สติระลึกรู้
โดย nattawan  7 ก.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48070

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่สติระลึกรู้ได้ นึกคิดก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งให้สติระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่าสติจะต้องระลึกรู้เฉพาะเห็นหรือว่าระลึกเฉพาะคิดนึก แล้วแต่สติจะเกิดรู้ว่า ขณะนี้กำลังรู้ว่า เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สภาพที่เพียงเห็น เพราะเหตุว่ามีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692



ความคิดเห็น 1    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ค. 2567

ปุญญาภิสังขาร คือ เจตนาเจตสิก
ที่เป็นไปในกุศลธรรมที่เป็นกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล

อปุญญาภิสังขาร เป็นเจตนาที่เป็นไปในอกุศลธรรมทั้งหลาย

อเนญฌาภิสังขาร คือ เจตนาที่เป็นไปในอรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานที่มั่นคงไม่หวั่นไหว


ความคิดเห็น 2    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ค. 2567

ควรจะอบรมเจริญการสละวัตถุเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ให้เป็นผู้ที่สามารถจะสละได้โดยง่าย ไม่ใช่โดยยาก ไม่ใช่ว่าโดยที่จะต้องคิดแล้วคิดอีก คอยแล้วคอยอีก และในที่สุดก็ไม่สละ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691


ความคิดเห็น 3    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ค. 2567

กล่าวว่า ท่านพระปุณณะปฏิบัติหมายความว่า สติของท่านระลึกตามที่ท่านเข้าใจพระธรรมที่ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาค ที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินในขณะนี้

ปฏิบัติคือสติเกิด ไม่ใช่ว่ามีใครปฏิบัติ ไม่ใช่ท่านปุณณะ สติเป็นสติ สติไม่ใช่ท่านปุณณะท่านเห็นว่า สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวท่าน ถ้ายังเป็นสติของท่านก็ดับกิเลสไม่ได้

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652


ความคิดเห็น 4    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ค. 2567

ต้องมีการละการยึดถือว่า สภาพธรรมนั้นๆ เป็นเรา ถ้ายังไม่ละ ก็ไม่สามารถจะดับความเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าโลภะยังเข้ามาอย่างเงียบที่สุด โดยไม่รู้ตัวเลย เพราะเวลานี้โลภะก็มาเงียบๆ อยู่ตลอด แล้วแต่ว่าจะมาทางไหน จะมากับความเห็นผิด พอใจในความเห็นผิด พอใจในความไม่รู้ พอใจในการที่จะไม่ศึกษา นั่นก็เป็นเรื่องของโลภะทั้งนั้นที่จะทำให้ผิดจากปัญญา

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651


ความคิดเห็น 5    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ค. 2567

ขณะที่เสียดายก็แสดงถึงความเยื่อใยในวัตถุที่สละ เป็นเพียงวัตถุ สิ่งภายนอก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีใครสามารถยึดครองเป็นเจ้าของได้ตลอดไป

เพียงชั่วขณะที่ตาเห็นและก็เกิดความพอใจ แต่ขณะอื่นเมื่อไม่เห็น ก็เป็นเรื่องอื่นไปแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เยื่อใยของความเสียดายที่ยังมีอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ให้ไปแล้ว เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรม ก็ยังเสียดาย คิดดูซิคะเสียดายที่จะทิ้งไป เสียดายที่จะละไป เสียดายที่จะไม่มีตัวตน เสียดายที่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเราอีกต่อไป

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066


ความคิดเห็น 6    โดย เฉลิมพร  วันที่ 8 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 8 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