ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทูสนา”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
“ทูสนา” อ่านตามภาษาบาลีว่า ทู - สะ - นา หมายถึง การประทุษร้าย ไม่พ้นจากความโกรธ ความไม่พอใจ เมื่อสะสมมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็คือ โทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ความโกรธ จะมีกำลัง ก็เพราะมาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว
ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ธนิยสูตร แสดงความเป็นจริงถึงระดับขั้นของความโกรธไว้ ดังนี้ คือ
บางคนย่อมทำหน้าสยิ้วด้วยความโกรธใด ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว มีกำลังแรงกว่าความโกรธที่นิดหน่อยนั้น คนบางคนปรารถนาจะกล่าวคำหยาบ ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น จึงทำเหตุสักว่า คางสั่น คนอีกพวกหนึ่ง กล่าวคำหยาบด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น อีกพวกหนึ่ง แสวงหาท่อนไม้และศาสตรา เหลียวดูทิศทั้งหลายด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น อีกพวกหนึ่ง จับท่อนไม้และศาสตรา ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น อีกพวกหนึ่งถือท่อนไม้เป็นต้น วิ่งเข้าใส่ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น อีกพวกหนึ่งประหาร ๒-๓ ครั้ง ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น อีกพวกหนึ่ง ฆ่าแม้กระทั่งญาติสายโลหิตของตน ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่ง เกิด วิปฏิสาร (เดือดร้อน) ขึ้นด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น แล้วฆ่าตัวเอง
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรม ทุกขณะของชีวิตคือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ความโกรธ ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ลักษณะของความโกรธ ก็คือ ขุ่นเคือง ดุร้าย ประทุษร้าย กระสับกระส่าย ไม่สงบ เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่สบายใจเมื่อนั้น เนื่องว่าจากเวทนาความรู้สึกที่เกิดร่วมกับความโกรธ มีเพียงหนึ่งเดียว คือ โทมนัสเวทนา เท่านั้น
ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นความจริงที่ว่า ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังมีความโกรธอยู่ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด บางบุคคล เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความประพฤติดี น่ารัก เกือบจะดูเหมือนว่า ไม่เห็นเขาโกรธ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่ แม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็ยากที่จะไม่เกิดความขุ่นใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของโทสะเช่นเดียวกัน
ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ขุ่นใจนิดเดียวก็รู้สึกตัวได้ว่า นั่นคือลักษณะของความโกรธแล้ว แม้จะไม่มากถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตทั้งทางกาย และทางวาจา แต่ว่าบุคคลใดที่มีความขุ่นใจ ไม่พอใจ ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่รู้แต่คนนั้นย่อมรู้ ทันทีที่ความโกรธปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่เจริญเมตตา และมีความละเอียด ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องเป็นผู้มีความละเอียดและเข้าใจตามความเป็นจริงว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามี ยังมีความโกรธอยู่ โกรธแล้วก็ดับไป แต่ถ้าเพียงโกรธแล้วก็ดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ก็ย่อมจะดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะไม่เป็นความคิดโกรธแบบไม่จบ คิดอีก แล้วก็โกรธอีก จนกระทั่งไม่ลืม เวลาที่โกรธแล้วไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงกับเป็นความคิดที่จะประทุษร้าย ก่อร้าย ปองร้ายต่อผู้อื่น
แต่ละคนไม่ควรที่จะลืมว่า อีกไม่นานก็จะถึงชาติหน้า เพราะความตายจะมาถึงเมื่อใดไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย ซึ่งจะต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้อย่างแน่นอน และชาติหน้าอยากจะเป็นบุคคลประเภทไหน อยากจะมีกิเลสน้อยหรือว่าอยากจะมีกิเลสมาก ดูเหมือนว่าชาตินี้กิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย นั่น เหตุกับผลยังไม่ตรงกัน ถ้าชาตินี้ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ละคลาย ชาติหน้าก็จะเป็นผู้มีกิเลสน้อยไม่ได้ และสำหรับชาติหน้า ทุกคนก็จะเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งจะไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะมีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อดีตของชาติหน้า ซึ่งก็คือชาตินี้เอง ชาติหน้าก็อาจจะคิดว่าชาติก่อนนั้น ไม่ควรจะทำอกุศลอย่างนั้นเลย ไม่ควรจะโกรธ ไม่ควรจะประทุษร้ายผู้อื่นอย่างนั้น ไม่ควรจะกล่าววาจาไม่ดีอย่างนั้น แต่ว่าได้กระทำไปแล้ว
ชาตินี้ยังเป็นโอกาสอยู่ ที่หิริโอตตัปปะจะเกิด แล้วก็ละคลายอกุศล เพื่อว่าชาติหน้าจะได้ไม่ย้อนกลับมาคิดว่า ชาติก่อนนี้ไม่ควรจะทำอกุศลอย่างนั้นๆ เลย
การที่จะค่อยๆ ละคลายความโกรธได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นปัญญาของตนเอง แล้วกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายกิเลส และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงจะสามารถดับความโกรธได้หมดสิ้น
ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็จะเป็นเหตุให้สะสมกิเลสประการต่างๆ เป็นอุปนิสัยไม่ดีหนาแน่นขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาละคลายได้ ดังนั้นการที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งได้นั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ความโกรธเกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทุกขณะ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และที่สำคัญ เพราะอาศัยการอบรมเจริญปัญญา จึงสามารถที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส มีความติดข้อง ความเห็นผิด ความโกรธ ความประทุษร้ายผู้อื่น และ ความไม่รู้ เป็นต้น จนสามารถดับได้ตามลำดับขั้น
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และยินดีในความดีค่ะ