เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติอยู่
โดย WS202398  6 มิ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 3921

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 275

ดูก่อนอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะอยู่ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นผู้มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะอยู่ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อย่างไร. ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในพระศาสนานี้พิจารณากายในกาย เป็นผู้มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติอยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย . . . พิจารณาจิตในจิต. . . พิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติอยู่กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. ดูก่อนอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นผู้มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะอยู่ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ ด้วยอาการอย่างนี้แล. ดูก่อนอานนท์ เพราะว่า ในกาลบัดนี้ก็ดี โดยการที่เราตถาคตล่วงลับไปแล้วก็ดี ภิกษุทั้งหลายพวกใดพวกหนึ่ง จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะอยู่ ไม่เป็นผู้มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จักมีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นสรณะอยู่ ไม่เป็นผู้มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ ภิกษุทั้งหลายพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาเหล่านี้นั้น จักเป็นผู้ประเสริฐสุดยอด ดังนี้แล. จบ คามกัณฑ์ ในมหาปรินิพพานสูตร

ขอความกรุณาอธิบายว่าชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียร มีลักษณะเช่นใด ความเพียรทำให้มีขึ้นได้หรือไม่สติ กับ สัมมชัญญะ คืออะไร ต่างกันอย่างไร ถ้าปีอุปมาช่วยก็ขอขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 7 มิ.ย. 2550

ผู้มีความเพียร หมายถึงผู้ที่มีความขยัน ไม่เกียจคร้าน มีอุตสาหะ ไม่เห็นแก่นอน ไม่ทอดธุระ สัมมาวายามะ สัมมัปปทาน ทั้งหมดเป็นชื่อของวิริยเจตสิก เป็นเจตสิก

ประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับกุศล และมีสติสัมปชัญญะ ถ้ากล่าวถึงวิริยเจตสิกเป็นสภาพ

ธรรม ไม่มีใครทำได้ แต่กล่าวโดยโวหารขณะที่วิริยเจตสิกกระทำหน้าที่ร่วมกับสติ

สัมปชัญญะว่า ผู้มีความเพียรสติเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งมีลักษณะระลึก สัมปชัญญะ

คือปัญญาเจตสิก มีลักษณะรู้ทั่ว ขอเชิญอ่านคำอธิบายจากอรรถกถา


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 7 มิ.ย. 2550

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 330

ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่า ย่อมระลึกเอง หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น. ก็สตินั้น ชื่อว่า อินทรีย์ ด้วยอรรถเป็นอธิบดีโดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วยสติ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการอุปการะ สตินั่นแหละเป็นอินทรีย์ชื่อว่า สตินทรีย์. ก็สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะ ก็สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะและมีการเข้าไปประคองไว้เป็นลักษณะ สติย่อมให้กำหนด ย่อมให้ระลึกกุศลกรรมโดยชอบ เหมือนขุนคลังของพระราชารักษารัตนะ ๑๐ อย่าง ย่อ ยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติในเวลาเย็นเวลาเช้า ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่า มหาบพิตร ขุนคลังของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมให้พระเจ้าจักรพรรดิให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้าว่า ข้าแต่เทวะ ช้างมีประมาณเท่านี้ ม้ามีประมาณเท่านี้รถมีประมาณเท่านี้ พลเดินเท้ามีประมาณเท่านี้ เงินมีประมาณเท่านี้ ทองมีประมาณเท่านี้ สมบัติทั้งปวงมีประมาณเท่านี้ ขอเทวะจงระลึกถึงอิสริยสมบัตินั้น ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อินทรีย์ ๔ เหล่านี้ พละ ๕ เหล่านี้ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้นี้อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา เหล่านี้เป็นอริยสัจนี้เป็นวิชชา นี้เป็นวิมุตติ เหล่านั้นเป็นโลกุตรธรรม มหาบพิตร สติมีการระลึกเป็นลักษณะอย่างนี้แล. ก็สติใคร่ครวญคติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ว่าไม่มีประโยชน์ย่อมบันเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมมีกายสุจริตเป็นต้นเหล่านี้เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์ เหมือนปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพระเจ้า-จักรพรรดิ ย่อมนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ย่อมน้อมเข้ามาซึ่งสิ่งเป็นประโยชน์ ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระถึงถวายพระพรพระราชาว่ามหาบพิตร ปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าจักรพรรดิว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่พระราชาสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปการะ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปการะดังนี้ จากนั้นก็จะบันเทา (กำจัด) สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคอง สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติฉันนั้นเหมือนกันแลเมื่อเกิดขึ้น ย่อมใคร่ครวญสติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ จากนั้นย่อมบันเทา (กำจัด) ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์มหาบพิตร สติมีการประคับประคองเป็นลักษณะอย่างนี้แล.


