[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 370
๔. ฉัททันตชาดก
ว่าด้วยพญาช้างฉันทันต์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 370
๔. ฉัททันตชาดก
ว่าด้วยพญาช้างฉันทันต์
[๒๓๒๗] ดูก่อนพระน้องนาง ผู้มีพระสรีระ อร่ามงามดังทอง มีผิวพรรณผ่องเหลืองเรืองรอง พระเนตรทั้งสองแจ่มใส เหตุไรหนอ พระน้องจึงดูเศร้าโศก ซูบไป ดุจดอกไม้ที่ถูกขยี้ ฉะนั้น
[๒๓๒๘] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันแพ้ พระครรภ์ โดยการแพ้พระครรภ์เป็นเหตุให้หม่อมฉัน ฝันเห็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่าย.
[๒๓๒๙] กามสมบัติของมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในโลกนี้ และในสวนนันทนวัน กามสมบัติทั้งหมดนั้น เป็นของเราทั้งสิ้น เราหาให้เธอได้ทั้งนั้น.
[๒๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายพราน ป่าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในแว่นแคว้นของพระองค์ จง มาประชุมพร้อมกัน หม่อมฉันจะแจ้งเหตุ ที่แพ้พระ ครรภ์ของหม่อมฉัน ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทราบ.
[๒๓๓๑] ดูก่อนเทวี นายพรานป่าเหล่านี้ ล้วนแต่มีฝีมือ เป็นคนแกล้วกล้า ชำนาญป่า รู้จักชนิดของ เนื้อ ยอมสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเราได้.
[๒๓๓๒] ท่านทั้งหลายผู้เป็นเชื้อแถวของนายพราน ที่มาพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงฟังเรา เราฝันเห็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 371
ช้างเผือกผ่อง งามีรัศมี ๖ ประการ ฉันต้องการงาช้าง คู่นั้น เมื่อไม่ได้ ชีวิตก็เห็นจะหาไม่.
[๒๓๓๓] บิดา หรือปู่ทวด ของข้าพระองค์ ทั้งหลาย ก็ยังไม่เคยเห็น ทั้งยังไม่เคยได้ยินว่า พญาช้างที่มีงามีรัศมี ๖ ประการ พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็น พญาช้างมีลักษณะเช่นไร ขอได้ตรัสบอกพญาช้างที่มี ลักษณะเช่นนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า.
[๒๓๓๔] ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เบื้องบน ๑ เบื้องล่าง ๑ ทิศทั้ง ๑๐ นี้ พระองค์ทรงนิมิตเห็น พญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการ อยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า?
[๒๓๓๕] จากที่นี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ ลูก เขาลูกสูงที่สุด ชื่อสุวรรณปัสสคิรี มี พรรณไม้ผลิดอกออกบานสะพรั่ง มีฝูงกินนรเที่ยว สัญจรไปมาไม่ขาด.
ท่านจงขึ้นไปบนภูเขาอันเป็นที่อยู่แห่งหมู่กินนร แล้วมองลงมาตามเชิงเขา ทันใดนั้น จะได้เห็นต้นไทร ใหญ่ สีเสมอเหมือนสีเมฆ มีย่านไทร๘,๐๐๐ห้อยย้อย.
ใต้ต้นไทรนั้น พญาเศวตกุญชรซึ่งมีงารัศมี ๖ ประการอยู่อาศัย ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่จับได้ ช้าง ประมาณ ๘,๐๐๐ มีงาเท่างอนไถ วิ่งไล่เร็วปานลมพัด พากันแวดล้อมรักษาพญาเศวตกุญชรนั้นอยู่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 372
ช้างเหล่านั้น ย่อมบันลือเสียงน่าหวาดกลัว โกรธแม้แต่ลมที่พัดถูกตัว ถ้าเห็นมนุษย์ ณ ที่นั้น เป็นต้องขยี้เสีย ให้เป็นภัสมธุลี แม้แต่ละอองก็ไม่ ถูกต้องพญาช้างได้เลย.
[๒๓๓๖] ข้าแต่พระราชเทวี เครื่องอาภรณ์ที่ แล้วไปด้วยเงิน แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ มีอยู่ในราชสกุลมากมาย เหตุไร พระแม่เจ้า จึงทรง พระประสงค์เอางาช้างมาทำเป็นเครื่องประดับเล่า พระแม่เจ้าทรงปรารถนาจะให้ฆ่าพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการเสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่าพวกเชื้อแถว ของนายพรานเสียกระมัง.
[๒๓๓๗] ดูก่อนนายพราน เรามีทั้งความริษยา ทั้งความน้อยใจ เพราะนึกถึงความหลังเข้าก็ตรอมใจ ขอท่านจงทำตามความประสงค์ของเรา เราจักให้บ้าน ส่วยแก่ท่าน ๕ ตำบล.
[๒๓๓๘] พญาช้างนั้นอยู่ที่ตรงไหน เข้าไปยืน อยู่ที่ไหน ทางไหนเป็นทางที่พญาช้างไปอาบน้ำ อนึ่ง พญาช้างนั้นอาบน้ำอย่างไร ทำไฉน ข้าพระพุทธเจ้า จึงจะรู้คติของพญาช้างได้?
[๒๓๓๙] ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ ไกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ ทั้งน้ำก็มาก สะพรั่ง ไปด้วยพรรณไม้ดอก มีหมู่ภมรมาเคล้าคลึง พญาช้าง ลงอาบน้ำในสระนี้แหละ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 373
พญาช้างชำระศีรษะแล้ว ทัดทรงมาลัยอุบล มี ร่างเผือกผ่องขาวราวกะดอกบุณฑริกบันเทิงใจ ให้ มเหสีชื่อว่า สัพพสุภัททา เดินหน้า ดำเนินไปยังที่อยู่ ของตน.
[๒๓๔๐] นายพรานนั้น ยึดเอาพระเสาวนีย์ของ พระนางสุภัททาราชเทวี ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ที่นั่นเอง แล้วถือเอาแล่งลูกธนู ข้ามภูเขาใหญ่ทั้งเจ็ดลูกไป จนถึงลูกที่ชื่อว่า สุวรรณปัสสบรรพตอันสูงโดด.
เขาขึ้นไปสู่บรรพต อันเป็นที่อยู่ของกินนรแล้ว มองลงมายังเชิงเขา ได้เห็นต้นไทรใหญ่ สีเขียวดัง สีเมฆ มีย่านไทร ๘,๐๐๐ ห้อยย้อย ที่เชิงเขานั้น.
ทันใดนั่นเอง ก็ได้เห็นพญาช้างเผือกขาวผ่อง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการ ยากที่คนเหล่าอื่นจะจับได้ มี ช้างประมาณ ๘,๐๐๐เชือก ล้วนแต่มีงางามงอน ขนาด งอนไถ วิ่งไล่เร็วดุจลมพัด แวดล้อมรักษาพญาช้าง นั้นอยู่.
และได้เห็นสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ของพญาช้างนั้น ทั้งท่าน้ำก็ราบเรียบ น้ำมากมาย มีพรรณดอกไม้บานสะพรั่ง มีหมู่ภมรเที่ยวเคล้าคลึง อยู่.
ครั้นเห็นทางที่พญาช้างลงอาบน้ำ จนกระทั่งที่ ซึ่งพญาช้างเดิน ยืนอยู่ และทางที่พญาช้างลงอาบน้ำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 374
ก็แลนายพรานผู้มีใจลามก ถูกพระนางสุภัททาผู้ตกอยู่ ในอำนาจจิตทรงใช้มา ก็มาจัดแจงตระเตรียมหลุม.
[๒๓๔๑] นายพรานผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า ขุด หลุมเอากระดานปิดเสร็จแล้ว สอดธนูไว้ เอาลูกศร ลูกใหญ่ ยิงพญาช้างที่มายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
พญาช้างถูกยิงแล้ว ก็ร้องก้องโกญจนาท ช้าง ทั้งหมดพากันบันลืออื้ออึง ต่างพากันวิ่งมารอบๆ ทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุณไป.
พญาช้างเอาเท้ากระชุ่นดิน ด้วยคิดว่า เราจักฆ่า นายพรานคนนี้ แต่ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็น ธงชัยของพระฤาษี ก็เกิดความรู้สึกว่า ธงชัยของพระ อรหันต์ อันสัตบุรุษไม่ควรทำลาย.
[๒๓๔๒] ผู้ใดยังไม่หมดกิเลส ปราศจากทมะ และสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.
ส่วนผู้ใด คลายกิเลสได้แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลควรนุ่งห่มผ้า กาสาวะ.
[๒๓๔๓] พญาช้างถูกลูกศรใหญ่ เสียบเข้าแล้ว ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ได้ถามนายพรานว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านประสงค์อะไร เพราะเหตุอะไร หรือว่าใครใช้ ให้ท่านมาฆ่าเรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 375
[๒๓๔๔] ดูก่อนพญาช้างที่เจริญ นางสุภัททา พระมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช อันประชาชนสักการะ บูชาอยู่ในราชสกุล พระนางได้ทรงนิมิตเห็นท่าน และได้โปรดให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้าแล้ว ตรัสบอก ข้าพเจ้าว่า มีพระประสงค์งาทั้งคู่ของท่าน.
[๒๓๔๕] แท้จริงพระนางสุภัททา ทรงทราบ ดีว่า งางามๆ แห่งบิดาและปู่ทวดของเรา มีอยู่เป็น อันมาก แต่พระนางเป็นคนพาล โกรธเคือง ผูกเวร ต้องการจะฆ่าเรา.
ดูก่อนนายพราน ท่านจงลุกขึ้นเถิด จงหยิบเลื่อย มาตัดงาคู่นี้เถิด ประเดี๋ยวเราจะตายเสียก่อน ท่านจง กราบทูลพระนางสุภัททาผู้ยังผูกโกรธว่า พญาช้างตาย แล้ว เชิญพระนางรับงาคู่นี้ไว้เถิด.
[๒๓๔๖] นายพรานนั้นรีบลุกขึ้นจับเลื่อย เลื่อย งาพญาช้างทั้งคู่อันงดงามวิลาส หาที่เปรียบมิได้ ใน พื้นปฐพี แล้วรีบถือหลีกออกจากที่นั้นไป.
[๒๓๔๗] ช้างเหล่านั้นตกใจ ได้รับความเสียใจ เพราะพญาช้างถูกยิง พากันวิ่งไปยังทิศทั้ง ๘ เมื่อไม่ เห็นปัจจามิตรของพญาช้าง ก็พากันกลับมายังที่อยู่ของ พญาช้าง.
[๒๓๔๘] ช้างเหล่านั้น พากันคร่ำครวญ ร่ำไห้อยู่ ณ ที่นั้น ต่างเกลี่ยอังคารขึ้นบนกระพองของตนๆ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 376
แล้วยกเอานางช้างสัพพภัททาตัวเป็นมเหสี ให้เป็นหัว หน้าพากันกลับยังที่อยู่ของตนทั้งหมด.
