วิญญาณออกจากร่าง
โดย นาวาเอกทองย้อย  17 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20192

อ่านกระทู้เรื่อง การโคลนนิ่งสัตว์ แล้วเกิดความสงสัยไปอีกทางหนึ่ง จึงขออนุญาตตั้งเป็นหัวข้อใหม่ครับ คือ เรามักพูดกันว่า คนตายวิญญาณออกจากร่าง ก็ถ้าวิญญาณออกจากร่างได้ ก็แปลว่าวิญญาณก็ต้องมาเข้าร่างก่อน กระผมหมายถึงมาเข้าร่างตอนที่จะเกิดนะครับ ในองค์ประกอบที่มนุษย์จะเกิดได้ มีข้อหนึ่งว่า คนฺธพฺโพ สมฺปติฏฺฐิโต หรืออะไรนี่แหละ ท่านแปลว่า มีวิญญาณมาปฏิสนธิ

ก็จึงอยากฟังคำอธิบายที่ชัดเจนว่า

๑. วิญญาณออกจากร่าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

๒. วิญญาณมาปฏิสนธิ จะมีขึ้นในขั้นตอนไหนของกระบวนการทำให้เกิด ไม่ว่าจะเกิดตามธรรมดาธรรมชาติ หรือเกิดโดยวิธีโคลนนิ่งก็ตาม

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำว่า วิญญาณในพระพุทธศาสนาที่เป็นสัจจะความจริงว่าคืออะไรครับ วิญญาณ คือสภาพธรรมที่เป็นจิต วิญญาณก็คือจิต เมื่อเป็นจิต วิญญาณ จึงเป็นสภาพรู้ และวิญญาณเกิดขึ้นและดับไป เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งครับ จึงย้อนกลับมาที่คำถาม ข้อแรกครับ

๑.. วิญญาณออกจากร่าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

- โดยทั่วไป ความเข้าใจทั่วไปย่อมเข้าใจว่าเมื่อสัตว์ตายไป วิญญาณย่อมออกจากร่างไป นี่แสดงให้เห็นครับว่าการเข้าใจคำว่าวิญญาณ ไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามสัจจะความจริง เพราะวิญญาณที่เข้าใจนั้น เหมือนสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เคลื่อนย้าย ถ่ายเทออกไปจากร่างกายได้ครับ แต่ในความเป็นจริง วิญญาณคือสภาพธรรมที่เป็นจิต จิตไม่สามารถเคลื่อนไหวออกจากร่างได้ เพราะอะไรครับ เพราะจิตเกิดขึ้นและดับไป เกิดขึ้นที่วัตถุรูป คือเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กายและหทยรูป เกิดขึ้นที่ไหนก็ดับที่นั่น จิตจึงไม่มีการเดินทาง ไม่มีการเคลื่อนไหวได้เลยครับ เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ วิญญาณหรือจิตจึงไม่ได้ออกจากร่างเมื่อสัตว์นั้นตาย เพียงแต่ คำว่า สัตว์นั้นตาย คือจุติจิตเกิดขึ้น ทำหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ (ตาย) เมื่อยังมีกิเลสอยู่ จุติจิตนั้นดับไป เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต (การเกิด) เกิดต่อทันที จึงไม่มีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกาย แต่สำหรับร่างกายนั้นก็ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกครับ ดังนั้น คำว่า จิตหรือวิญญาณออกจากร่าง กับ ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกที่รูปร่างกายนั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสัจจะความจริงก็คือไม่มีจิตหรือวิญญาณเกิดขึ้นที่รูปร่างกายนั้นอีก แต่ไม่ใช่มีจิตหรือวิญญาณเคลื่อนย้ายเป็นรูปร่างที่เป็นรูปธรรมออกจากร่างไปครับ เพราะจิตหรือวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ไม่มีการเคลื่อนไหวย้ายจากร่างเลยครับ จิตเกิดขึ้นที่ไหน ก็ดับที่นั่นครับ

สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 437

พระศาสดาประทับยืน ณ ที่เหนือศีรษะของเธอ ตรัสว่า "ภิกษุ กายของเธอนี้ มีวิญญาณไปปราศแล้ว หาอุปการะมิได้ จักนอนบนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

"ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน. กายนี้มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว, ราวกับท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น."


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 17 ธ.ค. 2554

๒. วิญญาณมาปฏิสนธิ จะมีขึ้นในขั้นตอนไหนของกระบวนการทำให้เกิด ไม่ว่าจะเกิดตามธรรมดาธรรมชาติ หรือเกิดโดยวิธีโคลนนิ่งก็ตาม

- ในทางธรรมแล้ว เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นและดับไป สำหรับผู้ที่มีกิเลส ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ ซึ่งอาจจะสงสัยว่า ปฏิสนธิจิตหรือวิญญาณจะเข้ามาในร่างหรืออย่างไร คือเข้ามาในครรภ์ หรือขณะที่กำลังผสมพันธุ์ที่ทำโคลนนิ่ง วิญญาณก็วิ่งเข้ามา

