หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
โดย พิมพิชญา  22 ต.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21946

หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

ข้อความนี้หมายความว่าอย่างไรคะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 24 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ครับ

ขณะใดที่ อกุศลจิต เกิด ขณะนั้นไม่ใช่ กุศล และขณะที่จิตเป็นอกุศล ก็มีมากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นธรรมดาของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ตนเองมีอกุศลมาก น้อยแค่ไหน และในเมื่อไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลาละคลายให้เบาบางลงได้เลย ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน จะไม่พ้นไปจากกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ขณะจิตที่ดี ที่ควรเกิดขึ้น คือ กุศลจิต ไม่ใช่ อกุศลจิต ถึงแม้จะยังมีอกุศลอยู่ แต่สามารถรู้ได้ว่า ตนเองมีอกุศล มีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้มีความเพียร มีความจริงใจ มีความอดทน ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขัดเกลาอกุศลที่มีต่อไป

พระธรรมที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะแสดงแก่พระภิกษุทั้งหลาย คือ

อนุมานสูตร

([เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ [เล่มที่ 18] ภาค ๒ - หน้าที่ 152 เป็นต้น

ไป)

เป็นพระธรรมที่เตือนให้พิจารณา ตรวจสอบตนเองเป็นสำคัญ ว่ามีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาต่อไป ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตของตน และเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ละเอียด จึงจะเห็นอกุศลของตนเองได้ โดยให้พิจารณาตรวจสอบตนเองว่ามีอกุศลประการใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ว่าตนเองมีความปรารถนาลามก (ไม่มีคุณธรรมแต่ก็อยากให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองมีคุณธรรม เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ) บ้างหรือไม่ มีการยกตนข่มผู้อื่นบ้างหรือไม่ เป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธบ้างหรือไม่ เป็นต้น แต่ถ้าเห็นว่าไม่มี ก็จะเป็นผู้มีความเบาใจ และจะได้มีความตั้งมั่นในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

พึงพิจารณาทบทวนตรวจสอบตนเองอย่างนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดกลางวันหรือกลางคืน ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย โดยได้รับความอุปการะเกื้อกูลจากพระธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง แต่ถ้าจะไม่พิจารณาเลย ก็ไม่สมควร เพราะแต่ละคน แต่ละท่าน ก็มากไปด้วยกิเลส อกุศลด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่ทบทวน ไม่พิจารณา เห็นกิเลส อกุศลธรรมของตนเอง ก็มีแต่จะเป็นเหตุให้พอกพูนกิเลส อกุศลธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงต้องตั้งต้นตั้งแต่ การฟังพระธรรม และพิจารณาให้เห็นโทษของอกุศล และมีความเพียรเกิดขึ้นที่จะระลึก ทบทวนอกุศลของตนเองอยู่เสมอบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อประโยชน์แก่การขัดเกลาให้เบาบาง นั่นเอง ครับ.

ขอเรียนเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ทุกๆ ท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

(ขอบพระคุณ คุณหมอเพิ่มสมบัติ ที่ได้โพตส์ ๓ ข้อความนี้ไว้ เป็นประโยชน์มากครับ)

ให้พิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง (๑)

ให้พิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง (๒)

ให้พิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง (๓)

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย มาจากพระสูตรเพียงแห่งเดียว ใน จตุตถปฏิปทาสูตร

ซึ่งพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับภิกษุทั้งหลาย ในมรณสติ คือการระลึกถึงความตาย โดย พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลาย ควรระลึกถึงความตาย อันมีผลมาก อานิสงส์มาก ด้วยความระลึกว่า ปัจจัยแห่งความตายมีง่ายดาย งู พึงกัดเราก็ได้ สัตว์ร้ายทำร้ายถึงแก่ความตายก็ได้ มนุษย์เบียดเบียน อมนุษย์บียดเบียนทำให้ถึงความตายก็ได้ โรคต่างๆ กำเริบ ทำให้ถึงความตายก็ได้ เมื่อเธอพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ในเหตุที่ให้ถึงความตายที่ง่ายดาย ซึ่งอาจเป็นเวลากลางวัน หรือกลางคืนก็ได้ เธอจึงควรเป็นผู้พิจารณาด้วยปัญญา มี ฉันทะ ความเพียร ที่เกิดกับปัญญา ที่ระลึก พิจารณาสภาพธรรม ที่กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ว่ามีหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ขั้นคิดพิจารณาที่เป็นเรื่องราวว่าเรามีกิเลส แต่จะต้องเป็นปัญญาระดับสูง ที่เป็นสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นกิเลสที่กำลังเกิดขึ้น โดยเข้าใจถูก ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งในขณะนั้นก็กำลังรู้ว่ามีกิเลสจริงๆ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญา รู้ว่ามีกิเลสอยู่ ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการอบรมปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและอบรมเจริญกุศลทุกๆ ประการ