[๒๓๔๙] นายพรานนั้นนำงาทั้งคู่ของพญาคชสาร อันอุดมไพศาลงดงาม ไม่มีงาอื่นในพื้นปฐพี จะ เปรียบได้ ส่องรัศมีดุจสีทอง สว่างไสวไปทั่วทั้ง ไพรสณฑ์ มาถึงยังพระนครกาสีแล้ว น้อมนำงาทั้งคู่ เข้าไปถวายพระนางสุภัททา กราบทูลว่า พญาช้าง ล้มแล้ว ขอเชิญพระนางทอดพระเนตรงาทั้งคู่นี้เถิด.
[๒๓๕๐] พระนางสุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอด พระเนตรเห็นงาทั้งสองของพญาคชสารอันอุดม ซึ่ง เป็นปิยภัสดาของตนในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนาง แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง ด้วยเหตุนั้นแล พระนาง จึงได้สวรรคต.
[๒๓๕๑] พระบรมศาสดาได้บรรลุพระสัมโพธิ- ญาณแล้ว มีอานุภาพมา ได้ทรงทำการแย้มในท่าม กลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากัน กราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาได้ทรงทำ การแย้มให้ปรากฏโดยไร้เหตุผลไม่.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายจงดู กุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติ อนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแล เป็นนางสุภัททา ในกาลนั้น เราตถาคต เป็นพญาช้างในกาลนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 377
นายพรานผู้ถือเอางาทั้งคู่ ของพญาคชสารอัน อุดม หางาอื่นเปรียบปานมิได้ในปฐพี กลับมายัง พระนครกาสีในกาลนั้นเป็นเทวทัต.
พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วย พระองค์เองแล้วได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็นของ เก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่งพระองค์ท่องเที่ยวไปตลอด กาลนาน เป็นบุรพจรรยทั้งสูง ทั้งต่ำ ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้น เราเป็นพญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น เธอทั้งหลายจง ทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบฉันทันตชาดกที่ ๔
อรรถกถาฉัททันตชาดก
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ ภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กึ นุ โสจสิ ดังนี้.
เล่ากันมาว่า นางภิกษุณีนั้นเป็นธิดาของตระกูลหนึ่ง ในพระนคร สาวัตถี เห็นโทษในฆราวาสแล้วออกบวชในพระศาสนา วันหนึ่งไปเพื่อจะ ฟังธรรม พร้อมกับพวกนางภิกษุณี เห็นพระรูปโฉมอันบังเกิดขึ้นด้วยบุญญา-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 378
นุภาพหาประมาณมิได้ กอปรด้วยพระรูปสมบัติอันอุดมของพระทศพล ซึ่ง ประทับเหนือธรรมาสน์อันอลงกต กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ได้เคยเป็นบาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้หรือไม่ หนอ? ในทันใดนั้นเอง นางก็เกิดระลึกชาติในหนหลังได้ว่า เราเคยเป็น บาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้ ในคราวที่ท่านเป็นพญาช้างฉัททันต์ เมื่อนาง ระลึกได้เช่นนั้น ก็บังเกิดปีติปราโมทย์ใหญ่ยิ่ง. ด้วยกำลังแห่งความปีติยินดี นางจึงหัวเราะออกมาดังๆ แล้วหวนคิดอีกว่า ขึ้นชื่อว่าบาทบริจาริกาที่มี อัธยาศัยมุ่งประโยชน์ต่อสามีมีน้อย มิได้มุ่งประโยชน์แลมีมาก เราได้มีอัธยาศัย มุ่งประโยชน์ต่อบุรุษนี้ หรือหาไม่หนอ. นางระลึกไปพลางก็ได้เห็นความจริงว่า แท้จริง เราสร้างความผิดไว้ในหทัยมิใช่น้อย ค่าที่ใช้นายพรานโสณุดรให้เอา ลูกศรอาบด้วยยาพิษ ยิงพญาช้างฉัททันต์ สูงประมาณ ๑๒๐ ศอก ให้ถึง ความตาย. ทันใดนั้นความเศร้าโศกก็บังเกิดแก่นาง ดวงหทัยเร่าร้อน ไม่ สามารถจะกลั้นความเศร้าโศกไว้ได้ จึงร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยเสียงอันดัง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงแย้มให้ปรากฏ อันภิกษุสงฆ์ ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการ ทรงทำความแย้มให้ปรากฏ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีสาวผู้นี้ ระลึกถึงความผิดที่เคยทำต่อเรา ในชาติก่อนเลยร้องไห้ แล้วทรงนำอดีตนิทาน มาตรัสดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ อาศัยสระฉัททันต์ อยู่ในป่าหิมพานต์. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นลูก ของช้างจ่าโขลง มีสีกายเผือกผ่อง ปากแลเท้าสีแดง ต่อมาเมื่อเจริญวัยขึ้น สูงได้ ๘๘ ศอก ยาว ๑๒๐ ศอก ประกอบด้วยงวงคล้ายกับพวงเงิน ยาวได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 379
๕๘ ศอก ส่วนงาทั้งสองวัดโดยรอบได้ ๑๕ ศอก ส่วนยาว ๓๐ ศอก ประกอบ ด้วยรัศมี ๖ ประการ. พระโพธิสัตว์นั้นเป็นหัวหน้าช้าง แห่งช้าง ๘,๐๐๐ เชือก บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์. อัครมเหสีของพระโพธิสัตว์นั้นมีสอง ชื่อ จุลลสุภัททา ๑ มหาสุภัททา ๑. พญาช้างนั้น มีช้างถึง ๘,๐๐๐ เชือก เป็น บริวารอยู่ในกาญจนคูหา. อนึ่ง สระฉัททันต์นั้น ทั้งส่วนยาวส่วนกว้างประมาณ ๕๒ โยชน์ ตรงกลางลึกประมาณ ๑๒ โยชน์ ไม่มีสาหร่าย จอกแหน หรือ เปลือกตมเลย เฉพาะน้ำขังอยู่ มีสีใสเหมือนก้อนแก้วมณี ถัดจากนั้นมีกอ จงกลนีแผ่ล้อมรอบ กว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากกอจงกลนีนั้น มีกออุบลเขียว ตั้งล้อมรอบกว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากนั้น ที่กว้างแห่งละหนึ่งโยชน์ มีกอ อุบลแดง อุบลขาว ปทุมแดง ปทุมขาว และโกมุท ขึ้นล้อมอยู่โดยรอบ อนึ่ง ระหว่างกอบัว ๗ แห่งนี้ มีกอบัวทุกชนิด เป็นต้นว่า จงกลนีสลับกันขึ้น ล้อมรอบ มีปริมณฑลกว้างได้หนึ่งโยชน์เหมือนกัน. ถัดออกมาถึงน้ำลึกแค่ สะเอวช้าง มีป่าข้าวสาลีแดงขึ้นแผ่ไปได้โยชน์หนึ่ง ถัดออกมาถึงชายน้ำที่กว้าง โยชน์หนึ่งเหมือนกัน มีกอตะไคร่น้ำ เกลื่อนกลาดด้วยดอกสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว กลิ่นหอมฟุ้งขจรไป. ป่าไม้ ๑๐ ชนิดเหล่านี้ มีเนื้อที่หนึ่งโยชน์ เท่ากัน ด้วยประการฉะนี้. ต่อจากนั้นไป มีป่าแตงโม ฟักเหลือง น้ำเต้า และฟักแฟง. ต่อจากนั้นมีป่าอ้อย ขนาดลำเท่าต้นหมาก. ต่อจากนั้นมีป่ากล้วย ผลโตขนาดเท่างาช้าง. ต่อจากนั้นมีป่าไม้รัง ป่าขนุนหนัง ผลโตขนาดเท่าตุ่ม. ถัดไปมีป่าขนุนสำมะลอ อันมีผลอร่อย. ถัดไปมีป่ามะขวิด. ถัดไปมีไพรสณฑ์ ใหญ่ มีพันธุ์ไม้ระคนปนกัน. ถัดไปมีป่าไม้ไผ่ นี้เป็นความสมบูรณ์แห่งสระ ฉัททันต์ในสมัยนั้น. และในอรรถกถาสังยุตตนิกาย ท่านก็พรรณนาความ สมบูรณ์ อันมีอยู่ในปัจจุบันนี้ไว้เหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 380
อนึ่ง มีภูเขาตั้งล้อมรอบป่าไม้ไผ่อยู่ถึง ๗ ชั้น นับแต่รอบนอกไป ภูเขาลูกที่หนึ่งชื่อ จุลลกาฬบรรพต ที่สองชื่อ มหากาฬบรรพต ที่สามชื่อ อุทกปัสสบรรพต ที่สี่ชื่อ จันทปัสสบรรพต ที่ห้าชื่อ สุริยปัสสบรรพต ที่หกชื่อ มณีปัสสบรรพต ที่เจ็ดชื่อ สุวรรณปัสสบรรพต.
สุวรรณปัสสบรรพตนั้น สูงถึง ๗ โยชน์ ตั้งล้อมรอบสระฉัททันต์ เหมือนขอบปากบาตร ด้านในสุวรรณปัสสบรรพตนั้นมีสีเหมือนทอง. เพราะ ฉายแสงออกจากสุวรรณปัสสบรรพตนั้น สระฉัททันต์นั้น ดูประหนึ่งแสงอาทิตย์อ่อนๆ เรืองรองแรกอุทัย. อนึ่ง ในภูเขาที่ตั้งถัดมาภายนอก ภูเขาลูก ที่ ๖ สูง ๖ โยชน์ ที่ ๕ สูง ๕ โยชน์ ที่ ๔ สูง ๔ โยชน์ ที่ ๓ สูง ๓ โยชน์ ที่ ๒ สูง ๒ โยชน์ ที่ ๑ สูง ๑ โยชน์. ที่มุมด้านทิศอีสานแห่งสระฉัททันต์ อันมีภูเขา ๗ ชั้น ล้อมรอบอยู่อย่างนี้ มีต้นไทรใหญ่ตั้งอยู่ในโอกาสที่น้ำและลม ถูกต้องได้. ลำต้นไทรนั้นวัดโดยรอบได้ ๕ โยชน์ สูง ๗ โยชน์ มีกิ่งยาว ๖ โยชน์ ทอดไปในทิศทั้ง ๔ แม้กิ่งที่พุ่งตรงขึ้นบน ก็ยาวได้ ๖ โยชน์ เหมือนกัน. วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูงได้ ๑๓ โยชน์ วัดโดยรอบปริมณฑลกิ่งได้ ๑๒ โยชน์ ประดับด้วยย่านไทรแปดพัน ตั้งตระหง่าน ดูเด่นสง่าคล้ายภูเขา มณีโล้น.
