สูตรที่ ๒ บุคคล ๒ พวกที่กระทําตอบแทนไม่ได้ง่าย
โดย บ้านธัมมะ  19 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38470

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 357

สูตรที่ ๒

บุคคล ๒ พวกที่กระทําตอบแทนไม่ได้ง่าย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 357

สูตรที่ ๒

บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

[๒๗๘] ๓๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ทั้งสองท่านคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประดับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การการทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้น


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 358

เพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.

จบสูตรที่ ๒

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มาตุ จ ปิตุ จ ได้แก่ มารดาผู้บังเกิดเกล้า ๑ บิดาผู้บังเกิดเกล้า ๑. บทว่า เอเกน ภิกฺขเว อํเสน มาตรํ ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติมารดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง. บทว่า เอเกน อํเสน ปิตรํ ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติบิดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง. บทว่า วสฺสสตายุโก วสฺสสตาชีวี ความว่า มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพอยู่ ๑๐๐ ปี. มีคำอธิบายว่า ถ้าบุตรคิดว่าจักตอบแทนคุณบิดามารดา กระวีกระวาดให้มารดานั่งบนจะงอยบ่าข้างขวา ให้บิดานั่งบนจะงอยบ่าข้างซ้าย มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพแบกอยู่ ๑๐๐ ปี. บทว่า โส จ เนสํ อุจฺฉาทนปริมทฺทนนฺหาปนสมฺพาหเนน ความว่า บุตรนั้นแล พึงบำรุงบิดามารดาผู้นั่งอยู่บนจะงอยบ่านั่นเอง ด้วยการอบกลิ่นให้ตัวหอม เพื่อบรรเทากลิ่นเหม็น ด้วยการนวดมือเท้า เพื่อบรรเทาเมื่อยขบ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 359

เวลาหนาวให้อาบน้ำอุ่น เวลาร้อนให้อาบน้ำเย็น ด้วยการดัด คือ ดึงมือและเท้าเป็นต้น. บทว่า เต จ ตตฺเถว ความว่า บิดามารดาทั้งสองก็นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนนั้นแหละ คือ บนจะงอยบ่าทั้งสองของบุตรนั้น. บทว่า น เตฺวว ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการปรนนิบัติถึงเพียงนี้ จะเป็นอันบุตรนั้นได้ทำคุณหรือได้ตอบแทนคุณแก่บิดามารดาแล้วหามิได้เลย. บทว่า อิสฺสราธิปจฺเจ รชฺเช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทีเดียว. บทว่า อาปาหกา แปลว่า เป็นผู้ให้เติบโต เป็นผู้ดูแล. เพราะบุตรทั้งหลาย บิดามารดาทำให้เติบโตและดูแลแล้ว. บทว่า โปสกา ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงดู โดยให้มือเท้าเติบโต ให้ดื่มโลหิตในหทัย. เพราะบิดามารดาเลี้ยงบุตรอย่างดี ประคบประหงมด้วยข้าวน้ำเป็นต้น. บทว่า อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร ความว่า ถ้าในวันที่บุตรเกิด บิดามารดาจะจับเท้าบุตรเหวี่ยงไปในป่าหรือในเหว บุตรก็จะไม่ได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ แต่เพราะท่านไม่ทำอย่างนี้ ฟูมฟักเลี้ยงดู บุตรจึงเห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ เพราะอาศัยบิดามารดา ฉะนั้น บิดามารดาจึงชื่อว่าเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร. บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ให้เชื่อถือ. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ผสมกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ ภิกษุเช่นพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ พึงทราบว่า ชื่อว่ายังบิดามารดาให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเหล่านั้น.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๒