[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 75
๕. มารธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดามารมาขอบําเรอพระพุทธเจ้า
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 75
๕. มารธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดามารมาขอบำเรอพระพุทธเจ้า
[๕๐๕] ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไร หรือเศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหน หม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วยบ่วง คือราคะ นำมาถวาย เหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้น ชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของคุณพ่อ.
[๕๐๖] พระยามารกล่าวว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก.
[๕๐๗] ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่านั้น เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 76
[๕๐๘] ลำดับนั้น มารธิดา คือนางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงหลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ .
ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอพระบาทของพระองค์.
พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงใส่พระทัยถึงถ้อยคำของมารธิดา เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
[๕๐๙] ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรพากัน จำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ .
ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอพระบาทของพระองค์.
ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
[๕๑๐] ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายมีต่างๆ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 77
กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ
ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันจำแลงเพศเป็นหญิงคลอดแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอพระบาทของพระองค์.
ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
[๕๑๑] ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
[๕๑๒] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงกลางคน คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
[๕๑๓] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงผู้ใหญ่คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 78
[๕๑๔] ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่า เรื่องนี้จริงดังบิดาเราได้พูดไว้ว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารไปได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก.
ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะด้วยความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่นพึงพลุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน (จิตลอย) เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้ง แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ฉันนั้นเหมือนกัน.
ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๕๑๕] นางตัณหามารธิดา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้ ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ทำ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 79
มิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ.
[๕๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
เราชนะเสนาคือปิยรูปและสาตรูป (รูปที่รักและรูปที่พอใจ) เป็นผู้ๆ เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้ความบรรลุประโยชน์ และความสงบแห่งหทัย ว่าเป็นความสุข.
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นมิตรกับชนทั้งปวง และความเป็นมิตรกับใครๆ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่เรา.
[๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีมารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
ภิกษุในพระศาสนานี้ มีปกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๔ แล้ว เวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่งฌานอย่างไหนมาก.
[๕๑๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มีปัจจัยอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 80
รู้ทั่วซึ่งธรรม มีปกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ.
ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก.
[๕๑๙] ลำดับนั้นแล นางราคามารธิดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
พระศาสดาผู้เป็นหัวหน้าดูแลคณะสงฆ์ ได้ตัดตัณหาขาดแล้วและชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก จักประพฤติตามได้แน่แท้ พระศาสดานี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ได้ตัดขาดจากมือมัจจุราชแล้ว จักนำหมู่ชนเป็นอันมาก ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน.
[๕๒๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ตถาคตมีความแกล้วกล้าใหญ่ ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัทธรรมแล เมื่อตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม ไฉนความริษยาจะพึงมีแก่ท่านผู้รู้เล่า.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 81
[๕๒๑] ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่.
พระยามารเห็นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา มาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ได้กล่าวพ้อด้วยคาถาทั้งหลายว่า
พวกคนโง่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บเคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะทำพระโคดมให้เบื่อเข้าต้องหลีกไป เป็นประดุจบุคคลวางหินไว้บนศีรษะแล้วแทรกลงไปในบาดาลหรือดุจบุคคลเอาอกกระแทกตอฉะนั้น.
พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่งซึ่งได้มาแล้วในที่นั้นให้หนีไป เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น.
จบมารธีตุสูตร
จบตติยวรรคที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 82
อรรถกถามารธีตุสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในมารธีตุสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า อุปสงฺกมึสุ ความว่า ธิดามารเห็นบิดาเอาไม้ขีดพื้นดินเหมือนเด็กเลี้ยงโค คิดว่าบิดานั่งเสียใจยิ่งนัก มีเหตุอะไรหนอ จำเราจักถามถึงเหตุ จึงรู้ได้แล้วจึงเข้าไปหา.
บทว่า โสจสิ ได้แก่คิดแล้ว. บทว่า อรญฺมิว กุญฺชรํ ความว่า เปรียบเหมือนเหล่าช้างพังอันเป็นช้างต่อที่ควาญช้างส่งไป ประเล้าประโลมช้างป่าด้วยการแสดงมายาหญิง ผูกพันนำมาจากป่าฉันใด พวกเราก็จักนำบุรุษนั้นมาฉันนั้น. บทว่า มารเธยฺยํ ได้แก่ วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓.
บทว่า อุปสงฺกมึสุ ความว่า ธิดามารปลอบบิดาว่า ท่านจงคอยสักหน่อยเถิด พวกเราจักนำบุรุษนั้นมาแล้วจึงเข้าไปเฝ้า. บทว่า อุจฺจาวจาได้แก่ต่างๆ อย่าง. บทว่า เอกสตเอกสตํ ได้แก่ แปลงตัวเป็นหญิงสาวหนึ่งร้อย โดยนัยนี้ คือ ธิดาแต่ละคนแปลงตัวเป็นหญิงสาวคนละ ๑๐๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะพระอรหัตเท่านั้น ด้วยสองบทว่า อตฺถสฺส ปตฺตึหทยสฺส สนฺตึ. บทว่า เสนํ ได้แก่ กองทัพกิเลส. จริงอยู่กองทัพกิเลสนั้นชื่อว่าปิยรูป สาตรูป น่ารักน่าชื่นใจ. บทว่า เอกาหํ ฌายํ ได้แก่ เราเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว. บทว่า สุขมานุโพธฺยํ ได้แก่ เสวยสุขในพระอรหัตท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า เรารู้จักกองทัพปิยรูปสาตรูปเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว เสวยสุขในพระอรหัตที่นับได้ว่าบรรลุถึงประโยชน์เป็นธรรมสงบแห่งใจ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความชื่นชมฉันมิตรกับชน ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ พยาน [ความเป็นมิตร] ของเราจึงไม่ถึงพร้อมแม้ด้วยการไม่กระทำ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 83
บทว่า กถํ วิหารีพหุโล ได้แก่ อยู่มากด้วยการอยู่อย่างไหน. บทว่า อลทฺธา แปลว่าไม่ได้แล้ว. บทว่า โย เป็นเพียงนิบาต. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า กามสัญญาทั้งหลาย ไม่ได้คือไม่รุมล้อมบุคคลนั้น ผู้เพ่งมากด้วยฌานอย่างไหน.
บทว่า ปสฺสทฺธกาโย ได้แก่ ที่ชื่อว่า มีกายสงบแล้วเพราะกายคืออัสสาสปัสสาสะสงบแล้วด้วยจตุตถฌาน. บทว่า สุวิมุตฺตจิตฺโต ได้แก่ ชื่อว่ามีจิตหลุดพ้นด้วยดี ด้วยวิมิตติสัมปยุตด้วยพระอรหัตตผล. บทว่า อสงฺขราโน ได้แก่ไม่ปรุงแต่งอภิสังขารคือกรรม ๓. บทว่า อโนโก แปลว่า ไม่มีความอาลัย. บทว่า อญฺาย ธมฺมํ ได้แก่รู้ธรรม คือ สัจจะ ๔. บทว่า อวิตกฺกชฺฌายี ได้แก่เพ่งด้วยจตุตถฌานอันไม่มีวิตก. ในบทว่า น กุปฺปติ เป็นต้น เมื่อถือเอากิเลสที่เป็นมูล ๓ เหล่านี้คือ ไม่ขุ่นเคือง เพราะโทสะ ไม่ฟุ้งซ่านเพราะราคะ ไม่หดหู่เพราะโมหะ ก็เป็นอันท่านถือเอากิเลส ๑,๕๐๐ นั่นแล. อีกนัยหนึ่ง ท่านถือเอาพยาบาทนิวรณ์ ด้วยบทว่า ๑. กามฉันทนิวรณ์ด้วยบทที่ ๒. นิวรณ์ที่เหลือมีถีนะเป็นต้น ด้วยบทที่ ๓ ทรงแสดงพระขีณาสพแม้ด้วยการละนิวรณ์นี้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ปญฺโจฆติณฺโณ ได้แก่ ข้ามโอฆะคือกิเลสที่เป็นไปในทวารทั้ง ๕. บทว่า ฉฏฺํ ได้แก่ ทรงข้ามโอฆะคือกิเลสที่ ๖ แม้ที่เป็นไปในมโนทวาร. พึงทราบสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ด้วยปัญโจฆศัพท์ สังโยชน์เบื้องบน ๕ ด้วยฉัฏฐศัพท์. บทว่า คณสงฺฆจารี ความว่า พระศาสดาชื่อว่า คณสังฆจารี เพราะทรงเที่ยวไปในคณะและสงฆ์. บทว่า อทฺธา จริสฺสนฺติ ได้แก่ชนผู้มีศรัทธาแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็จักเที่ยวไป โดยส่วนเดียว บทว่า อยํ ได้แก่ พระศาสดานี้. บทว่า อโนโก แปลว่าไม่อาลัย.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 84
บทว่า อจฺเฉชฺช เนสฺสติ ได้แก่ จักตัดขาดแล้วนำไป ท่านอธิบายว่า จักตัดขาดจากมือพระยามัจจุราชนำไปสู่ฝั่งคือพระนิพพาน. บทว่า นยมานานํ แก้เป็น นยมาเนสุ คือ เมื่อตถาคตนำไปอยู่.
บทว่า เสลํว สิรสิ โอหจฺจ ปาตาเล คาธเมสถ ความว่าเหมือนวางหินก้อนใหญ่ขนาดเรือนยอดไว้บนศีรษะแล้วเข้าไปยืนที่บาดาล. บทว่าว่า ขาณุํว อุรสาสชฺช ได้แก่ เหมือนเอาตอกระทุ้งอก. บทว่า อเปถ แปลว่า จงออกไป. ในที่นี้ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จบเทศนาด้วยคำว่า อิทมโวจ แล้วกล่าวคาถาว่า ททฺทฬฺหมานา เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า ททฺทฬฺหมานา แปลว่า รุ่งเรืองงามยิ่งนัก. บทว่า อาคญฺฉุํ ได้แก่มาแล้ว. บทว่า ปนุทิ แปลว่าขับไล่. บทว่า ตุลํ ภฏฺํว มาลุโต ความว่า ไล่ไปเหมือนลมพัดปุยงิ้วหรือปุยฝ้ายที่แตกออกจากผลพาไป ฉะนั้น.
จบอรรถกถามารธีตุสูตรที่ ๕
จบตติยวรรคที่ ๓ มารสังยุต เพียงเท่านี้
รวมสูตรในตติยวรรคที่สามมี ๕ สูตร คือ
๑. สัมพหุลสูตร ๒. สมิทธิสูตร ๓. โคธิกสูตร ๔. สัตตวัสสสูตร ๕. มารธีตุสูตร นี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้วกะมารธิดา พร้อมทั้งอรรถกถา
จบมารสังยุต