อนึ่ง ในด้านทิศปัจฉิมแห่งสระฉัททันต์ ที่สุวรรณปัสสบรรพต มี กาญจนคูหาใหญ่ประมาณ ๑๒ โยชน์. ถึงฤดูฝน พญาช้างฉัททันต์ มีช้าง ๘,๐๐๐เป็นบริวาร จะพำนักอยู่ในกาญจนคูหา, ในฤดูร้อนก็มายืนรับลมและ น้ำอยู่ระหว่างย่านไทร โคนต้นนิโครธใหญ่. ต่อมาวันหนึ่ง ช้างทั้งหลายมา แจ้งว่า ป่ารังใหญ่ดอกบานแล้ว. พญาฉัททันต์คิดว่า เราจักเล่นกีฬาดอกรัง พร้อมทั้งบริวารไปยังป่ารังนั้น เอากระพองชนไม้รังต้นหนึ่ง ซึ่งมีดอกบาน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 381
สะพรั่ง. นางจุลลสุภัททายืนอยู่ด้านเหนือลม. ใบรังที่เก่าๆ ติดกับกิ่งแห้งๆ และมดแดงมดดำ จึงตกต้องสรีระของนาง. นางมหาสุภัททายืนอยู่ด้านใต้ลม เกสรดอกไม้และใบสดๆ ก็โปรยปรายตกต้องสรีระของนาง. นางจุลลสุภัททา คิดว่า พญาช้างนี้ โปรยปรายเกสรดอกไม้และใบสดๆ ให้ตกต้องบนสรีระ ภรรยาที่ตนรักใคร่โปรดปราน ในเรือนร่างของเราสิ ให้ใบไม้เก่าติดกับกิ่ง แห้งๆ ทั้งมดแดงมดดำหล่นมาตกต้อง เราจักตอบแทนให้สาสม แล้วจองเวร ในพระมหาสัตว์เจ้า.
อยู่มาวันหนึ่ง พญาช้างพร้อมด้วยบริวาร ลงสู่สระฉัททันต์ เพื่อ ต้องการอาบน้ำ. ขณะนั้น ช้างหนุ่ม ๒ เชือก เอางวงกำหญ้าไทรมาให้ พญาช้าง ชำระขัดสีกาย คล้ายกับแย้งกวาดยอดเขาไกรลาสฉะนั้น. ครั้นพญาช้างอาบน้ำ ขึ้นมาแล้ว จึงให้นางช้างทั้งสองลงอาบ ครั้นนางช้างทั้งสองขึ้นมาแล้ว พากัน ไปยืนเคียงพระมหาสัตว์เจ้า. ต่อแต่นั้น ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ก็ลงสระ เล่นกีฬาน้ำ แล้วนำเอาดอกไม้นานาชนิดมาจากสระ ประดับตบแต่งพระมหาสัตว์เจ้า คล้ายกับประดับสถูปเงิน ฉะนั้น เสร็จแล้วประดับนางช้างต่อภายหลัง. คราวนั้น มีช้างเชือกหนึ่ง เที่ยวไปในสระได้ดอกปทุมใหญ่ มีกลีบ ๗ ชั้น จึงนำมา มอบแด่พระมหาสัตว์เจ้า. พญาช้างฉัททันต์เอางวงรับดอกปทุมมา โปรย เกสรลงที่กระพอง แล้วยื่นให้แก่นางมหาสุภัททาผู้เชษฐภรรยา. นางจุลลสุภัททาเห็นดังนั้น จึงคิดน้อยใจว่า พญาช้างนี้ให้ดอกปทุมใหญ่ กลีบ ๗ ชั้น แม้นี้ แก่ภรรยาที่รักโปรดปรานแต่ตัวเดียว ส่วนเราไม่ให้ จึงได้ผูกเวรใน พระมหาสัตว์ซ้ำอีก.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพญาช้างโพธิสัตว์ จัดปรุงผลมะซางและเผือก มันด้วยน้ำผึ้ง ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ ให้ฉัน นางจุลลสุภัททาได้ถวาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 382
ผลาผลที่ตนได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ดิฉันเคลื่อนจากอัตภาพนี้ ในชาตินี้แล้ว ขอให้ได้บังเกิดในตระกูล มัททราช และได้นามว่า สุภัททาราชกัญญา ครั้นเจริญวัยแล้ว ขอให้ได้เป็น อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระองค์ จน สามารถทำอะไรได้ตามชอบใจ และสามารถจะทูลท้าวเธอให้ทรงใช้นายพราน คนหนึ่ง มายิงช้างเชือกนี้ ด้วยลูกศรอาบยาพิษ จนถึงแก่ความตาย และให้ นำงาทั้งคู่อันเปล่งปลั่งด้วยรัศมี ๖ ประการมาได้. นับแต่วันนั้นมา นางช้าง จุลลสุภัททานั้นมิได้จับหญ้า จับน้ำ ร่างกายผ่ายผอมลง ไม่นานนักก็ล้มไป บังเกิดในพระครรภ์ แห่งพระอัครมเหสีของพระราชา ในแคว้นมัททรัฐ และ เมื่อประสูติออกมาแล้ว ชนกชนนีพาไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี นางเป็นที่ รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้าพาราณสี จนได้เป็นประมุขแห่งนางสนม หมื่นหกพันนาง ทั้งได้ญาณเครื่องระลึกชาติหนหลังได้. พระนางสุภัททานั้น ทรงดำริว่า ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว คราวนี้จักให้ไปเอางาทั้งคู่ของ พญาช้างนั้นมา. แต่นั้นพระนางก็เอาน้ำมันทาพระสรีระ ทรงผ้าเศร้าหมอง แสดงพระอาการเป็นไข้ เสด็จสู่ห้องสิริไสยาสน์ บรรทมเหนือพระแท่นน้อย พระเจ้าพาราณสีตรัสถามว่า พระนางสุภัททาไปไหน? ทรงทราบว่า ประชวร จึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพระแท่น ทรงลูบคลำปฤษฎางค์ของพระนาง แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑ ความว่า
ดูก่อนพระน้องนาง ผู้มีพระสรีระอร่ามงาม ดังทอง มีผิวพรรณผ่องเหลืองเรืองรอง พระเนตร ทั้งสองแจ่มใส เหตุไรหนอ พระน้องจึงดูเศร้าโศก ซูบไป ดุจดอกไม้ที่ถูกขยี้ ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 383
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุจฺจงฺคี ความว่า ผู้มีพระสรีระ อร่ามงามดังทอง. บทว่า มาลาว ปริมทฺทิตา ความว่า คล้ายดอกปทุม ถูกขยี้ด้วยมือ ฉะนั้น.
พระนางสุภัททาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาต่อไปความว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันแพ้พระครรภ์ โดย การแพ้พระครรภ์เป็นเหตุให้หม่อมฉันฝันเห็นสิ่งที่หา ไม่ได้ง่าย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น โส ความว่า ความแพ้พระครรภ์ อันกระหม่อมฉันฝันเห็นเช่นใดนั้น. บทว่า สุปินนฺเตนุปจฺจคา ความว่า พระเทวีทูลว่า กระหม่อมฉันฝันเห็นเป็นนิมิต ในที่สุดแห่งการฝันจึงแพ้ พระครรภ์ สิ่งที่แพ้พระครรภ์เพราะฝันเห็นนั้น ใช่ว่าจะเป็นเหมือนสิ่งที่หา ได้ง่ายๆ ก็หามิได้ คือสิ่งนั้นหาได้โดยยาก แต่เมื่อหม่อมฉันไม่ได้สิ่งนั้น คงไม่มีชีวิตอยู่ได้.
พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
กามสมบัติของมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ และในสวนนันทนวัน กามสมบัติทั้งหมดนั้น เป็นของ เราทั้งสิ้น เราหาให้เธอได้ทั้งนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจุรา ความว่า ดูก่อนนางสุภัททา ผู้เจริญ กามสมบัติอันเป็นของมนุษย์ ที่พวกมนุษย์ปรารถนากันในโลกนี้ และรัตนะเจ็ดอย่างใดอย่างหนึ่งในนันทนวัน มีมากหาได้ง่าย คือกามคุณ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในมนุษยโลก เราจะให้วัตถุกามและกิเลสกามทั้งหมด นั้นแก่เธอ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 384
พระเทวีได้สดับดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ความแพ้ท้อง ของหม่อมฉันแก้ได้ยาก หม่อมฉันจะไม่ทูลให้ทราบก่อนในบัดนี้ ก็ใน แว่นแคว้นของทูลกระหม่อม มีพรานป่าอยู่จำนวนเท่าใด ได้โปรดให้มา ประชุมกันทั้งหมดเถิดพะย่ะค่ะ กระหม่อมฉันจักทูลให้ทรงทราบ ในท่ามกลาง พรานป่าเหล่านั้น แล้วตรัสคาถาในลำดับต่อไป ความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายพรานป่าเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในแว่นแคว้นของพระองค์ จงมาประชุม พร้อมกัน หม่อมฉันจะแจ้งเหตุ ที่แพ้พระครรภ์ของ หม่อมฉัน ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทราบ.
ใคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ในแคว้นของ ทูลกระหม่อม มีนายพรานจำพวกใด ซึ่งเป็นผู้สมควรอยู่ นายพรานทั้งหมด จำพวกนั้นจงประชุมกัน คือเรียกร้องกันมา หม่อมฉันจักบอก คือกล่าวชี้แจง ความแพ้ท้องของหม่อมฉัน อันมีอยู่อย่างใด แก่นายพรานเหล่านั้น.
พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสรับคำ แล้วเสด็จออกจากห้องบรรทม ตรัสสั่ง หมู่อำมาตย์ว่า นายพรานป่าจำนวนเท่าใด มีอยู่ในกาสิกรัฐอันมีอาณาเขต สามร้อยโยชน์ ขอท่านจงให้ตีกลองประกาศ ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทั้งหมด มาประชุมกัน. อำมาตย์เหล่านั้น ก็กระทำตามพระราชโองการ. ไม่นานเท่าใด นายพรานป่าชาวกาสิกรัฐ ต่างก็ถือเอาเครื่องบรรณาการตามกำลัง พากันมาเฝ้า ให้กราบทูลการที่พวกตนมาถึงให้ทรงทราบ. นายพรานป่าทั้งหมด ประมาณ หกหมื่นคน. พระราชาทรงทราบว่า พวกนายพรานมาแล้ว จึงประทับยืนอยู่ ที่พระบัญชร เมื่อจะชี้พระหัตถ์ตรัสบอกพระเทวี จึงตรัสพระคาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 385
ดูก่อนเทวี นายพรานป่าเหล่านี้ ล้วนแต่มีฝีมือ เป็นคนแกล้วกล้า ชำนาญป่า รู้จักชนิดของเนื้อ ยอม สละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเราได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิเม ความว่า ดูก่อนเทวี เธอให้ นายพรานเหล่าใดมาประชุมกัน นายพรานเหล่านั้นคือพวกนี้. บทว่า กตหตฺถา ความว่า ล้วนมีฝีมือคือฉลาด ได้รับการศึกษาจนช่ำชอง ในกระบวนการยิง และการตัดเป็นต้น.
บทว่า วิสารทา ความว่า เป็นผู้ปลอดภัย. บทว่า วนญฺญู จ มิคญฺญู จ ความว่า ชำนาญป่า และรู้ชนิดสัตว์. บทว่า มมตฺเถ ความว่า อนึ่ง พวกนายพรานทั้งหมดนี้. ยอมสละชีวิตในประโยชน์ของเราได้ คือเขา กระทำตามที่เราปรารถนาได้.
