ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากลุมพินี อันเป็นสถานที่ประสูติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ติดชายแดน ในประเทศเนปาล คณะของเราก็ออกเดินทางออกจากเนปาล เพื่อกลับเข้าประเทศอินเดีย มุ่งหน้าสู่นครสาวัตถี
จากวีกิพีเดีย (สารานุกรมเสรี) ได้กล่าวถึงประวัติของนคร สาวัตถีไว้ดังนี้ "...สาวัตถี (อังกฤษ: Sravasti) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล 1 ใน แคว้นมหาอำนาจใน 16 มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขาย การทหาร เป็นเมืองมหาอำนาจใหญ่ควบคู่กับเมืองราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน คนอินเดียในปัจจุบัน ลืมชื่อเมืองสาวัตถี (ในภาษาบาลี) หรือ ศราวัสตี (ในภาษาสันสกฤต) ไปหมดแล้ว คงเรียกแถบตำบลที่ตั้งเมืองสาวัตถีนี้เพียงว่า สะเหต-มะเหต (Saheth-Maheth) ปัจจุบัน สะเหตมะเหต ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมืองสาวัตถีในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองที่ใหญ่พอกับเมืองราชคฤห์และพาราณสี เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายในสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นเมืองสาวัตถี มีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครองร่วมสมัยกับพระเจ้าพิมพิสาร
นอกจากนี้เมืองสาวัตถีนับว่าเป็นเมืองสำคัญในการเป็นฐานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่สำคัญ เพราะเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุดถึง 25 พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตรมากมายและเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุดเพราะมีผู้อุปถัมภ์สำคัญเช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น สาวัตถี ปัจจุบันยังมีซากโบราณสถานที่สำคัญปรากฏร่องรอยอยู่ คือวัดเชตวันมหาวิหาร (ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ถึง 19 พรรษา) บริเวณวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล, บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี (สถูป) , บ้านบิดาขององคุลีมาล (สถูป) , สถานที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ (หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร) ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นต้น..."
(ภาพถ่ายยามเช้าจากหน้าต่างโรงแรม Pawan Palace เมืองสาวัตถีที่เราไปพัก)
ในตอนเช้าของวันนี้หลังรับประทานอาหารเช้า ท่านอาจารย์และคณะ ได้จัดให้มีการสนทนาธรรมที่โรงแรม สำหรับท่านที่เพิ่งเคยมาครั้งแรกเช่นข้าพเจ้า ท่านผู้จัดได้กรุณาพาไปเยี่ยมชม สถานที่ๆ เคยเป็น
บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
บ้านของบิดาท่านองคุลีมาล (อยู่เยื้องๆ กับบ้านของท่านอนาถฯ)
บ้านของนางวิสาขาฯ
เมื่อกลับมายังที่พัก การสนทนาธรรมก็ยังคงดำเนินอยู่ เป็นบุญยิ่งที่ได้ฟังครับ
ช้าพเจ้า แม้เพียงได้ฟังข้อความเพียงบางตอน ก็เป็นโอกาสอันแสนวิเศษในสังสารวัฏฏ์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า
"เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ได้ยินได้ฟัง พระผู้มีพระภาคฯ จะไม่ตรัสอย่างอื่น นอกจากสภาพธรรมะที่เกิด เกิดแล้วก็ดับ อนิจจัง ไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นสภาพธรรมะที่ควรจะยึดถือติดข้องไหม? เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป ปรากฏแล้วก็หมดไป ปรากฏแล้วก็หมดไป แสนสั้นทุกขณะ ตามกาละ โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเป็นธรรมะจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมะ อย่างนั้น อย่างนั้น เพียงชั่วคราว แล้วก็หมดสิ้นไป ตลอดเวลา"
"...ผู้มีปัญญาดี เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้วไม่ประมาท เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว ตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไปเสีย ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว ละทิ้งตัวหากำลังมิได้ไปฉะนั้น..."
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๓๕๔
"...หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้วไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์ นั้นไซร้ เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มี ส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือ ในโลกหน้า เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล..."
