
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 353
๖. เตลปัตตชาดก
ว่าด้วยการรักษาจิต
[๙๖] "บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนาจะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น".
จบ เตลปัตตชาดกที่ ๖
อรรถกถาเตลปัตตชาดกที่ ๖
พระบรมศาสดา เมื่อทรงอาศัยนิคมชื่อ เสตกะ ในสุมภรัฐ ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ตำบลหนึ่ง ทรงปรารภชนบทกัลยาณีสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สมติตฺติกํ อนวเสสกํ" ดังนี้.
แท้จริงในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชนบทกัลยาณีสูตรพร้อมด้วยอรรถพร้อมด้วยพยัญชนะนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนว่า พอได้ยินว่า นางงามในชนบท นางงามในชนบท ดังนี้ หมู่มหาชนพึงประชุมกัน ยิ่งได้ยินว่า ก็นางงามในชนบทนี้นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในการฟ้อน เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในการขับ นางงามในชนบทจะฟ้อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 354
จะขับ หมู่มหาชนจะประชุมกันอย่างแออัด ที่นั้นบุรุษผู้ดำรงชีพใฝ่หาความสำราญ รังเกียจความทุกข์ ก็จะพึงมา พระราชาพึงรับสั่งกะเขาอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ โถน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ เจ้าจงนำไปในระหว่างหมู่มหาชนและนางชนบทกัลยาณี และจักมีคนเงื้อดาบจ้องเดินตามไปข้างหลัง เจ้าทำน้ำมันนั้นให้หกแม้หน่อยเดียว ณ ที่ใด เราจักสั่งให้เขาตัดศีรษะเจ้า ณ ที่นั้นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจักสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน บุรุษนั้นจะไม่พึงเอาใจใส่โถน้ำมันโน้น แล้วมามัวประมาทเสียในอารมณ์ภายนอก (* หรือ) (* ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า) ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เรากล่าวเพื่อให้พวกเธอทราบความ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความข้อนี้ในเรื่องนี้ว่า โถน้ำมันเต็มเปี่ยมเสมอขอบ เป็นชื่อของสติอันเป็นไปในกายแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุนั้นพวกเธอพึงศึกษาในข้อนี้อย่างนี้ว่า สติไปแล้วในกายจักเป็นข้อที่พวกเราทั้งหลายจักต้องทำให้มีให้เป็นจงได้ เริ่มแล้วด้วยดีให้จงได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ในพระสูตรนั้นมีคำอธิบายย่อๆ ดังนี้ ที่ชื่อว่า ชนบทกัลยาณี นั้น ได้แก่ นางงามในชนบท คือเป็นหญิงงามเยี่ยม ปราศจากโทษแห่งสรีระ ๖ ประการ ถึงพร้อมด้วยความงาม ๕ ประการ เพราะเหตุที่นางชนบทกัลยาณีนั้น เป็นหญิงไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 355