ตามที่กล่าวแล้วครับ วิญญาณ คือจิต ซึ่งจิตเกิดขึ้นและดับไป เกิดที่ไหนดับที่นั่น จิตจึงไม่มีการเดินทาง ไม่มีการเคลื่อนไหว จิตหรือวิญญาณจึงไม่มีการออกจากร่างเมื่อตาย ตามที่ได้อธิบายในข้อ ๑. ครับ และจิตหรือวิญญาณ ก็ไม่มีการเข้าร่างหรือวิ่งเข้ามาในครรภ์มารดา เพียงแต่อาศัยครรภ์มารดาเป็นปัจจัย โดยเป็นอุตุทำให้เป็นปัจจัยให้รูปอื่นๆ ที่เกิดในครรภ์นั้นค่อยๆ เจริญขึ้นครับ แต่ปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้วิ่งเข้ามา แต่เกิดแล้วในขณะนั้น ก็ต้องเข้าใจครับว่า วิญญาณหรือปฏิสนธิจิตเป็นนามธรรม จึงมองไม่เห็นและเกิดขึ้นและดับไป แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ก็มีรูปที่เกิดจากกรรมเกิดขึ้นด้วย เช่น ภาวรูป กายปสาทรูปและหทัยรูปเกิดขึ้นและก็เจริญเติบโต รูปอื่นๆ ก็อาศัยครรภ์มารดา หรืออาศัยสารเคมีในการทำโคลนนิ่ง เจริญเติบโตต่อไปครับ ดังนั้น จึงใช้คำว่า วิญญาณหรือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไป แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิตหรือวิญญาณวิ่งเข้ามาในครรภ์มารดาครับ เพราะจิตเคลื่อนไหวไม่ได้ครับ

ยกตัวอย่างในเรื่องประเด็นที่คิดว่า มีวิญญาณวิ่งเข้าในร่างกาย ในครรภ์ หากลองถามดูครับว่า หากเราใส่เหรียญลงไปในกล่องทึบ ปิดฝา แล้วให้คิดถึงหรือส่งใจไปในเหรียญนั้น ถามว่านึกได้ไหมครับ นึกได้ อะไรทำให้นึก ก็เพราะจิตคิดนึกของเราที่จำเอาไว้ว่ามีเหรียญอยู่ข้างในใช่ไหมครับ แล้วถามว่า จิตของเราที่คิดนึก เข้าไปทางไหนของกล่อง คำตอบคือ ไม่ได้เข้าไปในกล่อง หรือเป็นวิญญาณที่เป็นรูปร่างวิ่งเข้าไปในกล่อง จึงเห็น แต่เพราะอาศัยการคิดนึกตรึกในสิ่งที่จำ จิตเกิดขึ้นก็นึกได้ว่ามีเหรียญในกล่อง ทั้งๆ ที่จิตหรือวิญญาณก็ไม่ได้วิ่งเข้าไปในกล่องเลยครับ ฉันใด วิญญาณหรือจิต ก็ไม่ได้มีการวิ่งเข้าไปในครรภ์ ในร่างกายเมื่อเกิด แต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ จึงมีการเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิต โดยปฏิสนธิจิตหรือวิญญาณไม่ได้วิ่งเข้าไปสู่ครรภ์เลยครับ ดั่งพระนาคเสนและพระยามิลินท์ สนทนากันในประเด็นเรื่องนี้


พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามว่า ดูก่อน พระนาคเสน สัตว์ บุคคล เมื่อจะเข้าถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เข้าทางไหน

พระนาคเสน ทูลตอบว่า ขอถวายพระพร หาเป็นเช่นที่พระองค์ตรัสถามไม่

ม. ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ

น. ขอพระองค์ จงทรงส่งพระราชหฤทัยเข้าไปนึกถึงแก้วแหวนเงินทอง ที่อยู่ในหีบนั้น

ม. ส่งเข้าไปแล้ว

น. ขอถวายพระพร พระองค์ทรงส่งเข้าไปทางไหน?

ม. หามีช่องทางให้ส่ง "จิต" เข้าไปไม่.! แต่เป็นจิตคิดนึกถึงแก้วแหวนเงินทองในหีบนั้น ก็เพราะว่า จิตหมายรู้ตามที่ได้ประจักษ์ (เคยเห็น จำได้) มาก่อน

น. ฉันใดก็ฉันนั้น สัตว์ บุคคล เมื่อจะเกิดในครรภ์ของมารดานั้น มีแต่ "จิต" ที่เรียกว่า "ปฏิสนธิจิต" หรือ "ปฏิสนธิวิญญาณ" ซึ่งพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ในขณะที่เกิดในครรภ์มารดาเช่นเดียวกับอาการที่พระองค์ทรงคิดถึงแก้วแหวนเงินทองในหีบนั้น ซึ่งขณะนั้น หาได้มีช่องทางหนึ่งช่องทางใดสำหรับการถือ "ปฏิสนธิจิต" ในครรภ์มารดาไม่


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 17 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิญญาณ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม แปลตามศัพท์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง (ซึ่งอารมณ์) เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ วิญญาณ กับจิต เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะหลายประการที่หมายถึงจิต เช่น มนะ หทยะ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น (ในชีวิต ไม่ปราศจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว) หนึ่งในนั้น คือวิญญาณ ดังนั้น จิตกับวิญญาณจึงเป็นธรรมอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น

วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง วิญญาณเป็นธรรมประเภทหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จิตขณะหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เป็นอย่างนี้อย่างไม่ขาดสายจนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ คำกล่าวที่คนในสังคมไทย ได้ยินบ่อย คือคำว่า วิญญาณออกจากร่าง ถ้าได้ศึกษาโดยตรงจากพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า วิญญาณไม่มีการออกจากร่าง ไม่มีการล่องลอย แต่เกิดแล้วดับแล้ว ประโยคดังกล่าวถ้าจะเข้าใจให้ตรง ก็คือ เมื่อร่างกายนี้ปราศจากวิญญาณ หมายความว่า ความเป็นบุคคลนี้สิ้นสุดแล้ว ที่กายนี้ไม่มีจิตเกิดอีกแล้วในชาตินี้ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือจุติจิต ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งก็คือตายนั่นเอง [ดังข้อความที่ปรากฏแล้วในความคิดเห็นที่ 1]

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 437

"ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน. กายนี้มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว, ราวกับท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น."