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๒๑๓
ในตอนบ่าย หลังรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เราได้เดินทางไปยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๕๗
๘. เชตวนสูตร
[ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕]
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
สาธุ ... ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ทุกครั้งที่ท่านอาจารย์มาที่พระวิหารเชตวันฯ หลังจากก้าวแรกที่ท่านลงจากรถ ท่านจะทรุดตัวก้มลงกราบที่หน้าประตูพระวิหารเชตวันฯ ด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง ที่พระเชตวันแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคฯยาวนานถึง ๑๙ พรรษาแล้ว ยังเต็มไปด้วยรอยพระบาทของพระพุทธองค์ และรอยเท้าของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย มากมายนับไม่ถ้วนในอดีต
เมื่อเดินตามทางเดินเข้าไปสักพัก สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นก็คือ ต้นโพธิ์พระอานนท์ (อานันทโพธิ์) ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน
และก็เช่นเคย คุณเผดิมและสหายธรรมก็ได้ร่วมกันนำผ้าที่ได้เตรียมไปจากเมืองไทย ขึ้นห่มสักการะ
ขออนุโมทนาด้วยครับ
ด้วยความที่ทุกท่านที่ไปมีใจอันกอรปไปด้วยกุศล ตระเตรียมสิ่งของสักการะสถานที่ต่างๆ ไปมากมายหลายอย่าง วิจิตรต่างๆ กันไป การสักการะต้นโพธิ์พระอานนท์ ข้าพเจ้าก็ได้รับแจก เที่ยนช้างน้อย แสนน่ารักนี้ จากอาจารย์อรรณพ ซึ่งได้รับแจกมาจาก อาจารย์ธิดารัตน์ อีกที รวมทั้งแผ่นทองคำเปลว และ ดอกบัว ที่ได้รับแจกบ่อยๆ ด้วย
ขอกราบอนุโมทนาด้วยครับ
จากต้นโพธิ์พระอานนท์ เดินเข้าไปก่อนจะถึงพระคันธกุฎีของพระพุทธองค์ ก็จะพบกับกุฏิของท่านพระอานนท์ ทางด้านซ้ายมือ พวกเราแวะกราบรำลึกถึงในคุณของท่าน
ตามวิกิพีเดีย กล่าวถึงท่านพระอานนท์ไว้ตอนหนึ่งว่า พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง 5 ประการ (๑. มีสติ รอบคอบ ๒. มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ ๓. มีควมเพียรดี ๔. เป็นพหูสูต และ ๕. เป็นยอดของภิกษุ ผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า) และเป็นพหูสูต เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และเป็นผู้ที่สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย
ท่านอาจารย์ได้กรุณาสนทนาธรรม ในบริเวณด้านหลังพระคันธกุฏีอันเคยเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพวกเราหันหน้าไปยังพระคันธกุฎี บรรยากาศการสนทนา เต็มไปด้วยความปีติโสมนัสอย่างยิ่ง ใครเลยจะนึกว่า ในชาตินี้ที่ได้เกิดมาชาติหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ จักได้มีโอกาส ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ในสถานที่ ที่พระพุทธองค์เคยประทับอยู่นานถึง ๑๙ พรรษา แห่งนี้ จากบุคคลที่เป็นยิ่งกว่ากัลญาณมิตร ผู้สามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในธรรมอันลึกซึ้งนั้น ให้พวกเราได้เข้าใจขึ้น อันหาได้แสนยากในกาลปัจจุบัน
ข้าพเจ้า ใคร่ขอนำความบางตอนที่ท่านอาจารย์ได้สนทนามาแทรกไว้ดังนี้...
"...ที่พระวิหารเชตวันก็มีเห็น และมีสิ่งปรากฏให้เห็น ที่ประเทศไทยก็มีเห็นและก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ที่สวรรค์ชั้นดุสิตก็มีเห็น กับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งถ้าไม่มีการฟังธรรมะ ไม่ว่า ณ ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรมะ ที่กำลังปรากฏ อย่างเดียว..."
"...ไม่มีโลกนี้ในขณะที่เห็น มีเฉพาะ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น กับ ธาตุที่กำลังเห็น ในขณะที่ เสียงกำลังปรากฏ ไม่ว่าที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือว่าที่กรุงเทพฯ หรือว่าที่พระวิหารเชตวัน สิ่งที่ปรากฏให้ได้ยิน ก็เป็นธรรมะที่เกิดให้ได้ยิน เมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้น เท่านั้นค่ะ เท่านั้นเลย..."
"...ด้วยเหตุนี้ จึงมีปัญญาตามลำดับขั้น ฟังเข้าใจ มีความมั่นคง ว่าขณะนี้ ได้ฟังเรื่องเห็น และ "เห็น" ก็กำลัง "เห็น" ด้วย..."
...เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟ (ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น) ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ พวกเธอทั้งหลาย อันความมืด คือ "อวิชชา" ปกคลุมแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหา "ประทีป" (คือ ญาณ ปัญญา) เพื่อขจัดความมืด คือ "อวิชชา" นั้นเสียเล่า...
"บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว, เป็นผู้เตรียมพร้อม เพื่อจะไป สำนักของพระยายม อนึ่ง แม้ที่พัก ในระหว่างทางของท่าน ก็ยังไม่มี อนึ่ง ถึงเสบียงทางของท่าน ก็หามีไม่ ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก"
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้าที่ ๑๑
หลังจากจบการสนทนาธรรม ท่านอาจารย์ได้กรุณานำคณะของเรา เวียนประทักษิณ รอบพระคันธกุฎี อันเป็นเวลาใกล้ค่ำบรรยากาศโดยรอบ อบอวลไปด้วย แสงแห่งพระธรรม อันจักเจิดจ้า อยู่ในใจของพวกเรา ไปอีกนานเท่านาน
นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ (เป็นผู้มีอัธยาศัยแน่วแน่มั่นคง) บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างโดยลำดับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรมหิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรม มีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพาน ด้วยยานนี้แหละ
"...เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล..."
