๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร ว่าด้วยธรรมปริยาย ชื่อ ธรรมาทาส
โดย บ้านธัมมะ  13 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38076

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 297

๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร

ว่าด้วยธรรมปริยาย ชื่อ ธรรมาทาส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 297

๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร

ว่าด้วยธรรมปริยาย ชื่อ ธรรมาทาส

[๑๔๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อสาฬหะมรณภาพแล้ว คติของเธอเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเธอเป็นอย่างไร ภิกษุณีชื่อนันทามรณภาพแล้ว... อุบาสกชื่อสุทัตตะกระทำกาละแล้ว... อุบาสิกาชื่อสุชาดากระทำกาละแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเขาเป็นอย่างไร.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 298

[๑๔๗๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุชื่อสาฬหะ มรณภาพแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ภิกษุณีชื่อนันทามรณภาพแล้ว เป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป อุบาสกชื่อว่าสุทัตตะกระทำกาละแล้ว เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกคราวหนึ่งแล้ว จักกระทำที่สุดทุกข์ได้ อุบาสิกาชื่อว่าสุชาดากระทำกาละแล้ว เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๔๗๑] ดูก่อนอานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพึงกระทำกาละมิใช่เป็นของน่าอัศจรรย์ ถ้าเมื่อผู้นั้นๆ กระทำกาละแล้ว เธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วสอบถามเนื้อความนั้น ข้อนี้เป็นความลำบากของตถาคต เพราะฉะนั้นแหละ เราจักแสดงธรรมปริยาย ชื่อ ธรรมาทาส (แว่นส่องธรรม) ที่อริยสาวกประกอบแล้ว เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๔๗๒] ดูก่อนอานนท์ ก็ธรรมปริยายชื่อธรรมาทาส ที่อริยสาวกประกอบแล้ว... จะตรัสรู้ในเบื้องหน้านั้น เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว... เป็น


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 299

ไปเพื่อสมาธิ นี้แล คือ ธรรมปริยาย ชื่อว่า ธรรมาทาส ที่อริยสาวกประกอบแล้ว... จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จบปฐมคิญชกาวสถสูตรที่ ๘

อรรถกถาปฐมคิญชกาวสถสูตร

พึงทราบอธิบายในปฐมคิญชกาวสถสูตรที่ ๘.

บทว่า าติเก ความว่า หมู่บ้าน ๒ ตำบล ของบุตรของจุลลปิติและมหาปิติทั้งสองมีอยู่เพราะอาศัยบึงหนึ่ง.

บทว่า ญาติเก ได้แก่ ในบ้านหนึ่ง.

บทว่า ที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐ ความว่า ที่อยู่ทำด้วยอิฐ.

บทว่า ส่วนเบื้องต่ำ ได้แก่ ส่วนเบื้องต่ำที่ให้ถือปฏิสนธิในกามภพนั่นเอง.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ส่วนเบื้องต่ำ เพราะอรรถว่าพึงละได้ ด้วยมรรค ๓ ที่ได้ชื่อว่า อุระ ดังนี้.

บรรดาสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์สองเหล่านี้คือ กามฉันทะ พยาบาท ไม่ข่มแล้วด้วยสมาบัติหรือไม่ถอนขึ้นแล้วด้วยมรรค หรือว่าไม่ให้เพื่อจะถึงรูปภพที่เป็นส่วนเบื้องบน ด้วยอำนาจแห่งการเกิด.

สังโยชน์ ๓ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น นำสัตว์ที่เกิดแล้วในรูปภพนั้นมาให้เกิดแม้ในที่นี้อีก เพราะเหตุนั้น สังโยชน์แม้ทั้งหมด จึงชื่อว่า เป็นส่วนเบื้องต่ำ.

บทว่า มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ความว่า มีการไม่มาเป็นสภาพ ด้วยอำนาจปฏิสนธิ.

บทว่า เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง ความว่า พึงทราบความที่ราคะโทสะและโมหะเบาบาง โดยสองอย่างคือ ด้วยการเกิดขึ้นในโลกนี้ คราวเดียว ๑ ด้วยการที่ปริยุฏฐานกิเลสเบาบาง ๑.