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้ที่ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาอยู่ เมื่อตายแล้ว (คือจุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้อีก) ต้องเกิดทันที มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ปฏิสนธิจิตก็คือจิตประเภทหนึ่งนั่นเอง จะเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็ได้ เมื่อจุติจิตของชาติที่แล้วเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไปที่จะเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่นเลย ก็คือ ปฏิสนธิจิตในภพใหม่ชาติใหม่ จิตขณะแรกในแต่ละภพในแต่ละชาติ ก็คือ ปฏิสนธิจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว การที่จะเกิดเป็นอะไรในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมเป็นสำคัญ ถ้าเป็นผลของกรรมดี ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย ทั้งหมดทั้งปวงนั้นยังอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ยังพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ จนกว่าจะเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดเป็นพระอรหันต์ จึงจะเป็นผู้พ้นจากทุกข์ และเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดอีกเลย สังสารวัฏฏ์เป็นอันสิ้นสุดครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 4    โดย เซจาน้อย  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

โดยส่วนตัว กระผมเข้าใจ แต่อยากจะตั้งคำถามแทนผู้ที่มักจะเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ จิต ไม่ต้องอาศัยสถานที่ แต่ รูป ต้องอาศัยสถานที่ ทีนี้คนเราประกอบด้วยจิตและรูป ที่เรียกว่า รูปกับนาม ใช่ไหมครับ

ทีนี้ ยกเป็นตัวบุคคลขึ้นถามว่า จุติจิตของพระเวสสันดรเกิดขึ้นที่เมืองเชตุดรแล้วดับไปนี่ตอนหนึ่ง ปฏิสนธิจิตเกิดต่อที่รูปพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตนี่ตอนหนึ่ง จุติจิตของพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นที่ภพดุสิตแล้วดับไปนี่ตอนหนึ่ง ปฏิสนธิจิตเกิดต่อที่รูปของสิทธัตถกุมารที่เมืองกบิลพัสดุ์นี่ตอนหนึ่ง

ข้อสงสัยก็คือ นาม (จิต) ไปสัมพันธ์กับรูปซึ่งอยู่ต่างสถานที่กันได้อย่างไร คือถ้าจิตไม่มีการเคลื่อนที่ จิตที่มีปัจจัยสืบต่อมาจากพระเวสสันดรที่เมืองเชตุดรไปสัมพันธ์กับรูปพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตได้อย่างไร จิตที่มีปัจจัยสืบต่อมาจากพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตไปสัมพันธ์กับรูปของสิทธัตถกุมารที่เมืองกบิลพัสดุ์ ได้อย่างไร

จะให้เข้าใจแบบอุปมาด้วยเหรียญในกล่องทึบ หรือจะต้องอุปมาเป็นอย่างอื่น ขอความกรุณาชี้ชัดตรงจุดนี้ด้วยครับ กระผมว่าเพราะไม่เข้าใจตรงจุดนี้แหละ จึงเป็นเหตุให้เข้าใจกันไปว่า จิตออกจากร่างเก่าไปอยู่ร่างใหม่ได้

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เป็นนามและรูปก่อนครับ นาม คือจิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือมีการเกิดขึ้นและดับไป เช่นเดียวกับรูปธรรมก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกันครับ จึงควรเข้าใจใหม่ครับว่า รูป ไม่ใช่จะเป็นรูปเดิมตลอด แต่รูปมีการเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา รูปจึงใหม่ตลอดเวลา แม้จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามทีครับ

รูป จึงไม่ใช่เป็นรูปเก่า เที่ยง เป็นรูปเดิมมาจากพระเวสสันดร รูปเก่ามาเป็นเทวดาอยู่ภพดุสิต รูปเก่าที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะครับ แต่ในความเป็นจริง รูปเมื่อเกิดขึ้นก็ดับไปและรูปใหม่ก็เกิดขึ้นต่ออีก ใหม่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตของพระเวสสันดรเกิดขึ้น ก็มีรูปที่เกิดจากกรรมเกิดขึ้น และเกิดขึ้นดับไปเป็นรูปใหม่ตลอดเวลา ตามสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูป เช่น เกิดจากกรรม จิต อุตุ อาหาร ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยครับ ในแต่ละขณะจิตเลยครับ รูปจึงเกิดแตกต่างกันไปตามสมุฏฐาน แต่ละขณะ แต่ละขณะไป ไม่ใช่รูปเก่าที่เป็นรูปเดิมตลอดครับ

นาม คือจิต เมื่อเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ จึงสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรูปได้ครับ เพราะเป็นรูปใหม่ และก็เป็นจิตดวงใหม่ตลอดเวลาครับ จิตใหม่ที่เกิดขึ้น คือปฏิสนธิจิตของพระโพธิสัตว์ชั้นดุสิตที่เป็นเทวดา ก็มีรูปใหม่ ไม่ใช่รูปเก่าที่เป็นพระเวสสันดร เป็นรูปใหม่ที่เกิดจากจิตดวงใหม่ คือปฏิสนธิจิตครับ และปฏิสนธิจิตของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็เป็นจิตใหม่ ทำให้เกิดรูปใหม่เกิดขึ้น ไม่ใช่รูปเก่าที่เป็นเทวดาครับ ดังนั้น ความสัมพันธ์ คือเป็นจิตดวงใหม่ ไม่ใช่จิตดวงเก่า เป็นปัจจัยให้เกิดรูปใหม่ ไม่ใช่รูปเก่า ที่เที่ยงยั่งยืนสืบต่อกันมาครับ


และจากคำถามที่ว่า

จะให้เข้าใจแบบอุปมาด้วยเหรียญในกล่องทึบ หรือจะต้องอุปมาเป็นอย่างอื่น ขอความกรุณาชี้ชัดตรงจุดนี้ด้วยครับ กระผมว่าเพราะไม่เข้าใจตรงจุดนี้แหละ จึงเป็นเหตุให้เข้าใจกันไปว่า จิตออกจากร่างเก่าไปอยู่ร่างใหม่ได้

ซึ่งขออนุญาตอุปมาให้เข้าใจในประเด็นเรื่องนี้ ที่เกี่ยวกับรูปของสัตว์ทั้งหลาย ที่ข้ามภพข้ามชาติดังนี้ครับ เมื่อจุดเทียนตลอดทั้งคืน แสงเทียนเกิดขึ้น แสงเทียนที่จุดครั้งแรก ตอนหกโมงเย็น กับแสงเทียนตอนใกล้รุ่งที่ยังไม่ได้ดับ ถามว่า แสงเทียน เปลวเทียนนั้น คือเวลาหกโมงเย็น กับใกล้รุ่ง ใช่เปลวเทียน แสงเทียนเดียวกันหรือไม่ คำตอบ คือไม่ใช่ แต่ถ้าไม่มีแสงเทียนตอนหกโมงเย็น (เทียนดับ) จะมีแสงเทียน ตอนใกล้รุ่งได้หรือไม่ คำตอบ คือไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพราะอาศัยแสงเทียนในตอนหกโมงเย็น จึงมีแสงเทียนตอนใกล้รุ่งได้ ฉันใด เพราะอาศัยจิต เจตสิกและรูปเกิดขึ้น สืบเนื่องกันไป เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและจิตอื่นๆ สืบต่อกันไป ไม่มีการออกจากร่าง แต่เป็นจิต เจตสิกที่เกิดดับสืบเนื่องกันไป ดังเช่น แสงเทียนที่สืบเนื่องกันไป ตั้งแต่เวลาหกโมงถึงใกล้รุ่ง แต่จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น รวมทั้งรูป เมื่อครั้งเป็นพระเวสสันดร ก็ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเทวดาชั้นดุสิต หรือเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะเป็นจิตใหม่ รูปใหม่ ดังเช่นแสงเทียนเวลาหกโมงเย็น ก็ไม่ใช่แสงเทียนเวลาใกล้รุ่ง เพราะแสงเทียนเวลาใกล้รุ่ง เป็นแสงเทียนใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ครับ ด้วยอุปมานี้ จึงแสดงการสืบต่อของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก จิต หรือวิญญาณ โดยไม่มีการออกจากร่าง หรือเข้ามาในร่างแต่อย่างไรครับ และก็เป็นรูปใหม่ จิตใหม่ ตลอดเวลา ดังเช่น แสงเทียนที่เกิดใหม่ สืบเนื่องกันไม่ซ้ำกันตลอดเวลาครับ จนกว่าแสงเทียนดับ ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูปอีก เพราะดับเชื้อ คือไส้เทียน ไม่เหลืออีก นั่นคือ ดับกิเลสหมดสิ้น

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาด้วยครับ


ความคิดเห็น 8    โดย khampan.a  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นสืบเนื่องจากความคิดเห็นที่ 6 ด้วยครับ

สภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือนามธรรมกับรูปธรรม นามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย คือจิต และเจตสิก [นามธรรมอีกประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ คือพระนิพพาน] ส่วนรูปธรรมนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน รูปแต่ละรูปเกิดแล้วดับแล้ว รูปของแต่ละคนไม่สามารถติดตามไปในภพต่อไปได้ รูปในภพนี้ชาตินี้กับรูปในภพใหม่ชาติใหม่ไม่ใช่รูปเดียวกัน รูปที่เป็นพระเวสสันดร รูปที่เป็นเสตเกตุเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต กับรูปที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะไม่ใช่รูปเดียวกัน ไม่ซ้ำกัน เป็นรูปที่เกิดขึ้นตามสมุฏฐานต่างๆ เท่านั้น โดยไม่ปะปนกัน แม้แต่นามธรรม คือจิต และเจตสิก ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะๆ นั้น ไม่ซ้ำกันเลย เป็นแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้นจริงๆ และอาศัยที่เกิดตามสมควรแก่จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ ด้วย เช่น ปฏิสนธิจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในแต่ละภพในแต่ละชาติ อาศัยที่เกิดที่เดียวกัน คืออาศัยเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเลย

ทั้งหมดล้วนเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงทั้งนั้น ไม่มีวิญญาณที่ออกจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง แต่วิญญาณก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้วิญญาณคือจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนรูปธรรมทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ เท่านั้นครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 9    โดย วิริยะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2554

