๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
โดย บ้านธัมมะ  28 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36077

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 447

๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 447

๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

[๒๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ทิฏฐิ ๑๐ อย่าง

[๒๔๕] ปริพาชกวัจฉโคตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 448

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

[๒๔๖] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 449

เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้.

[๒๔๗] ดูก่อนวัจฉะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง... โลกไม่เที่ยง... โลกมีที่สุด... โลกไม่มีที่สุด... ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น... ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้นั้น เป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปกับด้วยทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลําบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกําหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

ดูก่อนวัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้.

ก็ความเห็นอะไรๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ.

ดูก่อนวัจฉะ ก็คําว่าความเห็นดังนี้ ตถาคตกําจัดเสียแล้ว ดูก่อนวัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า ดังนี้ รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ ความดับแห่งรูป ดังนี้ เวทนา ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา ดังนี้ สัญญา ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา ดังนี้ สังขาร ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกําหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 450

สําคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเรา ว่าของเรา และความถือตัวนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง.

ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น

[๒๔๘] ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน.

ดูก่อนวัจฉะ คําว่า จะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ.

ดูก่อนวัจฉะ คําว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ.

ดูก่อนวัจฉะ คําว่า เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ คําว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร.

[๒๔๙] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ คําว่า จะเกิดดังนี้ไม่ควร ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ คําว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้วเพราะวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.

[๒๕๐] ดูก่อนวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้น


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 451

อันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสํานักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก ดูก่อนวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใดก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา.

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุก ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้อาศัยเชื้อ คือ หญ้าและไม้จึงลุกอยู่.

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือ ทิศบูรพา ทิศปัศจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือ หญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 452

การละขันธ์ ๕

[๒๕๑] ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทําให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด... เพราะสัญญาใด... เพราะสังขารเหล่าใด... เพราะวิญญาณใด... วิญญาณนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทําให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.

ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์

[๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกวัจฉโคตรได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุดร่วง กะเทาะไป เพราะเป็นของไม่เที่ยง สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้นปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้แล้ว คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วนๆ ฉันใด พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ คงเหลืออยู่แต่คําอันเป็นสาระล้วนๆ.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 453

ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีบในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ถึงท่านพระโคดม พระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจําข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบอัคคิวัจฉโคตตสูตรที่ ๒

๒. อรรถกถาอัคคิวัจฉสูตร (๑)

อัคคิวัจฉโคตตสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า น โข อหํ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในครั้งแรกว่าเราไม่เห็นว่าโลกเที่ยง. ในครั้งที่ ๒ ตรัสว่า เราไม่เห็นว่าโลกขาดสูญ.

พึงทราบการปฏิเสธในทุกวาระด้วยคํามีอาทิว่า โลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด ด้วยประการฉะนี้.

วาทะนี้ว่า โหติ จ น จ โหติ สัตว์ตายไปแล้วมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี เป็นวาทะว่าเที่ยงบางอย่างในที่นี้.

วาทะนี้ว่าสัตว์ตายไปแล้วมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ พึงทราบว่า เป็น อมราวิกเขปะ (ทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว).

บทว่า สทุกฺขํ เป็นไปกับด้วยทุกข์ คือ เป็นไปกับด้วยทุกข์ ด้วยทุกข์อันเกิดแต่กิเลส และด้วยทุกข์อันเกิดแต่วิบาก.

บทว่า สวิฆาตํ เป็นไปกับ


(๑) บาลีเป็นอัคคิวัจฉโคตตสูตร.


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 454

ด้วยความลําบาก คือเป็นไปกับด้วยความลําบากด้วยอํานาจทุกข์ ๒ อย่างเหล่านั้น.

บทว่า สอุปายาสํ เป็นไปกับด้วยความคับแค้น คือ เป็นไปกับด้วยความคับแค้นด้วยอํานาจทุกข์เหล่านั้น.

บทว่า สปริฬาหํ เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อนด้วยอํานาจแห่งทุกข์เหล่านั้นนั่นแหละ.

บทว่า กิฺจิ ทิฏิคตํ ความว่า วัจฉะทูลถามว่า แม้ความเห็นไรๆ ที่พระองค์ทรงชอบ ทรงพอใจแล้วถือเอามีอยู่หรือ.

บทว่า อปนีตํ นําออกไปแล้ว คือ ตถาคตกําจัดแล้วไม่เข้าไปหาแล้ว.