พระเทวีทรงสดับดังนั้น ตรัสเรียกพวกนายพรานมาแล้ว ตรัสคาถา ต่อไป ความว่า
ท่านทั้งหลาย ผู้เป็นเชื้อแถวของนายพราน ที่ มาพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงฟังเรา เราฝันเห็นช้าง เผือกผ่อง งามีรัศมี ๖ ประการ ฉันต้องการงาช้างคู่นั้น เมื่อไม่ได้ชีวิตก็เห็นจะหาไม่.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น ดังต่อไปนี้ พระนางเทวีตรัสว่า ท่าน ทั้งหลายผู้เป็นเทือกเถาเหล่าพรานไพร บรรดาที่มาพร้อมกัน ณ ที่นี้ จง ตั้งใจฟังคำของเรา.
บทว่า ฉพฺพิสาณํ ได้แก่ ช้างเผือก มีงามีรัศมี ๖ ประการ. เรา ฝันเห็นช้างเผือก มีงามีรัศมี ๖ ประการ เราฝันเห็นคชสารเห็นปานนี้ จึงมี ความต้องการงาทั้งสองของพญาช้างนั้น เมื่อไม่ได้ชีวิตก็เห็นจะหาไม่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 386
พวกบุตรพรานป่า ได้ฟังพระเสาวนีย์เช่นนั้น พากันกราบทูลว่า
บิดาหรือปู่ทวด ของข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็ยัง ไม่เคยได้เห็น ทั้งยังไม่เคยได้ยินว่า พญาช้างที่มีงา มีรัศมี ๖ ประการ พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็นพญาช้าง มีลักษณะเช่นไร ขอได้ตรัสบอกพญาช้างที่มีลักษณะ เช่นนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตูนํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่ง ตติยาวิภัตติ. มีคำอธิบายว่า พวกนายพรานกราบทูลว่า ขอเดชะ เศวตกุญชร งามีรัศมี ๖ ประการ ลักษณะเช่นนี้ บิดาหรือปู่ของพวกข้าพระพุทธเจ้า ก็ ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ฟัง ไม่จำต้องพูดถึงพวกข้าพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็นพญาช้างมีลักษณะเช่นใด ขอทรงโปรดตรัสบอก ลักษณะอาการที่ทรงนิมิตเห็นเช่นนั้น แก่พวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
พวกบุตรพรานไพร กล่าวแม้คาถาต่อไป ความว่า
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เบื้องบน ๔ เบื้องล่าง ๑ ทิศทั้ง ๑๐ นี้ พระองค์ทรงนิมิตเห็นพญาช้าง ซึ่งมีงา มีรัศมี ๖ ประการ อยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสา ได้แก่ ในทิศทั้งหลาย. บทว่า กตมํ ความว่า ในบรรดาทิศทั้งหลายเหล่านี้ พญาช้างอยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า.
เมื่อพวกพรานทูลถามอย่างนี้แล้ว พระนางเจ้าสุภัททาราชเทวี จึงทรง พินิจดูพรานป่าทั้งหมดในจำนวนนั้น ทรงเห็นพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อโสณุดร เคยเป็นคู่เวรของพระมหาสัตว์ ปรากฏเป็นเยี่ยมกว่าพรานทุกคน รูปทรงสัณฐาน ชั่วเห็นแจ้งชัด เช่นมีเท้าใหญ่ แข้งเป็นปมเช่นก้อนภัต เข่าโต สีข้างใหญ่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 387
หนวดดก เคราแดง ตาเหลือง จึงทรงดำริว่า ผู้นี้จักสามารถทำตามคำของ เราได้ แล้วกราบทูลขอพระบรมราชานุญาต ทรงพาพรานโสณุดรขึ้นไปยัง พื้นปราสาทชั้นที่เจ็ด ทรงเปิดสีหบัญชรด้านทิศอุดร แล้วเหยียดพระหัตถ์ ชี้ตรงไปยังป่าหิมพานต์ด้านทิศอุดร ได้ตรัสคาถา ๔ คาถา ความว่า
จากที่นี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ ลูก เขาลูกสูงที่สุดชื่อ สุวรรณปัสสคิรี มีพรรณไม้ผลิดอก ออกบานสะพรั่ง มีฝูงกินนรเที่ยวสัญจรไปมาไม่ขาด.
ท่านจงขึ้นไปบนภูเขาอันเป็นที่อยู่แห่งหมู่กินนร แล้วมองลงมาตามเชิงเขา ทันใดนั้น จะได้เห็นต้นไทร ใหญ่ สีเสมอเหมือนสีเมฆ มีย่านไทร ๘,๐๐๐ ห้อยย้อย.
ใต้ต้นไทรนั้น พญาเศวตกุญชรตัวนี้งามีรัศมี ๖ ประการอยู่อาศัย ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่จับได้ ช้าง ประมาณ ๘,๐๐๐ มีงาเท่างอนไถ วิ่งไล่เร็วปานลมพัด พากันแวดล้อมรักษาพญาเศวตกุญชรนั้นอยู่.
ช้างเหล่านั้น ย่อมบันลือเสียงน่าหวาดกลัว โกรธแม้แต่ลมที่พัดถูกตัว ถ้าเห็นมนุษย์ ณ ที่นั้น เป็นต้องขยี้เสียให้เป็นภัสมธุลี แม้แต่ละอองก็ไม่ให้ถูก ต้องพญาช้างได้เลย.
บทว่า อิโต ความว่า ดูก่อนนายพรานผู้เจริญ เจ้าจากสถานที่นี้ ไปแล้ว. บทว่า อุตฺตรายํ ความว่า ท่านจงไปตรงเบื้องทิศอุดร เดินข้าม ภูเขาสูงใหญ่เจ็ดลูก เมื่อเจ้าข้ามไปพอเลยภูเขาหกลูก ชั้นแรกไปได้แล้วจะถึง ภูเขาชื่อสุวรรณปัสสคิรี ล้วนแพรวพราวด้วยทอง. บทว่า อุฬาโร ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 388
สูงใหญ่กว่าภูเขาหกลูกนอกนั้น. บทว่า โอโลกย ความว่า ท่านจงก้มลง ตรวจดู. บทว่า ตตฺถจฺฉติ ความว่า ในฤดูร้อน พญาเศวตกุญชรนั้น ยืนรับน้ำและลมอยู่ ที่โคนต้นไทรนั้น.
บทว่า ทุปฺปสโห ความว่า คนเหล่าอื่นที่ชื่อว่าสามารถ เพื่อจะ เข้าไปทำการข่มขี่ จับเอาพญาเศวตกุญชรนั้นไม่มีเลย ฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครอื่นข่มขี่ได้ยาก ถึงฤดูร้อนเศวตกุญชรเห็นปานนี้ ยืนรับน้ำและลมอยู่ที่ โคนต้นไทรนั้น ดูก่อนนายพราน ช้าง ๘,๐๐๐เป็นเช่นไร? บทว่า อีสาทนฺตา แปลว่า มีงาเท่างอนรถ. บทว่า วาตชวปฺปหาริโน ความว่า ช้างเหล่านั้น มีปกติวิ่งไปประหารปัจจามิตรได้เร็วปานลมพัด ช้าง ๘,๐๐๐เห็นปานนี้ เฝ้า รักษาพญาช้างนั้นอยู่.
บทว่า ตุมูลํ ความว่า ช้างเหล่านั้น ยืนพ่นลมหายใจเข้าออกน่ากลัว คือมีเสียงดังสนั่นติดต่อกันเป็นลำดับไป. บทว่า เอริตสฺส ความว่า ช้าง เหล่านั้นย่อมโกรธ แม้แต่ลมที่มากระทบ ติดตามเสียงและต้านเสียงให้หวั่นไหว เห็นมนุษย์มาในที่นั้นๆ แล้ว ร้ายกาจอย่างนี้. บทว่า นาสฺส ความว่า เมื่อมนุษย์ถูกลมหายใจนั้นแหละกำจัดทำให้เป็นภัสมธุลีแล้ว ก็ยังไม่ยอมแม้จะ ให้ละอองตกต้องพญาช้างนั้น.
นายพรานโสณุดร ฟังพระเสาวนีย์แล้ว หวาดกลัวต่อมรณภัย กราบทูล เป็นคาถา ความว่า
ข้าแต่พระราชเทวี เครื่องอาภรณ์ที่แล้วไปด้วย เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ มีอยู่ใน ราชสกุลมากมาย เหตุไร พระแม่เจ้าจึงทรงประสงค์ เอางาช้างมาทำเป็นเครื่องประดับเล่า พระแม่เจ้าทรง-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 389
ปรารถนาจะให้ฆ่าพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการ เสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่าพวกเชื้อแถวของนายพรานเสียกระมัง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิลนฺธนา ได้แก่ เครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย. บทว่า เวฬุริยามยา ได้แก่ เครื่องแก้วไพฑูรย์. บทว่า ฆาเฏสฺสติ ความว่า นายพรานโสณุดร ทูลถามว่า หรือว่า พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้พญาช้าง ฆ่าเทือกเถาเหล่านายพรานเสีย โดยยกเอาเครื่องประดับเป็นเลศอ้าง.
ลำดับนั้น พระนางเทวี ตรัสคาถา ความว่า
ดูก่อนนายพราน เรามีทั้งความริษยา ทั้งความ น้อยใจ เพราะนึกถึงความหลังเข้าก็ตรอมใจ ขอท่าน จงทำตามความประสงค์ของเรา เราจักให้บ้านส่วย แก่ท่าน ๕ ตำบล.
บทว่า สา ได้แก่ สา อหํ แปลว่า เรานั้น. บทว่า อนุสฺสรนฺตี ความว่า เราระลึกถึงเวรที่พญาช้างนันทำกับฉันไว้ในปางก่อนก็ตรอมใจ. บทว่า ทสฺสามิ เต ความว่า เมื่อความต้องการข้อนี้ของเราสำเร็จลง. ฉันจักยก บ้านส่วย ๕ ตำบล ซึ่งมีรายได้หนึ่งแสนทุกๆ ปี เป็นรางวัลแก่เจ้า.
ก็แล ครั้นพระนางเทวีตรัสอย่างนี้แล้ว ตรัสปลอบโยนว่า สหาย พรานเอ๋ย ในชาติก่อนเราได้ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความ ปรารถนาไว้ว่า ขอให้เราเป็นคนสามารถที่จะให้ฆ่าพญาช้างฉัททันต์เชือกนี้ เอางาทั้งคู่มาให้ได้ ใช่ว่าฉันจะฝันเห็นก็หามิได้ อนึ่ง ความปรารถนาที่ฉัน ตั้งไว้ต้องสำเร็จ เจ้าไปเถิด อย่ากลัวเลย. นายพรานโสณุดรรับปฏิบัติตามพระเสาวนีย์ ของพระนางเทวีว่า ตกลงพระแม่เจ้า แล้วทูลว่า ถ้าเช่นนั้น พระแม่เจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 390
โปรดชี้แจงที่อยู่ของพญาช้างฉัททันต์นั้นให้แจ่มแจ้ง เมื่อจะทูลถามต่อไป จึงกล่าวคาถา ความว่า
พญาช้างนั้นอยู่ที่ตรงไหน เข้าไปยืนอยู่ที่ไหน ทางไหนเป็นทางที่พญาช้างไปอาบน้ำ อนึ่ง พญาช้าง นั้นอาบน้ำอย่างไร ทำไฉน ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้คติ ของพญาช้างได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺถจฺฉติ ความว่า พญาช้างอยู่ที้ ตรงไหน. บทว่า กตฺถ มุเปติ ความว่า เข้าไปในที่ไหน? อธิบายว่า ยืนที่ไหน. บทว่า วีถิสฺส กา ความว่า ทางไหนเป็นทางที่พญาช้างไปอาบน้ำ คือพญาช้างไปอาบน้ำทางไหน. บทว่า กถํ วิชาเนมุ คตึ ความว่า เมื่อ พระแม่เจ้าไม่ทรงชี้แจง ข้าพระพุทธเจ้าจักทราบถิ่นไปมาของพญาช้างนั้นได้ อย่างไร? เพราะเหตุนั้น ขอพระแม่เจ้าโปรดตรัสบอกข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
เมื่อพระนางเทวี จะตรัสบอกสถานที่ อันเล็งเห็นโดยประจักษ์ด้วย ญาณเครื่องระลึกชาติได้ แก่นายพรานโสณุดร ได้ตรัสคาถา ๒ คาถา ความว่า
ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ใกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ ทั้งน้ำก็มาก สะพรั่งไปด้วยพรรณ ไม้ดอก มีหมู่ภมรมาคลึงเคล้า พญาช้างลงอาบน้ำ ในสระนี้แหละ.