"...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุสติฐานะ ที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ นี้ คือ พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ๑ ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม ๑ สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ ๑ สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๑ จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาคของตน ๑ เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา และธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ๑..."
คืนนี้ เป็นคืนก่อนคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ดวงจันทร์เกือบเต็มดวง ส่องแสงนวลตา ดูงดงามยิ่ง พรุ่งนี้ เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เป็นวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร พระอัครสาวกผู้เลิศทางปัญญา ข้าพเจ้าขอน้อมรำลึก ด้วยพระธรรมที่ท่านแสดงไว้ ดังนี้
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ หน้าที่ ๔-๗
"ดูกรคฤหบดี ถ้าอย่างนั้นท่านจงตั้งใจฟังให้ดี อาตมาจักกล่าวให้ท่านฟัง ในบัดนี้ดูกรคฤหบดี อย่างไรจึงชื่อว่ามีกายกระสับกระส่ายด้วย มีจิตกระสับกระส่ายด้วยคือ ปุถุชนบางคนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับคำสอนของพระอริยเจ้า ... เขาย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้างย่อมเห็นตนว่าเป็นรูปบ้างย่อมเห็นรูปในตนบ้างย่อมเห็นตนในรูปบ้างเขาเป็นผู้ยึดถือมั่นว่า"เราเป็นรูป รูปเป็นของเรา"...
เมื่อเวียนประทักษิณ โดยสามรอบเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ได้นำเทียน ไปกราบสักการะพระพุทธองค์ ที่ด้านหน้าพระคันธกุฎี
ขอจบตอน สาวัตถี ด้วยภาพบรรยากาศอันสวยงามจับตา จับใจ ของทุกท่านในวันนั้น ที่หลายๆ ท่าน ไม่ยอมจากลา พระวิหารเชตวันอันงดงามไปด้วยแสงเทียนนับพันเล่ม ที่ถูกจุดขึ้นโดยศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกา เพื่อน้อมบูชาพระพุทธองค์
กราบท่านอาจารย์ และ ขออนุโมทนาทุกท่านครับ
ขอเชิญคลิกชมตอนอื่นๆ ได้ที่นี่...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๑] พุทธคยา
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๒] ราชคฤห์-นาลันทา-เวสาลี-ปัฏนะ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๓] กุสินารา-ลุมพินี
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๕] สารนาท-พาราณสี-สุวรรณภูมิ
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์อย่างสูงสุด
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านในวันนั้น ขออนุโมทนาคุณวันชัยและขอบพระคุณมากๆ ที่นำภาพและธรรม มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
^_^
"...นรชนผู้ใดมีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนผู้นั้นพึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างโดยลำดับ..."
ขออนุโมทนาครับ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ พระวิหารเชตวัน ... ด้วยกุศลศรัทธาของผู้เกิดกุศลจิตทั้งผู้ไปและผู้อนุโมทนาทุกท่าน สิ่งเหล่านั้นสะสมไปไมได้หายไปไหนคือกุศลจิต อันเปรียบเหมือนมิตรเหมือนญาติ ข้าพเจ้ายินดี ... สาธุ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๑๐
สุทัตตสูตร
[๘๒๗] ครั้นเมื่ออนาถบิณฑิกคฤหบดีออกจากเมืองไป แสงสว่าง อันตรธานไป ความมืดปรากฏขึ้น ความกลัว ความหวาดเสียว ขนพอง สยองเกล้าบังเกิดขึ้น ท่านคฤหบดีจึงใคร่ที่จะกลับเสียจากที่นั้น ครั้งนั้น ยักษ์ชื่อ สีวกะ ไม่ปรากฏร่างได้ส่งเสียงให้ได้ยินว่า
ช้างแสนหนึ่ง ม้าแสนหนึ่ง รถเทียมด้วยม้าอัสดรแสนหนึ่ง หญิงสาวที่สอดสวมแก้วมณีและกุณฑลแสนหนึ่ง ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันจำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง แห่งการยกย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง ท่านจงก้าวหน้าไปเถิด คฤหบดี ท่านจงก้าวหน้าไปเถิด คฤหบดี การก้าวหน้าไปของท่านประเสริฐ การถอยหลังไม่ประเสริฐเลย.
ภาพและคำบรรยายของท่านวันชัย สวยงาม ประทับใจ สร้างศรัทธาแก่ผู้ชมมาก
ขออนุโมทนาด้วย สาธุ สาธุ สาธุ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ชีวิตที่มีค่า คือการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม การทำเพื่อธรรมะและการเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการฟังธรรมเพื่อความเข้าใจ เพื่ออบรมปัญญาค่ะ
ขอบคุณค่ะ ... สำหรับภาพ เรื่องราวและถ้อยคำที่ทำให้เกิดกุศลจิต
ขออนุโมทนาค่ะ
"...ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก..."
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาครับ
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนา ในความอดทน วิริยะ เสียสละ เมตตา ... ที่มีต่อสหายธรรมค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