ท่านเปรียบเหมือน บุคคลที่ศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ย่อมพยายามพากเพียรที่จะดับไฟนั้น ซึ่งอุปมานี้ ก็จะต้องเข้าใจว่า จะต้องเป็นปัญญา มีปัญญาเท่านั้น ถึงจะดับกิเลส ละกิเลสได้ ที่เปรียบเหมือนไฟที่กำลังไหม้ศีรษะ ครับ แต่หากว่าเธอพิจารณาด้วยปัญญา รู้ว่า ไม่มีกิเลสในเวลากลางวันหรือกลางคืน ในที่นี้ การรู้จักกิเลสจะต้องเป็นปัญญาระดับสูง คือ มีสติปัฏฐาน และ วิปัสสนาญาณ ที่จะรู้ว่าไม่มีกิเลสตามความเป็นจริงในขณะนั้น เมื่อเป็นดังนั้น เธอย่อมเกิดปิติ ปราโมทย์ คือเกิดปิติที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น และก็จะมาถึงข้อความที่ผู้ถามที่ว่า เธอก็ควรเป็นผู้ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ และหมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

ความหมายของคำนี้ ในพระสูตรนี้ที่ว่าภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่.

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจพื้นฐานเสมอครับว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ดังนั้น จึงไม่มีเรา ตัวเรา ที่หมั่น ที่จะพากเพียร พยายาม แต่เป็นธรรมที่ทำหน้าที่หมั่น พยายาม คือ วิริยเจตสิก แต่ต้องเป็นความเพียรที่เกิดกับ ปัญญา ดังนั้น คำว่า หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ คือ สติและปัญญาที่เกิดขึ้น ที่เป็นปัญญาระดับสูง ที่เป็นหนทางการละกิเลสได้จริงๆ นั่นคือ เป็นผู้มีสติปัฏฐานเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวันทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่รู้ความจริง ขณะนั้น เป็นผู้เจริญกุศลธรรมอยู่ และก็กำลังละกิเลส ความไม่รู้อยู่ ส่วนคำว่า กลางวันและกลางคืน เป็นคำที่แสดงถึงความหมายของการเจริญสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานสามารถเจริญเกิดขึ้นได้ทุกที่และ ทุกๆ เวลา หากปัญญาเกิด ถึงพร้อมในขณะนั้น ดังนั้น หมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเป็นความเพียรที่เกิดพร้อมกับปัญญาในระดับสติปัฏฐาน เพราะกรรมฐานที่ภิกษุและคฤหัสถ์ควรเจริญเป็นปกติที่เรียกโคจร คือการเจริญสติปัฏฐาน คือควรเป็นที่ที่เที่ยวไป ในทุกสถานที่ และตลอดกลางวันและกลางคืน ครับ ซึ่งจะถึงปัญญาระดับสูงที่จะหมั่นในกุศลธรรมตลอดวันและคืนได้นั้น จะต้องเริ่มจาการฟัง ศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ โดยไม่มีตัวตนที่จะไปทำ ไปหมั่น ไปเพียรที่จะเจริญกุศลธรรมตลอดเวลา และในที่นี้ก็มุ่งหมายในกุศลธรรมระดับสูง ในกุศลธรรมทั้งหลาย มีวิปัสสนาญาณด้วย ครับ

พระสูตร จึงมีนัย ลึกซึ้งโดยอรรถ คือความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ละเอียดไม่เผิน แม้ในคำที่ว่าหมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่. ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เข้าใจผิด ไปเจริญกุศลตลอดกลางคืน ไปอ่านหนังสือกลางคืนไม่นอนเลย แต่คำนี้ มุ่งหมายถึง การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน แม้แต่ในอิริยาบถนอนในตอนกลางคืนในขณะที่ไม่หลับ สติก็เกิดได้ ขณะที่สติและปัญญาเกิด รู้ความจริง ก็ชื่อว่าหมั่นในกุศลธรรมทั้งหลายในกลางวัน กลางคืน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย daris  วันที่ 24 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น, อ.ผเดิม และคุณพิมพิชญา ด้วยครับ


ความคิดเห็น 4    โดย songjea  วันที่ 26 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา อ.คำปั่น, อ.ผเดิม และคุณพิมพิชญา ด้วยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย พิมพิชญา  วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