ขออาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า ปัญญาช่วยให้เห็นโทษแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย ขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ปัญญา ความเข้าใจถูกย่อมเป็นปัจจัยให้เห็นโทษของอกุศลแม้มีประมาณน้อย ไฟ
แม้มีประมาณน้อยก็ร้อน คูถแม้น้อยก็เหม็น อกุศลธรรมแม้มีประมาณน้อยก็เป็นสภาพ
ธรรมไม่ดีงามและย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลเพิ่มมากขึ้น
การฟังธรรมจึงเป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่การเห็นโทษของอกุศลก็ตามกำลัง
ของปัญญา เห็นโทษของอกุศลแต่ก็ละอกุศลไม่ได้เพราะเป็นเพียงปัญญาขั้นการฟัง
หนทางในการเห็นโทษของอกุศลจริงๆ คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า
เป็นธรรมไม่ใช่เราเพราะเป็นการรู้ตัวอกุศลที่เป็นโทษจริงๆ รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็น
ธรรม ขณะนี้กำลังมีธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เห็นโทษในความไม่รู้หรือยังครับ? อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การเห็นโทษมีสองลักษณะใช่หรือไม่
เห็นว่าเป็นโทษของตน กับ เห็นว่าเป็นโทษโดยความเป็นโทษ
ผมเห็นว่าปุถุชนย่อมเห็นโทษโดยความเป็นของตนเป็นธรรมดา แม้บางครั้งอาจเห็นสภาพธรรม (อกุศล) โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในบางขณะ แต่แน่นอนจากการเห็นบ้างเช่นนั้น ผสมกับสังขารธรรมต่างๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ก็เป็นธรรมดาที่ขณะโดยส่วนใหญ่ ก็เห็นโทษเหล่านั้นด้วยความเป็นตนผู้กระทำ และโทษนั้นก็เป็นของตน
ขอขอบพระคุณ
ความเห็นถูกด้วยความเป็นผู้ตรงว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ก็เป็นปัจจัยระดับหนึ่ง ที่จะทำให้เห็นคุณของกุศล และเห็นโทษของอกุศล ทั้งนี้โดยอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ๔๕ พรรษา เพราะยากที่ปุถุชนในสมัยนี้จะถ่ายถอนตนออกจากโทษของอกุศลได้โดยง่าย ถ้าคิดเองก็อาจจะพอเห็นโทษบ้าง ในโทษบางอย่างที่ปรากฏ แต่จะไม่มีสักคนที่จะเห็นโทษโดยความเป็นโทษจริงๆ คือ ไม่มีทางที่ปุถุชนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมจะเห็นว่า แม้โทษนั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาได้ การศึกษาพระธรรมจึงช่วยเกื้อกูลให้เราเกิดปัญญาเข้าใจความจริง และเห็นโทษในทีละระดับ จากนั้นจึงจะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายการยึดถือติดข้อง ด้วยความไม่รู้ความจริงลงไปทีละน้อย จนกว่าจะเห็นโทษจริงๆ ถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท คือบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก่อนหน้านั้นอีกยาวไกล ก็จะต้องรู้เสียก่อนว่าทุกขณะในชีวิตไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล นามธรรมอื่นๆ หรือรูปธรรมที่ปรากฏ ล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งหมดไม่ใช่เรา ต้องถ่ายถอนการยึดถือโทษหรือประโยชน์ว่าเป็นเราก่อนครับ จึงจะนำไปสู่การที่จะเห็นโทษแม้อกุศลเพียงเล็กน้อยได้ ด้วยสติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 180
๗. อุปนิสงฆบุปผชาดก ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่ว แม้นิดหน่อย
[๙๔๔] ดูก่อนท่านผู้เป็นกับด้วยเรา ท่านดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำ คือดอกบัว
ที่เขาไม่ได้ให้นี้ใด การดมนี้นั้นเป็นองค์ หนึ่งของการขโมย ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น.
[๙๔๕] เราไม่ลัก เราไม่เด็ดดอกบัว แต่เรายืนดมอยู่ไกลๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น
เหตุไฉนหนอจึงกล่าวหา เราว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น?
[๙๔๖] ชายคนนี้ใด ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริก ชายคนนี้นั้น ผู้มีการงานเลอะเทอะ
อย่างนี้ เหตุไรจึงไม่มีใครว่า?
[๙๔๗] ชายผู้มีกรรมบาปดาดดื่นแล้ว เปรอะเปื้อนบาป เหมือนผ้าอ้อม
ข้าพเจ้าจึงไม่มีคำพูดอะไรในเรื่องนั้น และข้าพเจ้าไม่ควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาได้.
[๙๔๘] แต่สำหรับคนผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ
บาปประมาณเท่าปลายขนทราย จะปรากฏแก่เขา ประมาณเท่ากลีบเมฆทีเดียว.
[๙๔๙] ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านรู้จักข้าพเจ้าแน่นอน และท่านอนุเคราะห์
ข้าพเจ้า ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านจงตำหนิอีกเมื่อท่านเห็นโทษชนิดนี้ของเรา.
[๙๕๐] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพเลย ทั้งเราไม่ได้เป็นลูกจ้างท่าน
ข้าแต่ภิกษุ ตัวท่านเอง ควรรู้กรรม ที่เป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ.
จบ อุปนิสงฆบุปผชาดกที่ ๗
เรียนเสริมในเรื่องการเห็นโทษของอกุศลแม้ประมาณน้อยครับ อย่างเช่น ภิกษุเห็นอาบัติเล็กน้อยก็เท่ากับอาบัติใหญ่คือปาราชิกครับ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 396 บทว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี ความว่า ผู้มีปกติเห็นภัย ในโทษ ต่าง
ด้วยเสขิยสิกขาบทที่ภิกษุไม่แกล้งต้อง และอกุศลจิตตุปบาทเป็นต้น ชื่อว่ามีประมาณ
น้อย เพราะมีประมาณเล็กน้อย. จริงอยู่ ภิกษุใดเห็นโทษมีประมาณน้อย กระทำให้
เป็นเหมือนขุนเขาสิเนรุสูง ๑๐๐,๐๖๘ โยชน์ ฝ่ายภิกษุใด เห็นอาบัติเพียงทุพภาษิต
ซึ่งเป็นอาบัติเบากว่าอาบัติทั้งปวง กระทำให้เหมือนอาบัติปาราชิก ภิกษุแม้นี้ ชื่อว่า
มีปกติเห็นภัย ในโทษมีประมาณน้อย แต่การที่จะเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อยซึ่งเป็นอกุศลจึงเป็นเรื่องของปัญญา จริงๆ ครับ