ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อ.อรรณพ: ความประทับใจมีมาก ก็คือ สาระว่า ขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสอกุศล การที่จะมีพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่งที่จะเป็นไปเพื่อการศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสนั้น จะเป็นที่พึ่งอย่างนี้ได้อย่างไร?
ท่านอาจารย์สุจินต์: ก่อนอื่นต้องรู้ว่า มีกิเลสมากแค่ไหน มิเช่นนั้นจะพึ่งทำไม ถ้าคิดว่าดีแล้ว แต่เพราะเหตุว่า ใครก็ไม่รู้จักกิเลส มากมายแค่ไหน เดี๋ยวนี้กำลังมี ใครรู้? เห็นแล้ว ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่รู้ว่าเห็นเกิดโดยไม่มีใครไปทำทั้งสิ้น แต่เกิดแล้วให้เห็นว่า เป็นเห็น ไม่เป็นอย่างอื่น ชั่วขณะที่เห็นแล้วดับ อย่างอื่นเกิดสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ตลอดทั้งวัน ทั้งชีวิต ทุกชาติในสังสารวัฏฏ์ ความไม่รู้ในสิ่งที่มีระดับไหน ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะทำอะไรก็ตามแต่ คนที่ไม่มีปัญญาไม่เคยฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ไหมว่า ความไม่รู้นั้นทับถมมากแค่ไหน เพิ่มขึ้นในสังสารวัฏฏ์ ออกไม่ได้เลยจากความเห็นผิดหรือความไม่รู้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 212 ข้อความบางตอนจาก อรรถกถา สัมปสาทนียสูตร
ก็ ผู้ใดมีปัญญามากและมีญาณแข็งกล้า ผู้นั้นย่อมเชื่อพุทธคุณอย่างมาก โลกิยมหาชน ไอก็ดี จามก็ดี ดำรงอยู่ในอุปนิสัยของตนๆ ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พระโสดาบันคนเดียวย่อมเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าโลกิยมหาชนทั้งหมด. พระสกทาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโสดาบันตั้งร้อยตั้งพัน. พระอนาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสกทาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอรหันต์องค์เดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอนาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอสีติมหาเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอรหันต์ที่เหลือ. พระมหาเถระ ๔ รูป เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอสีติมหาเถระ. พระอัครสาวกทั้งสองรูปเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระมหาเถระทั้ง ๔ รูป บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระสารีบุตรเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโมคคัลลานะ. พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวก็เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสารีบุตรเถระ ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพึงนั่งเอาชายสังฆาฎิกระทบกับชายสังฆาฏิ ในห้องแห่งจักรวาลทั้งสิ้น แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น เชื่อในพระพุทธคุณมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวง เหล่านั้น.
.....................................................................................................................................
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 129
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ขอจงทรงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละแล้วอาศัยอยู่.
[๕๖๒] สหัมบดีพรหม ได้กราบทูลดังนี้แล้ว ครั้นแล้วได้กล่าวนิคมคาถาอีก พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ยังไม่มีมาก็ดี และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตนหวังความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
ระลึกถึงพระพุทธคุณ
ซาบซึ้งในพระพุทธคุณเมื่อใด
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑- หน้าที่ 466
๕. พราหมณสูตร
ว่าด้วยพระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน
[๗๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบัณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
[๗๗๘] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. และอะไร เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว
[๗๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
.............................................................................................................
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 323
๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร ว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา
[๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑
เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
จบปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
เผยแพร่พระธรรมเพื่อสืบทอดพระศาสนา
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
กราบอนุโมทนาครับ