ความคิดเห็น 3    โดย study  วันที่ 7 มิ.ย. 2550

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 332 ปชานาตีติ ปญฺญา ธรรมที่ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่าย่อมรู้ทั่ว. ถามว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอะไร? ตอบว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอริยสัจทั้งหลายโดยนัยมีคำว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ชื่อว่า ปัญญาเพราะอรรถว่า ย่อมให้รู้ ถามว่า ย่อมให้รู้อะไร? ตอบว่า ย่อมให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. ก็ปัญญานั้น ชื่อว่า อินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นอธิบดีเพราะครอบงำอวิชชา อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งการเห็น. ปัญญานั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่า ปัญญินทรีย์.ก็ปัญญานี้นั้นมีการส่องแสงเป็นลักษณะ. และมีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลจุดประทีปให้สว่างในเวลากลางคืนในบ้านที่มีฝา ๔ ด้านความมืดย่อมหมดไป แสงสว่างย่อมปรากฏฉันใด ปัญญามีการส่องสว่างฉันนั้นเหมือนกัน. ธรรมดาแสงสว่างเสมอด้วยแสงสว่างของปัญญาย่อมไม่มี. จริงอยู่เมื่อมหาบุรุษผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์หนึ่ง หมื่นโลกธาตุก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่ามหาบพิตร ในเวลาที่มืดค่ำแล้ว บุรุษพึงเอาประทีปเข้าไปวางไว้ในบ้านประทีปที่นำเข้าไปแล้วย่อมกำจัดความมืด ย่อมยังโอภาสให้เกิดขึ้น ย่อมยังแสงสว่างให้รุ่งโรจน์ ย่อมทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏ ฉันใด มหาบพิตร ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคือ อวิชชา ย่อมยังโอภาสคือวิชชาให้เกิด ย่อมยังแสงสว่างคือญาณให้รุ่งโรจน์ และย่อมทำอริยสัจจะทั้งหลายให้ปรากฏ มหาบพิตร ปัญญามีการส่องสว่างเป็นลักษณะด้วยประการฉะนี้แล. อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ทีดำและขาว และที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ เหมือนแพทย์ผู้ฉลาดย่อมรู้เภสัชเป็นต้นที่เป็นที่ สบายและไม่สบายแก่บุคคลผู้ป่วย ฉะนั้น. สมดังคำพระธรรมเสหาบดีกล่าวไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส ธรรมชาติใดย่อมรู้ทั่ว เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า ปัญญา. ถามว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอะไร? ตอบว่า ย่อมรู้ทั่วว่า นี้ทุกข์เป็นต้น ข้อความนี้บัณฑิตพึงให้พิสดาร. พึงทราบความที่ปัญญานั้นมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะด้วยประการฉะนี้. อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะ หรือการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะดุจการแทงของลูกศรที่นายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไปฉะนั้น มีการส่องให้เห็นอารมณ์เป็นรสดุจประทีป มีการไม่หลงใหลเป็นปัจจุปัฏฐานดุจผู้ชี้ทางแก่บุคคลไปมาฉะนั้น.

ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะระลึก ชื่อว่า สัมปชัญญะ เพราะรู้ตัวอธิบายว่า ย่อมรู้โดยประการต่างๆ รอบด้าน ก็บรรดาธรรมทั้ง ๒ นั้น พึงทราบสัมปชัญญะ ๔ ประเภทเหล่านี้ คือ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะโคจรสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะ ส่วนธรรมมีลักษณะเป็นต้นของสติและสัมปชัญญะเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในสตินทรีย์ และปัญญินทรีย์นั่น- แหละ คู่ธรรมนี้ ตรัสไว้ในหนหลังแล้ว ในที่นี้ตรัสไว้อีกด้วยสามารถแห่งความเป็นธรรมมีอุปการะด้วยประการฉะนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 7 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความเพียร (วิริยเจตสิก) ที่เป็นไปในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเกิดกับจิตที่

เป็นกุศล (วิริยเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตก็ได้) ซึ่งอธิบายให้เข้าใจคือ เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้เอง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้น ก็มีวิริยเจตสิก ความเพียรเกิดขึ้นพร้อม โดยที่ไม่ต้องไปพยายามทำความเพียรครับ เพียรที่อกุศลที่ยังไม่เกิดเไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น หรือ ย่อมประคอง เพียรที่รู้ลักษณะของสภาพธัมมะที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา (สติปัฏฐาน)

สติ กับ สัมมชัญญะ คืออะไร ต่างกันอย่างไร

สติเป็นสติเจตสิก ทำหน้าที่ระลึก ผ สัมปชัญญะเป็นปัญญาเจตสิก ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 509 [๘๖๕] สติ เป็นไฉน? สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติอันใด นี้เรียกว่า สติ
.
สัมปชัญญะ เป็นไฉน ? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมา- ทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ. ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 5    โดย อิสระ  วันที่ 8 มิ.ย. 2550
ขออนุโมทนาครับ