เรียนถาม

เมื่อได้มาศึกษาพระอภิธรรม จึงรู้ว่า เมื่อตายแล้วต้องเกิดทันที แต่ถึงกระนั้น เรื่องวิญญาณล่องลอย หรือวิญญาณมาเข้าร่าง หรือปรากฏให้เห็น ก็ยังมิใช่ว่ากระจ่างนัก ที่เรียนว่าไม่กระจ่าง อาจเป็นเพราะว่า ได้ยินได้ฟังเรื่องวิญญาณมาจากคนรู้จัก ซึ่งคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่กุขึ้นมาหรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ได้ปั้นเรื่องขึ้นมา ผู้หนึ่งที่เคยเล่าให้ฟัง เป็นคุณพ่อของดิฉันเอง ว่า สมัยสงครามโลก เห็นคนรู้จักคนหนึ่ง คุณพ่อวิ่งเข้าไปหาแล้วปรากฏว่า คนรู้จักคนนั้นก็หายไปต่อหน้า คุณพ่อตกใจมาก กลับบ้านก็ไม่สบาย แล้วก็ได้ข่าวภายหลังว่า คนที่คุณพ่อเห็นนั้นเค้าเพิ่งตาย ส่วนญาติอีกคนหนึ่ง ก็เห็นเปรตแถวๆ วัด ดิฉันพยายามจะคิดไปในแง่ที่ว่า คุณพ่อคิดไปเอง ส่วนคนที่เห็นเปรต ดิฉันคิดว่าเป็นไปได้ เมื่อมาศึกษาพระอภิธรรม ดิฉันคิดว่า เราต้องเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันเปลี่ยนความคิดไปมาก เช่น พิธีศพของคนจีนที่ว่า วิญญาณจะไปเกิดหลังจากนั้น ๔๙ วัน เป็นต้น จึงมีการเซ่นไหว้ เป็นเวลา ๔๙ วัน แม้แต่เรื่องเข้าทรง ก็เห็นกับตามาแล้ว ซึ่งไม่ต้องการจะเล่าอะไรยืดยาว ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัญญายังมีไม่มาก เพราะฉะนั้น บางครั้งก็อาจมีคำถามเหล่านี้อยู่ในความคิด แต่ในบางครั้งก็คิดว่า ถ้าเราเชื่อในพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงสอนอะไร เราก็ศึกษาและยึดมั่น ก็จะไม่คิดมาก หรือคิดให้น้อยลง มิฉะน้้น จะเกิดคำถามที่ว่า จุติจิตเกิดแล้วปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที แล้วที่เห็นนั่นคืออะไร คิดว่าที่เห็นอาจจะคือผู้ที่ปฏิสนธิเป็นเปรต ส่วนที่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ อาจเป็นจิตคิดไปเอง ข้อความนี้ เป็นการเล่าเรื่องสิ่งที่ดิฉันคิดพิจารณาเอาเองค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย paderm  วันที่ 19 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

ภพภูมิของสัตว์มีมากมาย ซึ่งตามหลักสัจจะแล้ว ตายแล้วเกิดทันทีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส แต่จะไปเกิดเป็นอะไรนั้น แล้วแต่กรรมที่ทำมา ว่าจะไปเกิดเป็นสัตว์ในภพภูมิใด ดังนั้น การที่บุคคลใดเห็นใครก็ตาม แม้บุคคลนั้นตายไปแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นไปได้ เพราะบุคคลนั้น ไปเกิดในภพภูมิที่เป็นเปรต ที่ต้องการส่วนบุญ จึงปรากฏให้คนมีชีวิตอยู่เห็น เพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศลให้เขา แต่ที่เราเห็นคนที่ตายแล้ว ก็ไม่ใช่วิญญาณล่องลอย แต่สัตว์นั้นเกิดแล้วทันที เป็นเปรตได้ครับ หากเรามั่นคงในสัจจะ คือจุติจิตเกิด ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อทันทีสำหรับผู้ที่มีกิเลส ก็จะเข้าใจคล้อยตามความเป็นจริงและก็รู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ แต่ก็ไม่พ้นจากตายแล้วเกิดทันที ไม่มีวิญญาณล่องลอยครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 11    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 19 ธ.ค. 2554

เกือบจะร้องว่า ยูเรกา! ได้แล้วละครับ แต่เหมือนกับยังมีโค้งลับแลบังๆ อยู่ ท่านผู้รู้กรุณาใช้ขันติธรรมและเมตตาธรรมให้มากหน่อยนะครับ ผู้ฟังนั้นจะเข้าใจหรือยังไม่เข้าใจ ก็ไม่ไปไหนหรอกครับ ยังมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งมั่นคง

คืออย่างนี้ครับ เรื่องรูปใหม่ไม่ใช่รูปเก่านั้น กระผมเข้าใจดี แต่ในกรณีที่กำลังสนทนากันอยู่นี้ รูปนามใหม่มีปัจจัยสัมพันธ์กับรูปนามเก่า คือพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ในภพดุสิต และเจ้าชายสิทธัตถะ ล้วนเกี่ยวเนื่องกัน ข้อพิสูจน์คือในขณะที่มีพระเวสสันดรในเมืองเชตุดร ก็ไม่มีพระโพธิสัตว์ในภพดุสิต และไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะที่เมืองกบิลพัสดุ์ พูดตามความเข้าใจของคนทั่วไปก็บอกว่าพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตยังมีไม่ได้เพราะต้องรอให้พระเวสสันดรที่เมืองเชตุดรจุติเสียก่อน และเจ้าชายสิทธัตถะที่เมืองกบิลพัสดุ์ก็ยังมีไม่ได้ เพราะต้องรอให้พระโพธิสัตว์ในภพดุสิตจุติเสียก่อน

ทีนี้ โค้งลับแลที่บังตากระผมอยู่ก็คือเมืองเชตุดร ภพดุสิตและเมืองกบิลพัสดุ์ อยู่คนละที่กัน จิต (นาม) ที่อยู่กับรูปของพระเวสสันดรในเมืองเชตุดรไปเป็นปัจจัยให้เกิดนามที่อยู่กับรูปของพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตซึ่งอยู่ต่างที่กันได้อย่างไร ถ้าจิตไม่มีการเคลื่อนที่ (ขอยืนยันนะครับว่า กระผมเข้าใจดีว่าไม่ใช่นามเดิม ไม่ใช่รูปเดิม แต่รูปนามเดิมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปนามใหม่) ถ้าเมืองเชตุดร ภพดุสิต และเมืองกบิลพัสดุ์ ตั้งอยู่ตรงจุดเดียวกันตรงเป๊ะเหมือนปลายเข็ม ๓ เล่มปักอยู่ในจุดเดียวกัน ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะจิตก็ไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหนเลย แต่นี่อยู่ต่างห่างกันทั้งสถานที่และกาลเวลา แต่ก็จะต้องเกี่ยวเนื่องกัน เป็นปัจจัยของกันและกัน จะอธิบายอย่างไรดี