พญาช้างชำระศีรษะแล้ว ทัดทรงมาลัยอุบล มีร่างเผือกผ่องขาวราวกะดอกบุณฑริก บันเทิงใจ ให้ มเหสีชื่อว่า สัพพภัททา เดินหน้า ดำเนินไปยังที่อยู่ ของตน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 391
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺตเถว ความว่า ในสถานที่อยู่ของ พญาช้างนั้นเอง. บทว่า โปกฺขรณี นี้ พระนางเทวีตรัสหมายถึงสระฉัททันต์. บทว่า สํปุปฺผิตา ความว่า มีดอกโกมุทสองชนิด ดอกอุบลสามชนิด ดอกปทุม ห้าชนิด ผลิบานอยู่โดยรอบ. บทว่า เอตฺถ หิ โส ความว่า พญาช้างนั้น ลงอาบน้ำในสระฉัททันต์นี้. บทว่า อุปฺปลมาลธารี ความว่า ทัดทรงมาลัย ปุปผชาติ อันเกิดในน้ำและบนบก มีอุบลเป็นต้น. บทว่า ปุณฺฑรีกตจงฺคี ความว่า ประกอบด้วยอวัยวะขาวเผือก มีผิวหนังราวกะดอกบุณฑริก.
บทว่า อาโมทนาโน ความว่า ทั้งยินดีร่าเริง. บทว่า สนิเกตํ ความว่า ไปสู่ที่อยู่ของตน. บทว่า ปุรกฺขตฺวา ความว่า พระนางเทวีตรัสว่า พญาช้าง ทำมเหสีชื่อ สัพพภัททาไว้เบื้องหน้า แวดล้อมด้วยช้าง ๘,๐๐๐ เป็นบริวาร ไปสู่ที่อยู่ของตน.
นายพราน โสณุดร ฟังพระเสาวนีย์แล้ว ทูลรับสนองว่า ดีละพระ แม่เจ้า ข้าพระพุทธเจ้า จักฆ่าช้างนั้นนำเอางามาถวาย ครั้งนั้นพระเทวีทรง ชื่นชมยินดี ประทานทรัพย์แก่เขาพันหนึ่ง รับสั่งว่า เจ้ากลับไปเรือนก่อนเถิด อีกเจ็ดวัน จึงค่อยไปที่นั้น ครั้นส่งเขาไปแล้ว รับสั่งให้ช่างเหล็กมาเฝ้า ทรง บัญชาว่า พ่อคุณ ฉันต้องการ มีดพับ ขวาน จอบ สิ่ว ค้อน มีดตัดพุ่ม ไผ่ เคียวเกี่ยวหญ้า มีดดาบ ท่อนโลหะแหลม เลื่อย และหลักเหล็กสาม ง่าม พ่อจงรีบทำของทั้งหมดมาให้ฉัน แล้วรับสั่งให้ช่างหนังมาเฝ้า ทรง บัญชาว่า พ่อคุณ พ่อควรจะจัดทำกระสอบหนัง สำหรับใส่สัมภาระหนัก ประมาณ หนึ่งกุมภะ ให้เรา เราต้องการเชือกหนัง สายรัด ถุงมือ รอง เท้า และร่มหนัง พ่อจงช่วยทำของทั้งหมดนี้ มาให้เราด่วนด้วย นับแต่นั้น ช่างทั้งสองก็รีบทำของทั้งหมด นำมาถวายแด่พระเทวี พระนางจึงทรงตระเตรียมเสบียงให้นายพรานโสณุดรนั้น ตั้งแต่ไม้สีไฟเป็นต้นไป บรรจุเครื่อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 392
อุปกรณ์ทุกอย่าง และเสบียงมีสัตตุก้อนเป็นต้น ใส่ลงในกระสอบหนัง เครื่อง อุปกรณ์และเสบียงทั้งหมดนั้น หนักประมาณ กุมภะหนึ่ง ฝ่ายนายพราน โสณุดรนั้น เตรียมตัวเสร็จแล้วถึงวันที่ เจ็ด ก็มาเฝ้าถวายบังคมพระราชเทวี ลำดับนั้น พระนางเทวี รับสั่งกะเขาว่า เครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างของเจ้าสำเร็จแล้ว เจ้าจงลองยกกระสอบนี้ดูก่อน ก็นายพรานโสณุดรนั้น เป็นคนมีกำลังมาก ทรงกําลังประมาณห้าช้างสาร เพราะฉะนั้น จึงยกกระสอบขึ้นคล้ายกระสอบพลู แล้วสะพายบ่า ยืนเฉย ดุจยืนมือเปล่า พระนางสุภัททา จึงประทานเข้าของ แก่พวกลูกๆ ของนายพราน แล้วกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จัดส่ง นายพรานโสณุดรไป.
ฝ่ายนายพรานโสณุดรนั้น ครั้นถวายบังคมลาพระราชาและพระราช เทวีแล้ว ก็ลงจากพระราชนิเวศน์ ขึ้นรถออกจากพระนคร ด้วยบริวารเป็น อันมาก ผ่านคามนิคมและชนบทมาตามลำดับ ถึงปลายพระราชอาณาเขตแล้ว จึงให้ชาวชนบทกลับ เดินทางเข้าป่าไปกับชาวบ้านชายแดน จนเลยถิ่นของ มนุษย์ จึงให้ชาวบ้านชายแดนกลับทั้งหมด แล้วเดินไปเพียงคนเดียว สิ้นระยะ ทาง ๓๐ โยชน์ ถึงป่าชัฏ ๑๘ แห่งโดยลำดับ คือตอนแรกป่าหญ้าแพรก ป่าเลา ป่าหญ้า ป่าแขม ป่าไม้มีแก่น ป่าไม้มีเปลือก ชัฏ ๖ แห่ง เป็น ชัฏพุ่มหนาม ป่าหวาย ป่าไม้ต่างพรรณระคนคละกัน ป่าไม้อ้อ ป่าทึบ แม้ งูก็เลื้อยไปได้ยาก คล้ายป่าแขม ป่าไม้สามัญ ป่าไผ่ ป่าที่มีเปลือกตมแล้ว มีน้ำล้วน มีภูเขาล้วน ครั้นเข้าไปแล้ว ก็เอาเคียวเกี่ยวหญ้าแพรกเป็นต้น เอามีดสำหรับตัดพุ่มไม้ไผ่ ฟันป่าแขมเป็นต้น เอาขวานโคนต้นไม้ ใช้สิ่วใหญ่ เจาะทำทางเดิน ที่ป่าไผ่ก็ทำพะองพาดขึ้นไปตัดไม้ไผ่ให้ตกบนพุ่มไผ่อื่น แล้ว เดินไปบนยอดพุ่มไม้ไผ่ ถึงที่ซึ่งมีเปลือกตมล้วน ก็ทอดไม้เลียบแห้งเดินไปตาม นั้น แล้วทอดท่อนอื่นต่อไปอีก ยกท่อนนอกนี้ขึ้น ทอดต่อไปข้างหน้าอีก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 393
ข้ามชัฏที่มีเปลือกตมไปได้ ถึงชัฏที่มีน้ำล้วน ก็ต่อเรือโกลนข้ามไปยืนอยู่ที่เชิง เขา เอาเชือกผูกเหล็กสามง่าม ขว้างขึ้นไปให้ติดอยู่ที่ภูเขา แล้วโหนขึ้นไป ตามเชือกหนังจนยืนอยู่บนภูเขาได้ แล้วหย่อนเชือกหนังลงไป ยึดเชือกหนัง ลงมาผูกที่หลักข้างล่าง แล้วไต่ขึ้นทางเชือก เอาท่อนโลหะซึ่งมีปลายแหลม ดุจเพชร เจาะภูเขาแล้วตอกเหล็ก เสร็จแล้วยืนอยู่ที่นั้น แล้วกระตุกเหล็ก สามง่ามออก แล้วขว้างไปติดอยู่ข้างบนอีก ยืนอยู่บนนั้น แล้วหย่อนเชือกหนัง ลงไปผูกไว้ที่หลักข้างล่าง ไต่ขึ้นไปตามเชือก มือซ้ายถือเชือก มือขวาถือ ค้อน แก้เชือกแล้ว ถอนหลักขึ้นต่อไปอีก โดยทำนองนี้ จนขึ้นไปถึงยอด เขา เมื่อจะลงด้านโน้น ก็ตอกเหล็กลงที่ยอดเขาลูกแรก โดยทำนองเดิมนั่น เอง เอาเชือกผูกกระสอบหนังพันเข้าที่หลักแล้ว ตนเองนั่งภายในกระสอบ โรยเชือกลงคล้ายอาการที่แมลงมุมชักใย บางอาจารย์กล่าวว่า นายพรานโสณุดร ลงจากเขาโดยร่มหนัง เหมือนนกถาปีกโฉบลงฉะนั้น.
พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงทำให้แจ่มแจ้ง ซึ่งข้อที่นายพรานโสณุดร รับเอาพระเสาวนีย์ ของพระนางสุภัททาอย่างนั้นแล้ว ออกจากพระนคร ล่วง เลยป่าชัฏ ๑๗ แห่ง จนถึงชัฏแห่งภูเขา ข้ามเขาหกลูกในที่นั้นได้ แล้วขึ้น สู่ยอดเขาสุวรรณปัสสบรรพต จึงตรัสพระคาถา ความว่า
นายพรานนั้น ยึดเอาพระเสาวนีย์ ของพระนาง สุภัททาราชเทวี ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ที่นั่นเอง แล้ว เอาแล่งลูกธนู ข้ามภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ ลูกไป จน ถึงลูกที่ชื่อว่า สุวรรณปัสสบรรพต อันสูงโดด.
