คนพาล
โดย ทรง  31 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20892

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องคนพาลในคาถาธรรมบทมาจากเรื่องใด

๑. คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

๒. คนพาล เป็นคนประเภทใดได้บ้าง

๓. ทรงเน้นให้เห็นโทษของความเป็นคนพาลอย่างไร

๔. วิธีปฏิบัติต่อคนพาล อย่างไร

๕. ทรงเปรียบเทียบระหว่างคนพาลกับบัณฑิต ไว้อย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 1 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระคาถาแรกปรากฏอยู่ในธรรมบทเรื่องโจรผู้ทำลายปม (คือ ชอบขโมยทรัพย์ที่ผู้อื่นขอดรัดเป็นห่อไว้ตามชายผ้า เป็นต้น) กล่าวถึงโจร ๒ คน มุ่งที่จะไปโขมยทรัพย์ของคนที่นั่งฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน โจรคนหนึ่งมุ่งแต่จะหาทางลักขโมยแก้เอาทรัพย์ของผู้อื่น แต่อีกคนหนึ่งสะสมมาดี เห็นว่าในเมื่อพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรม ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม จึงตั้งใจฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ผลก็คือทำให้โจรคนที่ตั้งใจฟังพระธรรม ได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่โจรคนที่มุ่งแต่จะลักทรัพย์ของผู้อื่น ก็กระทำบาปด้วยการลักขโมย พร้อมกับดูหมิ่นเย้ยหยันสหายที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน ว่าไม่สามารถหาทรัพย์ได้ ซึ่งสหายผู้บรรลุเป็นพระโสดาบัน คิดว่าโจรคนนี้สำคัญว่าตนเองเป็นบัณฑิต ทั้งๆ เป็นคนพาลแท้ๆ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลความเป็นไปทั้งหมด เป็นเหตุให้พระองค์ตรัสพระคาถาดังกล่าว

ขอเชิญคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระสูตรเรื่องโจรผู้ทำลายปม

- คนพาล คือ คนโง่ คนเขลา ผู้ที่เป็นอยู่เพียงหายใจเข้าหายใจออก คิดก็คิดไม่ดี พูดก็พูดไม่ดี ทำก็ทำไม่ดี ชักนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มีผู้อื่นแนะนำในสิ่งที่ดี กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นผู้ตัดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฯลฯ กล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

- เรื่องของคนพาล เป็นเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลจะมากหรือจะน้อยก็ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ไม่เคยนำความสุขมาให้เลยแม้แต่น้อย

- ถึงแม้คนอื่นเขาจะเป็นคนพาล เป็นคนไม่ดีอย่างไร ก็ไม่ควรที่จะไปเกลียดชังเขา โกรธเขา เพราะขณะที่โกรธ ขณะที่เกลียดชังผู้อื่น เป็นอกุศลของเราเอง การสอนให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องลักษณะของคนพาล และการไม่คบคนพาล เพราะการคบกับคนพาล มีแต่จะนำพาไปสู่ความเสื่อมทั้งปวง แต่ก็สามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลเหล่านี้ได้ เท่าที่จะเป็นไปได้ตามสมควร โดยที่ไม่คบหาสมาคมด้วย

- ลักษณะของบัณฑิต มีนัยตรงกันข้ามกับคนพาลอย่างสิ้นเชิง บัณฑิตเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม เป็นบุคคลที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และห้ามจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ ให้ออกจากกุศล แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศล เป็นต้น

บัณฑิตสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจธรรมตามพระองค์ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 1 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คนพาล เป็นคนประเภทใดได้บ้าง

การแสดงธรรมมีหลายนัยครับ แม้แต่เรื่อง การเป็นคนพาล

ในความเป็นจริง สัตว์บุคคลไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูป ที่เกิดขึ้นและดับไป ประชุมรวมกัน และบัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ดังนั้นจึงมีจิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบากและกิริยา ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชน จิตก็ย่อมไหลไปในอำนาจของกิเลส จึงเป็นจิตที่เป็นอกุศลเป็นส่วนมาก ครับ

