[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 385
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๘
๘. เมณฑสิรเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระเมณฑสิรเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 385
๘. เมณฑสิรเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระเมณฑสิรเถระ
[๒๑๕] ได้ยินว่า พระเมณฑสิรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เมื่อเรายังไม่ได้ประสบญาณ ได้ท่องเที่ยวไปในสงสาร สิ้นชาติมิใช่น้อย เรานั้นเกิดมาแล้วในกองทุกข์ กำจัดกองทุกข์ได้แล้ว.
อรรถกถาเมณฑสิรเถรคาถา
คาถาของท่านพระเมณฑสิรเถระ เริ่มต้นว่า อเนกชาติสํสารํ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
ได้ยินว่า แม้พระเถระนั้น ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กระทำบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ไว้ในภพนั้นๆ เป็นอันมาก ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว ละกามวิสัย แล้วบวชเป็นดาบส อยู่ในป่าหิมวันต์พร้อมด้วยฤาษีหมู่ใหญ่ เห็นพระบรมศาสดาแล้วมีใจเลื่อมใส ยังหมู่ฤาษีให้นำดอกปทุมมาทำพุทธบูชา ด้วยดอกไม้ สั่งสอนสาวกทั้งหลาย ในอัปปมาทปฏิปทา ทำกาละแล้วบังเกิด ในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ เกิดในตระกูลคฤหบดีในเมืองสาเกต ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้สมัญญานามว่า เมณฑสิระ ดังนี้แล เพราะความที่เขามีศีรษะคล้ายแกะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 386
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในอัญชนวนวิหาร ในเมืองสาเกต เขาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้มีจิตศรัทธา บรรพชาแล้ว เจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นผู้มีอภิญญาหกแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า
ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมวันต์มีภูเขาชื่อว่าโคตมะ ดารดาษด้วยต้นไม้นานาพรรณ เป็นที่อยู่ของหมู่มหาภูต (ยักษ์) ในท่ามกลางภูเขานั้น มีอาศรมที่เราสร้างไว้ เราแวดล้อมด้วยหมู่ศิษย์ของตนอยู่ในอาศรม ได้สั่งศิษย์ทั้งหลายว่า คณะศิษย์ของเรา (เมื่อมาหาเรา) ขอจงนำเอาดอกบัวมาให้เรา เราจักทำพุทธบูชา แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้จอมประชา ผู้คงที่ ศิษย์เหล่านั้น รับคำที่เราสั่งอย่างนี้แล้ว นำเอาดอกบัวมาให้เรา เรากระทำดอกบัวให้เป็นนิมิตอย่างนั้นแล้ว บูชาพระพุทธเจ้า ในกาลนั้นเราประชุมศิษย์ทั้งหลายแล้ว พร่ำสอนด้วยดีว่า ท่านทั้งหลายอย่าประมาทนะ เพราะว่าความไม่ประมาทนำสุขมาให้ ครั้นเราพร่ำสอน บรรดาศิษย์ของตน ผู้อดทนต่อคำสอนอย่างนี้แล้ว ประกอบตนในคุณ คือความไม่ประมาท ได้ทำกาละ ในกาลนั้น ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๕๑ แต่ ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช มีนามว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 387
ชลุตตมะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
พระเถระ เมื่อระลึกถึงขันธบัญจก ที่ตนเคยอาศัยมาในก่อนของตน ได้กล่าวคาถาว่า
เมื่อเรายังไม่ได้ประสบญาณ ได้ท่องเที่ยวไปในสงสาร สิ้นชาติมิใช่น้อย เรานั้นเกิดมาแล้วในกองทุกข์ กำจัดกองทุกข์ได้แล้ว ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกชาติ สํสารํ ความว่า สังสารวัฏฏ์ นี้ นับจำนวนตั้งแสนชาติมิใช่น้อย บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติเอกวจนะ เพราะ หมายถึงการเดินทางไกล.
บทว่า สนฺธาวิสฺสํ แปลว่า แล่นไปแล้ว ได้แก่ หมุนไปแล้ว ไปๆ มาๆ ด้วยสามารถแห่งการจุติ และอุปบัติ.
บทว่า อนิพฺพิสํ ความว่า เมื่อไม่ประสบ คือไม่ได้ซึ่งญาณเป็น เครื่องหยุดวัฏฏะนั้น.
บทว่า ตสฺส เม ความว่า แก่เราผู้ท่องเที่ยวไปอยู่อย่างนี้.
บทว่า ทุกฺขชาตสฺส ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดแล้วด้วยสามารถแห่งชาติ เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีทุกข์เป็นสภาพด้วยสามารถแห่งความเป็นทุกข์ ๓ อย่าง.
บทว่า ทุกฺขกฺขนฺโธ ได้แก่ กองแห่งทุกข์ ต่างด้วยกรรมวัฏฏ์ กิเลสวัฎ และวิปากวัฏฏ์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 388
บทว่า อปรทฺโธ ความว่า นับจำเดิมแต่ได้บรรลุพระอรหัตตมรรค ก็จักไม่หมุนไป ไม่จุติ ไม่เกิด. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า อปรฏฺโ ดังนี้ (ก็มี). อธิบายว่า ไม่ปราศจากความสำเร็จ คือไม่ไปปราศจากเหตุแห่งการถอนกิเลสขึ้น. ก็คำเป็นคาถานี้แหละ ได้เป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ.
จบอรรถกถาเมณฑสิรเถรคาถา