ผลร้ายจากการไม่ฝึกจิต
โดย ทรง  28 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20875

ช่วยอธิบายคาถาธรรมบทให้ชัดเจนเข้าใจหน่อยครับ

ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์

จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำให้ได้รับความเสียหาย ยิ่งกว่าความเสียหาย ที่โจรเห็นโจร หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

ช่วยอธิบายคาถาธรรมบทให้ชัดเจนเข้าใจหน่อยครับ

ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรมมีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์

จากพระคาถานี้ มาจากเรื่อง พระจิตตหัตถเถระ

เรื่องราวพอสังเขปมีดังนี้

กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้อาหารจากพระภิกษุ มีความยินดี คิดว่า เรา ทำงานทุกวัน ไม่เคยได้ทานอาหารอย่างนี้ ควรที่เราจะบวช เราก็จะได้อาหารอย่างนี้บ่อยๆ เขาจึงบวช เมื่อบวชแล้ว ทานอาหาร ถึงความอ้วน แต่ต่อมาไม่นาน เกิดอยากสึกเป็นคฤหัสถ์อีก ก็สึก แต่เมื่อสึกไปแล้ว เกิดอดอยาก ก็กลับไปบวชเพื่อได้อาหารอีก เป็นอย่างนี้ ท่านก็บวชๆ สึกๆ รวม ๖ ครั้ง และเมื่อเป็นคฤหัสถ์อยู่ ในการสึกครั้งทื่ ๖ นั่นเอง ได้เห็นภรรยานอนหลับ และทำท่าทางดุจศพ ไม่น่ายินดี เกิดความเบื่อหน่าย ด้วยปัญญา จึงจับผ้า เพื่อจะไปบวชอีกเป็นครั้งที่ ๗ เดินไปที่พระวิหาร พลางพิจารณาความไม่เที่ยง ในขณะที่เดินนั่นแหละ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และท่านก็บวช เมื่อ บวชแล้ว ไม่นานก็ได้เป็นพระอรหันต์ พระภิกษุบางรูปได้กล่าวกับท่านว่า ท่านไม่สึกอีกหรือ ท่านจึงตอบว่า เราหมดความเกี่ยวข้องเยื่อใยในเพศคฤหัสถ์แล้ว ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ท่านพยากรณ์ว่าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุตรของเรา ละบุญและบาป มีจิตมั่นคงแล้ว ตรัสพระคาถาว่า

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 421

"ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย, ภัย (ความกลัว) ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีใจไม่ถูกโทสะตามกระทบ ละบุญและบาปได้ ตื่นอยู่."

อธิบายพระคาถาดังนี้ครับ

ผู้ที่จิตไม่มั่นคง เพราะ ไม่มีปัญญาที่บริบูรณ์ ที่ปัญญาไม่ถึงความบริบูรณ์ เพราะไม่ได้เริ่มอบรมปัญญาข้างต้น แม้ปัญญาที่เป็นระดับเบื้องต้น มีความเข้าใจถูกขั้นการฟัง อันเกิดจากศึกษาพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อไม่ได้ศึกษา อบรมปัญญาจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า ปัญญาขั้นการฟัง ที่เป็นเบื้องต้นย่อมไม่มี ย่อมไม่ถึงปัญญาขั้นสูง และถึงความบริบูรณ์สูงสุดของปัญญาที่เป็นระดับโลกุตตรปัญญาที่ทำให้สามารถดับกิเลส อันเป็นปัญญาที่เป็น มรรคผลได้ครับ เมื่อไม่สามารถดับกิเลสได้เพราะไม่มีความบริบูรณ์ด้วยปัญญา ย่อมทำให้จิตไม่มั่นคงด้วยอำนาจกิเลส เพราะผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวเลย คือ พระอรหันต์ครับ

ภัย คือ กิเลส ย่อมไม่มีกับจิตของผู้ที่ละกิเลสได้แล้ว มีราคะ โทสะ เป็นต้น ได้หมดสิ้น ผู้ที่ละกิเลสได้แล้ว จิตย่อมไม่เป็นกุศล (บุญ) และไม่เป็นอกุศล (บาป) พระอรหันต์ย่อมมีจิต เพียง ๒ ชาติ คือ กิริยาจิต และวิบากจิต จึงชื่อว่าละบุญและบาปได้แล้ว ชื่อว่า ตื่นอยู่ คือ ตื่นอยู่ด้วยกุศลธรรม มีศรัทธา เป็นต้น และไม่หลับ เพราะกิเลสชื่อว่าทำให้หลับอยู่ ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่มีกิเลส จึงชื่อว่าตื่นอยู่ด้วยกุศลธรรมและไม่หลับเพราะไม่มีกิเลสที่ทำให้หลับ จึงชื่อว่าตื่นอยู่ ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 28 มี.ค. 2555

และจากคำถามที่ให้อธิบาย คาถานี้ คือ

จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำให้ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าความเสียหาย ที่โจรเห็นโจร หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

จากพระคาถานี้ มาจากเรื่อง นายนันทโคปาลกะ

ในคาถาธรรมบท เรื่องราวพอสังเขปมีดังนี้ครับ

นายนันทะโคปาลกะ เป็นคนเลี้ยงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีความเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า ได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า เพื่อรับภัตตาหาร พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ปัญญาของนายนันทะ แก่กล้าแล้ว จึงรับนิมนต์ นายนันทะถวายอาหารอย่างประณีตกับพระพุทธเจ้า เป็นเวลา ๗ วัน วันที่ ๗ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับนายนันทะ เขาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุแล้ว เขาขอถือบาตร เดินตามส่งเสด็จพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า พอแล้ว เดินมาสมควรแล้ว จึงส่งบาตรคืนพระพุทธเจ้า เดินกลับไป ระหว่างทาง ถูกคนร้าย ยิงธนูใส่ เขาได้ตายตรงนั้นเอง ไปเกิดบนสวรรค์

พวกภิกษุเห็นเหตุการณ์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ว่านายนันทะตายแล้ว หากว่าพระองค์ไม่เสด็จมาหาเขา เขาคงไม่ตาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ว่าเราจะมา หรือ ไม่มา เมื่อกรรมให้ผล ชื่อว่า นายนันทะ หรือว่าใครก็ไม่สามารถรอดจากความตายได้เลย และพระองค์ได้ตรัสพระคาถาว่า

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 443

"จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้น ให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหาย ที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำ (แก่กัน) นั้น (เสียอีก) ."

อธิบายดังนี้ครับ

โจร หรือ คนที่ไม่ชอบกัน ผูกเวรกัน ย่อมทำความพินาศ ความเสียหาย มีการฆ่า การปล้นและความเสียหายต่างๆ ให้กับผู้นั้น ได้เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่ จิตที่ตั้งไว้ผิด คือ จิตที่ตั้งไว้ในการทำอกุศลกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น อกุศลกรรมที่สำเร็จแล้วนั่นเอง ย่อมให้ผลในชาตินี้ก็ได้ ทำให้เกิดความเสียหายประการต่างๆ และยังให้ผลชาติหน้า ทำให้เกิดในนรก นับชาติไม่ถ้วน ไม่สามารถยกหัวให้พ้นจากนรกได้เลยเป็นพันๆ ชาติ เป็นต้น เพราะการทำบาป มีการทำอกุศลกรรมบถ อันเป็นการตั้งจิตไว้ผิดในขณะนั้น ครับ เพราะฉะนั้น จิตที่ตั้งไว้ผิด มีการทำอกุศลกรรม จึงร้ายแรงกว่า พวกโจรที่ทำร้ายกัน หรือ คนจองเวรทำร้ายกัน ครับ

ดังนั้น ความทุกข์ประการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนมีคน สัตว์ทำให้ แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครทำให้ นอกเสียจากกรรมชั่วที่ตนเองได้ทำเท่านั้นครับ ดังนั้นจึงโทษใครไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างก็เกิดจากจิตที่ตั้งไว้ไม่ดี คือ การทำอกุศลกรรมในอดีต ครับ

อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้ค่อยๆ เห็นโทษของการกระทำที่ไม่ดี อันเป็นการตั้งจิตไว้ไม่ชอบ ตั้งจิตไว้ผิด แล้วค่อยๆ ตั้งจิตไว้ชอบ ถูกต้อง เมื่อปัญญาและกุศลธรรมเจริญขึ้น จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนั่นเองครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 28 มี.ค. 2555

อกุศลกรรมบถ ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิด พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิด แม้แต่กุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิด ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตที่ตั้งไว้ผิด คือ ตั้งไว้ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภ เพ่งเล็งอยากได้ของๆ คนอื่น มีความพยาบาทปองร้ายผู้อื่น และ มีความเห็นผิด กล่าวได้ว่าเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งบุคคลผู้ที่เห็นโทษของอกุศลธรรม และเห็นคุณของกุศลธรรม จะไม่เป็นอย่างนี้อย่างแน่นอน มีแต่จะตั้งตนหรือตั้งจิตไว้เฉพาะในทางที่ดีเท่านั้น, จิตที่ตั้งไว้ผิด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว ข้าศึกศัตรูภายนอก ที่เขาทำความเสียหาย ทำความเดือดร้อนให้แก่กันและกันประการต่างๆ หรือถึงกับทำให้สิ้นชีวิต ก็ทำได้เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด ดังกล่าว ย่อมทำให้เขาเดือดร้อนยิ่งกว่านั้นอีก เพราะนอกจากจะให้ทำให้เดือดร้อนในปัจจุบันแล้ว เมื่อละจากโลกนี้ไปยังทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น ไม่ให้เขาเงยศีรษะขึ้นได้ แม้ในแสนอัตภาพ (๑๐๐,๐๐๐ ชาติ) จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ตั้งจิตไว้ผิดนั้น จิตเป็นอกุศล ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรม กุศลธรรมเกิดไม่ได้เลย ถ้าหากไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่มีวันที่จะรู้จักอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่เห็นโทษเห็นภัย จึงไม่คิดจะละคลาย และไม่รู้ว่ากิเลสนั้นกำลังสะสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไข หรือ ทำลายได้

ดังนั้น จึงต้องอาศัยพระธรรมที่ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ผู้ฟัง ผู้ศึกษาด้วยความเคารพนอบน้อม ย่อมได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย ทรง  วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 6    โดย เซจาน้อย  วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 7    โดย pat_jesty  วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย orawan.c  วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย nong  วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 29 มี.ค. 2555

* * * ------------------- * * *

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

* * * ----------------------------------- * * *

กราบขอบคุณอย่างสูงครับ และ ขออนุโมทนากุศลธรรมที่เกิดมีทุกท่านครับ

* * * * * --------------------------------------------------- * * * *