เพราะไม่เห็นความลึกซึ้งก็หลงไป
โดย เมตตา  23 ม.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47305

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 483-484

ชื่อว่า สรณะ ด้วยอรรถว่า เบียดเบียน อธิบายว่า ฆ่า เบียดเบียนทําให้พินาศ ซึ่งความกลัว ความสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมองทุกด้าน ด้วยการเข้าถึงสรณะนั้นแหละ. คําว่าสรณะนี้เป็นชื่อของพระรัตนตรัยนั่นเอง.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า พุทธะ ด้วยอรรถว่า กําจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุให้ดําเนินไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้หันกลับจากสิ่งที่ไม่เป็น

ประโยชน์

ชื่อว่า ธรรม ด้วยอรรถว่า กําจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุให้ข้ามกันดารคือภพได้ และให้ความแช่มชื่น.

ชื่อว่า สงฆ์ ด้วยอรรถว่า กําจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุทําสิ่งที่ทําแม้น้อยให้ได้ผลไพบูลย์.

เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงชื่อว่าเป็นสรณะโดยปริยายนี้.

จิตตุปบาทที่ดําเนินไปโดยอาการมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า มีกิเลสอันความเลื่อมใสและความเคารพในพระรัตนตรัยนั้นกําจัดแล้ว ชื่อว่าสรณคมน์

สัตว์ผู้มีพระรัตนตรัยนั้นพร้อมแล้ว ย่อมถึงสรณะ อธิบายว่า ย่อมเข้าถึงอย่างนี้ว่า รัตนะ ๓ เหล่านั้นเป็นที่พึ่งของเรา เหล่านี้เป็นที่นับถือของเรา ดังนี้ ด้วยจิตตุปบาทมีประการดังกล่าวแล้ว. พึงทราบ ๓ อย่างนี้คือ สรณะ ๑ สรณคมน์ ๑ และผู้เข้าถึงสรณะ ๑ เท่านี้ก่อน.


[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 264


ในธรรม ๘ ประการนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน เพราะเป็นอุปการะแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อ บรรลุพระนิพพาน. ก็สัมมาทิฏฐินี้เป็นไปโดยชื่อว่า ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญาสตฺถํ (ปัญญาเป็นแสงสว่าง ปัญญาเพียงดังศัสตรา) ดังนี้.

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรกำจัดมืดคืออวิชชา ด้วยสัมมาทิฏฐิ คือ วิปัสสนาญาณนี้ในเบื้องต้น ฆ่าโจรคือกิเลสเสีย ย่อมบรรลุพระนิพพาน โดยความเกษม. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

นิพฺพานาธิคมาย ปฏิปนฺนสฺส โยคิโน

พหุการตฺตา ปฐมํ สมฺมาทิฏฺฐ เทสิตา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน.


อ.วิชัย: การที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ก็คิดว่าการมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งก็อาจจะเป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ได้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาก็เป็นเรื่องของความหวังความต้องการครับท่านอาจารย์

อย่างข้อความในอรรถกถาสามัญญาผลสูตร ก็มีข้อความอย่างนี้ครับ

ส่วนผู้ใดยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ผู้นั้นเห็นอริยสัจจะ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความล่วงพ้นทุกข์ และมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐอันเป็นทางถึงความดับทุกข์ สรณะของผู้นั้นเป็นสรณะอันเกษมเป็นสรณะสูงสุด บุคคลอาศัยสรณะนี้แล้วย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

กราบเท้าท่านอาจารย์ ฟังการสนทนาที่ท่านอาจารย์กับอ.คำปั่นได้กล่าวถึงว่า การศึกษาพระธรรมจนถึงการอบรมเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องของการละความไม่รู้ เป็นการละความติดข้อง แต่ถ้ากล่าวถึงข้อความนี้พระองค์แสดงว่า การถึงสรณะนี้เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยชอบ ดังนั้น การเริ่มต้นที่จะศึกษาที่จะไม่เป็นไปเพื่ออยากหลุดพ้น แต่เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สรณะที่ประเสริฐ คือรัตนะทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ได้ อะไรเป็นความต่างระหว่างความอยากจะหลุดพ้น กับปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ต้องรู้ว่า ถึงสรณะเป็นที่พึ่งนั้นเพื่ออะไร?

อ.วิชัย: เพื่อความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องเห็นความลึกซึ้งไหม?

อ.วิชัย: ต้องเห็นความลึกซึ้งมากครับ

ท่านอาจารย์: อันนี้จะเป็นที่พึ่ง

อ.วิชัย: ท่านอาจารย์ครับ แต่ก็เห็นถึงความติดข้องซึ่งก็แทรกได้โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นความอยากรู้ในข้อความต่างๆ ที่ทรงแสดงเอาไว้ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจว่า ก็เป็นการละความอยากไม่ได้ แต่ให้รู้ว่า เป็นความอยาก คืออย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์: ละไม่ได้ใช่ไหม? เพราะไม่รู้ ไม่เห็นความลึกซึ้ง ละไม่ได้แน่นอนเมื่อไม่เห็นความลึกซึ้ง ถูกไหม?

อ.วิชัย: ถ้าไม่เห็นโลภะ ก็ละโลภะไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์: และความลึกซึ้งด้วยของโลภะ เดี๋ยวนี้ก็มีเห็นไหม รวดเร็ว และก็เกิดดับด้วย เมื่อไหร่จะรู้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คำพูดว่าให้รู้ให้ละ หรือรู้แล้วละ แต่รู้ได้อย่างไร ถ้ารู้ด้วยความต้องการ ละหรือเปล่า? แต่ถ้ารู้ในความลึกซึ้งทีละน้อยๆ นั่นแหละ คือหนทาง เพราะฉะนั้น แม้มรรคก็ลึกซึ้ง ทุกอย่างลึกซึ้ง เพราะไม่เห็นความลึกซึ้งก็หลงไป ลืมความลึกซึ้งแล้ว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่หลงไปต่างๆ ลืมความลึกซึ้ง กับผู้ที่เป็นปกติเห็น ค่อยๆ มั่นคงในความลึกซึ้งจะต่างกันไหม?

อ.วิชัย: ต่างกันมากครับ

ท่านอาจารย์: อันนี้ค่ะ ที่จะต้องรู้ ที่พึ่งจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ก็คือฟังธรรมด้วยความเคารพว่า เป็นสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้แน่นอน ไม่ปรากฏอย่างนั้น แต่ว่า เมื่อถึงวาระที่จะปรากฏตรงกับที่ได้ฟังทุกอย่าง ลึกซึ้งแค่ไหน

อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ความประมาทก็มีได้เสมอครับ อาจจะเห็นว่ารู้แล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยากที่จะรู้ บุคคลนั้นก็ไม่เห็นความลึกซึ้ง ก็เป็นผู้ที่ประมาท แล้วก็เป็นไปด้วยความติดข้องที่เข้าใจว่ารู้แล้วครับ

ท่านอาจารย์: ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

อ.วิชัย: ขณะนั้นก็ไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์: พระองค์จะตรัสรู้ธรรมง่ายอย่างที่เราคิดไหม?

อ.วิชัย: ไม่แน่นอนครับ ต้องลึกซึ้งอย่างยิ่งแน่นอนครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การเข้าใจความลึกซึ้ง นั่นแหละ คือละความไม่รู้ในความลึกซึ้ง และความต้องการ เห็นไหมว่าลึกซึ้งอย่างนี้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ในความถูกต้อง ธรรมกำลังมี กำลังปรากฏ เพราะมีจริง เกิดแล้วด้วย แล้วจะพยายามไปรู้อย่างอื่น แต่สิ่งที่กำลังมีไม่รู้เลย ปิดบังตลอดเวลา และก็ไม่มีเราแน่นอนที่สุด

ฟังเพื่อละการเห็นผิด ความไม่รู้ความจริง จึงเข้าใจว่า เป็นเรา และความเป็นเรานี่ทั้งวันทั้งเดือนทั้งปีตลอดชาติทุกชาติ คิดดูว่าจะต้องฟังด้วยความเคารพจริงๆ ว่า กำลังมี ฟังให้เข้าใจความจริง และความเข้าใจในความจริงลึกซึ้งนั้นแหละกำลังละ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรอีกต่างหาก สัมมาทิฏฐิ องค์มรรค เห็นไหม แล้วจะไปเอาเรามาทำอะไร

อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ การได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เป็นเหตุให้ค่อยๆ เห็นความลึกซึ้งของธรรมเพิ่มขึ้นครับ ก็กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: และ นี่เป็นหนทางหรือเปล่า หรือยังมีหนทางอื่น? กว่าจะมั่นคงจริงๆ ว่าไม่มีหนทางอื่นเลย

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

สรณคมนิยเถราปทานที่ ๘ (๒๙๘) ว่าด้วยผลแห่งการถึงสรณะ

๙. ปุพพังคสูตร ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

สัมมาทิฏฐิสูตร - ข้อความเกี่ยวกับกัมมปัจจัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 2    โดย swanjariya  วันที่ 24 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา