สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
โดย จักรกฤษณ์  15 มี.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18054

ที่ท่านกล่าวไว้ว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาหรือวิปัสสนา เมื่อพิจารณาประกอบพระสูตร ๒ พระสูตร คือ

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 169

๖. สมาธิสูตร

ว่าด้วยสมาธิ

[ ๑๔๗]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง รู้อะไรตามความเป็นจริง. รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุวิญญาณไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุสัมผัสไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนาทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ฯลฯ

และ

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 404

๑. สมาธิสูตร

ผู้มีใจตั้งมั่นย่อมรู้ตามความเป็นจริง

[๑๖๕๔]  สาวัตถีนิทาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ย่อมรู้อะไรตามความเป็นจริง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทย ฯลฯ

จากบทของพระสูตรข้างต้น ทำให้เข้าใจกันทั่วไปเป็นส่วนมากว่า ต้องเจริญสมาธิเสียก่อน เพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งเมื่อประกอบกับความไม่เข้าใจว่า "สมาธิ" คืออะไร จึงทำให้ได้พบเห็นการประพฤติปฏิบัติ ที่เรียกกันว่า นั่งสมาธิ กันทั่วไป เอะอะ อะไร ก็นั่งสมาธิ ทำสมาธิ เจริญสมาธิ เข้าสมาธิ เจริญกรรมฐาน (ซึ่งก็หมายถึงนั่งสมาธิ)

ผมจึงขออนุญาตเรียนถามเพื่อความชัดแจ้ง ว่า

๑. ทำไมท่านจึงกล่าวว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ทั้งที่ปัญญาเกิดได้จากสาเหตุอื่นอันเป็นกุศลอีกหลายเหตุ?

๒. ที่เป็นเหตุใกล้นั้น ท่านหมายความว่าอย่างไร มีเหตุอื่นที่จะเป็นเหตุใกล้อีกหรือไม่?

๓. คำว่า เจริญสมาธิตามพระสูตรข้างต้น ตามความหมายที่แท้จริงที่ถูกต้องคืออย่างไรและพระสูตรข้างต้น เหตุใด พระพุทธองค์จึงกล่าวเฉพาะการเจริญสมาธิ?

๔. คำว่า "สมาธิ" ที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิตามความหมายใน ข้อ ๓ นั้น จะทำให้ได้อภิญญาด้วยหรือ จะเกี่ยวกันหรือไม่ เนื่องจาก เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปจริงๆ ว่า หากนั่งสมาธิแล้วจะทำให้ได้อิทธิฤทธิ ปาฏิหาริย์ หายโรค หายภัย ต่างๆ เป็นผลพลอยได้?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. ทำไมท่านจึงกล่าวว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ทั้งที่ปัญญาเกิดได้จากสาเหตุอื่นอันเป็นกุศลอีกหลายเหตุ?

ต้องเข้าใจก่อนครับว่า สมาธิอันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สมาธิในที่นี้คืออย่างไรที่ทำให้เกิดปัญญาและปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาอะไร สมาธิหรือความตั้งมั่นแห่งจิตนั้น มีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้นมิจฉาสมาธิที่เป็นความตั้งมั่นที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิตจะไม่เป็นสัมมาสมาธิและไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาได้เลย เพราะปัญญาที่กล่าวถึงคือปัญญาที่รู้แจ้งตามความเป็นจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ (รู้ทุกขอริยสัจ) โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สมาธิใดที่เกิดพร้อมปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ (เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท) สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ปัญญาก็รู้ความจริงในสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงและอีกประการหนึ่ง สมาธิใดที่เมื่อเกิดแล้ว ทำให้เกิดการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนถึงระดับวิปัสสนาญาณและบรรลุธรรม สมาธินั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาด้วยเช่นกัน เป็นสัมมาสมาธิ แต่จะเห็นได้ว่า ที่กล่าวมาจะต้องมีปัญญา มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นสัมมาสมาธิในการตรัสรู้ได้เลย ดังเช่น ดาบสทั้งหลายที่ได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถรู้ความจริงในขณะนี้ เพราะไม่มีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 392

พึงทราบความในบทว่า อถวาปิ สมาธึ นี้ดังนี้ บทว่า สมาธึ คือ ชื่อว่าสมาธิ เพราะจิตเป็นกุศลมีอารมณ์เดียว. ชื่อว่าสมาธิด้วยอรรถว่ากระไร. ด้วยอรรถว่าตั้งใจมั่น. ชื่อว่าการตั้งใจมั่นนี้เป็นอย่างไร. คือการตั้งจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์เดียวเสมอและโดยชอบ.