อุปมาด้วยแสงเทียน น่าฟังครับ แสงเทียนตอนหกโมงเป็นคนละแสงกับตอนใกล้รุ่งประเด็นนี้ชัดแจ๋ว กระผมเข้าใจว่าเล่มเทียนก็ยังคงตั้งอยู่ตรงจุดเดิมใช่ไหมครับ แต่ในประเด็นเรื่องเมืองเชตุดร ภพดุสิต และเมืองกบิลพัสดุ์ ดูคล้ายกับว่า หกโมงเล่มเทียนตั้งอยู่ที่เมืองเชตุดร เที่ยงคืนย้ายไปอยู่ภพดุสิต ใกล้รุ่งจึงไปอยู่เมืองกบิลพัสดุ์ แล้วเล่มเทียนไปอยู่ต่างที่กันได้อย่างไร หรือว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ตรงนี้แหละครับที่ต้องขอความกรุณาอธิบายอีกที

ลูกองุ่น หยิบใส่ปากได้ทันที แต่มาเจอลูกมะพร้าว ต้องปอก ต้องผ่ากันหลายชั้นกว่าจะหยิบเนื้อมะพร้าวใส่ปากได้ ไม่ใช่ความผิดของมะพร้าว แต่เป็นความไม่สมบูรณ์ในด้านสติปัญญาสามารถของคนที่จะกินมะพร้าวเอง ขอความเมตตาอย่าเพิ่งรำคาญนะครับ


ความคิดเห็น 12    โดย paderm  วันที่ 19 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 11 ครับ

ยินดีสนทนาธรรมครับ

สำหรับประเด็นที่ยังสงสัยอยู่ คือเมืองต่างๆ เมืองเชตุดร ภพดุสิต และเมืองกบิลพัสดุ์อยู่คนละที่กัน จิต (นาม) ที่อยู่กับรูปของพระเวสสันดรในเมืองเชตุดรไปเป็นปัจจัยให้เกิดนามที่อยู่กับรูปของพระโพธิสัตว์ในภพดุสิตซึ่งอยู่ต่างที่กันได้อย่างไร ถ้าจิตไม่มีการเคลื่อนที่ (ขอยืนยันนะครับว่า กระผมเข้าใจดีว่า ไม่ใช่นามเดิม ไม่ใช่รูปเดิม แต่รูปนามเดิมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปนามใหม่)


- ประเด็นปัญหา คือเราจะต้องเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องของรูปให้ถูกต้องครับ ว่า รูป ที่เป็นสภาพธรรมไม่รู้อะไร เช่น พื้นดินที่ประกอบด้วย อวินิพโภครูป ๘ เป็นสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันของรูปต่างๆ และบัญญัติว่า เมืองเชตุดร ภพดุสิต เมืองกบิลพัสดุ์ หากมองโดยสัจจะแล้ว ไม่มีความแตกต่างกันเลย คือเป็นแต่รูปธรรมที่ประชุมรวมกันเท่านั้น แต่เราไปตั้งชื่อ สมมติให้ว่าเป็นเมืองนั้นเมืองนี้ครับ คราวนี้ เข้ามาที่ปัญหา คือรูปที่ประชุมรวมกันจนบัญญัติว่าเป็นเมืองนั้น สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป แต่รูปธรรมจะเกิดขึ้นจะต้องมีสมุฏฐาน คือเหตุให้เกิดขึ้นครับ ซึ่งรูปแต่ละรูปก็เกิดจากสมุฏฐานที่แตกต่างกันไป เช่น รูปที่เกิดจากรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร ดังนั้น สำหรับเมืองเชตุดร ภพดุสิต เมืองกบิลพัสดุ์ ที่บัญญัติขึ้น ก็คือการประชุมรวมกันของรูปธรรม ซึ่งรูปธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา เช่น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา มีเหตุให้เกิดสมุฏฐานจากอุตุเป็นสมุฏฐานครับ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะไปเกิดที่ไหน อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์หรือสัตว์บุคคลต่างๆ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเมืองเหล่านี้ คือไม่เกี่ยวข้องกับรูปธรรม เพราะอะไรครับ เพราะรูปธรรมเหล่านี้เกิดดับด้วยสมุฏฐานคืออุตุ เป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เราจึงไม่ควรเอารูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานมาปนกับการเกิดขึ้นของนามและรูปในภพอื่นๆ ครับ หากได้ศึกษา เราคงเคยได้ยินใช่ไหมครับว่ารูปที่มีใจครองก็มี รูปที่ไม่มีใจครองก็มี ดังนั้น รูปที่มีใจครองคือรูปร่างกายของเรา ที่มีจิต เจตสิกเกิดขึ้น ส่วนรูป คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นพื้นดิน บัญญัติว่าเป็นเมืองนั้นเมืองนี้ ไม่มีใจครอง ก็คือไม่มีจิต เจตสิก เกิดขึ้น รูปเหล่านี้ที่ไม่มีใจครอง จึงไม่เป็นปัจจัยไม่เกี่ยวกับการสืบต่อของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ที่จากจุติไปปฏิสนธิเลยครับ จึงเอาปนกันไม่ได้ครับ ซึ่งชื่อเมืองต่างๆ ก็เป็นการสมมติขึ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือรูปธรรม ดังนั้น หากจะกล่าวว่าเกี่ยวข้องกัน คือรูปที่มีใจครองเป็นปัจจัยให้เกิดจิต เจตสกิและรูปใหม่ได้ครับ แต่ไม่ใช่รูปที่ไม่มีใจครอง ดังนั้น จิตจึงไม่มีการเดินทาง เคลื่อนที่ เพราะเมืองหรือภพต่างๆ ก็เป็นเพียงการสมมติขึ้น ตั้งชื่อขึ้นจากสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น และเขาก็เกิดดับของเขาเอง ตามสมุฏฐานของเขา โดยไม่เกี่ยวกับรูปและนามที่มีใจครองเลยครับ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกัน เพราะเป็นรูปที่ไม่มีใจครองที่เป็นรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่จิตเป็นสมุฏฐานครับ อุปมาแสงเทียน จึงมุ่งหมายถึงรูปที่มีใจครอง ที่อาศัยจิต เจตสิกเกิดขึ้นครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 13    โดย jaturong  วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย daris  วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้จิตเกิดต่างที่กัน? จากการศึกษาจากที่ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้กรุณาบรรยายและอธิบาย ทราบว่าจิตที่ดับไปก่อนเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดต่อทันทีเป็นลำดับด้วยดีไม่มีระหว่างคั่น จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะต้องเกิดที่รูปเท่านั้น อยากทราบว่ามีแสดงไว้หรือไม่ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้จิตเกิดที่รูปต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่เดียวกัน เพราะจากการศึกษาและจากที่ท่านอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นกรุณาอธิบาย ว่า จิตเกิดที่รูปไหนต้องดับที่รูปนั้น จะไม่มีการเคลื่อนที่ของจิตแน่นอน แล้วอะไรเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อๆ ไปเกิดที่รูปอีกรูปที่อยู่คนละที่กัน เช่น เมื่อถึงวาระที่จะได้เห็น จักขุวิญญาณก็เกิดที่จักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับที่อยู่ตรงกลางตา แล้วก็ดับไปที่จักขุปสาทรูปนั้น จากนั้นจิตดวงต่อๆ ไปในวิถีจิตทางตา มีสัมปฏิจฉันนะ เป็นต้น ก็ต้องเกิดต่อด้วยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยที่หทยวัตถุที่ยังไม่ดับที่อยู่ที่หัวใจ จนกว่าจะครบวิถีจิตทางตาแล้วเป็นภวังค์ต่อ และต่อจากนั้นหากถึงวาระที่จะได้ยิน โสตวิญญาณก็เกิดที่โสตปสาทรูปที่ยังไม่ดับที่อยู่ตรงกลางหู คือสงสัยว่าทั้งจักขุวัตถุ โสตวัตถุ และหทัยวัตถุ (และวัตถุรูปอื่นๆ) เกิดดับโดยมีกรรมเป็นสมุฏฐานตลอดเวลา ไม่ใช่รูปประเภทเดียวกัน และเกิดดับคนละที่ (อย่างเช่น ตากับหู ก็ตั้งอยู่ห่างกัน มีรูปกลาปอื่นๆ และอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่) แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้จิตดวงหนึ่งเกิดดับที่จักขุวัตถุ แล้วดวงต่อไปเกิดที่หทยวัตถุ ที่อยู่ไกลกันออกไป

