ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่าคิด เป็นอย่างไร ต่างที่ขณะคิดเรื่องราวอย่างไร
โดย Thanapolb  7 พ.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 22870

ขอเรียนถามเรื่องจิต ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่า รู้อารมณ์ หรือ รู้แจ้งอารมณ์

อยากทราบว่า ขณะคิดกับขณะที่จิตรับรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร คนละอย่างกับที่กล่าวข้างบนไหมครับหรือหากกล่าวว่า คิด ที่ไม่ใช่อรรถดังกล่าว หรือกล่าวทั่วๆ ไป จิตคิดเกิดขึ้นทางใจ รู้อารมณ์ที่เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติ ครับ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 228

อธิบายคำว่าจิตพึงทราบวินิจฉัยในบทว่า จิตฺตํ สภาวะที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่าย่อมคิด คือว่า ย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์


สำหรับ ข้อความในพระไตรปิฎก จะต้องแยก ประเด็นว่า กำลังมุ่งหมายถึง จิตโดยนัยใด แม้แต่คำว่า คิด ซึ่ง ในพระไตรปิฎก แสดงว่า จิต เพราะ อรรถว่า คิด คือ รู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้น ในคำว่า คิด ในที่นี้ จึงหมายถึง การรู้อารมณ์ของสภาพธรรม ที่จิตกำลังรู้ ในสภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง แม้แต่ทางปัญจทวาร ที่มีเพียง ปรมัตถเป็นอารมณ์ เช่น มี สี เสียง เป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตกำลังรู้แจ้งอารมณ์ โดยการคิดที่เป็นความหมาย โดยการรู้แจ้งในอารมณ์นั้น ทั้งที่เป็นโดยนัย ปรมัตถ และ สมมติ ที่เป็นอารมณ์ ครับ

ดังนั้น จิต โดยอรรถที่ว่า คิด โดยการรู้แจ้งอารมณ์ จึงหมาย รวมทั้งทางปัญจทวารและมโนทวารด้วย เพราะคิด โดยนัยนี้ หมายถึง เมื่อใดที่รู้แจ้งอารมณ์ใด ก็คือจิตคิด รำพึงถึง ในอารมณ์นั้นแล้วนั่นเอง ครับ ส่วนคิด ในความหมายอีกนัยหนึ่งคือ คิดที่เป็นไปทางมโนทวารที่มีเรื่องราว บัญญัติเป็นอารมณ์ ซึ่งก็ต้องแยกว่า เป็นความหมายของคิด ที่ไม่ใช่ความหมายการรู้แจ้งอารมณ์ แต่ เป็นการคิด ที่ตรึกเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ครับ

ซึ่ง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่กระทู้นี้ ก็จะเข้าใจได้ดีขึ้น ครับ

ชื่อว่า จิต เพราะ อรรถว่า คิด

ชื่อว่า จิต เพราะคิดซึ่งอารมณ์

ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า ย่อมคิด คือว่า ย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์?

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงของจิต ว่า จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางทวารใด หรือ เกิดโดยไม่อาศัยทวารใดเลย มีลักษณะเดียวคือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ที่จิตมีความหลากหลายแตกต่างกันไป นั้นเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะอารมณ์ต่างกันเป็นต้น จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวัน ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาละที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ดับเหตุคือกิเลสที่จะเป็นเหตุให้มีการเกิดได้แล้ว

จิต มีลักษณะเพียงรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

ประเด็นคำว่า คิด ที่เป็นอรรถของจิตนั้น เมื่อเทียบกับภาษาเดิมคือภาษาบาลีแล้ว มาจากคำว่า อารมฺมณํ จินฺเตติ (ซึ่งจะแปลอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากแปลว่า ย่อมคิดซึ่งอารมณ์) ต่อจากคำว่า จินฺเตติ ก็มีคำว่า วิชานาติ (แปลว่า ย่อมรู้แจ้ง) ซึ่งเป็นคำอธิบายอีกทีหนึ่ง ดังนั้น ในอรรถว่า คิด นี้ ก็ครอบคลุมจิตทุกขณะ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องรู้แจ้งอารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เพราะรูปธรรม รู้แจ้งอารมณ์ไม่ได้ ถ้าไม่สามารถเข้าใจในอรรถว่า คิด ก็ให้เข้าใจตามคำอธิบายว่า รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อะไร ก็ คิด คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร หรือ ทางมโนทวารก็ตาม

ส่วน คิดทางมโนทวาร ก็ต้องไม่ทิ้งอรรถของจิต ว่า คิด ด้วย โดยนัยที่เป็นการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เพราะขณะที่คิดก็ต้องมีสิ่งที่ถูกคิด ซึ่งเป็นชื่อบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เพราะตามความเป็นจริงของจิต เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดับไป ย่อมเป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางมโนทวารเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากปัญจทวาร และมีคิดถึงชื่อสัณฐานของสิ่งที่เห็น เป็นต้น หรือแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น ก็คิดได้ ขณะที่คิดนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิต แต่ก็ไม่ใช่วิถีจิตทาง ๕ ทวาร แต่เป็นทางมโนทวาร ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นสำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก จริงๆ เพราะบางครั้งอาจจะงงกับคำก็ได้ แต่ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 8 พ.ค. 2556

จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ในแต่ละทาง ในแต่ละทวาร เช่น จิตเห็น เป็นใหญ่ในการเห็น จิตได้ยิน เป็นใหญ่ในการได้ยิน เป็นต้น ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ประสาน  วันที่ 9 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย j.jim  วันที่ 9 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Thanapolb  วันที่ 9 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้

"....ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อะไร ก็ คิด คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร หรือ ทางมโมทวาร ก็ตาม

ส่วน คิดทางมโนทวาร ก็ต้องไม่ทิ้งอรรถของจิต ว่า คิด ด้วย โดยนัยที่เป็นการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เพราะขณะที่คิดก็ต้องมีสิ่งที่ถูกคิด...."

ขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองครับ และขออนุโมทนากับกุศลจิตทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Lamphun  วันที่ 9 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย orawan.c  วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย ประสาน  วันที่ 12 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