อารัมภกถา ปฐมสมันตปาสาทิกา มหาวิภังควรรณนา
โดย บ้านธัมมะ  19 ธ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 41745

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 19

อรรถกถาพระวินัย

ปฐมสมันตปาสาทิกา มหาวิภังควรรณนา หน้า 19

อารัมภกถา หน้า 19


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 19

อรรถกถาพระวินัย

ชื่อสมันตปาสาทิกา แปล

มหาวิภังควรรณนา

ภาค ๑

อารัมภกถา (๑)

ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแด่พระผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา พระองค์ผู้ทรงกระทํากรรมที่ทําได้ยากยิ่งตลอดกาลซึ่งจะนับประมาณมิได้ แม้ด้วยหลายโกฏิกัปป์ ทรงถึงความยากลําบาก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตวโลก. ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแด่พระธรรมอันประเสริฐ อันขจัดเสียซึ่งข่ายคือกิเลส มีอวิชชาเป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงเสพอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งสัตวโลกเมื่อไม่หยั่งรู้ต้องท่องเที่ยวไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่. ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระอริยสงฆ์ ผู้ประกอบ


(๑) องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๖


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 20

ด้วยคุณ มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสนะเป็นเค้ามูล เป็นเนื้อนาบุญของเหล่าชนผู้มีความต้องการด้วยกุศล. ข้าพเจ้านมัสการอยู่ ซึ่งพระรัตนตรัยอันควรนมัสการโดยส่วนเดียว ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ได้แล้วซึ่งกุศลผลบุญที่ไพบูลย์ หลั่งไหลไม่ขาดสายอันใด ด้วยอานุภาพแห่งกุศลผลบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ปลอดอันตราย.ข้าพเจ้าจักอาศัยอานุภาพของท่านบูรพาจารย์พรรณนาพระวินัยให้ไม่ปะปนกัน ซึ่งเมื่อทรงอยู่แล้ว ศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้มิได้ทรงตั้งมั่นอยู่ (ในส่วนสุดทั้งสอง) แต่ทรงดํารงชอบด้วยดี (ในมัชฌิมาปฏิปทา) เป็นอันประดิษฐานอยู่ได้. แท้ที่จริง พระวินัยนี้ถึงท่านบูรพาจารย์ผู้องอาจ ซึ่งขจัดมลทินและอาสวะออกหมดแล้วด้วยน้ำคือญาณ มีวิชชาและปฏิสัมภิทาบริสุทธิ์ ฉลาดในการสังวรรณนาพระสัทธรรม หาผู้เปรียบปานในความเป็นผู้ขัดเกลาได้ไม่ง่าย เปรียบดังธงชัยของวัดมหาวิหาร ได้สังวรรณนาไว้โดยนัยอันวิจิตร คล้อยตามพระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ. กระนั้น เพราะสังวรรณนานี้


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 21

มิได้อํานวยประโยชน์ไรๆ แก่ชาวภิกษุในเกาะอื่น เพราะท่านเรียบเรียงไว้ด้วยภาษาชาวเกาะสิงหล ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้รําลึกอยู่ด้วยดีโดยชอบถึงคําเชิญของพระเถระนามว่า พุทธสิริ จึงจักเริ่มด้วยดี ซึ่งการสังวรรณนานี้ อันควรแก่นัยพระบาลี ณ บัดนี้. และเมื่อจะเริ่มด้วยดี ซึ่งสังวรรณนานั้น จักเอามหาอรรถกถาเป็นโครงของสังวรรณนานั้น ไม่ละข้อความอันควร แม้จากวินิจฉัย ซึ่งท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาปัจจรี และอรรถกถาอันปรากฏด้วยดี โดยชื่อว่ากุรุนที เป็นต้น กระทําเถรวาทไว้ในภายในแล้ว จึงจักเริ่มด้วยดีโดยชอบซึ่งสังวรรณนา ขอภิกษุทั้งหลายปูนเถระ ปูนใหม่ และปานกลาง ผู้มีจิตเลื่อมใสเคารพนับถือพระธรรมของพระตถาคตเจ้า ผู้มีดวงประทีปคือพระธรรมจงตั้งใจฟังสังวรรณนานั้นของข้าพเจ้า โดยเคารพเถิด.