ซึ่งความเป็นคนพาล ในพระไตรปิฎกอธิบายไว้ครับว่า คนพาล คือ บุคคลที่ทำบาปกรรม คือ อกุศลกรรม ที่ถึงกับการล่วงศีล มี ปาณาติบาต เป็นต้น เนืองๆ บ่อยๆ นี่คือลักษณะของคนพาล ลักษณะของคนพาลตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอีกนัยหนึ่งคือ มีชีวิตอยู่สักว่าเพียงแค่หายใจ คือ ไม่ได้รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่ได้ทำความดีในโลกนี้ และ ไม่ทำประโยชน์และไม่รู้ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่สะสมความดีเลย แต่มักทำอกุศลกรรม ทำความไม่ดี เป็นปกติครับ และลักษณะของคนพาลอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด เป็นต้น ซึ่งจากที่กระผมได้อธิบายลักษณะของคนพาลมาในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ทำบาปคือ ทำปาณาติบาต เป็นต้น ใครทำ ไม่มีใคร ไม่มีเรา แต่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลจิต แต่มีกำลังมากถึงกับล่วงศีล จิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น จะกล่าวว่าเป็นความดี เป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ จึงเป็นพาลในขณะนั้น ในขณะที่ทำอกุศลกรรม ล่วงศีล ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจนัยที่แสดงว่า พาลนั้น ที่เป็นคนพาล ก็มีหลายระดับตามกำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นด้วย ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 1 เม.ย. 2555

ซึ่งอันธพาลคือ คนพาลที่มืดบอดและมักทำอกุศลกรรม ล่วงศีลเป็นประจำ อันนี้พาลแท้จริงมีกำลัง ไม่ควรคบเพราะมีกำลังถึงขนาดทำอกุศลกรรม คือ ล่วงศีลเป็นประจำ เป็นอันธพาล เป็น อันธปุถุชน

แต่ปุถุชนผู้ที่มีความเข้าใจธรรม เจริญกุศลประการต่างๆ เรียกว่า กัลยาณปุถุชน ปุถุชนผู้ดีงาม อันจะนำไปสู่การเป็นพระอริยะได้ เพราะทำความดีประการต่างๆ และอบรมเจริญปัญญา ต่างกับอันธปุถุชนโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ทำอกุศลกรรม มีการล่วงศีลเป็นต้น เป็นปกติและไม่ได้อบรมความดี อบรมปัญญาเลยครับ ซึ่งกัลยาณปุถุชนก็ต้องมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติมากว่ากุศลจิตแน่นอน ซึ่งขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นจะกล่าวว่าเป็นความดี คนดี ไม่ได้ แต่เป็นพาลชั่วขณะนั้นและอกุศลจิตที่เกิดขึ้นก็ไม่มีกำลังถึงขนาดการทำอกุศลกรรมที่เป็นการล่วงศีล ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่างเพียงอกุศลจิตและการทำอกุศลกรรม ว่ามีกำลังแตกต่างกันไป อกุศลจิตมีกำลังน้อยกว่าการทำอกุศลกรรม ความเป็นพาลจึงแตกต่างกันไปนั่นเองครับ

ซึ่งในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของคนพาลไว้ว่า คือคนที่ล่วงศีล ทำอกุศลกรรมเนืองๆ และคนที่มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด กระทำผิด เป็นต้นนี้ คือลักษณะของคนพาลที่สามารถจะเห็นได้ รู้ได้ครับ เพราะฉะนั้น ความเป็นคนพาล ความเป็นปุถุชนจึงมีหลายระดับตามที่กล่าวมาครับ

