ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๒๘
โดย khampan.a  26 ก.พ. 2555
หัวข้อหมายเลข 20636

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘]

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ซึ่งนับคำไม่ถ้วน ทั้งหมดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเอง เฉพาะผู้ที่เห็นประโยชน์เท่านั้นที่จะได้ฟัง ซึ่งไม่ทั่วไปกับทุกคน

บุคคลที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะได้สะสมบุญในอดีตพอที่จะผันชีวิตให้มามีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นคำสอนที่ประเสริฐ เพราะมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง กุศล เป็นกุศล อกุศล เป็น อกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ใครๆ ก็หลอกลวงสภาพธรรมไม่ได้ อกุศลเกิดขึ้น แม้คนนั้นจะบอกว่าเป็นกุศล ก็ไม่เป็นไปตามนั้น เพราะอกุศล เป็นอกุศล จะเป็นกุศลไปได้อย่างไร

เมื่อมีอวิชชา (ความไม่รู้) เป็นอย่างมาก แล้วจะให้ปัญญาเจริญขึ้นมากๆ ในทันทีทันใด ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม เมื่อไม่ขาดการฟัง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น การฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ขอเพียงไม่ปล่อยมือจากพระธรรม

ถ้าไม่มีปัญญา ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นจากความเห็นผิด และไม่สามารถที่จะสละอะไรๆ ได้เลย

ยังไม่ดี เพราะความเข้าใจยังไม่เพียงพอ

ปัญญานี้เอง เป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้น

ละอายที่จะไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่มีซึ่งความไม่ละอาย

พูดมากๆ พูดยาวๆ แต่ไม่เป็นไปกับด้วยประโยชน์เลย ย่อมไม่พ้นไปจากอกุศลจิต

ใครกันแน่ที่เป็นทุกข์ในขณะที่โกรธผู้อื่น

ความเห็นผิดของคน แก้ยากที่สุด

กิเลสที่ว่ามีมากนั้น ก็เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ในที่สุดก็เป็นกิเลสที่มาก ลึก และเหนียวแน่น

จะเกิดอีกกี่ชาติ ยังไม่พ้นไปจากการแสวงหาภพ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ บางคนอยากจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นต่างๆ แต่ลืมนึกไปว่า อาจจะไม่ใช่สวรรค์ ก็ได้ อาจจะเป็นอบายภูมิก็ได้ ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

ในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไป สิ่งที่ติดข้องต้องการไม่สามารถติดตามไปในภพหน้าได้เลย แต่พืชเชื้อของความติดข้องต้องการ ยังมี ยังไม่หมดไป

อกุศลจิตคดโกง แต่กุศลจิตไม่คดโกง เพราะเหตุว่ากุศลจิตประกอบด้วยกายุชุกตาเจตสิก และจิตตุชุกตาเจตสิก กายุชุกตาเจตสิกทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตรง จิตตุชุกตาเจตสิกทำให้จิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่ตรง คือ เป็นกุศล

กิเลส อันตรายมาก ถ้าไม่ละคลายให้เบาบาง แม้ในปัจจุบันชาตินี้ย่อมสะสมสืบต่อ ซึ่งถ้ามีกำลังมาก ก็อาจจะกระทำอกุศลกรรมที่หนักๆ อย่างคาดไม่ถึง ก็ได้

สังสารวัฏฏ์ฎ์ยาวนานมาก ไม่มีใครเลย ที่จะไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่มิตรสหาย และแต่ละท่านก็เคยเกี่ยวข้องกันมา ไม่โดยฐานะใดก็ฐานะหนึ่ง แต่ว่าการสะสมของแต่ละคน ก็จะทำให้อกุศลจิตและกุศลจิตของแต่ละคนเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม จึงทำให้แต่ละคนมีกาย วาจา และความคิดที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย

ธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย เป็นไปเพื่อละคลายความอยาก พระธรรมทั้งหมด เพื่อให้ถึงภาวะที่ไม่มีความอยาก กล่าวคือ ไม่มีโลภะ นั่นเอง

มีตัณหา (โลภะ) จึงมีการอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับตัณหา ถ้ามีข้อความใดที่แสดงว่า อาศัยตัณหาละตัณหา ให้เข้าใจได้ว่า หมายความว่า อาศัยตัณหา คือ ตัณหามี จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อละตัณหา ไม่ใช่ใครก็ตามได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็เจริญตัณหาให้มากๆ เพื่อที่จะไปละตัณหา ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย

๐ ศึกษาธรรม เพราะธรรม มีจริงๆ แต่ไม่รู้ จึงศึกษา จากไม่รู้ เป็นค่อยๆ รู้ขึ้น นี้แหละ คือ ศึกษาธรรม

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๒๗ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗

... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...