ไม่ขาวเกินไป ขนาดยิ่งกว่าผิวมนุษย์ ไม่ถึงกับผิวเทวดา ฉะนั้น นางจึงได้ชื่อว่า เว้นจากโทษแห่งสรีระ ๖ ประการ และเพราะเหตุที่นางประกอบด้วยความงาม ๕ ประการเหล่านี้ คือผิวงาม เนื้องาม เอ็นงาม กระดูกงาม วัยงาม ฉะนั้นจึงชื่อว่า ถึงพร้อมแล้วด้วยความงาม ๕ ประการ แท้จริงหญิงเบญจกัลยาณีนั้น ไม่จำเป็นต้องทำการเสริมสวยใหม่ ย่อมกระทำให้แสงสว่างได้ในที่ประมาณ ๑๒ ศอก ด้วยแสงสว่างแห่งร่างกายของตนนั่นแล ผิวนางเสมอด้วยดอกประยงค์หรือมิฉะนั้นก็เสมอด้วยทอง นี้เป็นความมีผิวงามของนาง อนึ่งมือและเท้าของนางทั้ง ๔ และริมฝีปาก เป็นดุจย้อมด้วยน้ำครั่ง เป็นเช่นกับแก้วประพาฬสีแดงและผ้ากัมพลสีแดง นี้เป็นความมีเนื้องามของนาง แผ่นเล็บทั้ง ๒๐ ในที่ที่ยังไม่พ้นจากเนื้อ ดูดุจอิ่มด้วยน้ำครั่ง ในที่ที่พ้นเนื้อ เป็นเช่นกับสายธารแห่งน้ำนม นี้เป็นความมีเอ็นงามของนาง ฟันทั้ง ๓๒ ซี่ สนิทเรียบ งามปรากฏดุจระเบียบเพชรที่เจียรนัยแล้ววางไว้ นี้เป็นความมีกระดูกงามของนาง อนึ่งแม้นางมีอายุ ๑๒๐ ปี ก็ยังดูสดใสเหมือนมีอายุได้ ๑๖ ริ้วรอย (เหี่ยวย่น) ไม่ปรากฏ ผมไม่หงอก นี้เป็นความมีวัยงามของนาง ก็ในบทที่ว่า นางเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมมีอธิบายว่า มีความชำนาญ คือประสบการณ์เป็นไป ความชำนาญ ก็คือประสบการณ์นั่นเอง ความชำนาญชั้นยอดเยี่ยมชื่อว่า มีความชำนาญอย่างยอดเยี่ยม นางชื่อว่า ปรมปาสาวินี เพราะเป็นหญิง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 356
มีความชำนาญอย่างยอดเยี่ยม ท่านอธิบายไว้ว่า มีความคล่องตัวอย่างสูง คือมีลีลาอันประเสริฐในการฟ้อนหรือในการขับ คือฟ้อนได้อย่างอ่อนช้อยและขับกล่อมได้อย่างไพเราะ.
ข้อที่ว่า ลำดับนั้น บุรุษพึงมานั้น มิได้หมายความว่า บุรุษมาด้วยความพอใจของตน ก็ในข้อนี้ท่านอธิบายว่า ครั้งเมื่อนางงามในชนบทนั้นกำลังฟ้อนอยู่ท่ามกลางมหาชนนั้นและมีเสียงสาธุการว่า สวยแท้ งามจริง ทั้งเสียงดีดนิ้ว ทั้งการโบกผ้า กำลังเป็นไปอยู่อย่างสนั่นหวั่นไหว พระราชาทรงทราบพฤติกรรมนั้น รับสั่งให้เรียกนักโทษคนหนึ่งออกมาจากเรือนจำ ถอดขื่อคาออกเสีย ประทานโถน้ำมันมีน้ำมันเต็มเปี่ยมเสมอขอบไว้ในมือของเขา ให้ถือไว้มั่นด้วยมือทั้งสอง ทรงสั่งบังคับบุรุษผู้ถือดาบคนหนึ่งว่า จงพานักโทษผู้นี้ไปสู่สถานมหรสพของนางงามในชนบท และถ้าบุรุษผู้นี้ถึงความประมาท เทหยดน้ำมันแม้หยดเดียวลงในที่ใดแล จงตัดศีรษะเขาเสียในที่นั้นทีเดียว บุรุษนั้นเงื้อดาบตะคอกเขาพาไป ณ ที่นั้น เขาอันมรณภัยคุกคามแล้ว ไม่ใส่ใจถึงนางด้วยสามารถแห่งความประมาทเลย ไม่ลืมตาดูนางชนบทกัลยาณีนั้นแม้ครั้งเดียว เพราะต้องการจะอยู่รอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้วอย่างนี้ ก็เรื่องนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยสามารถแห่งการสมมติในพระสูตร ก็ในบทว่า อุปมา โข มยายํ นี้ ทรงกระทำการอุปมาเทียบเคียงโถน้ำมันกับกายคตาสติ เป็นที่ตั้ง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 357
ก็ในเรื่องนี้ กรรมพึงเห็นดุจพระราชา กิเลสดุจดาบ มารดุจคนเงื้อดาบ พระโยคาวจรผู้เพ่งเจริญกายคตาสติดุจคนถือโถน้ำมัน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระสูตรนี้มา ทรงแสดงว่า อันภิกษุผู้มุ่งเจริญกายคตาสติ ต้องไม่ปล่อยสติ เป็นผู้ไม่ประมาทเจริญกายคตาสติ เหมือนคนถือโถน้ำมันนั้น ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลายครั้นฟังพระสูตรนี้และอรรถาธิบายแล้ว พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า การที่บุรุษนั้นไม่มองดูนางชนบทกัลยาณี ผู้งามหยดย้อย ประคองโถน้ำมันเดินไป กระทำแล้ว เป็นการกระทำได้ยาก พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่บุรุษนั้นกระทำแล้ว มิใช่เป็นการที่กระทำได้ยาก นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายโดยแท้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุมีคนเงื้อดาบคอยขู่ตะคอกสะกดไป แต่การที่บัณฑิตทั้งหลายในครั้งก่อนไม่ปล่อยสติ ทำลายอินทรีย์ ไม่มองดูแม้ซึ่งรูปทิพย์ที่จำแลงไว้เสียเลย เดินไป จนได้ครองราชสมบัตินั่น (ต่างหาก) ที่กระทำได้โดยยาก อันภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระโอรสองค์เล็กที่สุดของพระโอรส ๑๐๐ องค์ แห่งพระราชานั้น ทรงบรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาโดยลำดับ และในครั้นนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายพระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 358
ฉันในพระราชวัง พระโพธิสัตว์ทรงกระทำหน้าที่ไวยาวัจกรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น วันหนึ่งทรงพระดำริว่า พี่ชายของเรามีมาก เราจักได้ราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ในพระนครนี้หรือไม่หนอ ครั้นแล้วพระองค์ได้มีปริวิตกว่า ต้องถามพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงจะรู้แน่ ในวันที่ ๒ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมากันแล้ว ท่านถือเอาธรรมกรกมากรองน้ำสำหรับดื่ม ล้างเท้า ทาน้ำมัน ในเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นฉันของเคี้ยวในระหว่างจึงบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง มีพระดำรัสถามความนั้น ทีนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้บอกกะท่านว่า ดูก่อนกุมาร พระองค์จักไม่ได้ราชสมบัติในพระนครนี้ แต่จากพระนครนี้ไปในที่สุด ๑๒๐ โยชน์ ในคันธารรัฐ มีพระนครชื่อว่า ตักกสิลา เธออาจจะไปในพระนครนั้น จักต้องได้ราชสมบัติ ในวันที่ ๗ นับจากวันนี้ แต่ในระหว่างทาง ในดงดิบใหญ่มีอันตรายอยู่ เมื่อจะอ้อมดงนั้นไป จะเป็นทางไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ เมื่อไปตรงก็เป็นทาง ๕๐ โยชน์ ข้อสำคัญทางนั้นชื่อว่า อมนุสสกันดาร ในย่านนั้น ฝูงยักษิณีพากันเนรมิตบ้านและศาลาไว้ในระหว่างทาง ตกแต่งที่นอนอันมีค่า บนเพดานแพรวพราวไปด้วยดาวทอง แวดวงม่านอันย้อมด้วยสีต่างๆ ตกแต่งอัตภาพด้วยอลังการอันเป็นทิพย์ พากันนั่งในศาลาทั้งหลาย หน่วงเหนี่ยวเหล่าบุรุษผู้เดินทางไปด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน พากันเชื้อเชิญว่า ท่านทั้งหลายปรากฏดุจดังคนเหน็ดเหนื่อย เชิญมานั่งบนศาลานี้ ดื่มเครื่องดื่มแล้วค่อยไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 359
เถิด แล้วให้ที่นั่งแก่ผู้ที่มา พากันเล้าโลมด้วยท่าทีอันยียวนของตน ทำให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสจนได้ เมื่อได้ทำอัชฌาจารร่วมกับตนแล้ว ก็พากันเคี้ยวกินพวกนั้นเสียในที่นั้นเอง ทำให้ถึงสิ้นชีวิต ทั้งๆ ที่โลหิตยังหลั่งไหลอยู่ พวกนางยักษิณีจะคอยจับสัตว์ผู้มีรูปเป็นอารมณ์ด้วยรูปนั่นแหละ ผู้มีเสียงเป็นอารมณ์ด้วยเสียงขับร้องบรรเลงอันหวานเจื้อยแจ้ว ผู้มีกลิ่นเป็นอารมณ์ด้วยกลิ่นทิพย์ ผู้มีรสเป็นอารมณ์ด้วยโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ ดุจรสทิพย์ ผู้มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ด้วยที่นอนดุจที่นอนทิพย์ เป็นเครื่องลาดมีสีแดงทั้งสองข้าง ถ้าพระองค์จักไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๕ แลดูพวกมันเลย คุมสติมั่นคงไว้เดินไป จักได้ราชสมบัติในพระนครนั้นในวันที่ ๗ แน่ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เรื่องนั้นจงยกไว้ ข้าพเจ้ารับโอวาทของพระคุณเจ้าทั้งหลายแล้ว จักแลดูพวกมันทำไม ดังนี้แล้ว ขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทำพระปริต รับทรายเศกด้วยพระปริตและด้ายเศกด้วยพระปริต บังคมลาพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระราชมารดา พระราชบิดา เสด็จไปสู่พระราชวัง ตรัสกะคนของพระองค์ว่า เราจักไปครองราชสมบัติในพระนครตักกสิลา พวกเจ้าจงอยู่กันที่นี่เถิด ครั้งนั้นคนทั้ง ๕ กราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า แม้พวกข้าพระองค์ก็จักตามเสด็จไป ตรัสว่า พวกเจ้าไม่อาจตามเราไปได้ดอก ได้ยินว่า ในระหว่างทาง พวกยักษิณีคอยเล้าโลมพวกมนุษย์ผู้มีรูปเป็นต้นเป็นอารมณ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 360
ด้วยกามารมณ์มีรูปเป็นต้น หลายอย่างต่างกระบวน แล้วจับกินเป็นอาหาร อันตรายมีอยู่อย่างใหญ่หลวง เราเตรียมตัวไว้แล้วจึงไปได้ ราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพวกข้าพระบาทนั้นตามเสด็จไปกับพระองค์ จักแลดูรูปเป็นต้นที่น่ารักเพื่อตนทำไม แม้พวกข้าพระบาท ก็จักไปในที่นั้นได้เหมือนกัน พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วพาพวกคนทั้ง ๕ เหล่านั้นเสด็จไป.
ฝูงยักษิณีพากันเนรมิตบ้านเป็นต้น นั่งคอยอยู่แล้ว ในคนเหล่านั้น คนที่ชอบรูป แลดูยักษิณีเหล่านั้นแล้ว มีจิตผูกพันในรูปารมณ์ ชักจะล้าหลังลงหน่อยหนึ่ง พระโพธิสัตว์ก็ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ทำไมจึงเดินล้าหลังลงไปเล่า กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เท้าของข้าพระบาทเจ็บ ขอนั่งพักในศาลาสักหน่อย แล้วจักตามมาพระเจ้าข้า ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ นั่นมันฝูงยักษิณี เจ้าอย่าไปปรารถนามันเลย กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ จะเป็นอย่างไรก็เป็นเถิด ข้าพระบาททนไม่ไหว ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจักรู้เอง ทรงพาอีก ๔ คนเดินทางต่อไป คนที่ชอบดูรูปได้ไปสำนักของพวกมัน เมื่อได้ทำอัชฌาจารกับตนแล้ว พวกมันก็ทำให้เขาสิ้นชีวิตในที่นั้นเอง แล้วไปดักข้างหน้า เนรมิตศาลาหลังอื่นไว้ นั่งถือดนตรีต่างๆ ขับร้องอยู่ ในคนเหล่านั้น คนที่ชอบเสียง ก็ชักล้าหลัง พวกมันก็พากันกินคนนั้นเสีย แล้วพากันไปดักข้างหน้า จัดโภชนะดุจของทิพย์ มีรสเลิศนานาชนิดไว้เต็มภาชนะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 361
นั่งเปิดร้านขายข้าวแกง ถึงตรงนั้น คนที่ชอบรสก็ชักล้าลง พวกมันพากันกินคนนั้นเสีย แล้วไปดักข้างหน้า ตกแต่งที่นอน ดุจที่นอนทิพย์ นั่งคอยแล้ว ถึงตรงนั้น คนที่ชอบโผฏฐัพพะ ก็ชักล้าลง พวกมันก็พากันกินเขาเสียอีก.
