การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ มีความละเอียดอย่างไรบ้างครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำพูดมีได้เพราะ อาศัยจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้น คำพูดจึงมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น คำพูดจึงพูดด้วยอกุศลจิตก็ได้ พูดด้วยกุศลจิตก็ได้ แต่คำพูดใดที่เป็นคำหยาบ สำคัญที่จิตนั้นเป็นสำคัญ เพราะจิตหยาบคือ หยาบด้วยอกุศลจิตที่เป็นโทสะในขณะนั้น จึงชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะมีจิตที่หยาบเป็นสำคัญ แต่ถ้าจิตไม่หยาบ ไม่เป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะแล้ว ไม่ชื่อว่าหยาบ ไม่ได้สำคัญที่คำพูดเรื่องราวที่พูด เป็นสำคัญ เช่น พระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มักกล่าววาจาเรียกคนอื่นว่า คนถ่อย แต่เป็นเพราะท่านสะสมการเรียกอย่างนี้ในอดีตชาติ มามากมาย จึงยังติดการพูดเช่นนี้ แต่ท่านพูดด้วยกิริยาจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แม้คำว่าคนถ่อย จะฟังดูไม่ดีแต่จิตท่านพูดด้วยกิริยาจิต จิตไม่หยาบ คำนั้นจึงไม่ใช่คำหยาบ เพราะไม่มีเจตนาด่าว่าใครนั่นเอง ครับ หรือแม่เป็นห่วงลูก กล่าววาจาด้วยคำที่ดูว่าหยาบเหมือนจะด่าว่าลูก แต่ด้วยจิตที่หวังดี ไม่ใช่ด้วยโทสะ คำนั้นแม้ฟังดูไม่ไพเราะ แต่จิตไม่หยาบด้วยโทสะ ก็ไม่ใช่คำหยาบ ครับ
ส่วน ปุถุชน ยังมีอกุศลจิตโดยมาก แม้พูดคำที่ดูดี น่ารัก ตามที่ชาวโลกสมมติกันในปัจจุบัน แต่มีเจตนาว่าบุคคลนั้นในขณะที่พูด แต่พูดด้วยคำสวยหรู ไพเราะ ก็ชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะหยาบด้วยจิตที่หยาบด้วยโทสมูลจิตที่เจตนาว่าร้ายคนอื่นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะเป็นคำหยาบหรือไม่ ก็สำคัญที่จิตเป็นสำคัญสรุปได้ว่า วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นอกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ ครับ ซี่งในพระพุทธศาสนาแสดงองค์ประกอบ และรายละเอียดของการเป็นผรุสวาจา ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๖
เรื่องวาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ
ได้ยินว่า เด็กคนหนึ่งไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคําของมารดาไปป่า มารดาไม่สามารถให้เด็กนั้นกลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุจงไล่มึง ทันใดนั้น แม่กระบือป่าได้ปรากฏแก่เด็กนั้น เหมือนอย่างมารดาว่าทีเดียว เด็กนั้นได้กระทําสัจจกิริยาว่า สิ่งที่มารดาของเราพูดด้วยปาก จงอย่ามี สิ่งที่มารดาคิดด้วยใจ จงมีเถิด แม่กระบือได้ยืนอยู่เหมือนถูกผูกไว้ในป่านั้นเอง ประโยคแม้ตัดความรักอย่างนี้ ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตอ่อนโยน จริงอยู่ บางครั้งมารดาบิดาย่อมกล่าวกะลูกน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่าพวกโจรจงห้ําหั่นพวกเจ้าเป็นชิ้นๆ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้ให้กลีบบัวตกเบื้องบนของลูกน้อยๆ เหล่านั้น อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์ บางคราวก็กล่าวกะพวกศิษย์อย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มียางอาย ไม่เกรงกลัว คุยอะไรกัน จงไล่มันไปเสีย ก็แต่ว่า ย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นสําเร็จการศึกษา และบรรลุมรรคผล เหมือนอย่างว่า วาจาไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคําอ่อนหวานก็หาไม่ ด้วยว่าผู้ต้องการจะฆ่า พูดว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบาย ดังนี้ จะไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่ ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียวเพราะมีจิตหยาบ ผรุสวาจานั้น มีโทษน้อย เพราะผู้ที่ตนพูดหมายถึงนั้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๗
มีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก.
ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ
๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า
๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ
๓. อกฺโกสนา การด่า
สามารถอ่านรายะเลียดเพิ่มเติมได้ที่กระทู้นี้ ครับ
การใช้คำพูด (ศีลข้อ ๔)
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ผรุสวาจาประกอบด้วยองค์ ๓
ผรุสวาจาเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย
เรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด หรือความประพฤติเป็นไปทางวาจานั้น บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด คำพูดหยาบคาย คำพูดที่คนฟังฟังแล้วเจ็บใจไม่สบายใจ คำพูดเหน็บแนม คำเท็จ เป็นต้น เป็นคำที่ไม่ควรพูด แต่ถ้าเป็นคำพูดที่เป็นคำจริง เป็นประโยชน์ เป็นคำที่ควรพูด ซึ่งเป็นข้อความที่ควรพิจารณาว่า นี้เป็นความจริง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ อาจจะย้อนกลับไปคิดถึงในกาลก่อนก็ได้ว่า ตนเองมีวาจาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ และได้กล่าววาจาที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ตนเองไม่ชอบคำพูดอย่างไร ก็ไม่ควรพูดคำอย่างนั้นกับคนอื่น
จึงแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เตือนให้เห็นอกุศลและโทษภัยของอกุศลประการต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริงและจะได้ขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวันต่อไป ครับ
คำพูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกแยกกัน เป็นวจีทุจริต โดยมูลเกิดจากโลภะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง การพูดในบางครั้งดูเหมือนว่าไม่ได้พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกแยกกัน แต่ก็พูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่มีประโยชน์ ก็เป็นตัวอย่างที่พอเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำหรับประเด็นเรื่องคำหยาบคาย สำคัญอยู่ที่จิต ว่าจะเป็นคำหยาบหรือไม่หยาบ ถ้ามีการพูดคำที่หยาบคาย กล้าแข็งเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นเสียดสีผู้อื่น นี้คือ ลักษณะของการพูดหยาบคาย ซึ่งเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย ซึ่งองค์ของผรุสวาจา มี ๓ คือ มีบุคคลที่จะพึงด่า ตนเองมีความโกรธ และได้ด่าผู้นั้น ดังนั้น การพูดคำที่พูดกันเป็นปกติ ก็สามารถพิจารณาจากองค์ ๓ ประการนี้ได้ว่า เป็นวาจาหยาบหรือไม่หยาบ
ชีวิตประจำวัน ยากที่พ้นไปจากอกุศล เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้วขณะใดที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล การอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกจากนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ การกล่าววาจาหยาบก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กล่าววาจาหยาบออกมาได้ เพราะผู้ที่จะดับการกล่าววาจาหยาบคายได้อย่างเด็ดขาด ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี
วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นอกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะแต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็สามารถขัดเกลาได้ในชีวิตประจำวัน มีความละอาย และความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศลประการนั้นๆ ได้
คำพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) เพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน หรือ คำพูดส่อเสียดเพื่อมุ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจ นั้น เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถเมื่อถึงคราวให้ผล อย่างหนักย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเบาเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้แตกจากมิตร คบกับใคร ไม่นานก็แตกแยกกัน โดยมูลแล้วการพูดส่อเสียด เกิดจากโลภะ (ความโลภ ติดข้อง ยินดี พอใจ) บ้าง เกิดจากโทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
การพูดส่อเสียดทำให้แตกจากมิตร และตกนรก ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