ข้อความเตือนสติเรื่องอักโกสกสูตร
โดย wittawat  27 ก.พ. 2554
หัวข้อหมายเลข 17957

ขอ เชิญคลิกอ่านพระสูตร..

เรื่อง อักโกสกสูตร...ว่าด้วยพระพุทธเจ้าไม่รับคำด่าของพราหมณ์

ข้อความเตือนสติจาก

ชั่วโมงสนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจาก

ส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

1. โทษ และ การละคลายความโกรธ

ความรู้เรื่องอกุศลในขั้นฟัง

ผลจากการที่ได้ฟังเรื่องอกุศล คือ เข้าใจว่าเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี และไม่มีทางใดที่จะละอกุศลใดๆ ได้ทั้งสิ้น ถ้าไม่เคยฟังพระธรรม ถ้าเป็นผู้ตรง ก็จะรู้ว่า แม้การศึกษาขั้นฟังทราบว่าอกุศลไม่ดี แต่ปัญญาที่อบรมก็ยังไม่สามารถเพียงพอที่จะละอกุศลได้

ความประพฤติที่เกิดจากการฟัง // เห็นโทษของอกุศล

เพราะอาศัยการฟัง พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ส่องถึงความเข้าใจธรรมฟังแล้วโกรธไม่เกิดอีกเลย เป็นไปไม่ได้เพราะไม่ใช่พระอนาคามี ฟังแล้วยังผูกโกรธ หรือว่าโกรธเกิดน้อยลง หรือเห็นโทษของความโกรธมากขึ้นว่า ทุกวันมีอกุศลมากอยู่แล้วยังเพิ่มขึ้นอีกทำไม เพราะฉะนั้นประโยชน์ คือ ไม่หลงลืมโทษของอกุศล เมื่อความเข้าใจมั่นคงอกุศลจะค่อยๆ ละคลาย

2. คุณ และ ประโยชน์ของปัญญา

บุคคลฟังธรรมแล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้จากปุถุชนเต็มขั้น เพราะสะสมปัญญาเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ลักษณะเป็นอย่างหนึ่ง เป็นอื่นไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เข้าใจแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้นทีละน้อย เพราะอาศัยการฟัง และเห็นค่าสูงสุดของปัญญา

3. ความหมายของสิ่งที่มีค่า

แก้ว แหวน เงิน ทอง คิดว่ามีค่า แต่ก็ทำให้เกิดความทุกข์ แต่สิ่งที่มีค่าแท้จริง คือสิ่งนั้นไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น ความลึกซึ้งของสิ่งนั้น คือ เหนือสิ่งอื่นใด ที่มีค่าเสมอพระรัตนตรัยไม่มี

ทุกวันนี้สะสมสิ่งอื่นที่ไม่มีค่าแล้ว เข้าใจว่ามีค่าหรือไม่ เพราะถ้าสิ่งนั้นทำให้เกิดโลภะ โทสะ แล้วค่าของสิ่งนั้นอยู่ที่ไหน

4. วัดความโกรธ

เคยไม่ชอบใครบ้างหรือไม่? ตอนนี้ยังไม่ชอบใครบ้างหรือไม่?

5. เหตุของความโกรธ อาฆาตวัตถุ ๑๐

อาฆาตวัตถุ เป็นที่ตั้งที่เป็นไปของความโกรธมี ๑๐ ประการ คือ

โกรธผู้ด่าว่าหรือทำความเสียหายให้ตัวเราเองทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต

โกรธผู้ด่าว่าหรือทำความเสียหายให้บุคคลที่เรารักทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต

โกรธผู้ทำประโยชน์แก่บุคคลที่เราไม่ชอบ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต

โกรธในที่อันไม่ควร เช่น ฟ้าร้อง ก็เกิดความไม่พอใจ เป็นต้น

ความโกรธเกิดขึ้นเป็นไปใน ๑๐ ประการนี้

6. อรรถของปฎิฆานุสัย

อนุสัย คือ กิเลสอกุศลธรรมขั้นละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ เพราะยังมีอนุสัยกิเลส จึงเป็นเหตุทำให้กิเลสขั้นกลางและขั้นหยาบเกิดขึ้น ปฏิฆานุสัยหมายเฉพาะ อนุสัยที่เป็นเหตุแห่งความกระทบกระทั่ง กำลังนอนหลับไม่ได้โกรธ ใคร แต่พอตื่นก็พร้อมทันทีที่จะโกรธ กลัว ไม่พอใจ ความขุ่นใจ สะดุ้งหวั่นไหว ซึ่ง เกิดพร้อมความไม่สบายใจ