เขาขึ้นไปสู่บรรพต อันเป็นที่อยู่ของกินนรแล้ว มองลงมายังเชิงเขา ได้เห็นต้นไทรใหญ่ สีเขียวดังสี เมฆมีย่านไทรแปดพันห้อยย้อย ที่เชิงเขานั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 394
ทันใดนั้นเอง ก็ได้เห็นพญาช้างเผือกขาวผ่อง งามรัศมี ๖ ประการ ยากที่คนเหล่าอื่นจะจับได้ มีช้าง ประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ล้วนแต่มีงางามงอน ขนาด งอนไถวิ่งไล่เร็วดุจลมพัด แวดล้อมรักษาพญาช้างนั้น อยู่.
และได้เห็นสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ของพญาช้างนั้น ทั้งท่าน้ำก็ราบเรียบ น้ำมากมาย มีพรรณไม้ดอกบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรเที่ยวเคล้าคลึงอยู่.
ครั้นเห็นที่ที่พญาช้างลงอาบน้ำ จนกระทั่งที่ ซึ่งพญาช้างเดินยืนอยู่ และทางที่พญาช้างลงอาบน้ำ ก็แลนายพรานผู้มีใจลามก ถูกพระนางสุภัททา ผู้ตก อยู่ในอำนาจจิต ทรงใช้มา ก็มาจัดแจงตระเตรียมหลุม.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นาย พรานนั้น ยึดเอาพระดำรัสของพระเทวี ซึ่งประทับยืน ณ พื้นปราสาทชั้นที ๗ นั้น แล้ว ถือเอาแล่งศร และธนใหญ่ไปยังชัฏแห่งบรรพต คิดว่า ภูเขา ลูกไหนหนอ ชื่อ สุวรรณปัสสบรรพต (ข้าม) มหาบรรพตใหญ่ทั้งเจ็ด. บทว่า วิตุริยา ความว่า ไตร่ตรอง คือพิจารณาดูในครั้งนั้น. เมื่อกำลัง พิจารณาทบทวนอยู่นั้น เขาเห็นภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณปัสสคิรี อันสูงใหญ่ จึงคิดว่า ชะรอยจักเป็นภูเขาลูกนี้.
บทว่า โอโลกยิ ความว่า เขาขึ้นไปยังบรรพตอันเป็นที่อยู่ของ พวกกินนรแล้ว ก้มมองดูข้างล่าง ตามข้อกำหนดหมายที่พระนางสุภัททาประทานมา. บทว่า ตตฺถ ความว่า เขาจึงเห็นต้นนิโครธนั้นอยู่ใกล้ๆ เชิง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 395
เขานั้นเอง. บทว่า ตตฺถ ความว่า ยืนอยู่ที่โคนต้นไทรนั้น. บทว่า ตตฺถ ความว่า ภายในภูเขา ไม่ห่างต้นไทรนั้นเอง พญาช้างอาบน้ำ ณ สระฉัททันต์ใด เขาได้เห็นสระฉัททันต์นั้น. บทว่า ทิสฺวาน ความว่า ในเวลาที่ ช้างทั้งหลายไปแล้ว นายพรานนั้นก็ลงจากสุวรรณปัสสบรรพต สวมถุงมือ และรองเท้า แล้วตรวจตราดูที่ๆ พญาช้างนั้นไป และที่ๆ พญาช้างอยู่ ประจำ เห็นตลอดไปหมดว่า พญาช้างเดินทางนี้ อาบน้ำตรงนี้ ครั้นอาบ แล้วขึ้นไปยืนตรงนี้ เพราะเป็นผู้ไม่มีหิริ คือ มีใจลามก ถูกพระนางสุภัททา ผู้ตกอยู่ในอำนาจจิตใช้มา เพราะฉะนั้น จึงมาตระเตรียมหลุม คือเดินไป ขุดหลุมไว้.
ในเรื่องนั้น มีข้อความเรียงลำดับ ดังต่อไปนี้ เล่ากันมาว่า นาย พรานโสณุดรนั้น มาถึงที่อยู่ของพระมหาสัตว์กำหนดได้ เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน กำหนดดูสถานที่อยู่ของพระมหาสัตว์ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเอง กำหนดหมายใจไว้ว่า เราจะต้องขุดหลุมที่ตรงนี้ ยืนแอบในหลุมนั้นยิง พญาช้างให้ถึงความตาย ดังนี้แล้ว เข้าป่าตัดต้นไม้เพื่อทำเสาเป็นต้น ตระเตรียมทัพสัมภาระไว้ เมื่อช้างทั้งหลายไปอาบน้ำกันแล้ว จึงเอาจอบใหญ่ ขุดหลุมสี่เหลี่ยมจตุรัส ตรงที่อยู่ของพญาช้าง แล้วเอาน้ำราด เหมือนจะปลูก พืชที่คุ้ยฝุ่นขึ้น ปักเสาลงบนหินซึ่งมีสัณฐานคล้ายครก ใส่ขื่อ ปูกระดาน เลียบไว้ เจาะช่องขนาดคอลอดได้ แล้วโรยฝุ่น และเกลี่ยขยะมูลฝอยพลาง ข้างบนด้านหนึ่ง ทำเป็นที่เข้าออกของตน เมื่อหลุมเสร็จแล้วอย่างนี้ ในเวลา ใกล้รุ่ง จึงคลุมศีรษะ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถือธนูพร้อมด้วยลูกศรอันอาบ ยาพิษ ลงไปยืนอยู่ในหลุม.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 396
นายพรานผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า ขุดหลุมเอา กระดานปิดเสร็จแล้ว สอดธนูไว้ เอาลูกศรลูกใหญ่ยิง
พญาช้างที่มายืนอยู่ข้างหลุมของตน. พญาช้างถูกยิงแล้ว ก็ร้องก้องโกญจนาท ช้าง ทั้งหมดพากันบันลืออื้ออึง ต่างพากันวิ่งมารอบๆ ทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุณไป.
พญาช้างเอาเท้ากระชุ่นดิน ด้วยคิดว่า เราจักฆ่า นายพรานคนนี้ แต่ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็น ธงชัย ของพระฤาษี ก็เกิดความรู้สึกว่า ธงชัยของ พระอรหันต์ อันสัตบุรุษไม่ควรทำลาย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอธาย ความว่า ผูกสอดธนูไว้. บทว่า ปสฺสาคตํ ความว่า (ยิงพญาช้าง) ตัวมายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
ได้ยินว่า ในวันที่สอง พญาช้างนั้นมาอาบน้ำ แล้วขึ้นมายืนอยู่ที่ อันเป็นลานกว้างใหญ่ ลำดับนั้น น้ำจากสรีระของพญาช้างนั้น ไหลหยดทาง นาภีประเทศ ตกต้องตัวของนายพรานทางช่องนั้น. โดยข้อสังเกตอันนั้น นายพรานก็ทราบว่า พระมหาสัตว์มายืนอยู่แล้ว จึงเอาลูกศรใหญ่ยิงพญาช้าง ซึ่งมายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
บทว่า ทุกฺกฏกมฺมการี ความว่า ชื่อว่าผู้ก่อกรรมอันชั่วช้า เพราะ ก่อทุกข์ให้เกิดแก่พระมหาสัตว์เจ้า ทั้งกายและใจ. บทว่า โกญฺจนมนาทิ ความว่า บันลือโกญจนาทก้องไป. นัยว่า ลูกศรนั้นทะลุไปตรงนาภีประเทศ ของพญาช้าง ทำลายอวัยวะเช่นไตเป็นต้นให้แหลกละเอียด ตัดไส้น้อยเป็นต้น เรื่อยไป จนทะลุออกทางเบื้องหลังของพญาช้าง แล่นเลยไปในอากาศ แผล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 397
เหวอะหวะ คล้ายถูกดมขวานฉะนั้น เลือดไหลออกทางปากแผลนองไป ดุจ น้ำย้อมไหลออกจากหม้อ บังเกิดทุกขเวทนาเหลือกำลัง พญาช้างไม่สามารถ จะอดกลั้นทุกขเวทนาได้ก็ร้องก้องสนั่นไปทั่วสกลบรรพต บันลือโกญจนาท อื้ออึงถึงสามครั้ง. บทว่า สพฺเพว ความว่า ช้าง ๘,๐๐๐ ทั้งหมดได้ยินเสียงนั้น ต่างสะดุ้งกลัวต่อมรณภัย บันลือเสียงอันพิลึกน่าสะพรึงกลัว. บทว่า รณํ กโรนฺ- ตา ความว่า ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ต่างส่งเสียงร้องกึกก้องน่าเกรงขาม พลางมาตามเสียง นั้นเห็นพญาฉัททันต์ได้รับทุกขเวทนา คิดว่า พวกเราจักจับปัจจามิตรให้ได้ ต่างวิ่งหาจนหญ้าและไม้แหลกเป็นจุณ. บทว่า วธิสฺสเมตํ ความว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ครั้งช้างทั้งหลายหลีกไปในทิศานุทิศแล้ว เมื่อนางช้างมหาสุภัททา เข้าไปยืนเคียงข้างเล้าโลมปลอบใจ พญาฉัททันต์ก็อดกลั้นเวทนาได้ แล้วกำหนด ทางที่ลูกศรแล่นมาไตร่ตรองดูว่า ถ้าลูกศรนี้จักมาทางเบื้องปุรัตถิมทิศเป็นต้น แล้ว ลูกศรจักต้องทะลุทางกระพองเป็นต้นก่อน แล้วแล่นออกทางเบื้องหาง เป็นต้น แต่นี่เข้าทางนาภี ทะลุแล่นไปในอากาศ เพราะฉะนั้น จักมีคนที่ยืน อยู่ใต้ดินยิงมา ประสงค์จะตรวจตราดูที่ซึ่งมีคนยืนต่อไป จึงคิดว่า ใครจะ ล่วงรู้ว่าจักมีอะไรเกิดขึ้น ควรที่เราจะให้นางมหาสุภัททาหลีกไปเสีย แล้ว กล่าวว่า น้องรัก ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ค้นหาปัจจามิตรของพี่ ต่างก็พากันวิ่งไปใน ทิศานุทิศ เจ้ามัวทำอะไรอยู่ที่นี่เล่า? เมื่อนางมหาสุภัททาตอบว่า ท่านเจ้าขา ดิฉันยืนคอยพยาบาลปลอบใจท่านอยู่ ขอท่านอดโทษแก่ดิฉันด้วยเถิด แล้ว กระทำประทักษิณ ๓ รอบ จบทำความเคารพในฐานะทั้ง ๔ แล้วเหาะไปสู่อากาศ ฝ่ายพญาช้างก็เอาเล็บเท้ากระชุ่นพื้นดิน. กระดานกระดกขึ้น พญาช้างก้มมองดู ทางช่อง เห็นนายพรานโสณุดร ก็เกิดโทสจิตคิดว่า เราจักฆ่ามัน จึงสอดงวง งามราวกะพวงเงิน ลงไปลูบคลำดู ได้มองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัย ของพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. พญาช้างจึงยกนายพรานขึ้นมาวางไว้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 398
เบื้องหน้า. ลำดับนั้น สัญญา คือความสำนึกผิดชอบได้เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ ซึ่งได้รับทุกขเวทนาขนาดหนักดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า ธงชัยแห่งพระอรหันต์ไม่ควร ที่บัณฑิตจะทำลาย ควรสักการะเคารพอย่างเดียวโดยแท้. เมื่อพระมหาสัตว์เจ้า จะสนทนากับนายพราน จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
ผู้ใดยังไม่หมดกิเลส ปราศจากทมะและสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.