๓. ทรงเน้นให้เห็นโทษของความเป็นคนพาลอย่างไร

- คนพาล ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือจิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลในขณะนั้น ชื่อว่าเป็นคนพาล เพราะ คนไม่มี มีแต่ธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น โทษของความเป็นคนพาล คือขณะที่เป็นพาล เป็นอกุศล นำมาซึ่งโทษประการต่างๆ เพราะอกุศลไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ดี โดยประการทั้งปวงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งโทษของความเป็นคนพาล หากเป็นอันธพาล ผู้มืดบอดไม่สนใจธรรมเลย ทำแต่อกุศลกรรม ชีวิตก็ย่อมตกไปสู่ที่ต่ำคืออบายภูมิได้ง่าย และที่สำคัญ ไม่มีทางพ้นจากการเกิด การตายและสังสารวัฏฏ์ได้เลย นี่คือโทษขอความเป็นคนพาล คืออันธพาล ครับ

แต่ผู้ที่อบรมปัญญา ศึกษาธรรม ก็มีอกุศลเกิดขึ้นได้ รวมทั้งอาจมีการทำอกุศลกรรม ขณะนั้นชื่อว่าเป็นพาลเพราะเป็นอกุศลธรรม ก็มีโทษต่อตนเองคือปัญญาและกุศลธรรมไม่เกิดในขณะนั้น ไม่เห็นตามความเป็นจริงและนำมาซึ่งโทษในอนาคต มีการเกิดในอบายภูมิ เพราะการทำอกุศลกรรมครับ

แต่ขณะที่เป็นเพียงอกุศลจิต เช่น ชอบขุ่นเคืองใจ ก็เป็นพาลชั่วขณะจิตนั้น ก็มีโทษ คือตกไปสู่ที่ต่ำ หล่นไปจากคุณความดี และปัญญาก็ตกไป ไม่เกิดในขณะนั้น นั่นเองครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 1 เม.ย. 2555

พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทรงแสดงโทษของความเป็นคนพาลเท่านั้นครับ ทรงแสดงโทษของการคบคนพาล ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ

ทรงเน้นให้เห็นโทษของคนพาลครับว่า เมื่อบุคคลเสพคุ้นกับคนพาล แม้ด้วยใจคือยินดีพอใจในอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยินดีพอใจในความเป็นพาลและเสพคุ้นกับคนพาลแล้ว เพราะ ใจตนเองเป็นพาล คือเป็นอกุศลในขณะนั้น ก็ทำให้อกุศลเจริญขึ้น มีความเห็นผิดและอกุศลประการต่างๆ เพราะการเสพคุ้นกับคนพาล ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังเป็นปุถุชน จิตใจก็มักไหลไปสู่ที่ต่ำ เมื่อเสพคุ้นกับผู้มากไปด้วยอกุศล คนพาลก็ย่อมแนะนำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ประเสริฐ ก็ทำให้จิตใจของผู้ที่อยู่ใกล้ก็คล้อยไปตามสิ่งเหล่านั้นได้ง่าย เพราะใจก็น้อมไปง่ายในทางอกุศลทางกิเลสอยู่แล้ว

ต้นมะม่วงที่ปลูกด้วยต้นสะเดาล้อมรอบต้นมะม่วง นานวันเข้า แม้ผลมะม่วงก็ยังขมได้ ดังนั้น แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต ยังเปลี่ยนได้ จะกล่าวไปไยถึงจิตใจของมนุษย์ที่ไม่มั่นคงด้วยอำนาจกิเลส ดุจไม้หลักปักอยู่ในเลน ดุจเมล็ดถั่ว ตั้งอยู่บนหลังม้า

๔. วิธีปฏิบัติต่อคนพาล อย่างไร

คนพาล ที่สะสมอกุศลมามาก เราไม่สามารถไปจัดการใจของใคร ไม่ได้เลย สำคัญที่ใจของเรา คือความเป็นมิตรเป็นเพื่อน เห็นใจในอกุศลของเขา เพราะอกุศลของเขากับของเราก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น ความเป็นมิตรด้วยกุศลจิตจึงเป็นวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับคนพาลนั้น ด้วยการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ แต่ไม่เสพคุ้น ใกล้ชิด แม้ด้วยใจ คือยินดีในอกุศลของเขาครับ