ก็ราคะเป็นต้น ย่อมไม่เกิดขึ้นเนืองๆ แก่พระสกทาคามี เหมือนแก่พวกปุถุชน บางครั้งบางคราวก็เกิดขึ้น


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 300

เมื่อจะเกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้นมาก เหมือนพวกปุถุชน เกิดขึ้นเบาบาง เหมือนปีกแมลงวัน. (๑)

ก็พระทีฆภาณกเตปิฎกมหาสิวเถระ กล่าวแล้วว่า พระสกทาคามีย่อมมีบุตรและธิดา (และ) หมู่สนม เพราะเหตุนั้น กิเลสทั้งหลายจึงมีมาก แต่ว่า คำนี้ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจภพ.

ก็คำนั้น เป็นอันถูกคัดค้านแล้ว เพราะท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า เว้น ๗ ภพ ในภพที่ ๘ พระโสดาบัน ย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เบาบางในภพ เว้น ๒ ภพ ใน ๕ ภพ พระสกทาคามี ย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เบาบางในภพ เว้นรูปภพ อรูปภพ ในกามภพ พระอนาคามีย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เบาบางในภพ ในภพไรๆ พระขีณาสพ ย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เบาบางในภพ.

คำว่า โลกนี้ ท่านกล่าวหมายเอากามาวจรโลกนี้.

ก็ในคำนี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า ก็ถ้าว่า ภิกษุชื่อว่า สาฬหะ บรรลุสกทาคามิผลในมนุษยโลกแล้วเกิดในเทวโลก ทำให้แจ้งพระอรหัต นั่นเป็นการดีแล. แต่ว่า เมื่อไม่อาจมามนุษยโลกแล้ว ก็จะทำให้แจ้งพระอรหัตแน่แท้.

แม้บรรลุพระสกทาคามิผลในเทวโลกแล้ว ถ้ามาเกิดในมนุษยโลกก็จะทำพระอรหัตให้แจ้ง นั่นเป็นการดีแล. แต่ว่า เมื่อไม่สามารถ ครั้นไปเทวโลกแล้ว ก็จะทำให้แจ้งแน่แท้.

ความตกต่ำ ชื่อว่า วินิบาต ความตกต่ำเป็นธรรมของพระโสดาบันหามิได้ เหตุนั้น ชื่อว่า มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา อธิบายว่า มีความไม่ตกต่ำเป็นสภาวะในอบายทั้ง ๔.

บทว่า เที่ยง ได้แก่ เที่ยงโดยทำนองแห่งธรรม.

บทว่า มีการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ความว่า การตรัสรู้กล่าวคือ มรรค ๓ เบื้องสูง เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นคติ เป็นที่พึ่ง อันเขาพึงบรรลุแน่แท้ เหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีการตรัสรู้พร้อมเป็นไปในเบื้องหน้า.

บทว่า ข้อนี้เป็นความลำบาก ความว่า อานนท์ ความลำบากกายนั่นเทียว ย่อม


(๑) ปาฐะเป็น มจฺฉิกปตฺตา พม่าเป็น มกฺขิกปตฺตํ แปลตามพม่า.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 301

ปรากฏแม้แก่ตถาคตผู้ตรวจดู คติ การอุบัติ และญาณเป็นเครื่องตรัสรู้ในเบื้องหน้าของคนเหล่านั้นๆ ด้วยพระญาณ แต่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความลำบากทางจิต.

บทว่า ธมฺมาทาสํ ได้แก่ แว่นที่สำเร็จด้วยธรรม.

บทว่า เยน ความว่า ประกอบแล้วด้วยแว่นที่สำเร็จด้วยธรรมใด.

คำว่า มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแล้วด้วยคำที่เป็นไวพจน์ของนรกเป็นต้นนั่นเอง.

ก็นรกเป็นต้น ชื่อว่า อบาย เพราะไปปราศจากความก้าวหน้ากล่าวคือความเจริญ.

คติ คือ ที่แล่นไปของทุกข์ เหตุนั้น ชื่อว่า ทุคติ.

ผู้ที่มีปกติทำชั่ว ไร้อำนาจตกไปในนรกเป็นต้นนั้น เหตุนั้น นรกเป็นต้นนั้น จึงชื่อว่า วินิบาต.

จบอรรถกถาคิญชกาวสถสูตรที่ ๘