ความคิดเห็น 1    โดย kinder  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย orawan.c  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุุศลวิริยะของ อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย j.jim  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย pat_jesty  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

รบกวนช่วยขยายความของกายุชุกตาเจตสิก และจิตตุชุกตาเจตสิก ที่กล่าวว่า "กายุชุกตาเจตสิกทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตรง จิตตุชุกตาเจตสิกทำให้จิต ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ตรง" ยังเข้าใจไม่ชัดเจนน่ะค่ะ รู้สึกยังปนๆ กันอยู่


ความคิดเห็น 6    โดย wanipa  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 27 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

กายุชุกตาเจตสิก และจิตตุชุกตาเจตสิก เป็นเจตสิกทั้ง 2 ดวง ซึ่งเป็นเจตสิกที่ดีคือ เป็นโสภณเจตสิก ดังนั้น เมื่อจิตที่ดีเกิดขึ้น จะต้องมี เจตสิกทั้ง 2 เกิดร่วมด้วยเสมอครับ คือ กายุชุกตาเจตสิก และ จิตตุชุกตาเจตสิก เพราะทั้ง 2 เป็น โสภณสาธารณะเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดทั่วไป ร่วมด้วยกับจิตที่ดีทุกดวง ซึ่ง กายุชุกตาเจตสิก และจิตตุชุกตาเจตสิก มาจากคำว่า อุชุตา หมายถึง ความซื่อตรง

ดังนั้น เจตสิกทั้งสอง แสดงถึงความตรงของสภาพธรรม สภาพธรรมที่ไม่ตรงคือ กิเลส ครับ กิเลสทั้งหลาย มีมายาและกิเลสอื่นๆ แต่ กุศลธรรมทั้งหลาย เป็นสภาพธรรมที่ตรง เพราะประกอบด้วย กายุชุกตาเจตสิก และจิตตุชุกตาเจตสิก ที่ทำให้ตรงซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดของ เจตสิกทั้ง 2 ดังต่อไปนี้

กายุชุกตาเจตสิก ความตรงของกาย ชื่อว่า กายุชุกตาเจตสิก ขณะใดที่เป็นกุศลกายก็ย่อมตรงตามใจที่ตรงด้วยกุศล รวมทั้ง ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแน่วแน่ไม่คดโกง มุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม

จิตตุชุกตาเจตสิก ความตรงของจิต ชื่อว่าจิตตุชุกตาเจตสิก ขณะใดที่จิตเป็นกุศลหรือ จิตดีงาม ขณะนั้น จิตย่อมตรงด้วยกุศลธรรม เพราะไม่มีกิเลสที่ทำให้คด ไม่ตรงนั่นเอง รวมทั้งทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแน่วแน่ ไม่คดโกง มุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม

เพราะฉะนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า เจตสิกทั้งสอง เป็นเจตสิกที่ดีงาม เป็นโสภณเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ตรง ไม่เอนเอียงและไม่คด ส่วนกิเลสประการต่างๆ เป็นสภาพธรรมที่คด รวมทั้งการทำอกุศลกรรม ก็ชื่อว่า คด ไม่ตรง แต่เจตสิกทั้งสองเมื่อเกิดขึ้น เจตสิกทั้งสองเอง เป็นสภาพธรรมที่ตรงทั้งกายและจิต และทำให้เจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ตรงไปตามจิตที่ดีงามและทำให้ตรง คือ ไม่ทำอกุศลกรรมที่เป็นสภาพธรรมที่คด ในขณะที่เจตสิกทั้งสองเกิดขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

เชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎกโดยตรงในเรื่อง ความตรง ที่เป็นเจตสิกทั้งสองประเภทนี้ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 27 ก.พ. 2555