ที่สำคัญ เรามักคิดถึงคนพาลว่าเป็นคนอื่น และคิดจะทำ ปฏิบัติกับคนพาลภายนอกที่เป็นคนอื่น แต่ในความเป็นจริง พาล ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ดังนั้น ควรปฏิบัติกับคนพาล คือใจของเราที่เป็นพาลอยู่บ่อยๆ ทุกๆ ขณะที่เป็นอกุศลกำลังเกิดขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติที่ละความเป็นพาลเป็นอกุศล คือการเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา เพราะขณะที่กุศลเกิด ปัญญาเกิด ย่อมละความเป็นพาลในจิตใจ และกำลังปฏิบัติกับคนพาลอย่างถูกต้องเหมาะสม การศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา จึงเป็นวิธีปฏิบัติต่อคนพาล คือใจของเราที่เป็นอกุศลได้อย่างถูกต้อง เพราะค่อยๆ ละความเป็นพาลในจิตใจได้ทีละน้อยและดับความเห็นผิดที่เป็นพาล อันสำคัญว่า มีคนพาลจริงๆ จนดับกิเลสประการอื่นๆ ได้หมดสิ้น ละความเป็นพาลได้หมดไปไม่เหลือเลยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 2 เม.ย. 2555

๕. ทรงเปรียบเทียบระหว่างคนพาลกับบัณฑิต ไว้อย่างไร

คนพาล คือ ผู้ที่มักทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นผู้ที่สักแต่ว่าหายใจไปวันๆ เพราะไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ โลกหน้า ไม่ประกอบกุศลกรรม อบรมปัญญา รวมทั้งความเป็นผู้ที่เห็นผิด คิดผิด พูดผิด อาชีพผิด เหล่านี้ ล้วนเป็นคนพาล ส่วนบัณฑิต ย่อมเป็นผู้มักกระทำกุศลกรรม มีชีวิตที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น และเป็นผู้มีความเห็นถูก คิดถูก พูดถูก มีอาชีพที่ถูก เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งพาลและบัณฑิต ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เมื่อเป็นพาลคือเป็นอกุศลธรรมในขณะนั้น และเป็นบัณฑิตคือเป็นกุศลธรรมในขณะนั้น

ทรงเปรียบเทียบ คนพาลกับบัณฑิต คือเปรียบเทียบ บัณฑิต สัตบุรุษ คือ ฟ้า อสัตบุรุษ คนพาล เปรียบเหมือน แผ่นดิน คือย่อมไกลกัน เปรียบเหมือนคนละฝั่งมหาสมุทร อยู่ไกลกัน เพราะ คนพาลคืออกุศลธรรม บัณฑิตคือกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน จึงไกลกันครับ

ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล

ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้

ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.

อีกนัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบ พาลกับบัณฑิตว่า พาล เปรียบเหมือนปลาเน่า เมื่อเสพคุ้น ย่อมมีแต่กลิ่นเน่า นำมาซึ่งความเสียหาย มีกลิ่นเหม็น และทำให้เสื่อมจากคุณความดีและเจริญในอกุศล ส่วนบัณฑิต ทรงเปรียบเทียบเหมือนห่อกฤษณา เมื่อผู้เสพคุ้น ก็ได้รับกลิ่นหอม ได้ประโยชน์คือกุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลเสื่อมไปครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 2 เม.ย. 2555

ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นแล

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย jaturong  วันที่ 2 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย เซจาน้อย  วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย nong  วันที่ 10 เม.ย. 2555

ที่สำคัญเรามักคิดถึงคนพาลว่าเป็นคนอื่น และคิดจะทำ ปฏิบัติกับคนพาลภายนอกที่เป็นคนอื่น แต่ในความเป็นจริง พาล ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ดังนั้น ควรปฏิบัติกับคนพาล คือใจของเราที่เป็นพาลอยู่บ่อยๆ ทุกๆ ขณะที่เป็นอกุศลกำลังเกิดขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติที่ละความเป็นพาล เป็นอกุศล คือการเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 29 พ.ย. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 11    โดย มกร  วันที่ 29 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 4 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย สิริพรรณ  วันที่ 18 ก.ย. 2564

กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพค่ะ