ความจนทางโลกกับทางธรรม [อิณสูตร]
โดย เมตตา  21 มี.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 11712

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 664
๓. อิณสูตร

ว่าด้วยความจนทางโลกกับทางธรรม

[๓๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การ กู้ยืม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ กู้ยืมแล้วย่อม รับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ย แล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคลผู้บริโภคกามในโลก

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวง ไม่ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของ บุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 21 มี.ค. 2552

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็น ทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความเป็นคนจนก็เป็นทุกข์ของ บุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภค กามในโลก แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม ในโลก แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การ ติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การจองจำก็เป็น ทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มี หิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนเข็ญใจยากไร้ ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจ ยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เรากล่าวการประพฤติทุจริตของ เขาว่า เป็นการกู้ยืม

ฯลฯ


ความคิดเห็น 2    โดย เมตตา  วันที่ 21 มี.ค. 2552

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ 667

ความเป็นคนจน และการกู้ยืม เรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก คนจน กู้ยืมเลี้ยงชีวิตย่อมเดือดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา เพราะไม่ ใช้หนี้นั้น เขาย่อมเข้าถึงแม้การจองจำ ก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของ ชนทั้งหลายผู้ปรารถนาการได้กาม ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ย่อมปรารถนา ย่อมดำริว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา พอกพูนบาปกรรมในที่ นั้นๆ อยู่บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคตย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้บาปกรรม มีปัญญาทราม ทราบความชั่ว ของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ย่อมเดือดร้อน ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้น เพราะความเดือนร้อนของเขา ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรมมีปัญญาทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง หรือถูกจองจำใน นรก ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 21 มี.ค. 2552

บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มา โดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มี ศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้นย่อมเจริญ บุญ ผู้ใดมีศรัทธา ตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแล เราเรียกว่ามีชีวิตเป็น สุขในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส ยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติ จิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบ เหตุในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือ มั่นโดยประการทั้งปวง หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ใน นิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณ ชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศกหมดมัวหมอง เป็นญาณเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้

จบ อิณสูตรที่ ๓


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 6 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น