7. อรรถของอาสยานุสยะ

การสะสมนั้น แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ อาสยะเป็นกุศลหรืออกุศลใดๆ ที่เกิดแล้วดับไป ไม่สามารถจะออกไปจากจิต เก็บสะสมสืบต่อในขณะต่อๆ ไป ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ เช่น ยังไม่พูด เก็บไว้ก่อนๆ สะสมสืบต่อ ไม่รู้ได้ว่าขณะต่อไปจะเป็นอะไร ส่วนอนุสัยหมายเฉพาะอกุศลเท่านั้น

8. ความมุ่งมั่นที่ไร้ค่า เพราะไม่มีเหตุ

สิ่งที่โลภะต้องการ // สิ่งที่มีปรกติลืม

ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เห็นโทษของอกุศล แต่ลืมว่า อกุศลหรือกุศลไม่ใช่เรา มุ่งมั่นแต่เพียงว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีปัญญามากๆ หรือหมดกิเลส แต่ไม่มีเหตุใดๆ ทั้งสิ้น คือ ลืมว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม ลืมว่าถ้ามีปัญญาความเห็นถูก จะนำไปสู่ทางถูกโดยตลอด ถ้าโกรธเกิด ไม่ใช่ให้หยุด แต่รู้ว่าเป็นธรรม

โลภะเจาะจงรู้

ไม่ว่าจะพูดถึงอะไรก็หมายถึงธรรม ขณะนี้ไม่มีโกรธแต่มีเห็น กลับอยากจะรู้เรื่องโกรธ แต่เห็นดับแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ผิดทาง ทั้งยากและแสนนานที่จะพ้นจากความเป็นปทปรม [1] ได้

9. ความโกรธสงบได้อย่างไร

แม้รักษาศีล ๕ แล้วก็ยังโกรธ เพราะศีลระงับความโกรธไม่ได้ ความสงบของจิตชั่วคราว ก็โกรธอีก จึงมีข้อความแสดงว่า “ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยวิธีอื่น นอกจากการเข้าใจธรรม” เพราะหนทางเดียว คือ สติสัมปชัญญะ เห็นโทษอกุศลโดยประการต่างๆ แม้ความไม่รู้ จนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏคือ รู้ตัว ว่าไม่มีตัว มีแต่ธรรม

10. ธรรมที่ทำกิจสะสม

บัญญัติเรื่องราวไม่ได้ทำกิจสะสม เพราะไม่มีจริง ธรรมที่ทำกิจสะสมคือ อุปนิสสยปัจจัย

11. ความหมายของอุปนิสสยปัจจัย

ธรรมใดๆ [2] คือ จิต เจตสิก รูปที่เกิดก่อนๆ และนิพพาน เป็นปัจจัยที่อาศัยมีกำลังอุปการะให้นามธรรม คือ จิต และ เจตสิกที่เกิดหลังๆ

ปกตูปนิสสยปัจจัย

ปกตะ [3] คือ กรรมอันบุคคลทำไว้ก่อนแล้ว

กรรมอันบุคคลทำไว้ในกาลก่อน คือ กุศล อกุศล อัพยากตธรรมที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยมีกำลังอุปการะให้นามธรรม คือ จิต และ เจตสิก เกิดภายหลังกุศล อกุศล ใดๆ แม้เล็กน้อย เช่น ริษยา อาฆาต เมตตา ศรัทธา เกิดดับทำกิจสะสมอยู่ในจิต ไม่หายไป จากการปรุงแต่งทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้สภาพจิตที่เกิดภายหลังแตกต่างกันไป เป็นผู้ที่มีอินทรีย์อ่อน (หมายถึง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) หรืออินทรีย์กล้า จึงมีคำที่แสดงว่า สัตว์ต่างกันตามการสะสม แต่ละขณะจิตแสดงให้เห็นความหลากหลายของความสะสมในกาลก่อน

อารัมมณูปนิสสยปัจจัย [4]

