การละอคติและเป็นผู้ตรงต่อธรรม
โดย สารธรรม  13 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43823

(ญาติปลิโพธ)

สำหรับเรื่องของอคติ ในพระวินัยปิฎกปริวารว่าด้วยไม่ถึงฉันทาคติ ที่กล่าวถึงพระธรรมวินัย ก็เพื่อที่จะให้น้อมนำธรรมที่ได้ฟัง มาไตร่ตรองพิจารณาเทียบเคียงกับจิตใจของท่านเองด้วยความละเอียด เพื่อประโยชน์ของตัวท่านว่า เป็นอย่างนั้นบ้างหรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ที่ละอคติได้นั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ผู้ที่กำลังดำเนินหนทาง ประพฤติปฏิบัติที่จะให้เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม

ถ้าท่านผู้ใดหวังที่จะบรรลุผล คือ การละอคติและเป็นผู้ตรงต่อธรรม แต่ระหว่างที่กำลังประพฤติปฏิบัติ ไม่ตรงต่อธรรม ก็ไม่มีการที่จะบรรลุถึงความเป็นผู้ตรงต่อธรรมได้ แต่ถ้าท่านผู้ใดหวังความเป็นผู้ละอคติ การประพฤติปฏิบัติของท่าน ก็ต้องตรงต่อธรรมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งท่านถึงจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว และก็ตรงต่อธรรม ละอคติได้

พระวินัยปิฎก ปริวาร ว่าด้วยไม่ถึงฉันทาคติ มีข้อความว่า

คำว่า ไม่พึงถึงฉันทาคตินั้น ความว่า เมื่อถึงฉันทาคติ ถึงอย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ คิดว่าท่านผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ของเรา เป็นอาจารย์ของเรา เป็นสัทธิวิหาริกของเรา เป็นอันเตวาสิกของเรา เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ของเรา เป็นผู้ร่วมอาจารย์ของเรา เป็นผู้เคยเห็นกันมากับเรา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมากับเรา หรือท่านผู้นี้เป็นญาติสาโลหิตของเราดังนี้ เพื่ออนุเคราะห์ผู้นั้น เพื่อตามรักษาท่านผู้นั้น จึงแสดงอธรรมว่า ธรรม แสดงธรรมว่า อธรรม

แสดงอวินัยว่า วินัย แสดงวินัยว่า อวินัย

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิตว่า พระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตตรัสภาษิตแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมาว่า พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติว่า พระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติ

แสดงอนาบัติว่า อาบัติ แสดงอาบัติว่า อนาบัติ

แสดงอาบัติเบาว่า อาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่า อาบัติเบา

แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า อาบัติไม่มีส่วนเหลือ แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า อาบัติมีส่วนเหลือ

แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า อาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า อาบัติชั่วหยาบ

ภิกษุถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่คนหมู่มาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ภิกษุผู้ถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงติเตียน และย่อมประสบบาป มิใช่บุญ

ภิกษุเมื่อถึงฉันทาคติ ย่อมถึงอย่างนี้

ต่อไปเป็นข้อความว่าด้วยถึงโทสาคติ โดยนัยเดียวกัน คือ มีข้อความว่า

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ผูกอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ก่อความพินาศแก่เราแล้ว ผู้นี้กำลังก่อความพินาศแก่เรา ผู้นี้จักก่อความพินาศแก่เรา

หรือว่าผู้นี้ได้ก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ ผู้นี้กำลังก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ ผู้นี้จักก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ

ผู้นี้ได้ก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา ผู้นี้กำลังก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา ผู้นี้จักก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม

และมีข้อความต่อไปโดยนัยเดียวกัน ต่อจากนั้นมีข้อความกล่าวถึงว่าด้วยถึงโมหาคติ มีข้อความว่า

ภิกษุเป็นผู้กำหนัด ย่อมถึงด้วยความกำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง ย่อมถึงด้วยอำนาจความขัดเคือง เป็นผู้หลง ย่อมถึงด้วยอำนาจความหลง เป็นผู้ลูบคลำ ย่อมถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ

ภิกษุเป็นผู้หลงงมงาย ถูกโมหะครอบงำ ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม

และมีข้อความต่อไปเหมือนๆ กัน ก็เป็นเรื่องของพยัญชนะที่ว่าเป็นผู้ลูบคลำ หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังประพฤติปฏิบัติหนทางซึ่งยังไม่แน่ใจว่า หนทางนั้นจะเป็นหนทางที่ถูกหรือหนทางที่ผิด ย่อมถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เพราะเหตุว่า นี่เป็นข้อความว่าด้วยถึงโมหาคติ ด้วยอำนาจของความหลง

ต่อไปเป็นข้อความว่าด้วยไม่ถึงภยาคติ มีข้อความว่า

คำว่า ไม่พึงถึงภยาคตินั้น ความว่า เมื่อถึงภยาคติ ถึงอย่างไร

ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ คิดว่าผู้นี้อาศัยความประพฤติไม่เรียบร้อย อาศัยความยึดถือ อาศัยพรรคพวกมีกำลัง เป็นผู้ร้ายกาจหยาบคาย จักทำอันตรายแก่ชีวิต หรือทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ดังนี้ จึงขลาดเพราะกลัวต่อผู้นั้น ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม ฯลฯ

ภิกษุเมื่อถึงภยาคติ ย่อมถึงอย่างนี้

ต่อจากนั้นเป็น นิคมคาถา มีข้อความว่า

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างแรกฉะนั้น

ส่วนผู้ที่ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคตินั้นก็ตรงกันข้าม และมีนิคมคาถาว่า

ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างขึ้นฉะนั้น

ขอกล่าวถึงเรื่องการถึงฉันทาคติ ถึงอย่างไร เพราะเห็นว่าเป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ เป็นผู้ร่วมอาจารย์ เป็นผู้เคยเห็นกันมา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมา หรือท่านผู้นี้เป็นญาติสาโลหิตของเรา มีฉันทาคติ เพื่อตามรักษาผู้นั้น จึงกล่าวอธรรมว่า ธรรม กล่าวธรรมว่า อธรรม

นี่คือการเป็นผู้ถึงด้วยฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ซึ่งผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านละอคติได้ ถึงแม้ท่านจะสงเคราะห์ญาติ ก็ไม่ใช่ด้วยอคติ แต่ตามควรแก่ความเป็นญาติ

เพราะฉะนั้น เรื่องของญาติ ก็มีกล่าวไว้ทั้งในเรื่องของพระวินัย ในเรื่องของพระสูตร ที่จะต้องสงเคราะห์ตามควรแก่ฐานะ แต่ว่าไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานเลย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา 59