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 394

ความตรงของกาย ชื่อว่า กายุชุกตา ความตรงของจิต ชื่อว่าจิตตุชุกตา. อุชุกตาทั้ง ๒ นั้น มีการตรงของกายและจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดการคดของกายและจิตเป็นรส มีการซื่อตรงของกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐานมีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส มีมายาและสาเถยยะ เป็นต้น อันกระทำความคดโค้งของกายและจิตภาวะแห่งความซื่อตรง ชื่อว่า อุชุตา คือ ความเป็นไปโดยอาการอันตรง. ภาวะแห่งขันธ์ ๓ อันตรงและวิญญาณขันธ์อันตรง เรียกว่า อุชุกตา. ความปฏิเสธแห่งความคดเหมือนมูตรโค ชื่อว่า อชิมหตา (ความคล่องแคล่ว)

บทว่า อวงฺกตา ได้แก่ ปฏิเสธความโค้งเหมือนวงจันทร์.

บทว่า อกุฏิลตา ได้แก่ ปฏิเสธความคดเหมือนปลายงอนไถ. จริงอยู่. บุคคลใดทำบาปแล้วกล่าวว่าเราไม่ได้กระทำ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนมูตรโค (เยี่ยวโค) เพราะความไปวกวน ผู้ใดกำลังทำบาปแล้วพูดว่า เราไม่กลัวบาปผู้นั้น ชื่อว่า คด เหมือนวงจันทร์ เพราะความคดมาก ผู้ใดกำลังทำบาป แต่กล่าวว่า ใครไม่กลัวบาปเล่า ผู้นั้นชื่อว่า คด เหมือนงอนไถ เพราะไม่คดมาก


ความคิดเห็น 9    โดย jaturong  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย aurasa  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิต ทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย khampan.a  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ 5 เพิ่มเติม ครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เจตสิกเกิด โดยไม่มีจิต ไม่ได้ หรือ จิตเกิด โดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ได้ เช่น เดียวกัน จิต มีความหลากหลาย เหตุผลประการหนึ่งคือ หลากหลายเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เช่น ถ้าอกุศลเจตสิก (โลภะ เป็นต้น) เกิดร่วมกับจิต ก็ปรุงแต่งให้จิตนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ตรงแล้วในขณะที่จิตเป็นอกุศล ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจตสิกฝ่ายดี มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมกับจิตใด ก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่ดีงามเป็นกุศลจิต เป็นต้น ปราศจากความคดงอโดยประการทั้งปวงในขณะที่จิตเป็นกุศล

แม้แต่เจตสิก ๒ ประเภทนี้ คือ กายุชุกตา กับ จิตตุชุกตา ก็เช่นเดียวกัน เป็นเจตสิกฝ่ายดี ไม่ใช่จิต จะต้องเกิดร่วมกับจิตฝ่ายดี เท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอกุศลเลย ความหมายของ กายุชุกตาเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ซื่อตรง ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตรง แน่วแน่ ไม่คดโคง มุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม (กาย ในที่นี้ มุ่งหมายถึงกลุ่มของเจตสิกธรรมที่กายุชุกตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย) ส่วนความหมายของจิตตุชุกตาเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยมุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น จะไม่ปราศจากเจตสิกที่ดีงาม ๒ ประเภทนี้ รวมถึงเจตสิกที่ดีงามอื่นๆ ด้วยครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 12    โดย pat_jesty  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ชัดเจนขึ้นมากๆ เลยค่ะ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองคนมากและขออนุโมทนาทุกในกุศลจิตของทุกท่านๆ ยิ่งศึกษายิ่งเห็นถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ..


ความคิดเห็น 13    โดย เซจาน้อย  วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย pamali  วันที่ 28 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 16    โดย peem  วันที่ 8 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย kullawat  วันที่ 1 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 18    โดย chatchai.k  วันที่ 7 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 19    โดย Suthida  วันที่ 11 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 20    โดย มังกรทอง  วันที่ 6 ก.ย. 2565

แจ่มแจ้งยิ่งขอรับ จากความเมตตาจากท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้น คือการฟังพระธรรม ก็ต้องเริ่มให้ถูกต้องว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วในแต่ละขณะ ซึ่งความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นนี้ จะนำไปในหนทางที่ถูกต้องในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริงต่อๆ ไป น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ สาธู ขอรับ


ความคิดเห็น 21    โดย มังกรทอง  วันที่ 11 มิ.ย. 2566

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 22    โดย แมวทไวไลท์  วันที่ 12 มิ.ย. 2566

กราบสาธุครับ


ความคิดเห็น 23    โดย Jarunee.A  วันที่ 5 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