ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
โดย chatchai.k  16 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43951

ขอกล่าวถึงพยัญชนะเป็นลำดับไป ที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี

พยัญชนะที่ว่าป่า ที่ว่าโคนไม้ ที่ว่าเรือนว่าง ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้แสดงความหมายของคำว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีข้อความว่า

คำว่า อรัญฺญํ หมายความว่า สถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป สถานที่นั้นเป็นป่า

อภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ คือ เป็นการจำแนกฌาน ซึ่งเป็นสุตันตภาชนีย์ มีข้อความว่า

ป่า ได้แก่ บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น

นอกเสาเขื่อนที่นี้ ก็คือ นอกเขตบ้าน นอกอาคารนั่นเอง ถ้าไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่อาคาร ก็เป็นป่า

อรรถกถา พระวินัย อานาปานสติสมาธิกถา มีข้อความกล่าวถึงการเจริญ อานาปานสติสมาธิว่า

บรรดาป่าทั้งหลาย อันมีลักษณะที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ออกไปภายนอกเสาเขื่อน ทั้งหมดนี้จัดเป็นป่า ดังนี้

และว่า เสนาสนะ ชั่วระยะ ๕๐๐ ธนู คือ ๕๐๐ ธนูห่างจากบ้านเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าเสนาสนะป่า ดังนี้

อานาปานสติสมาธิกถา ที่มีกล่าวไว้ใน สมันตภาสาทิกา ที่เป็นอรรถกถาพระวินัย มีว่า

บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด สำหรับอานาปานสติสมาธิ

อภิธรรมปิฎก ฌานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ได้อธิบายความหมายของคำว่าสงัด

บทว่า สงัด มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

คำว่าเกลื่อนกล่นในที่นี้ คือ วุ่นวายนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลย ที่เขาคิชกูฎพระผู้มีพระภาคก็มิได้ประทับเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้เป็นที่สงบ เป็นที่สงัด ก็มีพระภิกษุที่อยู่ในบริเวณเขาบริเวณป่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า สงัดจึงต้องมีคำอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่น คือ ไม่วุ่นวายด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

เพื่อให้พยัญชนะสมบูรณ์ขึ้น ข้อความต่อไปมีว่า

แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า สงัด ไม่ใช่อยู่ที่ใกล้ หรือไกล แต่อยู่ที่ไม่วุ่นวาย เพราะเหตุว่าไกลก็วุ่นวายได้ ที่เขาคิชกูฏวุ่นวายก็ได้ ที่พระวิหารเชตวัน ถ้ามีภิกษุที่ไม่สำรวมกายวาจาเป็นอาคันตุกะมา ก็วุ่นวายได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ที่สงัดสำหรับอานาปานสติสมาธิ

สำหรับ บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะ คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง ที่นอนบ้าง หมอนบ้าง วิหารบ้าง เพิงบ้าง ปราสาทบ้าง ป้อมบ้าง โรงบ้าง

เสนาสนะ คือ ที่เร้นลับ ถ้ำบ้าง โคนไม้บ้าง พุ่มไม้บ้าง หรือภิกษุยับยั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

นอกจากป่า ซึ่งได้แก่บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น ก็ยังมีเสนาสนะ คือ รุกขมูล ได้แก่โคนไม้ อพฺพต ได้แก่ภูเขา กันทร ได้แก่ซอกเขา คิริคูหา ได้แก่ถ้ำในเขา สุสาน ได้แก่ป่าช้า อัพโพกาส ได้แก่ที่แจ้ง ตลาลปุญชะ ได้แก่ลอมฟาง

ไม่ใช่แต่เฉพาะป่ากับโคนไม้ รวมทั้งที่อื่นด้วย แล้วก็ดง คือ เสนาสนะที่อยู่ที่ไกล เป็นชื่อของเสนาสนะ ราวป่า น่าหวาดกลัว น่าหวาดหวั่น ที่อยู่ปลายแดน ไม่อยู่ใกล้มนุษย์ เป็นชื่อของเสนาสนะที่หาความเจริญได้ยาก

ถ้าเป็นที่ห่างไกลอย่างนั้นแล้ว ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ดง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะไปที่โคนไม้ หรือว่าภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา สุสาน คือ ป่าช้า หรือที่แจ้ง ก็เป็นที่สงัด สมควรแก่สติจะตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ ผู้นั้นเคยเจริญอบรมมาอย่างนั้น ก็ไปสู่ที่นั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว ไม่ใช่การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างอื่นนอกจากการที่เคยอบรม เพราะฉะนั้น ก็ไปที่นั่น แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติต้องตามระลึกรู้ไปด้วยจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จึงจะอยู่ในมหาสติปัฏฐาน ในอานาปานบรรพ

พยัญชนะที่ว่า ไปสู่โคนไม้ก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

คำว่า รุกฺขฺมูลํ ความว่า อาสนะของภิกษุซึ่งจัดไว้ที่โคนไม้นั้น คือ เตียง ตั่งฟูก เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้ หรือเครื่องลาดทำด้วยฟาง ภิกษุ เดิน ยืน นั่ง หรือนอนที่อาสนะนั้น

พยัญชนะที่ว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

คำว่า สุญฺญํ ความว่า เป็นสถานที่ที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยใครๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม

คำว่า อาคารํ คือ วิหาร โรงมีหลังคาครึ่งหนึ่ง ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ

สำหรับใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี คือ ไปสู่โอกาส หมายความถึงสถานที่อันสงัดว่างเปล่า


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 85