สวัสดีค่ะ คุณครูโอ....
ความสืบเนื่องจากที่เคยตั้งกระทู้ถาม เรื่องเวทนาเป็นอะไร และคุณครูโอได้เมตตาตอบ คำถามแล้วนั้นว่า..
เวทนาขันธ์ คือเวทนาเจตสิก มีลักษณะเสวยอารมณ์คือ รู้สึกสุข ทุกข์ อุเบกขา สังขารขันธ์ คือเจตสิก ๕๐ ดวง มี เจตนา ศรัทธา ปัญญา โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกขณะย่อมมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เกิดร่วมกันแม้ว่าไม่มีโลภะเกิดขึ้น สังขารขันธ์อื่นๆ ก็เกิดขึ้น เช่น จิตเห็นเกิดขึ้น เวทนาขันธ์ก็เกิดร่วมด้วย สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ (ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา มนสิการ ชีวิตตินทรีย์) ก็เกิดขึ้นเสมอ สรุป คือ เวทนาขันธ์ หมายถึง เวทนาเจตสิกดวงเดียว ไม่ว่าจะ เป็นสุข ทุกข์ อุเบกขา ก็คือเวทนา ส่วนสังขารขันธ์ คือเจตสิก ๕๐ ดวง ไม่มีเวทนาเจตสิก
ข้าพเจ้าได้ยกข้อความนั้นให้สหายธรรมได้ศึกษาด้วย สหายธรรมท่านนั้นกลับตอบ มาดังนี้...
* * สรุป คือ เวทนาขันธ์ หมายถึง เวทนาเจตสิกดวงเดียว ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ อุเบกขา ก็คือ เวทนา ส่วนสังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ดวง ไม่มีเวทนาเจตสิก "จึงมีความจำเป็น จะกล่าวว่า ในพระอภิธรรมนั้น กล่าวถึงจิตและเหตุปัจจัยอันประกอบเป็นจิตเท่านั้น สภาวธรรมต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นจิตแต่ละดวงแต่ละดวง ซึ่งควรจะเข้าใจอย่างนั้นการเข้าใจไปตามอภิธรรม ๙ ปริเฉท จะทำให้เห็นว่า มีจิตและเจตสิก เป็นดวงๆ นั้น จึง ผิดจากพุทธพจน์ เป็นอภิธรรมเฝือ (เพราะอ้างอิงจากพระอภิธรรม ๙ ปริเฉทซึ่งรจนา ภายหลังประมาณปี พ.ศ. 1700 ประมาณนั้น) * *
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเวทนาได้เกิดกับข้าพเจ้าแล้ว จากกรณีการโต้แย้งเช่นนี้ ซึ่งการอ้างอิงธรรมจากพระไตรปิฎกก็ดี จากพระอภิธรรมก็ดี จากพุทธพจน์ก็ดี ใยจึงมีการตีความเห็นแตกต่างกันไปได้ ข้าพเจ้ายังเป็นผู้ใหม่เพิ่งเริ่มศึกษา ขอความกรุณา คุณครูโอและท่านผู้รู้มีเมตตา อธิบายเพื่อข้าพเจ้าได้เกิดความกระจ่างด้วย
กราบขอบพระคุณยิ่ง
การเข้าใจไปตามอภิธรรม ๙ ปริเฉท จะทำให้เห็นว่า มีจิต และเจตสิก เป็นดวงๆ นั้น จึง ผิดจากพุทธพจน์ เป็นอภิธรรมเฝือ (เพราะอ้างอิงจากพระอภิธรรม ๙ ปริเฉทซึ่งรจนา ภายหลังประมาณปี พ.ศ. ๑๗๐๐ ประมาณนั้น) * *
ผมก็เป็นผู้ที่ศึกษาใหม่ครับ ในภพชาตินี้เราเกิดเป็นมนุษย์ เรื่องราวอดีตชาติที่แล้วเราเป็นอย่างไร เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาหรือไม่ เราก็ลืมหมด นึกไม่ออกว่าเคยฟังพระธรรมมาก่อนหรือเปล่า เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมอีก ก็ต้องศึกษาใหม่ทุกๆ ชาติไป แต่การจะถอยออกจากทางที่ไม่ใช่ความเห็นถูกได้ก็ด้วยปัญญาที่เกิดจากการศึกษาพระธรรมที่สั่งสมมาจากความเข้าใจทีละนิดๆ ในแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมครับ จะขอรบกวนคุณ jar ช่วยยกข้อความโดยสมบูรณ์ในพระอภิธรรม ๙ ปริเฉทเพื่อให้เป็นธรรมทานแก่สหายธรรม ผู้รู้หลายๆ ท่านได้พิจารณาด้วย จะช่วยให้เราไม่เผินตีความผิดๆ ไปด้วยความคิดของเราเองครับ เพราะธรรมะนั้นเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ
ส่วนความเห็นที่ผมยกมา กล่าวโดยท่านวิทยากร ถ้าอย่างไร ท่านวิทยากรช่วยให้คำตอบเกี่ยวกับหัวข้อนี้ด้วยครับ
ขอขอบพระคุณ
ขออนุโมทนาค่ะ