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย paderm  วันที่ 20 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 14 ครับ

จากคำถามที่กล่าว เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องวิถีจิตที่เป็นลำดับด้วยดี กับเรื่องที่เกิดของจิต คือวัตถุรูป ซึ่งก่อนอื่นเข้าใจเบื้องต้น เรื่องที่เกิดของจิตก่อนครับ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดขึ้น จะต้องมีที่เกิดขึ้น ซึ่งที่เกิดของจิตเรียกว่าวัตถุรูป ที่เกิดของจิต มี ๖ คือ วัตถุรูป ๖ ประกอบด้วย จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูป จิตเห็นหรือจักขุวิญญาณ เกิดที่จักขุปสาทรูป จิตได้ยิน เกิดที่โสตปสาทรูป จิตได้กลิ่น เกิดที่ฆานปสาทรูป จิตลิ้มรส เกิดที่ชิวหาปสาทรูป จิตรู้กระทบสัมผัส เกิดที่กายปสาทรูป ส่วนจิตที่เหลือทั้งหมดเกิดที่หทยรูปครับ

พอเข้าใจตรงนี้ ก็กลับมาที่วิถีจิต ซึ่งวิถีจิตเป็นทางของจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับด้วยดี เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตเห็นเกิดต่อ หรือทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง อาจเป็นจิตได้ยิน จิตได้กลิ่นก็ได้ และเมื่อทวิปัญจวิญญาณจิตดับไป ก็ต้องเป็นลำดับด้วยดีตามสมนันตรปัจจัย คือจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนจิต และจิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ ก็ต้องเป็นสันตีรณจิต เป็นลำดับด้วยดีไปอย่างนี้ และก็เป็นโวฏฐัพพนจิต และชวนจิตก็เกิดขึ้น เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

เมื่อเราเข้าใจสองเรื่อง คือที่เกิดของจิต กับลำดับวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เรียกได้ว่าเป็นกฎของธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นธรรมนิยาม เป็นสัจจะที่พระองค์ทรงตรัสรู้ พระองค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริง แต่พระองค์ทรงรู้ความจริงอย่างนั้น คือลำดับวิถีจิตจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามลำดับด้วยดี ตามสมนันตรปัจจัย ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับวิถีจิตที่กล่าวมา ดังนั้น เมื่อมีรูปมากระทบกับปสาทรูป เช่น สีมากระทบจักขุปสาทรูป ปัญจทวาราวัชชนจิตจะต้องเกิดขึ้นรู้ว่ามีอารมณ์ คือรูปมากระทบ นี่คือกฎธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีที่เกิดคือหทยวัตถุ และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เป็นกฎธรรมชาติ สัจจะไม่เปลี่ยนแปลง ที่เป็นธรรมนิยามด้วยสมนันตรปัจจัย เป็นลำดับด้วยดีอย่างนี้ จิตเห็นเกิดขึ้นก็ต้องมีที่เกิด คือจักขุปสาทรูป ดังนั้น เหตุผลที่ว่า ทำไมจิตดวงหนึ่งไปเกิดที่รูปนี้ จิตอีกดวงไปเกิดที่รูปนี้ เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต ไปเกิดที่หทยวัตถุ และจักขุวิญญาณเกิดต่อ (จิตเห็น) จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป ทำไมย้ายจากหทยวัตถุไปจักขุปสาท