เหลือแต่พระโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้น ครั้งนั้น นางยักษิณีตนหนึ่ง คิดว่า มนุษย์คนนี้มีมนต์ขลังนัก เราจักกินให้ได้แล้วถึงจะกลับ แล้วเดินตามหลังพระโพธิสัตว์ไปเรื่อยๆ ถึงปากดงฟากโน้น พวกที่ทำงานในป่าเป็นต้น ก็ถามนางยักษิณีว่า ชายคนที่เดินไปข้างหน้านางนี้เป็นอะไรกัน ตอบว่า เป็นสามีหนุ่มของดิฉันเจ้าค่ะ พวกคนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ กุมาริกานี้อ่อนแอถึงอย่างนี้ น่าถนอมเหมือนพวงดอกไม้ ผิวก็งามเหมือนทอง ทอดทิ้งตระกูลของตนออกมาเพราะรักคิดถึงพ่อมหาจำเริญ จึงยอมติดตามมา พ่อมหาจำเริญ เหตุไร จึงปล่อยให้นางลำบากไม่จูงนางไปเล่า พระโพธิสัตว์ตรัสว่า พ่อคุณทั้งหลาย นั่นไม่ใช่เมียของเราดอก นั่นมันยักษิณี คนของเรา ๕ คน ถูกมันกินไปหมดแล้ว ยักษิณีกล่าวว่า พ่อเจ้าประคุณทั้งหลาย ธรรมดาผู้ชายในยามโกรธ ก็กระทำเมียของตนให้เป็นนางยักษ์ก็ได้ ให้เป็นนางเปรตก็ได้ นางยักษิณีเดินตามมา แสดงเพศของหญิงมีครรภ์ แล้วทำให้เป็นหญิงคลอดแล้วครั้งหนึ่ง อุ้มบุตรใส่สะเอวเดินตามพระโพธิสัตว์ไป คนที่เห็นแล้วๆ ก็พากันถามตามนัยก่อนทั้งนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ตรัสอย่างนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 362
ตลอดทาง จนถึงพระนครตักกสิลา มันทำให้ลูกหายไป ติดตามไปแต่คนเดียว พระโพธิสัตว์เสด็จถึงพระนครแล้ว ประทับนั่ง ณ ศาลาหลังหนึ่ง แม้ว่านางยักษิณีนั้นเล่า ไม่อาจเข้าไปได้ด้วยเดชของพระโพธิสัตว์ ก็เนรมิตรูปเป็นนางฟ้า ยืนอยู่ที่ประตูศาลา.
สมัยนั้น พระราชากำลังเสด็จออกจากพระนครตักกสิลา ไปสู่พระอุทยาน ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ ตรัสใช้ราชบุรุษว่า ไปถามซิ นางคนนี้มีสามีแล้วหรือยังไม่มี พวกราชบุรุษเข้าไปหานางยักษิณี ถามว่า เธอมีสามีแล้วหรือ นางตอบว่า เจ้าค่ะ ผู้ที่นั่งอยู่บนศาลาคนนี้เป็นสามีของดิฉัน พระโพธิสัตว์ตรัสว่า นั่นไม่ใช่เมียของข้าพเจ้าดอก มันเป็นนางยักษิณี คนของข้าพเจ้า ๕ คน ถูกมันกินเสียแล้ว ฝ่ายนางยักษิณีก็กล่าวว่า ท่านเจ้าค่ะ ธรรมดาผู้ชายในยามโกรธ ก็จะพูดเอาตามที่ใจตนปรารถนา ราชบุรุษนั้นก็กราบทูลคำของคนทั้งสองแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า ธรรมดาภัณฑะไม่มีเจ้าของ ย่อมตกเป็นของหลวง แล้วตรัสเรียกยักษิณีมาให้นั่งเหนือพระคชาธารร่วมกับพระองค์ ทรงกระทำประทักษิณพระนคร แล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทรงสถาปนามันไว้ในตำแหน่งอรรคมเหสี เสด็จสรงสนานแต่งพระองค์เรียบร้อย เสวยพระกระยาหารในเวลาเย็นแล้ว ก็เสด็จขึ้นพระแท่นที่สิริไสยาสน์ นางยักษิณีนั้นเล่า กินอาหารที่ควรแก่ตนแล้ว ตกแต่งประดับประดาตน นอนร่วมกับพระราชา เหนือพระแท่นที่บรรทมอันมีสิริ เวลาที่พระราชาทรงเปี่ยมไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 363
ด้วยความสุขด้วยอำนาจความรื่นรมย์ ทรงบรรทมแล้ว ก็พลิกไปทางหนึ่ง ทำเป็นร้องไห้ ครั้นพระราชาตรัสถามมันว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เจ้าร้องไห้ทำไม.
นางจึงทูลว่า ทูลกระหม่อมเพคะ กระหม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงพบที่หนทางแล้วทรงพามา อนึ่งเล่าในพระราชวังของพระองค์ก็มีหญิงอยู่เป็นอันมาก กระหม่อมฉันเมื่ออยู่ในกลุ่มหญิงที่ร่วมบำเรอพระบาท เมื่อเกิดพูดกันขึ้นว่า ใครรู้จักมารดา บิดา โคตรหรือชาติของเธอเล่า เธอนะ พระราชาพบในระหว่างทาง แล้วทรงนำมา ดังนี้ จะเหมือนถูกจับศีรษะบีบ ต้องเก้อเขินเป็นแน่ ถ้าพระองค์พระราชทานความเป็นใหญ่และการบังคับในแว่นแคว้นทั้งสิ้นแก่หม่อมฉัน ใครๆ ก็จักไม่อาจกำเริบจิตกล่าวแก่หม่อมฉันได้เลย ทรงรับสั่งว่า นางผู้เจริญ ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้น มิได้เป็นสมบัติบางส่วนของฉัน ฉันไม่ได้เป็นเจ้าของของพวกนั้น แต่ชนเหล่าใดละเมิดพระราชกำหนดกฎหมาย กระทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เราเป็นเจ้าของคนพวกนั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจให้ความเป็นใหญ่และการบังคับ ในแว่นแคว้นทั้งสิ้นแก่เธอได้ นางกราบทูลว่า ทูลกระหม่อมเพคะ ถ้าพระองค์ไม่สามารถจะพระราชทานการบังคับในแว่นแคว้นหรือในพระนคร ก็ขอได้โปรดพระราชทานอำนาจเหนือปวงชนผู้รับใช้ข้างในภายในพระราชวัง เพื่อให้เป็นไปในอำนาจของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า พระราชาทรงติดพระทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 364
โผฏฐัพพะดุจทิพย์เสียแล้ว ไม่สามารถจะละเลยถ้อยคำของนางได้ ตรัสว่า ตกลง นางผู้เจริญ เราขอมอบอำนาจในหมู่ชนผู้รับใช้ภายในแก่เธอ เธอจงควบคุมคนเหล่านั้นให้เป็นไปในอำนาจของตนเถิด นางยักษิณีรับคำว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า พอพระราชาบรรทมหลับสนิท ก็ไปเมืองยักษ์ชวนพวกยักษ์มา ยังพระราชาของตนให้ถึงชีพิตักษัย เคี้ยวกินหนังเนื้อและเลือดจนหมด เหลือไว้แต่เพียงกระดูก พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันเคี้ยวกินคนและสัตว์ ตั้งต้นแต่ไก่และสุนัขภายในวังตั้งแต่ประตูใหญ่จนหมด เหลือไว้แต่กระดูก รุ่งเช้าพวกคนทั้งหลาย เห็นประตูวังยังปิดไว้ตามเดิม ก็พากันพังบานประตูด้วยขวาน แล้วชวนกันเข้าไปภายใน เห็นพระราชวังทุกแห่งหน เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูก จึงพูดกันว่า บุรุษคนนั้น พูดไว้เป็นความจริงหนอว่า นางนี้มิใช่เมียของเรา มันเป็นยักษิณี แต่พระราชาไม่ทรงทราบอะไร ทรงพามันมา แต่งตั้งให้เป็นมเหสีของพระองค์ พอค่ำมันก็ชวนพวกยักษ์มากินคนเสียหมดแล้วไปเสียเป็นแน่.
ในวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงใส่ทรายเศกพระปริตที่ศีรษะ วงด้ายเศกพระปริต ทรงถือพระขรรค์ประทับยืนอยู่ในศาลานั้น จนรุ่งอรุณ พวกมนุษย์พากันทำความสะอาดพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้น ฉาบสีเหลือง ประพรมข้างบนด้วยของหอม โปรยดอกไม้ ห้อยพวงดอกไม้ อบควัน ผูกพวงดอกไม้ใหม่ แล้วปรึกษากันว่า เมื่อวานนี้บุรุษนั้นไม่ได้กระทำแม้เพียงแต่จะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 365
ทำลายอินทรีย์มองดูยักษิณีอันจำแลงรูปดุจรูปทิพย์เดินมาข้างหลังเลย เขาเป็นสัตว์ประเสริฐยิ่งล้น หนักแน่น สมบูรณ์ด้วยญาณ เมื่อบุรุษเช่นนั้นปกครองแว่นแคว้น รัฐสีมามณฑลจักมีแต่สุขสันต์ พวกเราจงทำให้เขาเป็นพระราชาเถิด ครั้งนั้น พวกอำมาตย์และชาวเมืองทุกคน ร่วมกันเป็นเอกฉันท์ เข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เชิญพระองค์ทรงครองราชสมบัตินี้เถิด พระเจ้าข้า เชิญเสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว เชิญขึ้นประทับเหนือกองแก้ว อภิเศก กระทำให้เป็นพระราชาแห่งตักกสิลานคร ท้าวเธอทรงเว้นการลุอคติ ๔ มิให้ราชธรรม ๑๐ กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธก ครั้นตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้ว ตรัสพระคาถานี้ความว่า.
"ผู้ปรารถนาทิศที่ยังไม่เคยไป พึงรักษาจิตของตนไว้ เหมือนคนประคองไปซึ่งโถน้ำมันอันเต็มเปี่ยมเสมอขอบ มิได้มีส่วนพร่องเลย" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมติตฺติกํ ความว่า เต็มเสมอขอบถึงลวดที่วงปากด้านใน.
บทว่า อนวเสกํ ความว่า การทำให้ใส่ลงไปอีกไม่ได้ คือหยดลงไปไม่ได้อีกเลย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 366
บทว่า เตลปตฺตํ ได้แก่ โถที่เขาใส่น้ำมันงา.
บทว่า ปริหเรยฺย ความว่า พึงประคองไป คือถือเอาไป.
บทว่า เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข ความว่า พระโยคาวจรผู้เป็นบัณฑิต พึงประคองจิตของตน อันเป็นดุจโถที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำมันนั้นไว้ ในระหว่างแห่งธรรมแม้ทั้งสอง คือในอารมณ์กับสติที่ประกอบไว้เป็นอันดี แล้วพึงรักษาไว้ คือคุ้มครองไว้ด้วยกายคตาสติ โดยจิตไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก แม้เพียงครู่เดียวฉันนั้น.
เพราะเหตุไร
"เพราะเหตุว่าการฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เบา พลันตกไปในอารมณ์ที่ปรารถนานี้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ จิตที่ฝึกแล้วเป็นเหตุนำความสุขมาให้".
เพราะฉะนั้น.