ส่วนผู้ใด คลายกิเลสได้แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลควรนุ่งห่มผ้า กาสาวะ.
คาถานั้นมีอธิบายดังนี้ สหายพรานเอ๋ย คนใดใช่คนหมดกิเลสดุจ น้ำฝาดมีราคะเป็นต้น ปราศจากการฝึกอินทรีย์ ทั้งวจีสัจจะ คือไม่เข้าถึง คุณเหล่านั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตว์ อันย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด คนนั้นไม่ควร นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นั้นเลย คือไม่สมควรกับผ้านั้น ส่วนคนใด พึงชื่อว่า เป็นผู้ชำระกิเลสได้ เพราะคายกิเลสดุจน้ำฝาดเหล่านั้นเสียได้. บทว่า สีเลสุ สุสมาหิโต ความว่า บุคคลใดเป็นผู้มีศีลและอาจาระตั้งมั่นด้วยดีบริบูรณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะนี้.
พระมหาสัตว์เจ้า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ระงับความคิดที่จะฆ่านายพราน นั้นเสีย ถามว่า สหายเอ๋ย ท่านยิงเราเพื่อต้องการอะไร เพื่อประโยชน์ของ ตัวเอง หรือคนอื่นใช้มา.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า
พญาช้างถูกลูกศรใหญ่ เสียบเข้าแล้ว ไม่มีจิต คิดประทุษร้าย ได้ถามนายพรานว่า เพื่อนเอ๋ย ท่าน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 399
ประสงค์อะไร เพราะเหตุอะไร หรือว่าใครใช้ให้ท่าน มาฆ่าเรา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมตฺถิยํ ความว่า ท่านปรารถนา อะไรไว้ ในอนาคต. บทว่า. กิสฺส วา แปลว่า เพราะเหตุอะไร. อธิบายว่า ด้วยเหตุอันใด คือท่านผูกเวรอะไรไว้กับเราะ บทว่า กสฺส วา ความว่า หรือว่านี้เป็นความประสงค์ของผู้อื่น คือใครใช้ท่านมาฆ่าเรา.
เมื่อนายพรานโสณุดรจะบอกความนั้นแก่พญาช้าง จึงกล่าวคาถา ความว่า
ดูก่อนพญาช้างที่เจริญ นางสุภัททา พระมเหสี ของพระเจ้ากาสิกราช อันประชาชนสักการะบูชาอยู่ ในราชสกุล พระนางได้ทรงนิมิตเห็นท่าน และได้ โปรดให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้าแล้ว ตรัสบอกข้าพเจ้า ว่า มีพระประสงค์งาทั้งคู่ของท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปูชิตา ความว่า อันประชาชนบูชาแล้ว โดยฐานะเป็นพระอัครมเหสี. บทว่า อทฺทสา ความว่า นัยว่า พระนางเธอ ทรงพระสุบินนิมิตเห็นท่าน. บทว่า อสํสิ ความว่า ทั้งพระนางเจ้าโปรด ให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้าแล้ว ตรัสบอกว่า ในป่าหิมพานต์ มีพญาช้างรูปร่าง อย่างนี้ อยู่สถานที่ชื่อโน้น. บทว่า ทนฺเตหิ ความว่า พระนางเทวีได้ตรัส บอกข้าพเจ้าว่า งาทั้งสองของพญาช้างนั้น มีรัศมี ๖ ประการรุ่งเรือง เราต้อง การงาเหล่านั้น ประสงค์จะทำเป็นเครื่องประดับ เจ้าจงไปนำเอางาช้างนั้นมา ให้เรา.
พระมหาสัตว์ ทรงสดับดังนั้น ก็ทราบว่า นี้เป็นการกระทำของนาง จุลลสุภัททา สู้อดกลั้นเวทนาไว้ กล่าวว่า พระนางสุภัททานั้น ใช่จะต้องการ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 400
งาทั้งสองของเราก็หามิได้ แต่เพราะประสงค์จะให้ท่านฆ่าเรา จึงได้ส่งมา เมื่อ จะแสดงความต่อไป จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
แท้จริง พระนางสุภัททาทรงทราบดีว่า งางามๆ แห่งบิดา และปู่ทวดของเรา มีอยู่เป็นอันมาก แต่ พระนางเป็นคนพาล โกรธเคือง ผูกเวร ต้องการจะ ฆ่าเรา.
ดูก่อนนายพราน ท่านจงลุกขึ้นเถิด จงหยิบเลื่อย มาตัดงาคู่นี้เถิด ประเดี๋ยวเราจะตายเสียก่อน ท่านจง กราบทูลพระนางสุภัททาผู้ยังผูกโกรธว่า พญาช้างตาย แล้ว เชิญพระนางรับงาคู่นี้ไว้เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิเม ความว่า ได้ยินว่า งาทั้งหลายครั้ง บิดาและปู่ของพญาช้างนั้น ได้เก็บซ่อนไว้ในที่เร้นลับ ด้วยประสงค์ว่าอย่าได้ พินาศไปเสีย พญาช้างฉัททันต์หมายเอางาช้างเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ชานาติ ความว่า พระนางสุภัททานั้นทราบอยู่ว่า งาของช้างเป็นจำนวนมาก เก็บซ่อนไว้ในที่นี้. บทว่า วธตฺถิกา ความว่า แต่พระนางสุภัททานั้นประสงค์ จะให้ท่านฆ่าข้าพเจ้าให้ตายอย่างเดียว ได้ผูกเวรไว้ เพราะเก็บความพยาบาท แม้เพียงเล็กน้อยไว้ในใจ คือพระนางจะให้เราถึงที่สุด ด้วยการกระทำที่ร้ายกาจ เห็นปานนี้. บทว่า ขรํ แปลว่า เลื่อย. บทว่า ปุรา มรามิ ความว่า ตอนที่เรายังไม่ตาย. บทว่า วชฺชาสิ ความว่า ท่านพึงกราบทูล. บทว่า หนฺท อิมสฺส ทนฺตา ความว่า ท่านพึงทูลพระนางสุภัททานั้นว่า พญาช้าง นั้นถูกท่านฆ่าตายแล้ว มโนรถของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว เชิญรับงาเหล่านั้นของ พญาช้างนั้นไว้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 401
นายพรานโสณุดรได้ฟังคำของพญาช้างแล้ว ลุกขึ้นจากที่นั่งถือเลื่อย เข้ามาใกล้ๆ พญาช้าง คิดว่า เราจักตัดเอางาไป. ก็พญาช้างนั้นสูงประมาณ ๘๐ ศอก ยืนเด่นคล้ายภูเขาเงิน ด้วยเหตุนั้น พรานโสณุดรจึงเอื้อมเลื่อยงา ไม่ถึง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงย่อกายนอนก้มศีรษะลงเบื้องต่ำ. ขณะนั้น นายพรานจึงเหยียบงวงเช่นกับพวงเงินของพระมหาสัตว์ ขึ้นไปอยู่บนกระพอง เป็นเหมือนขึ้นยืนอยู่บนเขาไกรลาส แล้วเอาเข่ากระตุ้นเนื้อ ซึ่งย้อยอยู่ที่ปาก ยัดเข้าข้างใน ลงจากกระพองแล้ว สอดเลื่อยเข้าไปภายในปาก. นายพราน เอามือทั้งสองเลื่อยชักขึ้นชักลง อย่างทะมัดทะแมง. ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่ พระมหาสัตว์เป็นกำลัง ปากเต็มไปด้วยโลหิต. เมื่อนายพรานเลื่อยชักไปชักมา อยู่ ก็ไม่สามารถจะเอาเลื่อยตัดงาให้ขาดได้. ทีนั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงบ้วน โลหิตออกจากปาก สู้อดกลั้นทุกขเวทนาได้ ถามนายพรานว่า สหายเอ๋ย ท่านไม่สามารถจะตัดงาให้ขาดได้ละหรือ? พรานโสณุดรตอบใช่แล้วนาย. พระมหาสัตว์ดำรงสติมั่น กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงยกงวงของเราขึ้น ให้จับ เลื่อยข้างบนไว้ เราเองไม่มีกำลังจะยกงวงของเราได้. นายพรานก็ปฏิบัติตาม เช่นนั้น. พระมหาสัตว์เอางวงยึดมือเลื่อยไว้ แล้วชักขึ้นชักลง ส่วนงาทั้งสอง ก็ขาด ประดุจตัดตอไม้ฉะนั้น. ทีนั้นพญาช้างจึงให้นายพรานนำงาเหล่านั้น มาถือไว้ แล้วกล่าวว่า สหายพราน เราให้งาเหล่านี้แก่ท่าน ใช่ว่าเราจะไม่รัก ของเราก็หามิได้ ทั้งเรามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ เป็นมาร เป็น พรหมเลย แต่เพราะงาคือพระสัพพัญญุตญาณนั้น เรารักกว่างาคู่นี้ตั้งร้อยเท่า พันเท่า ขอบุญนี้จงเป็นปัจจัยแห่งการได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ดังนี้แล้ว มอบงาไป แล้วถามต่อไปว่า สหายกว่าท่านจะมาถึงที่นี่ เป็นเวลานานเท่าไร? เมื่อนายพรานตอบว่า เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน จึงกล่าวว่า เชิญไปเถิด ด้วยอานุภาพแห่งงาคู่นี้ ท่านจักถึงพระนครพาราณสี ภายในเจ็ดวันเท่านั้น ดังนี้แล้ว ทำการป้องกันแก่นายพรานนั้น ส่งเขาไปโดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 402
เราเป็นผู้ถูกลูกศรเสียบแทงแล้ว แม้จะถูก เวทนาครอบงำ ก็ไม่คิดประทุษร้ายในบุคคลผู้นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ ถ้าข้อนี้เป็นความจริง อันเราผู้เป็น พญาช้างตั้งไว้ ขอพาลมฤคในไพรสณฑ์ อย่าได้มา กล้ำกรายนายพรานนี้เลย.
ก็แลครั้นพระมหาสัตว์ส่งนายพรานไปแล้ว ก็ทำกาลกิริยาล้มลงใน เมื่อพวกช้าง และนางมหาสุภัททายังมาไม่ถึง.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
นายพรานนั้นรีบลุกขึ้นจับเลื่อย เลื่อยงาพญาช้าง ทั้งคู่ อันงดงามวิลาสหาที่เปรียบมิได้ ในพื้นปฐพี แล้วรีบถือหลีกออกจากที่นั้นไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคู ความว่า งามวิลาส. บทว่า สุเภ แปลว่า งดงาม. บทว่า อปฺปฏิเม ความว่า งดงามหางาอื่นในแผ่นดินนี้ เปรียบมิได้.