ธรรมที่เป็นจิต และ เจตสิกใดๆ ทำธรรมใดๆ ให้เป็นอารมณ์อย่างหนักแน่นเกิดขึ้น ธรรมนั้นเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เป็นจิต เจตสิกนั้นๆ โดยอารัมมณาธิปติปัจจัย อารัมมณูปนิสสยปัจจัย หมายถึง ธรรมที่เป็นอารมณ์หนักแน่น [5] คือ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดในวาระก่อนๆ และ นิพพาน เป็นปัจจัยมีกำลังอุปการะให้นามธรรม คือ จิต และ เจตสิก เกิดภายหลัง

12. เมื่ออุปนิสสยปัจจัยมีอารมณ์ที่แนบแน่น คือ พระสัทธรรม

เรื่องราว แม้เรื่องราวของธรรมเป็นแต่เพียงอารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์หนักแน่น เพราะแม้จะเรียนมากสักเท่าไรก็ลืมในที่สุด แม้ชาตินี้ไม่ลืม ชาติหน้าก็ลืม ซ้ำยังเปลี่ยนไปเรื่อย จึงไม่ใช่อารัมมณูปนิสสยปัจจัย แต่นามธรรม คือ ศรัทธา ฉันทะก็ดี ที่เกิดเพราะการฟังธรรม เกิดดับสืบต่อสะสมในสันดานตนในอดีต เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น สามารถไตร่ตรองความละเอียดของธรรมยิ่งขึ้นในขณะนี้

13. คุณของพระสังคีติกาจารย์

สังคีติ หมายถึง การรวบรวมพระธรรมวินัย

สังคีติก หมายถึง บุคคลผู้รวบรวมพระธรรมวินัย

สังคีติกาจารย์ หมายถึง อาจารย์ผู้รวบรวมพระธรรมวินัย หรือ ผู้ที่กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย การทำสังคายนาที่เป็นที่ยอมรับทั่วๆ ไป ก็คือ ๓ ครั้ง

ครั้งแรกหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ๓ เดือน ท่านพระมหากัสสปะเป็นประธาน มีท่านพระอุบาลีเถระวิสัชชนาพระวินัย และท่านพระอานนท์วิสัชชนาพระธรรม เป็นต้น

ครั้งที่ ๒ หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ๑๐๐ ปี ท่านพระยสกากัณฑบุตร ท่านก็ได้ปรารภวัตถุ ๑๐ ประการ ที่พระภิกษุวัชชีปรารภวัตถุ ๑๐ ประการ มีการรับเงิน รับทอง เป็นต้น

ครั้งที่ ๓ หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ประมาณ ๒๐๐ กว่าปี สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระธรรมวินัยคำสั่งสอนทั้งหมดที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ถ้าไม่ได้เรียงเป็นหมวดหมู่เป็นนิกาย เป็นสูตรยาว สูตรสั้นที่เรียงกัน ชนรุ่นหลังจะศึกษา ก็จะเป็นการศึกษาที่ยากลำบาก

14. อรรถของ สัพพัตถกกัมมัฎฐาน

สพฺพ คือ ทั้งหมด ทั้งปวง

อตฺถก คือ ประโยชน์ หรือ มีประโยชน์

สัพพัตถกกัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานที่เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง คือ ในที่ทุกสถานก็คือ เมตตา ความเป็นมิตร หวังดี และ มรณสติ สติที่ปรารภความตาย

เมตตา

เมตตา ความหวังดีเกื้อกูล เป็นมิตรทันที ให้อภัยได้ทันที ใจไม่เป็นทุกข์ทันทีง่ายกว่าโกรธ เพราะโกรธต้องหาเรื่อง ผูกโกรธ ย้อนคิดความโกรธอยู่ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เมื่อโกรธเกิด ก็ประทุษร้ายใจตนก่อน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่อาจสะสมเมตตา อกุศลที่มีกำลังทำสิ่งที่ทำได้ยาก คือ ฆ่า เบียดเบียนประทุษร้าย ถ้าปัญญาไม่มีกำลัง ไม่อาจทำให้อกุศลที่เกิดบ่อยๆ ไม่เกิด ถ้าชาตินี้เมตตาเกิดไม่ได้ ชาติหน้าเมตตาก็น้อยมากเหมือนไม่มี แม้คิดว่ามี แต่อาจเป็นโลภะก็ได้ รักญาติ พี่น้อง ถ้าเมตตาแล้วต่างกันมาก เพราะไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีใคร เป็นธรรมที่เสมอกัน