"ท่านผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากแท้ ละเอียดลออ พลันตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนา จิตที่คุ้มครองไว้ได้แล้ว นำความสุขมาให้".
ด้วยว่า.
"ชนเหล่าใด จักสำรวมจิตนี้ ซึ่งไปได้ไกล เที่ยวไปโดดเดี่ยว ไม่มีรูปร่าง อาศัยถ้ำคือร่างกาย ไว้ได้ ชนเหล่านั้น จักพ้นจากบ่วงแห่งมารได้".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 367
ส่วนคนนอกนี้ คือ.
"ผู้ที่มีจิตไม่มั่นคง ไม่ทราบพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสรวนเร ย่อมมีปัญญาบริบูรณ์ไม่ได้".
ส่วนผู้ที่คุ้นเคยกับพระกรรมฐานมานาน.
"มีจิตอันราคะไม่รั่วรดแล้ว มีใจอันโทสะตามกำจัดไม่ได้ ละบุญและบาปเสียได้แล้ว เป็นผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัยเลย".
เพราะฉะนั้น.
"ผู้มีปัญญา ย่อมกระทำจิตอันดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรฉะนั้น".
เมื่อพระโยคาวจรกระทำจิตให้ตรงอยู่อย่างนี้ชื่อว่า ตามรักษาจิตของตน.
บทว่า ปฏฺยมาโน ทิสํ อคตปุพฺพํ ความว่า พระโยคาวจร เมื่อปรารถนาบริกรรมในกายคตาสติกรรมฐานนี้แล้ว ปรารถนาต้องการทิศที่ยังไม่เคยไปในสงสารอันไม่มีที่สุดและเบื้องต้น พึงรักษาจิตของตนโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
ก็ที่ชื่อว่า ทิศ นี้ คืออะไรเล่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 368
ก่อนอื่น บุตรและภรรยาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เป็นทิศ ดังในคาถานี้ว่า.
"มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสและกรรมกรทั้งหลายเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณะและพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ชนในสกุลไม่พึงประมาท นอบน้อมทิศเหล่านี้".
ยังมีทิศต่างๆ แยกประเภทออกเป็นทิศบูรพาเป็นต้น ท่านก็เรียกว่า ทิศ ดังในคาถานี้ว่า.
"ทิศใหญ่ ๔ ทิศ เฉียง ๔ ทิศ เบื้องบน เบื้องต่ำ รวมเป็น ๑๐ ทิศ เหล่านี้ หม่อมฉันได้เห็นพระยาช้าง ๖ วา ในความฝัน พระยาช้างนั้น สถิตอยู่ทิศไหน".
พระนิพพานท่านก็เรียกว่า ทิศ ดังในคาถานี้ว่า.
"คฤหัสถ์ทั้งหลายผู้ให้ข้าวน้ำและผ้า ท่านกล่าวว่าเป็นทิศ แม้ของบรรพชิต ผู้ขอร้อง ผู้มีทุกข์ ถึงทิศใดเล่าจึงจะมีความสุขได้ ทิศนี้ เป็นทิศอย่างยิ่งนะ เจ้าเสตเกตุ".
แม้ในบาทคาถานี้ ที่ว่า ทิศที่ไม่เคยไป ก็ประสงค์เอาทิศ คือพระนิพพาน นั่นแล เพราะว่า พระนิพพานนั้น ย่อมปรากฏด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 369
ลักษณะเป็นต้นว่า ความสิ้นไป ความคลายกำหนัด เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเรียกว่า ทิศ ส่วนที่ตรัสว่า ชื่อว่า ทิศที่ไม่เคยไป เพราะพาลปุถุชนไรๆ ในสงสารอันหาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่พบนี้ ไม่เคยไปกันเลยแม้แต่ความฝัน อันพระโยคาวจรผู้ปรารถนาทิศนั้น พึงกระทำความเพียรในกายคตาสติ.
พระบรมศาสดาทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระนิพพาน ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า ราชบริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนพระราชกุมารผู้ครองราชสมบัติในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเตลปัตตชาดกที่ ๖