เหตุผลประการแรก คือเป็นจิตคนประเภทกัน ทำไมจิตบางประเภทต้องไปเกิดที่รูปหนึ่ง แต่เมื่อจิตบางประเภทเกิดขึ้น ก็เกิดกับรูปอีกรูปหนึ่ง

เหตุผลประการที่สอง ที่ย้ายจากรูปหนึ่งไปรูปหนึ่ง เพราะ วิถีจิต ลำดับธรรมชาติของเขาต้องเป็นอย่างนั้น คือเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น จิตเห็นต้องเกิดต่อ ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เมื่อจิตเห็นเกิดต่อ จิตเห็นจึงเกิดที่จักขุปสาทรูป ไม่ใช่เกิดที่หทยวัตถุ ดังเช่นปัญจทวาราวัชชนจิตครับ ดังนั้น การย้ายที่เกิดของจิตไปเกิดรูปอื่น จากรูปหนึ่งไปรูปหนึ่ง เพราะเหตุผล คือตามลำดับวิถีจิตที่จิตแต่ละดวงต้องเกิดเป็นไปตามนั้นครับ ส่วนเมื่อจิตเห็นดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ ก็ต้องเป็นสัมปฏิจฉันนจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิด ก็เกิดที่หทยรูปแล้ว ไม่ใช่จักขุปสาทรูป เพราะว่าเป็นจิตคนละประเภท และที่ย้ายที่เกิดขึ้นด้วยจิตคนละประเภทและลำดับวิถีจิตจะต้องเป็นไปอย่างนั้นครับ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ นอกจากสันตีรณจิต แต่สันตีรณจิตก็เกิดที่หทยรูปเหมือนสัมปฏิจฉันนจิต ถ้ามีคำถามว่า ทำไมไม่ย้ายไปเกิดที่รูปอื่น คำตอบคือ เพราะลำดับวิถีจิตจะต้องเป็นอย่างนั้น และจิตประเภทนั้น คือสันตีรณจิตจะต้องเกิดที่หทยรูป ดังเช่น สัมปฏิจฉันนจิตครับ ดังนั้น ด้วยเหตุผลของลำดับวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ทำให้ลำดับจิตที่เกิดขึ้น ก็ไปเกิดที่รูปบางประเภท ไม่เกิดที่รูปเดียวกันครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 16    โดย daris  วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายให้ความเข้าใจครับ


ความคิดเห็น 17    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ประเด็นที่กระผมยังงงๆ อยู่ คือ ถ้าจิตไม่มีการเคลื่อนย้ายที่ แล้วอะไรเป็นปัจจัยให้ไปเกิดต่างที่กันได้ กระผมพยายามหามองอุปมาเพื่อสรุปให้ตัวเองเข้าใจได้ง่ายขึ้น กระผมคิดอุปมาออกมาอย่างหนึ่ง คือสมมติว่า มีแมว สุนัข ไก่ หมอบอยู่ในที่มืด ต่างที่กัน แต่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน มีคนเอาไฟฉายส่องไปที่แมว ลำแสงไฟฉายพุ่งไปจับที่แมว แล้วคนที่ส่องไฟนั้นก็ปิดไฟฉาย จากนั้นก็หันกระบอกไฟฉาย (ยังปิดไฟอยู่) ไปที่สุนัข แล้วเปิดไฟ ลำแสงไฟฉายพุ่งไปจับที่สุนัข ลำแสงไฟฉายที่จับที่แมวไม่ได้เคลื่อนที่จากแมวมาที่สุนัข เพราะลำแสงที่แมวนั้นดับไปแล้ว และลำแสงที่กำลังจับที่สุนัขก็เป็นลำแสงที่เปิดขึ้นใหม่ จากสุนัขไปที่ไก่ ก็ทำนองเดียวกัน ลำแสงที่สุนัข ดับไปแล้ว ลำแสงที่ไก่ ก็เป็นลำแสงใหม่ จึงไม่มีลำแสงจากสุนัขเคลื่อนที่ไปที่ไก่ จิตอุปมาเหมือนลำแสงไฟฉาย แมว สุนัข ไก่ เหมือนภพภูมิต่างๆ อุปมานี้ ผิดหรือถูก ตามสภาวธรรม อย่างไรหรือไม่ ถ้าผิดสภาวะ ก็แล้วไป แต่ถ้าถูก คือจิตอุปมาเหมือนลำแสงไฟฉาย แล้วอะไรละครับที่จะอุปมาเหมือนคนฉายไฟฉาย ขอพึ่งความรู้ความเข้าใจของผู้รู้ครับ


ความคิดเห็น 18    โดย paderm  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 17 ครับ

กรรม นั่นแหละครับ ที่ทำให้เกิดต่างที่กัน หมายถึงที่อยู่ของสัตว์โลกแตกต่างกันไปเพราะกรรมเป็นปัจจัย เช่น ไปเกิดในนรก ในสวรรค์ ในโลกมนุษย์ ตามแต่กรรมนั้นพาไป เพราะกรรมหรืออภิสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คือปฏิสนธิจิต ดังนั้น ถ้าหมายถึงที่เกิดของจิตที่เป็นปฏิสนธิจิต คือหทยรูป แต่ถ้าเป็นโอกาสโลก ที่เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่แตกต่างกันไป แตกต่างกันในภพภูมิต่างๆ เพราะกรรมจัดสรรให้แตกต่างกันไป คนที่ฉายไฟ ก็คือกรรมนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 19    โดย boonpoj  วันที่ 29 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 20    โดย chatchai.k  วันที่ 15 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