เมื่อนายพรานนั้นหลีกไปแล้ว ช้างทั้งหลายก็มาถึง ไม่ทันเห็นปัจจามิตร.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
ช้างเหล่านั้นตกใจ ได้รับความเสียใจ เพราะ พญาช้างถูกยิง พากันวิ่งไปยังทิศทั้ง ๘ เมื่อไม่เห็น ปัจจามิตรของพญาช้าง ก็พากันกลับมายังที่อยู่ของ พญาช้าง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 403
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยทฺทิตา ความว่า อันความกลัวต่อ มรณภัย เข้าไปคุกคามแล้ว. บทว่า อฏฺฏา แปลว่า ถึงความทุกข์. บทว่า คชปจฺจามิตฺตํ ได้แก่ บุคคลผู้เป็นศัตรูของพญาช้าง. บทว่า เยน โส ความว่า พญาช้างนั้นทำกาลกิริยาล้มลง ณ ลานอันกว้างใหญ่ คล้ายภูเขา ไกรลาส ช้างทั้งหลายพากันมายังสถานที่นั้น.
ฝ่ายนางมหาสุภัททา ที่มาพร้อมกับช้างเหล่านั้นก็ดี ช้าง ๘,๐๐๐ ทั้งหมดนั้นก็ดี ต่างร่ำไห้คร่ำครวญอยู่ ณ ที่นั้น แล้วพากันไปยังสำนักแห่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้กุลุปกะของพระมหาสัตว์บอกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ปัจจยทายกของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ทำกาละเสีย แล้ว นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายไปดูซากของปัจจยทายกนั้น ในป่าช้าเถิด. ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ รูป ก็เหาะมาทางอากาศลงตรงที่ลานใหญ่. ขณะนั้น ช้างหนุ่ม ๒ เชือก ช่วยกันเอางาเสยยกสรีระร่างของพญาช้าง ให้จบ พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วยกขึ้นสู่จิตกาธารทำฌาปนกิจ. พระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งหลาย กระทำการสาธยายธรรมอยู่ที่ป่าช้าตลอดคืนยังรุ่ง. ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ครั้นดับธาตุเสร็จสรงสนานแล้ว เชิญนางมหาสุภัททาเป็นหัวหน้า แห่มายัง สถานที่อยู่ของตนๆ.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถา ความว่า
ช้างเหล่านั้น พากันคร่ำครวญร่ำไห้อยู่ ณ ที่นั้น ต่างเกลี่ยอังคารขึ้นบนกระพองของตนๆ แล้วยกเอา นางสัพพภัททาผู้เป็นมเหสี ให้เป็นหัวหน้า พากัน กลับยังที่อยู่ของตนทั้งหมด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 404
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปํสุกํ ได้แก่ ฝุ่นสรีรังคารที่ป่าช้า.
ฝ่ายนายพรานโสณุดร เอางาทั้งคู่มายังไม่ถึง ๗ วัน ก็ถึงพระนคร พาราณสี.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
นายพรานนั้น นำงาทั้งคู่ของพญาคชสาร อัน อุดม ไพศาล งดงาม ไม่มีงาอื่นในปฐพีจะเปรียบได้ ส่องรัศมีดุจสีทอง สว่างไสวไปทั่วทั้งไพรสณฑ์ มา ถึงยังพระนครกาสีแล้ว น้อมนำงาทั้งคู่เข้าไปถวาย พระนางสุภัททา กราบทูลว่า พญาช้างล้มแล้ว ขอ เชิญพระนางทอดพระเนตรงาทั้งคู่นี้เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวณฺณราชีหิ ความว่า ส่องรัศมีดุจ สีทอง. บทว่า สมนฺตโมทเร ความว่า แผ่รัศมีดุจสีทองไปรอบๆ ทั่ว ตลอดทั้งไพรสฑ์. บทว่า อุปเนสิ ความว่า ฝ่ายนายพรานโสณุดร ส่งข่าว ไปทูลพระนางเทวีว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะนำงาทั้งคู่ อันเปล่งปลั่งมีรัศมี ๖ ประการ ของพญาช้างฉัททันต์เข้ามาถวาย ขอพระองค์ได้โปรดให้ประดับ ตกแต่งพระนคร เมื่อพระนางเทวีกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ ให้ประดับ ตกแต่งพระนครดุจเทพนครแล้ว ก็เข้าสู่พระนคร ขึ้นไปยังปราสาทน้อมงา ทั้งคู่เข้าไป ครั้นน้อมเข้าไปแล้ว ก็กราบทูลว่า ขอเดชะพระแม่เจ้า ได้ทราบว่า พระแม่เจ้าก่อความขุ่นเคืองเหตุเล็กน้อย ไว้ในพระทัยต่อพญาช้างใด ข้าพระพุทธเจ้าฆ่าพญาช้างนั้นตายแล้ว โปรดทรงทราบว่า พญาช้างตายแล้ว ขอ เชิญพระแม่เจ้าทอดพระเนตร นี้ คือ งาทั้งสองของพญาช้างนั้น แล้วได้ถวาย งาไป. พระนางสุภัททาจึงเอางวงตาลทำด้วยแก้วมณี. รับคู่งาอันวิจิตร มีรัศมี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 405
๖ ประการ ของพระมหาสัตว์เจ้า มาวางไว้ที่อุรุประเทศ ทอดพระเนตรดูงา แห่งสามีที่รักของพระองค์ในปุริมภพ พลางระลึกว่า นายพรานโสณุดรฆ่า พญาช้างที่ถึงส่วนแห่งความงามเห็นปานนี้ ให้ถึงแก่ชีวิต ตัดเอางาทั้งคู่มา เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงพระมหาสัตว์ ก็ทรงบังเกิดความเศร้าโศกไม่สามารถที่จะ อดกลั้นได้ ทันใดนั้น ดวงหทัยของพระนางก็แตกทำลายไป ได้ทำกาลกิริยา ในวันนั้นเอง.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถา ความว่า
พระนางสุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอดพระเนตร เห็นงาทั้งสองของพญาคชสารอันอุดม ซึ่งเป็นปิยภัสดาของตนในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนางก็ แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง ด้วยเหตุนั้นแล พระนางจึง ได้สวรรคต.
ลำดับนั้น เมื่อพระธรรมสังคาหกเถระเจ้าทั้งหลาย จะสรรเสริญ พระคุณแห่งพระทศพล จึงกล่าวคำเป็นคาถาอย่างนี้ ความว่า
พระบรมศาสดาได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว มี พระอานุภาพมาก ได้ทรงทำการแย้มในท่ามกลาง บริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากัน กราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาได้ทรงทำ การแย้มให้ปรากฏ โดยไร้เหตุผลไม่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 406
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายจงดู กุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติ อนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแล เป็นนางสุภัททา ในกาลนั้น เราตถาคตเป็นพญาช้างในกาลนั้น.
นายพรานผู้ถือเอางาทั้งคู่ ของพญาคชสารอัน อุดม หางาอื่นเปรียบปานมิได้ในปฐพี กลับมายัง พระนครกาสีในกาลนั้น เป็นพระเทวทัต.
พระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วย พระองค์เองแล้ว ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็น ของเก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่งพระองค์ท่องเที่ยวไปตลอด กาลนาน เป็นบุรพจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้นเรายังเป็น พญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น เธอทั้งหลาย จงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
คาถาเหล่านั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย สรรเสริญพระคุณของ พระทศพล รจนาให้ปรากฏไว้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิตํ อกาสิ ความว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ แล้ว มีพระอานุภาพมาก วันหนึ่งประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ อันอลงกต ท่ามกลาง บริษัท ในธรรมสภาอันประดับตกแต่งแล้ว ทรงกระทำการยิ้มแย้ม. บทว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 407
นานากรเณ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้มหาขีณาสพ กรานทูลถามว่า ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาทรงทำการแย้มอย่างไร้ เหตุผลไม่ ก็การแย้มพระองค์ทรงกระทำแล้ว อะไรหนอเป็นเหตุให้พระองค์ ทรงทำการแย้ม.
บทว่า ยมทฺทสาถ ความว่า อาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาถูกทูล ถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะตรัสบอกเหตุที่พระองค์ทรงทำการแย้ม ทรงชี้ภิกษุณี สาวรูปหนึ่งตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพบหรือเห็นนางกุมาริกานี้ใด ซึ่งกำลังรุ่นสาว ครองผ้ากาสาวพัสตร์ เข้าถึง คือบวชประพฤติ อนาคาริยวัตรในพระศาสนานี้ นางกุมาริกานั้น คือ พระนางสุภัททาราชกัญญา ในคราวนั้น ซึ่งใช้นายพรานโสณุดรไปว่า เจ้าจงเอาลูกศรอาบด้วยยาพิษ ไป ยิงฆ่าพญาช้างเสีย คราวนั้นเราเป็นพญาช้าง ผู้ซึ่งนายพรานโสณุดรไปยิงให้ ถึงสิ้นชีวิต.
บทว่า เทวทตฺโต ความว่า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานโสณุดรในครั้ง นั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต ในบัดนี้. บทว่า อนาวสูรํ ตัดบทเป็น น อวสูรํ แปลว่า ชั่วพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต. บทว่า จิรรตฺตสํสิตํ ความว่า นับแต่กาลอันยาวนานนี้ ทรงท่องเที่ยวไปแล้ว คือทรงแล่นไปแล้ว ได้แก่ ทรงประพฤติมาแล้วโดยลำดับ ในที่สุดแห่งโกฏิกัปป์มิใช่น้อย. ท่านกล่าวคำ อธิบายไว้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระพุทธเจ้า ชื่อว่า ทรงปราศจากความ กระวนกระวาย เพราะทรงปราศจากกิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า ทรงปราศจาก ความเศร้าโศก เพราะไม่มีความเศร้าโศก อันเกิดแต่ญาติและทรัพย์เป็นต้น ชื่อว่า ปราศจากลูกศร เพราะปราศจากลูกศร มีลูกศรคือราคะเป็นต้น ทรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 408
รู้ชัดด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ตรัสเรื่องนี้อันเป็นของเก่า (ชั่วพระอาทิตย์ยังไม่ อัสดงคต) นับแต่กาลอันนานนี้ แม้ที่ทรงท่องเที่ยวไป ในที่สุดแห่งโกฏิกัปป์ มิใช่น้อย อันชื่อว่าเป็นพระจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำ เพราะทรงสูงด้วยสามารถแห่ง บุรพจรรยาของพระองค์ และเพราะต่ำ ด้วยสามารถแห่งจรรยาของพระนางสุภัททาราชธิดา และนายพรานโสณุดร ดุจทรงระลึกได้ถึงสิ่งที่กระทำด้วยความหลง ด้วยปราศจากความหลง สิ่งที่กระทำเวลาเช้าได้ในตอนเย็นวันนั้นทีเดียว.
บทว่า โว ในบทว่า อหํ โว นี้เป็นเพียงนิบาต. ความก็ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลนั้น เราได้เป็นพญาช้างอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น. บทว่า นาคราชา ความว่า และเมื่ออยู่ในคราวนั้นใช่ว่าจะเป็นใครอื่นก็หามิได้ ที่แท้ ก็คือเราผู้เป็นพญาช้างฉัททันต์. บทว่า เอวํ ธาเร ความว่า เธอทั้งหลาย จงทรงจำ คือจดจำ ได้แก่เล่าเรียนชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้.
ก็แลคนเป็นอันมากฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเป็นต้น (ส่วน) นางภิกษุณีนั้น เจริญวิปัสสนาแล้ว ภายหลังได้ บรรลุพระอรหัตตผล ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาฉัททันตชาดก