นายจ้างและลูกจ้างมิอาจทำงานด้วยกัน ผู้ปกครองและประชาราษฎร์ มิอาจอยู่ร่วมแผ่นดินได้ หากว่าบุคคลเหล่านั้นขาดเสียซึ่งเมตตาธรรม อาวุธนิวเคลียร์มิใช่ทำลายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ต้องทำลายด้วย ธรรมาวุธ คือ เมตตาธรรมเท่านั้น ธรรมาวุธเช่นนี้ ท่านมีไว้บ้างหรือยัง
ข้อความบางตอนจาก
หนังสือ "ธรรมานุภาพ" โดย
"มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย"
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่อง พระพุทธเจ้าประทานอาวุธแก่พระภิกษุ
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 430
ข้อความบางตอนจากเรื่อง ภิกษุผู้ปรารภการเจริญวิปัสสนา
พระศาสดาประทานอาวุธ
ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจักไม่อาจเพื่ออยู่ในที่นั้นหรือ"
ภิกษุ อย่างนั้น พระเจ้าข้า อารมณ์อันน่ากลัวเห็นปานนี้ ปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้พำนักอยู่ในที่นั้น เพราะเหตุนั้น จึงมีความไม่ผาสุกเห็นปานนี้ ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงคิดว่า "ที่นี้เป็นที่ควรเว้น" ทิ้งที่นั้นมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว
พระศาสดา ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไปในที่นั้นนั่นแลสมควร
ภิกษุ ไม่อาจ พระเจ้าข้า
พระศาสดา ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่เอาอาวุธไป บัดนี้พวกเธอจงเอาอาวุธไปเถิด
ภิกษุ ถือเอาอาวุธชนิดไหนไป พระเจ้าข้า
พระศาสดา ตรัสว่า "เราจักให้อาวุธแก่พวกเธอ พวกเธอจงถือเอาอาวุธที่เราให้ไป" ดังนี้แล้ว ตรัส เมตตสูตร ทั้งสิ้นว่า "ผู้รู้สันตบท (บทอันสงบ) พึงกระทำสิกขา ๓ หมวดใด ผู้ฉลาดในประโยชน์ ควรกระทำสิกขา ๓ หมวดนั้น ผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเป็นผู้องอาจเป็นผู้ตรง เป็นผู้ซื่อตรง เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ไม่ทะนงตัว"
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่อง ความมีเมตตาทั้งทาง กาย วาจา ใจ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 535
ปฐมสาราณียสูตร
ว่าด้วยสาราณียธรรม ๖ ประการ
[๒๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ ๖ ประการ เป็นไฉน คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณียธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณียธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณียธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุแบ่งปันลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรมได้มาโดยธรรม แม้โดยที่สุดบิณฑบาต ย่อมบริโภคร่วมกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้มีศีล แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณียธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือเป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ ก็เป็นสาราณียธรรม.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก นำออกไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณียธรรม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๕ ประการนี้แล.
จบปฐมสาราณียสูตรที่ ๑
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณคุณแล้วเจอกันอย่างยิ่งสำหรับเรื่องธรรมาวุธ ใช้คำนี้บ่อยแต่ไม่ได้ตระหนักถึงความหมายแท้จริง เมตตาใครว่าง่าย ขวนขวายฟังธรรม ใจก็เปลี่ยนพอควร วาจา และการกระทำก็พลอยเปลี่ยนตามใจแล้ว แต่ดูจะไม่พอกับประสบการณ์ในแต่ละวันเลยค่ะ
ดีค่ะ.. ที่เป็นผู้ตรง เคยได้ยินคำว่า "ดีเท่าไร ก็ไม่พอ" ไหมคะ การอบรมเจริญกุศลทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องทวนกระแส ตัวผู้เขียนเองก็พยายามฟัง และ พิจารนา ธรรมอยู่เสมอ แต่เมตตา ก็ยังเกิดน้อยมาก เมื่อเทียบกับโลภะ โทสะ ถ้าสติระลึก ปัญญาทำกิจรู้ ว่าสภาพธรรมที่กำลังเกิด เป็นกุศล หรืออกุศล และปัญญานั่นเอง จะทำกิจรู้ว่า สภาพธรรมใด ควร "ละ" สภาพธรรมใด ควร "เจริญ" จากข้อความในพระสูตรที่ "คุณแล้วเจอกัน" นำเสนอ มีประโยชน์มาก ชัดเจนว่า ธรรมาวุธ คือไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) หรือบารมีทั้งสิบ โดยเฉพาะ ปัญญาบารมี
ขออนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 328
เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตาในสัตว์ทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนพวกภิกษุผู้อยู่ป่าว่า
[๑๐] กิจนั้นใด อันพระอริยะบรรลุบทอันสงบ ทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดี พึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบากายจิต พึงเป็นผู้มีอินทร์สงบ มีปัญญารักษาตัว เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่ติดในสกุลทั้งหลาย วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ ด้วยกรรม ลามกอันได้ ก็ไม่พึงประพฤติกรรมอันลามกนั้น พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า
ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง [มีตัณหา] หรือเป็นผู้มั่นคง [ไม่มีตัณหา] ทั้งหมดไม่เหลือเลย. เหล่าใดยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือนั้น ผอมหรืออ้วน. เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใด อยู่ในที่ไกลหรือไม่ไกล ที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหา ภพเถิด.
ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรๆ เขา ไม่ว่าในที่ไรๆ เลย ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กัน และกัน เพราะความกริ้วโกรธ และเพราะความคุมแค้น.
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิต ฉันใด พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น. พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในโลก ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง เป็นธรรม อันไม่คับแค้น ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู.
ผู้เจริญเมตตานั้น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน [คือไม่ง่วงนอน] เพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น. ปราชญ์ทั้งหลายเรียกการอยู่นี้ว่า พรหมวิหาร ในพระศาสนานี้ มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ [สักกายทิฏฐิ] เป็นผู้ มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ [สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติ มรรค] นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออกไปได้ ก็ ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก โดยแท้แล
จบเมตตสูตร
ขออนุโมทนา ทีมงานบ้านธัมมะ
ขอความเจริญในธรรม จงมีแด่ท่าน
ขอบคุณค่ะและอนุโมทนาในโครงการฯในอนาคตค่ะ
ขออนุโมทนา
กราบอนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโทมาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