พระนามเรียกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดย ขอธรรมทาน  23 ก.พ. 2553
หัวข้อหมายเลข 15577

สำหรับผมแล้วผมถือว่าท่านเป็นอาจารย์อันไม่มีอาจารย์อื่นใดยิ่งกว่านะครับ (ที่ผ่านมาจึงใช้คำว่าอาจารย์นำหน้านะครับ) แม้ในอดีตผมไม่ทราบจึงได้เรียกชื่อท่าน "อาจารย์สมณโคดม" ไปอย่างนั้น แต่ที่ผ่านมาก็เรียกด้วยใจนอบน้อมและเคารพบูชายิ่ง ว่าท่านเป็นอาจารย์อันไม่มีอาจารย์ใดยิ่งกว่า แต่ภายหลังเพิ่งมาทราบว่า

1. ท่านไม่ประสงค์ให้เรียกนามของท่านเช่นนั้น

2. อาจทำให้พุทธบริษัทหลายท่านต้องหงุดหงิดร้อนใจ เหตุผลสมควรแล้วผมจึงคิดว่าจะเปลี่ยนนะครับ 'u' แต่ก็กลัวว่าจะเหมาะหรือไม่ จะถูกต่อว่าหรือไม่? จึงนำมาถามก่อนนะครับ ว่าหากจะเรียกท่านสั้นๆ ว่า "พระศาสดาจารย์" หรือ "อาจารย์พระพุทธเจ้า" อย่างนี้ได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

'u'



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 23 ก.พ. 2553
ในสมัยครั้งพุทธกาลพุทธบริษัททั้งหลายเรียกพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง หรือ เรียก พระตถาคต พระทศพล พระศาสดา พระสัพพัญญู พระผู้มีพระภาคเจ้า พระโลกนาถ พระมเหสี พระอังคีรส พระธรรมราชา เป็นต้นดังนั้นคนในยุคนี้ก็เรียกตามพุทธบริษัทในสมัยก่อนย่อมสมควรครับ

ความคิดเห็น 2    โดย ขอธรรมทาน  วันที่ 23 ก.พ. 2553

พระมเหสี???


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 23 ก.พ. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒
คำว่า พระมเหสี เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ครับ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลา สี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก พระคุณของพระองค์นั้นมีมากมาย ดังที่ปรากฏในบทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า อิติปิ โส ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น) อรหัง (ทรงเป็นพระอรหันต์ ผู้ห่างไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง) สัมมาสัมพุทโธ (ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์) วิชชาจรณสัมปันโน (ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้แจ้ง) และ จรณะ (จรณะ หมายถึง เครื่องดำเนิน มี ๑๕ ประการ คือ ถึงพร้อมด้วยศีล, สำรวมอินทรีย์, มีความเพียร, รู้จักประมาณในโภชนะ, ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการได้แก่ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ (สดับตรับฟังพระธรรม) วิริยะ สติ ปัญญา, รูปฌาน ๔) ที่สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) สุคโต (ทรงเป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว) โลกวิทู (ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง ทรงรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ (ทรงเป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า) สัตถา เทวมนุสสานัง (ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) พุทโธ (ทรงเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว) ภควา (ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์)

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลที่เสมอกับบุคคลที่ไม่มีใครเสมอ นั่นก็คือ ทรงเสมอกันกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ พระคุณของพระองค์ ซึ่งเมื่อประมวลแล้วสรุปรวมลงใน ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ (ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ) พระปัญญาคุณ (ทรงมีพระปัญญาที่รู้สภาพธรรมทุกอย่างไม่มีเหลือ) พระมหากรุณาคุณ (ทรงมีพระทัยประกอบด้วยเมตตาเกื้อกูลสัตว์โลก ด้วยการแสดงพระธรรม, ในแต่ละวัน พระองค์ทรงพักผ่อนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลกทั้งปวง)

บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงมีการฟัง มีการศึกษาสะสมความเข้าใจไปตามลำดับ เมื่อศึกษาเข้าใจความจริงแล้ว ย่อมจะมีความซาบซึ้งมากขึ้นในพระคุณของพระพุทธองค์ ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และ พระมหากรุณาคุณ ตามปัญญาของตนเอง, พระนามของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น มีมากมาย (ดังที่อาจารย์ประเชิญได้ยกมา) ไม่มีใครตั้งให้ แต่เป็นพระนามตามพระคุณของพระองค์ตามความเป็นจริง เมื่อจะเรียกหรือกล่าว ก็เรียกตามชื่อที่ปรากฏแล้ว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 23 ก.พ. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับการเรียกชื่อของพระพุทธเจ้านั้น เรียกเพราะพระคุณของพระองค์ ไม่มีใครตั้งให้ ไม่มีใครจะกำหนดให้ว่าเราพอใจอย่างนี้ เราก็เรียกอย่างนี้ แต่เพราะพระคุณของพระองค์ ชื่อของพระพุทเจ้าจึงเป็นไปตามพระคุณของพระองค์ครับ เช่น ตถาคต ผู้เสด็จไปอย่างนั้น ก็จะมีคำอธิบายตามพระคุณของพระองค์ว่าเป็นอย่างไร

ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมก็ย่อมเข้าใจถึงพระคุณของพระองค์ตามความเป็นจริง จึง ใช้คำให้เหมาะสมกับพระคุณของพระองค์ อันเป็นบุคคลผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ การศึกษาพระธรรมประโยชน์คือความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อได้ แต่เป็นไป เพื่อละ เมื่อความเข้าใจเจริญขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น แม้ได้ยินชื่อขงพระพุทธเจ้า เช่น คำว่าพุทโธ ก็มีความปีติ ซาบซึ้งอันเกิดจากความเข้าใจพระธรรมมาครับ ชื่อของบุคคลผู้เลิศจึงเกิดจากรพระคุณของพระองค์เองครับ ไม่ควรคิดเองเพราะความเข้าใจพระธรรมของเรายังไม่พอครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 23 ก.พ. 2553

เรียนเสริมคำว่ามเหสีตามที่ได้ถามมานะครับ คำว่ามเหสีอันเป็นชื่อหนึ่งของพระพุทธเจ้ามีความหมายหลายประการครับ

1. มเหสี ความหมายคือ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ คือ พระองค์ทรงแสวงหาคุณคือศีล สมาธิ ปัญญาอันยิ่งใหญ่ เป็นต้น เพราะการเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องประกอบด้วยคุณอัน ใหญ่ นั่นก็ไม่พ้นไปจาการการเจริญ ศีล สมาธิและปัญญา อันเป็นไปเพื่อถึงความหลุด พ้นอันยิ่งใหญ่ และการรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เป็นต้น

2. มเหสี ความหมายคือ พระองค์ทรงเป้นผู้เสาะ แสวงหาแล้วซึ่งการทำลาย ความไม่รุ้ อวิชชา ทำลายกิเลสประการต่างๆ และพระองค์ทรงเสาะแสวงหาคุณธรรมประการต่างๆ ด้วยพระองค์เองอันเป็นไปเพื่อดับกิเลสคือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 สัมปธาน 4 อิทธิ- บาท 4 และทรงเสาะแสวงหาแล้วด้วยพระองค์เองด้วยปรมัตอย่างยิ่ง คือ พระนิพพานด้วยพระองค์เองครับ พระองค์จึงเป็นพระมเหสีเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่อย่างแท้จริง

3. มเหสี ความหมายคือ ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีเทวดา เช่น พระอินทร์ พระราชาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ต่างก็เสาะ แสวงหาพระพุทธเจ้าว่าทรงประทับที่ไหน แม้เหตุนี้พระองค์ก็ชื่อว่าเป็นพระ มเหสีเจ้า เพราะผู้มีศักดิ์ใหญ่ต่างก็เสาะ แสวงหาพระองค์ (พระพุทธเจ้า) เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

มเหสีเพราะอรรถว่าอะไร [จูฬนิทเทส]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 6    โดย พุทธรักษา  วันที่ 24 ก.พ. 2553

จากความเห็นที่ ๓ บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงมีการฟัง มีการศึกษาสะสมความเข้าใจไปตามลำดับ เมื่อศึกษาเข้าใจความจริงแล้ว ย่อมจะมีความซาบซึ้งมากขึ้น ในพระคุณของพระพุทธองค์ ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และ พระมหากรุณาคุณ ตามปัญญาของตนเอง
ขออนุโมทนาค่ะ

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า .... ยิ่งเห็นพระคุณของพระองค์มาก การเอ่ยนามถึงพระองค์ ด้วยความนอบน้อมจากใจจริง ... ก็ยิ่งมากค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 24 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Sam  วันที่ 24 ก.พ. 2553

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ขอธรรมทาน  วันที่ 24 ก.พ. 2553

อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ (ทรงเป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า) สัตถา เทวมนุสสานัง (ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) ภควา (ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์)

นี่คือความหมาย "อาจารย์อันไม่มีอาจารย์อื่นยิ่งกว่า" ในใจผมครับ

ปล.. ขอบคุณผู้ที่ช่วยขยายความให้ชัดเจนขึ้นมากนะครับ

ขอบคุณผู้ที่ให้ความรู้ด้วยดี ด้วยเจตนาดี

ขอบคุณผู้ที่ไม่สอนโดยการ attack ให้เจ็บ

และขอบคุณผู้ที่มิได้มีถือโกรธต่อครั้งอดีตที่ผมเข้าใจผิดได้เรียกชื่อท่านออกไปทั้งๆ ที่ท่านบอกห้ามไว้

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 10    โดย petcharath  วันที่ 24 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย สิริพรรณ  วันที่ 17 ต.ค. 2564

กราบอนุโมทนาทุกกุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย หนุงหนิง  วันที่ 15 ก.ค. 2565

น้อมกราบอนุโมทนาบุญ