    พระอรรถกถาจารย์ชาวสิงหล มิได้ละมติ (อธิบาย) ของท่านพุทธบุตรทั้งหลายผู้รู้ธรรมวินัย เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ได้แต่งอรรถกถาในปางก่อน. เพราะ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 22

เหตุนั้นแล คําที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหมด ยกเว้นคําที่เขียนด้วยความพลั้งพลาดเสีย ย่อมเป็นประมาณแห่งบัณฑิตทั้งหลายผู้มีความเคารพในสิกขาในพระศาสนานี้. ก็เพราะแม้วรรณนานี้ จะแสดงข้อความแห่งคําทั้งหลายที่มาในพระสุตตันตะให้เหมาะสมแก่พระสูตร ละทิ้งภาษาอื่นจากอรรถกถานั้นเสียทีเดียว และย่นพลความพิสดาร (คําประพันธ์ที่พิสดาร) ให้รัดกุมเข้า ก็จักไม่ให้เหลือไว้ซึ่งข้อวินิจฉัยทั้งปวง ไม่ข้ามลําดับพระบาลีที่เป็นแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะฉะนั้น บัณฑิตควรตามศึกษาวรรณนานี้โดยเอื้อเฟื้อแล. (๑)

เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคาถาเหล่านั้นว่า จักพรรณนาพระวินัยดังนี้ ผู้ศึกษาควรกําหนดพระวินัยก่อนว่า วินัยนั้น คืออะไร? เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวคํานี้ว่า ที่ชื่อว่า วินัย ในที่นี้ประสงค์เอาวินัยปิฎกทั้งสิ้น. ก็เพื่อจะสังวรรณนาพระวินัยนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวมาติกาดังต่อไปนี้ว่า

พระวินัยปิฎกนี้ ผู้ใดกล่าวไว้ กล่าวในกาลใด กล่าวไว้เพราะเหตุใด ผู้ใดทรงไว้


(๑) นย. สารตฺถทีปนี ๑/๔๓ - ๔๗ ว่า เพราะแม้วรรณนานี้ ซึ่งจะแสดงข้อความแห่งถ้อยคําอันมาในพระสุตตันตะให้เหมาะสมกับพระสูตร ข้าพเจ้าก็จักละภาษาอื่นจากอรรถกถานั้นเสียเลย และย่นพลความที่พิสดารให้รัดกุมเข้า ไม่ละทิ้งข้อวินิจฉัยทั้งปวงให้เหลือไว้ ไม่ข้ามลําดับพระบาลีที่เป็นแบบแผนอะไรๆ แล้วจักรจนา, เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาควรตั้งใจสําเหนียกวรรณนานี้แล.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 23

ผู้ใดนําสืบมา และตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด ข้าพเจ้ากล่าววิธีนี้แล้ว ภายหลังจักแสดงเนื้อความแห่งปาฐะว่า "เตน" เป็นต้น โดยประการต่างๆ ทําการพรรณนาอรรถแห่งพระวินัย.

บรรดามาติกาเหล่านั้น คําว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา นี้ ท่านอาจารย์กล่าวหมายเอาคํามีอาทิอย่างนี้ก่อนว่า โดยสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ (ณ โคนต้นไม้สะเดาอันนเฬรุยักษ์สิงสถิต) ใกล้เมืองเวรัญชา (๑) เพราะคํานี้มิใช่เป็นคําที่กล่าวให้ประจักษ์กับพระองค์เองแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า (๒) เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงควรกล่าวตั้งปัญหานั่นดังนี้ว่า คํานี้ใครกล่าวไว้ กล่าวไว้ในกาลไหน และเพราะเหตุไรจึงกล่าวไว้. (แก้ว่า) คํานี้ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้ ก็แลคํานั้น ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้ในคราวทําปฐมมหาสังคีติ (ในคราวทําสังคายนาใหญ่ครั้งแรก). อันชื่อว่า ปฐมมหาสังคีตินี้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้กล่าวแล้วในปัญจสติกสังคีติขันธกะ (๓) แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในนิทาน บัณฑิตควรทราบตามนัยนี้ แม้ในอรรถกถานี้.


(๑) วิ. มหา. ๑/๑.

(๒) นย. สารตฺถทีปนี ๑/๓๙ ว่า คือมิใช่เป็นพระดํารัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ หรือเป็นคําที่ท่านกล่าวไว้ในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

(๓) วิ. จุลฺ. ๗/๓๗๙.