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 16 มี.ค. 2554

๒. ที่เป็นเหตุใกล้นั้น ท่านหมายความว่าอย่างไร มีเหตุอื่นที่จะเป็นเหตุใกล้อีกหรือไม่?

เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ มีฌาน เป็นต้น จิตย่อมอ่อน ย่อมควรแก่การงานเพราะปราศจากนิวรณ์ จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องมีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นเบื้องต้น จึงจะรู้ความจริงในอริยสัจ ๔ ได้

๓. คำว่า เจริญสมาธิตามพระสูตรข้างต้น ตามความหมายที่แท้จริงที่ถูกต้องคืออย่างไร

ตามพระสูตรข้างต้น สมาธิที่กล่าวเป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งรวมถึงการเจริญฌานด้วย ที่พระองค์ทรงแสดงเรื่องสมาธิในที่นี้ เพราะภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่านเสื่อมจากสัมมาสมาธิ พระองค์จึงทรงแสดงให้ปรารภการเจริญสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งภิกษุเหล่านั้นก็มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานที่เป็นกรรมฐานอยู่แล้วครับ

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 404

พึงทราบอธิบายในสมาธิสูตรที่ ๑ แห่งอรรถกถาสัจจสังยุต.

คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... สมาธิ ความว่า ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเสื่อมจากเอกัคคตาจิต (สมาธิ) ลำดับนั้น พระศาสดาทรงปรารภเทศนานี้ แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่งอย่างนี้ เจริญกรรมฐานแล้ว ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้.


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 16 มี.ค. 2554

๔. คำว่า "สมาธิ" ที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิตามความหมาย ใน ข้อ ๓ นั้น จะทำให้ได้อภิญญาด้วยหรือ จะเกี่ยวกันหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปจริงๆ ว่าหากนั่งสมาธิแล้วจะทำให้ได้อิทธิ ฤทธิ ปาฏิหาริย์ หายโรค หายภัย ต่างๆ เป็นผลพลอยได้?

การเจริญสมาธิตามพระสูตรข้างต้นเป็นสัมมาสมาธิที่เป็นการเจริญฌานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเจริญฌานจนถึงขั้นสูงสุดและมีความคล่องแคล่วในเรื่องฌาน ย่อมสามารถได้ฤทธิ์ต่างๆ ได้ แต่หากขาดความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ฌานนั้นก็ไม่สามารถเป็นบาทอันทำให้บรรลุธรรมได้เลย ซึ่งการเจริญฌานที่ถูกต้องเพียงเบื้องต้นยังยากที่จะทำได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการบรรลุขั้นสูงสุดที่จะได้ฤทธิ์ และที่สำคัญการเข้าใจความจริงในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้น ยากกว่าการเจริญฌานหาประมาณมิได้ครับ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจทั้งหมด สำคัญที่สุดคือความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานหรือการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้เป็นพื้นฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 16 มี.ค. 2554

ขอเสริมจากท่านผเดิมอีกนีสค่ะ

ลองเปรียบเทียบดูนะคะ ...

สำหรับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง คนหนึ่งมีสภาพจิตที่สงบ ตั้งมั่นและปราศจากอกุศลกลุ้มรุมจิตใจ อีกคนหนึ่งมีสภาพจิตฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ไม่สงบ หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย ... ลองพิจารณาดูนะคะ ว่า สติสัมปชัญญะของคนไหนจะเกิดขึ้น ระลึกรู้และพิจารณาสภาพธรรมได้บ่อยกว่ากัน (กรณีที่ ๒ นั้น แม้แต่สติสัมปชัญญะในขั้นของความสงบก็ยังเกิดยาก การที่สติปัฏฐานจะเกิดไม่ยากกว่านั้นหรือ ในเมื่อจิตฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปกับอกุศลเกือบทั้งวัน) ดังนั้นประโยชน์ของสมาธิก็คือตรงนี้ค่ะ คือ ความสงบจากอกุศล แต่ไม่ใช่หนทางแห่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะสิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ย่อมไม่เป็นสองค่ะ หนทางที่จะนำออกจากทุกข์มีทางเดียวเท่านั้น คือ การเจริญ "อริยมรรคมีองค์ ๘" ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย pat_jesty  วันที่ 16 มี.ค. 2554

กราบอนุโมทนาใกุลจิตของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 16 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นโดยรวมดังนี้ ครับ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจะเป็นไปเพื่อความไม่รู้ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง ผู้ศึกษา ว่าจะมีความละเอียดในการฟัง ในการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างแรกสุด ได้ยินหรือพบคำหรือข้อความใด ต้องรู้ว่า คือ อะไร อย่างเช่นจากประเด็นเรื่องของสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร ตามความเป็นจริงแล้ว สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้ (เอกัคคตาเจตสิก) เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดร่วมกับจิตประเภทใด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ (กล่าวอย่างรวมๆ ) เพราะในพระไตรปิฎกแสดงสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบแนบแน่นของจิต เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งผลของสัมมาสมาธิที่เป็นฌานขั้นต่างๆ นั้น คือทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลตามระดับขั้นของฌาน เมื่อสิ้นสุดความเป็นพรหมบุคคลแล้วก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกให้มีมากขึ้น เจริญขึ้น ซึ่งในขณะนั้น สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิด้วย เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น เป็นโลกุตตรปัญญา ย่อมละกิเลสได้ตามลำดับ สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหลือ สมาธิที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานั้น จึงเป็นสัมมาสมาธิของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งในขณะนั้นเกิดร่วมกันกับองค์มรรคอื่นๆ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของความเจริญขึ้นของปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง กล่าวคือนามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง ถ้าขาดการฟัง การศึกษา ขาดความเข้าใจพระธรรมแล้ว ทำก็ทำผิด พูดก็ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด เป็นการพอกพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....


ความคิดเห็น 7    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 16 มี.ค. 2554

จากที่ท่านอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิมกรุณาอธิบายนั้น

หากจะสรุปได้เช่นนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ

สมาธิอันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานั้น คือ สัมมาสมาธิ เท่านั้น และที่ท่านยกขึ้นว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ท่านกล่าวกับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ (ซึ่งมิใช่บุคคลผู้ศึกษาธรรมทั่วๆ ไป) แต่ผู้นั้นยังไม่มีความตั้งมั่นแห่งจิต ท่านจึงยกเอาสมาธิเป็นเหตุใกล้ เป็นการกล่าวในโอกาสเฉพาะเท่านั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน และคุณไตรสรณคมน์ที่เสริมให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ


ความคิดเห็น 8    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 16 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาและเห็นด้วยกับทุกท่านค่ะ

เพราะสภาพนามธรรมทั้งหลายต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทั้งสภาพธรรมฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ไม่มีสภาพนามธรรมใดสามารถเกิดขึ้นมาเดี่ยวๆ ลอยๆ ได้เลยค่ะ แม้แต่สติปัฏฐานเองก็มีอาหาร (อาหารคือสิ่งที่นำมาซึ่งผล) ซึ่งข้อความใน อวิชชาสูตรได้กล่าวไว้ดังนี้ค่ะ

" ... แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓ ... "

ดังนั้นถ้าหวังว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้ โดยไม่คำนึงถึงกาย วาจา ใจ ว่าเป็นอย่างไรก็คงยากค่ะ

(เอ ... ไม่ทราบว่าพากระทู้ออกนอกทะเลรึเปล่า? ต้องขออภัยทุกท่านด้วยค่ะ)


ความคิดเห็น 9    โดย orawan.c  วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย prakaimuk.k  วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย โชติธัมโม  วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

และท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยเศียรเกล้า

เพราะสิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ย่อมไม่เป็นสอง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ทุกๆ ท่าน และท่านจักกฤษณ์ อีกทั้งผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิทุกๆ คนด้วยเศียรเกล้า การสนทนาธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทานทั้งปวง


ความคิดเห็น 12    โดย paderm  วันที่ 17 มี.ค. 2554

เรียนความคิดเห็นที่ 7

หากจะสรุปได้เช่นนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ

สมาธิอันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานั้น คือ สัมมาสมาธิ เท่านั้น

และที่ท่านยกขึ้นว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ท่านกล่าวกับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ (ซึ่งมิใช่บุคคลผู้ศึกษาธรรมทั่วๆ ไป) แต่ผู้นั้นยังไม่มีความตั้งมั่นแห่งจิต ท่านจึงยกเอาสมาธิเป็นเหตุใกล้ เป็นการกล่าวในโอกาสเฉพาะเท่านั้น

ถูกต้องครับ สัมมาสมาธิเท่านั้นที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญญาขั้นต้นที่เกิดจากการฟังนะครับ แต่เป็นปัญญาขั้นสูง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิซึ่งก็เกิดพร้อมกับ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ ... และมีสัมมาสมาธิด้วย สัมมาสมาธินั้นเองที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ซึ่งอาจจะสงสัยว่า แล้วการฟังไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาหรือ ทำไมเป็นสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ เหตุผลคือ ที่กล่าวมาเพราะปัญญาในที่นี้มุ่งหมายปัญญาระดับสูง (สัมมาทิฏฐิ) ที่เกิดพร้อมกับองค์มรรคอื่นๆ ซึ่งปัญญาขั้นการฟัง ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ครับ จึงไม่ใช่เหตุใกล้ แต่ก็เป็นเหตุเช่นเดียวกัน เพราะหากปราศจากการฟังแล้วปัญญาขั้นสูงก็มีไม่ได้เลย

ส่วนที่กล่าวว่าสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ต้องเป็นปัญญาที่เป็นในการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญอริยมรรคมีองค์แปด เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุใกล้ก็เป็นเรื่องของผู้ที่เข้าใจสติปัฏฐานด้วยครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 13    โดย chaiyut  วันที่ 17 มี.ค. 2554

ความละเอียดของสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุใกล้ให้อีกสภาพธรรมหนึ่งเกิดได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ ใครๆ ก็ไม่อาจจะรู้ความจริงนี้ครับ เวลาที่ทรงแสดงพระธรรม ก็ตรัสธรรมที่สามารถจะอนุเคราะห์เกื้อกูลอัธยาศัยของผู้ฟังโดยตรง ผู้ฟังที่ได้ฟังแล้วก็เข้าใจถูก ปัญญาของเขาก็รู้ว่าธรรมนั้นมีจริง พร้อมกับเมื่อเข้าใจการเจริญวิปัสสนาภาวนาด้วย ก็รู้หนทางที่จะสามารถจะอบรมธรรมนั้นให้เจริญขึ้นได้ คืออบรมธรรมที่ทำให้จิตตั้งมั่น ที่จะช่วยให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับตนครับ


ความคิดเห็น 14    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 17 มี.ค. 2554

การสนทนาของทุกท่านมีประโยชน์มากครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ


ความคิดเห็น 16    โดย Thirachat.P  วันที่ 19 มี.ค. 2554

ปัญญาเปรียบเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น สมาธิเปรียบเหมือนน้ำทะเลหนุน พระจันทร์ข้างขึ้น น้ำก็ขึ้นตาม ไม่มีพระจันทร์ น้ำก็ไม่ขึ้น แต่ทั้งสองอย่างล้วนไม่เที่ยง ครับ

ผิดพลาดประการใดก็ขออภัย และขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 17    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 19 มี.ค. 2554

ข้อความในอรรถกถาได้อธิบายไว้ดังนี้ค่ะ ...

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 169

อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๖

ในสมาธิสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า สมาธิ ได้แก่ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.

จริงอยู่ พระองค์เห็นบุคคลผู้เสื่อมจากความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ทรงรู้ว่า เมื่อคนเหล่านี้ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานจักต้องมีพี่เลี้ยงนางนม ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระสูตรนี้
จบ อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๖


[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 404

สัจจสังยุตตาวรรณนา

สมาธิสูตร

พึงทราบอธิบายในสมาธิสูตรที่ ๑ แห่งอรรถกถาสัจจสังยุต

คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... สมาธิ

ความว่า ได้ยินว่าภิกษุเหล่านั้น ย่อมเสื่อม จากเอกัคคตาจิต (สมาธิ) ลำดับนั้นพระศาสดาทรงปรารภเทศนานี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่งอย่างนี้ เจริญกรรมฐานแล้ว ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้


ความคิดเห็น 18    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 20 มี.ค. 2554

ตามอรรถกถาข้างต้นเมื่ออ่านประกอบคำอธิบายทั้งหมดแล้ว ผมจึงเข้าใจว่า ที่พระองค์ทรงตรัสในพระสูตรดังกล่าวนั้น ท่านกล่าวเฉพาะกับบุคคลหรือภิกษุที่เสื่อมจากเอกัคคตาจิตเท่านั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณไตรสรณคมน์ครับ


ความคิดเห็น 19    โดย Witt  วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 20    โดย Sea  วันที่ 6 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