มรณสติ

เป็นของธรรมดา ยังไม่ตายแต่ต้องตาย เห็นกันวันนี้อาจไม่เห็นกันวันหน้าจากโลกนี้แล้วไปไหน เป็นอะไร อกุศลที่สะสมไว้เต็มวันนี้ สืบทอดต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ เจอใครใหม่ ก็รักอีก ชังอีก ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรม ประโยชน์สูงสุด คือ เห็นธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้น ไม่มีทางละคลายอกุศล สมบัติมีมากมาย แต่จะตายอยู่แล้ว ยังอยากเก็บไว้เป็นของเราไปเรื่อยๆ นานๆ หรือ เคยโกรธใคร จะตายแล้วก็ขอโกรธต่อไป หรือว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นของใครอย่างแท้จริง

15. คำสอนเรื่องความโกรธ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าไม่พึงฆ่าสัตว์ แม้สัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ไม่ควร ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ แม้แต่เส้นด้าย เส้นหญ้า ก็ไม่ควร ไม่พึงโกรธ แม้ถูกโจรผู้มีใจหยาบช้าเอาเลื่อยมาครูดตัวคนที่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธก่อน ชื่อว่า ลามก [6] กว่า เพราะทำลายประโยชน์ทั้งของตนเองและของผู้อื่น แต่ผู้ที่ไม่โกรธ ก็ชื่อว่า รักษาประโยชน์ทั้งของตน และบุคคลผู้โกรธก่อนด้วย

16. อรรถของชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนี้เป็นคนเขลา

คนกล้าที่แท้จริง คือคนไม่โกรธตอบ

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

17. อรรถของบุคคล ๔ จำพวก

บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพียงยกหัวข้อขึ้นแสดงคือ “อุคฆติตัญญูบุคคล”

บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยฟังคำขยายความธรรมโดยละเอียดเป็น “วิปจิตัญญูบุคคล”

บุคคลได้ฟังธรรม ได้สอบถาม ได้คบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เป็น “เนยยบุคคล”

“ปทปรมบุคคล” แม้เป็นบุคคลผู้ที่ฟังมาก ศึกษามาก สามารถสอนผู้อื่นมาก แต่ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นได้ “ปทปรม” ก็คือ “ผู้มีบท เป็นอย่างยิ่ง” แม้ว่าได้ฟังธรรมด้วยประการทั้งปวง ก็ไม่อาจถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นได้ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรม ความเข้าใจที่เกิดขึ้นก็สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าได้

18. มายา และ ความจริง

มายา

ขณะนี้มีเห็น ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะปรากฏพร้อมกันไม่ได้ ต้องปรากฏทีละอย่าง ทีละลักษณะ แต่เพราะเกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก ก็อยู่ในโลกของเรื่องราว มายา ความลวงให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงตลอด เพราะไม่รู้ลักษณะเกิดดับ ขณะนี้รูปธรรม นามธรรมกำลังเกิดดับ ตามที่ทรงแสดงเรื่องวิถีจิต (จิตที่อาศัยทางทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นรู้อารมณ์) แต่ไม่ปรากฏสักอย่างเดียวว่าเป็นธรรม

ความจริง

เมื่อมีการเริ่มเข้าใจจะมากหรือน้อยก็ตาม แม้ในขั้นการฟัง ขณะนั้นเริ่มละความไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีเรา เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นได้ยิน เสียงเป็นเสียงเริ่มที่จะรู้ว่า ธรรมมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง เพราะความเข้าใจมีมากขึ้น ก็ละความต้องการ เมื่อนั้น สัมมาสติ มีปัจจัยจึงเกิดรู้ลักษณะเฉพาะลักษณะนั้นแล้วก็ดับ เป็นอนัตตา เริ่มรู้ตามความเป็นจริงว่า มีเฉพาะสิ่งนั้นเท่านั้น สิ่งอื่นไม่มี โลกก็ไม่มี โต๊ะ เก้าอี้ คนหนึ่งคนใดก็ไม่มี มีเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่เป็นธรรม แล้วก็ดับ

[1] ปทปรม คือ บุคคลผู้มีบทอย่างยิ่ง

[2] แม้บุคคล อุตุ โภชนะ และ เสนาสนะ เป็นอุปนิสสยปัจจัยโดยอ้อม เฉพาะปกตูปนิสสยปัจจัย อธิบายใน อรรถกถาปัจจยวิภังควาระ นิสสยปัจจยนิเทศ