บทว่า ทิฏํ คือ เห็นด้วยปัญญา.

บทว่า ตสฺมา เพราะฉะนั้น ตถาคตได้เห็นความเกิดและความเสื่อมแห่งขันธ์ ๕.

บทว่า สพฺพมฺิตานํ ซึ่งความสําคัญทั้งปวง คือ ซึ่งความสําคัญ คือ ตัณหาทิฏฐิและมานะแม้ทั้ง ๓ ทั้งปวง.

แม้บทว่า มถิตานํ ก็เป็นไวพจน์ของบทเหล่านั้นนั่นเอง.

บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจําแนกบทเหล่านั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงจึงตรัสว่า สพฺพอหงฺการมมงฺการมานานุสยานํ ความถือว่าเรา ว่าของเราและความถือตัวอันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง.

จริงอยู่ในบทนี้พึงทราบความดังนี้.

ความถือว่าเราเป็นทิฏฐิ. ความถือว่าของเราเป็นตัณหา. ความถือตัวอันนอนอยู่ในสันดานเป็นมานะ.

บทว่า อนุปาทา วิมุตฺโต ตถาคตพ้นวิเศษแล้วจากความไม่ถือมั่น คือ พ้นเพราะไม่ถือธรรมไรๆ ด้วยอุปาทาน ๔.

บทว่า น อุเปติ คือ ไม่ควร.

อนึ่ง พึงทราบความในบทนี้ดังต่อไปนี้.

บทว่า น อุปปชฺชติ ไม่เกิดนี้ ควรรู้ตาม. แต่เพราะเมื่อตรัสอย่างนี้ ปริพาชกนั้น พึงถือเอาความขาดสูญ.

อนึ่งบทว่า อุปปชฺชติ ย่อมเกิด. พึงถือเอาความเที่ยงอย่างเดียว.

บทว่า อุปปชฺชติ จ โน อุปปชฺชติ จ เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี พึงถือเอาความเที่ยงบางส่วน.

บทว่า เนว อุปปชฺชติ น จ อุปปชฺชติ เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่เป็น


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 455

ความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วัจฉปริพาชกนี้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว จะไม่ได้ที่เข้าไปอยู่เป็นสุขเลย แล้วทรงตั้งอยู่ในความไม่เห็นชอบ ทรงปฏิเสธความเห็นชอบ.

บทว่า อลํ ควรแล้ว คือ สามารถจัดแจง.

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรม คือ ปัจจยาการ.

บทว่า อฺตฺถ โยเคน คือ มีความเพียรในทางอื่น.

บทว่า อฺตฺถ อาจริยเกน คือ อยู่ในสํานักของอาจารย์อื่นผู้ไม่รู้ปัจจยาการ.

บทว่า เตนหิ วจฺฉ ดูก่อนวัจฉะ ท่านกล่าวว่า เราถึงความลุ่มหลง ฉะนั้น เราจะย้อนถามท่านในข้อนี้.

บทว่า อนาหาโร นิพฺพุโต ไฟไม่มีเชื้อดับไปแล้ว คือ ไม่มีปัจจัยดับไป.

บทว่า เยน รูเปน ด้วยรูปใด คือ พึงบัญญัติสัตว์ว่ามีรูปด้วยรูปใด.

บทว่า คมฺภีโร คือ มีคุณอันลึก.

บทว่า อปฺปเมยฺโย อันใครๆ ประมาณไม่ได้ คือ ไม่สามารถถือเอาประมาณได้.

บทว่า ทุปฺปริโยคาฬฺโห หยั่งถึงได้โดยยาก คือ รู้ได้ยาก.

บทว่า เสยฺยถาปิ มหาสมุทฺโท คือ ดุจมหาสมุทรลึก ประมาณไม่ได้ รู้ได้ยาก ฉันใด แม้พระขีณาสพก็ฉันนั้น.

บทมีอาทิว่า อุปฺปชฺชติ ไม่ควรทั้งหมดเพราะปรารภพระขีณาสพนั้น. อย่างไร. เหมือนบทมีอาทิว่าบุคคลไปสู่ทิศตะวันออก เพราะปรารภไฟที่ดับแล้ว ไม่ควรทั้งหมดฉะนี้.

บทว่า อนิจฺจตา เพราะความไม่เที่ยง.

บทว่า สาเร ปติฏิตํ คือ เหลือแต่แก่นคือโลกุตตรธรรม.

บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถาอัคคิวัจฉสูตรที่ ๒