[3] อรรถโยชนา กล่าวว่า ปกติฯ ปกรีติ ปกโต แปลว่า กรรมอันบุคคลทำไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่า ปกตะ

[4] อรรถกถาปัจจยวิภังควาระ อุปนิสสยปัจจยนิเทศ แสดงอารัมมณูปนิสสยปัจจัย และ อารัมมณาธิปติปัจจัยว่าไม่แตกต่างกัน

[5] ครุ กตฺวา ได้แก่ ทำให้หนัก คือให้หนักแน่น ให้เป็นธรรมชาติที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจความยำเกรง หรือด้วยอำนาจความพอใจ

[6] ลามก คือ หยาบช้า



ความคิดเห็น 1    โดย prakaimuk.k  วันที่ 12 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย พุทธรักษา  วันที่ 8 พ.ค. 2554

ขอเรียนถามท่านวิทยากร.จากข้อความนี้...กรุณาอธิบายด้วยค่ะ

ถ้าชาตินี้เมตตาเกิดไม่ได้ ชาติหน้าเมตตาก็น้อยมากเหมือนไม่มี แม้คิดว่ามี แต่อาจเป็นโลภะก็ได้ รักญาติ พี่น้อง ถ้าเมตตาแล้วต่างกันมาก เพราะไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีใคร เป็นธรรมที่เสมอกัน

ความเมตตา มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์เข้าใจว่า ขณะที่เมตตา ขณะนั้น ไม่มีความรักผูกพันเลยแม้จะยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ผู้ที่มีแต่ความเมตตาเท่านั้น นอกจากพระอรหันต์แล้วยังมีบุคคลใด หรือไม่คะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 13 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้ ครับ

เมตตา เป็นสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี มีความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น การที่เมตตาจะมีหรือจะเกิดขึ้นจนมีกำลังยิ่งขึ้นในจิตของแต่ละบุคคลได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาและอบรม ในเบื้องต้นต้องเห็นโทษของความโกรธ และเห็นคุณของความไม่โกรธ (เมตตา) จึงจะอบรมเจริญเมตตาได้

อนึ่ง การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงที่เป็นปัจจัยแก่เมตตา ย่อมจะทำให้ละความโกรธและทำให้เมตตาเกิดในชีวิตประจำวันได้ และทีสำคัญ เมตตา ไม่ใช่โลภะ ไม่ว่าจะเกิดกับใครสภาพธรรมนี้ก็ไม่เปลี่ยนขณะที่เมตตาเกิด ไม่ได้มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะเหตุว่าขณะที่เมตตาเกิด เป็นธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่อกุศลจิตประเภทที่มีโลภะ และความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จึงเป็นคนละประเภทกัน [แต่ตราบใดที่พืชเชื้อของความเห็นผิดยังไม่ถูกดับได้อย่างเด็ดขาด ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นได้] ถ้าจะกล่าวให้ได้คิด คือ มีเมตตาต่อใคร ก็ต้องมีเมตตาต่อสัตว์ บุคคล (ซึ่งแท้ที่จริงสัตว์บุคคล เป็นเพียงสมมติ เพราะมีการเกิดขึั้นเป็นไปของธรรม คือ จิตเจตสิก และรูป จึงสมมติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นคนนั้นคนนี้) ผู้ที่เป็นปุถุชน รวมถึงพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เมตตาเกิดได้ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ขณะที่ท่านมีเมตตา มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น จิตในขณะนั้นเป็นมหากิริยาจิต เพราะเหตุว่า พระอรหันต์มีจิต ๒ ชาติ คือ ชาติกิริยา กับ วิบาก ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 4    โดย pamali  วันที่ 1 ก.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 5    โดย bsomsuda  วันที่ 1 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย พุทธรักษา  วันที่ 1 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 7    โดย Jans  วันที่ 3 ก.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 8    โดย nong  วันที่ 6 ก.ค. 2554

“ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยวิธีอื่น นอกจากการเข้าใจธรรม”

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย wannipasoda  วันที่ 6 ก.ค. 2554
สาธุเจ้าค่า

ความคิดเห็น 10    โดย เมตตา  วันที่ 6 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย papon  วันที่ 15 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 18 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ความคิดเห็น 13    โดย chatchai.k  วันที่ 30 ก.ค. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ [๒๗๙]